กลุ่มอาการเมตาบอลิก (MetS)
--
ความชุกของ MetS
MetS เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีคำนิยามร่วมกันที่ชัดเจนของกลุ่มอาการเมตาบอลิก แต่โดยทั่วไปจะประกอบด้วย มีเส้นรอบเอวที่มาก มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีไขมันสะสมที่ช่องท้อง ระดับคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL) ต่ำ ไตรกรีเซอรอลสูง และความดันโลหิตสูง เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการเมตาบอลิก ทั้งนี้มีการศึกษาความชุกของกลุ่มอาการเมตาบอลิกโดยการรวบรวมขององค์กร Adult Treatment Panel III (ATP III) พบว่า มีความชุกในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
เอเชีย-แปซิฟิก (2017) 11.9–37.1 % แอฟริกา (2012) 12.5–62.5 % อเมริกา (2015) 23.0–35.1% ยุโรป (2014) 11.6–26.3% ตะวันออกกลาง (2012) 13.6–36.3% อเมริกาใต้ (2011) 18.8–43.3% เอเซียใต้ (2016) 26.1% สำหรับประเทศไทยมีการศึกษาของ Podang et al. สำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 2,544 คน พบความชุกของกลุ่มอาการเมตาบอลิก 16.6%
เกณฑ์การประเมิน MetS
MetS มีการกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อประมาณช่วงปี ค.ศ. 1980 โดย Gerald M. Raevan ได้ให้คำจำกัดความและเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคซินโดรม X หรือที่รู้จักกันกลุ่มอาการเมตาบอลิกในปัจจุบัน ทั้งนี้เกณฑ์การวินิจฉัยมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละองค์กร การเรียบเรียงครั้งนี้ได้ทบทวนองค์กรที่น่าเชื่อถือเป็นที่นิยมนำไปใช้ในการอ้างอิง ได้แก่ International Diabetes Federation (IDF), National Cholesterol Education Program Adult Treatment Panel III (NCEP ATP III), NCEP ATP III ฉบับปรับปรุงสำหรับคนเอเซีย และ An American Heart Association/National Heart Lung and Blood Institute (AHA/NHLBI) ในบทความนี้จะนำเสนอเกณฑ์ของ IDF
เกณฑ์การวินิจฉัย MetS ของหน่วยงาน IDF
เส้นรอบเอวมากกว่า 90 ในผู้ชายและมากกว่า 80 ในผู้หญิง ร่วมกับมี 2 ข้อหรือมากกว่าในข้อต่อไปนี้
1. ความดันโลหิตขณะบีบตัวมากกว่า 130 mmHg หรือความดันโลหิตขณะคลายตัวมากกว่า 85 mmHg หรือ ใช้ยาลดความดันโลหิต
2. ปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (Fasting plasma glucose) มากกว่า 5.6 mmol/L หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
3. ปริมาณคอเลสเตอรอลตัวดี (Plasma HDL cholesterol) น้อยกว่า 1.03 mmol/L ในผู้ชาย หรือน้อยกว่า1.29 mmol/L ในผู้หญิง
4. ปริมาณไตรกลีเซอไรด์ (Plasma triglycerides) มากกว่า 1.7 mmol/L
หมายเหตุ: Fasting plasma glucose (FPG) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Fasting blood sugar (FBS) แสดงหน่วยเป็น mmol/L ซึ่งเป็นระบบหน่วยนานาชาติ (SI) แต่คนไทยทั่วไปจะคุ้นเคยกับหน่วย mg/dL (มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร: มล./ดล.) ดังนั้นค่า > 5.6 mmol/L เท่ากับ > 100 มล./ดล. **< 1.03 mmol/L และ 1.29 mmol/L เท่ากับ < 40 และ 50 มล./ดล. ตามลำดับ ***> 1.7 mmol/L เท่ากับ > 150 มล./ดล.
ตัวอย่างงานวิจัยทางอาชีวอนามัยที่เกี่ยวข้องกับ MetS
การศึกษาในประเทศจีน วิจัยเรื่อง “Shift work and relationship with metabolic syndrome in Chinese aged workers” ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS ONE ได้ศึกษาติดตามพนักงานจำนวน 26,382 คน ที่มีประวัติทำงานเป็นกะ ผลการศึกษาความสัมพันธ์พบว่า พนักงานที่ทำงานเป็นกะเป็นระยะเวลา 1–10, 11–20 และ มากกว่า 20 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิด MetS เป็น 1.05 (95%CI=0.95–1.16), 1.14 (95%CI=1.03–1.26) และ 1.16 (95%CI=1.01–1.31) ตามลำดับ ในผู้หญิงพบแนวโน้มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการทำงานเพิ่มขึ้นทุก 10 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิด MetS ร้อยละ 10 (95%CI=1–20) นอกจากนี้การทำงานเป็นกะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง 1.07 เท่า (95%CI=1.01–1.13) เส้นรอบเอวที่เพิ่มมากขึ้น 1.10 เท่า (95%CI=1.01–1.20) และระดับน้ำตาลในเลือดสูง 1.09 เท่า (95%CI=1.04–1.15) ตามลำดับ แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานเป็นกะกับคอลเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอลและระดับไตรกลีเซอไรด์9
การศึกษาในประเทศอิหร่าน วิจัยเรื่อง “Metabolic syndrome: A common problem among office workers” ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Occupational and Environmental Medicine เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวางในพนักงานสำนักงาน จำนวน 1,488 คน ผลการศึกษาพบความชุกของการเกิด MetS ร้อยละ 35.9 (95%CI=33.5–38.3) พบในผู้ชาย (ร้อยละ 37.2) มากกว่าผู้หญิง (ร้อยละ 20.6) และแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบภาวะไตรกลีเซอรไรด์ในเลือดสูง ร้อละ 45.9 และคอลเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอลในเลือดต่ำ ร้อยละ 45.5 บทสรุปความสัมพันธ์ คือ ภาวะ MetS และดัชนีมวลกายที่เพิ่มมากขึ้นเกิดจากขาดการออกกำลังกายและการบริโภคผลไม้ที่ไม่เพียงพออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ทั้งนี้ในงานวิจัยนี้ได้ให้เหตุผลว่า การรับประทานผลไม้สดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด MetS ได้ เนื่องจากในผลไม้สดประกอบด้วยคุณประโยชน์สารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใย โพแทสเซียม แมกนีเซียม และไฟโตเคมิคอลอื่น ๆ (Phytochemicals)10
บทสรุป
MetS หรือกลุ่มอาการเมตาบอลิกเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้ประกอบอาชีพ ประเทศไทยพบได้ 16.6% พารามิเตอร์ที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ เส้นรอบเอว ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด คอลเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ โดยเกณฑ์ที่นิยมใช้เป็นของหน่วยงาน IDF ในงานอาชีวอนามัยในยุคหลัง ๆ ได้เห็นความสำคัญของ MetS ครั้งนี้ได้ยกตัวอย่างงานวิจัยเชิงระบาดวิทยา 2 ฉบับ ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุของ MetS เกิดขึ้นได้ทั้งจากพฤติกรรม เช่น ขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานผลไม้สดไม่เพียงพอ และสาเหตุจากการทำงาน เช่น การทำงานเป็นกะ ดังนั้นเป็นแนวทางให้ จป.วิชาชีพ หรือบุคลากรด้านสุขภาพนำไปจัดเป็นโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพในพนักงาน