ตามรอยอดีต ก่อนที่จะมาเป็นเมืองแห่งอัญมณี

CHANTORY
3 min readMay 7, 2017

--

มีหลายๆ พื้นที่ ที่เป็นเมืองที่มีการค้นพบอัญมณีอันล้ำค่า แต่คงจะหนีไม่พ้นจังหวัดจันทบุรี ที่มีการพบเจอพลอยจำนวนมาก ผู้คนต่างหลั่งไหลกันมาทั่วทุกสารทิศ มีธุรกิจเหมืองพลอย ธุรกิจซื้อขาย และธุรกิจอื่นๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบัน จะแทบไม่เหลือพลอยให้ขุดค้นกันอีกแล้ว แต่ก็ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจของประเทศไทย พ่อค้า ผู้คนจากทั่วโลก ต่างก็ต้องมาที่จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอัญมณีอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ใครคือคนกลุ่มแรกที่เข้ามาพบทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินในที่แห่งนี้ ซึ่งบางคนก็อาจจะเพิกเฉยโดยไม่เห็นคุณค่าของหินแร่เหล่านี้

เราจะพาย้อนอดีตไปตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน จากหลักฐาน และคำบอกเล่า ถึงเรื่องราวที่ว่า “เมืองแห่งอัญมณี” นั้นมีที่มาจากอะไร

ย้อนรอยจากการบันทึกทางประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบว่ามีการนำพลอยแดงจากเมือง Mogok ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอาณาจักร Shan หรือไทยใหญ่ในอดีต(ปัจจุบันอยู่ในการปกครองของพม่า) มอบให้เป็นเครื่องบรรณาการแก่กันมานานแล้ว

ที่มารูปภาพ: https://pt.slideshare.net/aung3/mogok-town-gems-mine-area-illustration-collection

ในปี พ.ศ. 2143 ซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา อังกฤษได้จัดตั้งบริษัทชื่อ East India ซึ่งอยู่ในประเทศอินเดีย และได้เริ่มแผ่อิทธิพลทางการค้ามายังภูมิภาคนี้

ที่มารูปภาพ: https://global.britannica.com/topic/East-India-Company

ในปี พ.ศ. 2160 บริษัท East India ได้เข้ามาทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศพม่า และได้เริ่มมาทำกิจการเหมืองพลอยที่ Mogok ทำให้คน Shan มีความรู้เรื่องพลอยเรื่อยมา

ที่มารูปภาพ: www.ruby-sapphire.com/r-s-bk-burma.html

ราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนบางกลุ่มจากพม่าเดินทางมาค้าขายในเขตอีสานของไทย เช่น เช่น ง้าว, เครื่องเงิน, ฆ้อง, ผ้าแพร ฯลฯ ชาวอีสานเรียกพ่อค้าพวกนี้ว่า “กุลา” จนมีเรื่องราวทุ่งกุลาร้องให้ เพราะทนทุกข์ทรมานมากเมื่อเดินข้ามทุ่งอันแห้งแล้ง จนปัจจุบัน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ก็ยังเป็นชื่อเรียกของทุ่งแห่งนี้อยู่
.
มีชาวกุลาบางส่วนเริ่มเข้ามาขุดพลอย ไล่มาตั้งแต่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ มาถึง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จนมาตั้งหลักแหล่งอยู่เมืองไพลินในประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

ที่มารูปภาพ: https://sa.reru.ac.th/roiet/roiet/tungkula.html

ในปี พ.ศ. 2419 พบหลักฐานในจดหมายเหตุคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ความว่า “ได้มีราษฎรนำเอาผลไม้และพลอย หลากสีมาถวาย” ซึ่งคาดว่าจะมีชาวกุลา หรือคนในพื้นที่บางกลุ่มได้เข้ามาขุดพลอยในจังหวัดจันทบุรีบ้างแล้ว

ที่มารูปภาพ: เรือกลไฟขนาดย่อม ซึ่งกรมทหารเรือจัดเตรียมถวายขณะเทียบที่ศาลาสะพานท่าน้ำหลวง เมืองจันทบุรี เนื่องจากร่องน้ำตื้น จึงทำให้เรือพระที่นั่งมหาจักรีแล่นเข้ามาไม่ได้ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ), www.t-h-a-i-l-a-n-d.org

ในปี พ.ศ. 2434 ทางรัฐบาลไทย ได้ว่าจ้าง นาย H. Warington Smyth ชาวอังกฤษ สำรวจพื้นที่ทางธรณีวิทยา ในจังหวัดจันทบุรี ตราด จนถึงไพลิน (ปัจจุบันเป็นของประเทศกัมพูชา)

ที่มารูปภาพ: Map of Chantabun (Chanthaburi). From Smyth (1898) Five Years in Siam — From 1891 to 1896., www.lotusgemology.com

นาย H. Warington Smyth ได้บันทึกเรื่องราวไว้ว่า ที่ไพลิน ได้พบกับชาวกุลา(SHAN) รูปร่างสูงใหญ่ ใช้ม้าในการเดินทาง ทำอาชีพขุดพลอย และได้สร้างวัดวาอารามซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของชาวกุลาในที่แห่งนั้น

ที่มารูปภาพ: Gula (Shan) horseman in Pailin, Cambodia, an area famous for its sapphires. From Five Years in Siam by H. Warington Smyth, 1898., https://en.wikipedia.org/wiki/Kula_people_(Asia)

ในปี พ.ศ. 2450 ไทยเสียเมืองไพลินให้กับประเทศฝรั่งเศส คาดว่าชาวกุลาจากเมืองไพลิน ได้อพยพย้ายที่ทำมาหากินมาทีี่จังหวัดจันทบุรีในช่วงหลังจากนั้น และได้มีการเสาะแสวงหาแหล่งพลอยแหล่งใหม่ ที่ อ.บ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

ในช่วงปี พ.ศ. 2462 จนถึงปี พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามโลก ทุกอย่างก็แทบจะหยุดชะงักลง

ในปี พ.ศ. 2488 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากสงคราม เริ่มมีโรงงานเจียรไนพลอยก่อตั้งขึ้นทั้งที่ใน กรุงเทพ จันทบุรี และกาญจนบุรี อีกครั้ง

ในกรุงเทพ เริ่มต้นตั้งโรงงานเจียรไนพลอย โดย ลุง จ๊อกลุง (ชาวกุลา Shan) ตั้งโรงงานอยู่แถวตลาดน้อย ส่วนนายห้างโยธิน ปิยะจินดา ได้ตั้งโรงงานอยู่ ย่านสาธุประดิษฐ์

ในจันทบุรี เริ่มต้นตั้งโรงงานเจียรไนพลอย โดยลุงน้อยหมื่น ซึ่งมาจากจังหวัดกาญจนบุรี และนายห้างประจิน สุปัญญา เป็นต้น

ซึ่งตรงกับยุคที่พลอยสตาร์ จาก ต.บางกะจะ กำลังเฟื่องฟู และแหล่งซื้อขายพลอยก้อนที่สำคัญคือ โรงสีมหาลอย บางกะจะ

ในปี พ.ศ.2505 เมื่อตลาดเฟื่องฟู ทำให้มีความต้องการวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการตั้งทีมสำรวจแหล่งวัตถุดิบ และหนึ่งในนั้นคือทีม สหกิจงานขุดพลอย นำโดยนายแสงชื่น ซึ่งได้ทำการสำรวจและขุดพลอยในพื้นที่ ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง และมีการพัฒนาเรื่องการขุดพลอยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ.2511 ได้เกิดเหตุการเพลิงไหม้ตลาดพลอยในจันทบุรี และมีตู้เซฟจำนวนหนึ่งซึ่งได้เก็บพลอยไว้ถูกเผาไปด้วย อาจจะด้วยความบังเอิญพลอยที่อยู่ในตู้เซฟนั้นได้เปลี่ยนสี ซึ่งมีสีสันที่สวยงามกว่าเดิม จึงมีผู้คิดค้นวิธีการเผาพลอยขึ้น คนในวงการพลอยจะรู้จักเขาดีในชื่อ “ลุงสามเมือง แก้วแหวน”

ที่มารูปภาพ: Len Rummel,www.fieldgemology.org

ช่วงปี พ.ศ.2520 ได้ค้นพบทับทิมสยาม ทำให้เกิดกระแสตื่นพลอยมากขึ้น ทั้งในจันทบุรีและตราด ทำให้ธุรกิจพลอยกลายเป็นธุรกิจใหญ่ ส่งผลให้ตลาดพลอยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ช่วงปี พ.ศ.2524–2532 โดยในปี 2530 ถือว่าวงการพลอยมีความเจริญขึ้นถึงขั้นขีดสุด มีเงินสะพัดรายได้มากว่า 1,000 ล้านบาทต่อวัน จากเดิมวิธีการขุดพลอยคือการขุดเป็นหลุมแบบพอดีตัวให้คนสามารถลงไปตักดินขึ้นมาร่อนพลอยได้ แต่เมื่อมีผู้คนจากต่างถิ่นจำนวนมากเริ่มนำเครื่องจักรมาใช้งานในเหมืองพลอยมากขึ้น แน่นอนทรัพยากรก็ย่อมหมดไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจการขุดพลอยจึงค่อยๆ เงียบเหงาไป

ที่มารูปภาพ: Richard W. Hughes,www.lotusgemology.com

ปัจจุบัน แม้ว่าทรัพยากรใต้ดินจะร่อยหรอลงจนกระทั่งต้องหมดไป แต่ภูมิปัญญาทางวิชาชีพต่างไม่ได้สูญหายไปไหน วัตถุดิบต่างๆจากทั่วทุกมุมโลก ได้ถ่ายเทมายังที่แห่งนี้ ถูกส่งไปยังคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่มากด้วยฝีมือและสั่งสมประสบการณ์มารุ่นสู่รุ่น แปรค่าจากแร่ซึ่งดูเหมือนไร้ค่า ออกมาเป็นอัญมณีอันล้ำค่า จนกลายเป็นเมืองที่สำคัญและมีชื่อเสียงในระดับโลก

ที่มารูปภาพ: Michael Newman,www.panoramio.com/photo/35078661

--

--