ทำไม look forward to ต้องตามด้วย Verb — ing

Chawit Rochanakit
3 min readMar 3, 2016

--

หน้าแว่นแม่นอังกฤษ 06: ว่าด้วย To ที่เป็นบุพบท

เรื่องนี้เขียนเป็น Status ใน Facebook เราเองครั้งแรกเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2014 พอเอามารวบรวมไว้ใน #หน้าแว่นแม่นอังกฤษ ฉบับนี้ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาสำคัญแต่อย่างใด มีเพิ่มเติมตอนท้ายนิดเดียว

คำถามนี้ดูเป็นคำถามยอดฮิต จะต้องมีโอกาสได้ยินเรื่อย ๆ จนวันก่อนก็ได้ฟังเพื่อนที่ทำงานคุยกัน จึงขอยกมาอธิบายในหลักการอีกครั้งว่าทำไม look forward to ถึงต้องตามด้วย V-ing

เราเชื่อว่าทุกคนคงจำได้แม่นว่าครูภาษาอังกฤษจะสอนให้จำเป็นมั่นหมายว่า “look forward to ต้องตามด้วย V-ing นะเด็กๆ” แต่คงมีครูน้อยคนมาก ๆ ที่จะอธิบายประกอบให้เกิดเป็นความเข้าใจว่าทำไมนะ ทำไม แต่จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรเลยครับ ค่อย ๆ อ่านไปนะ ใจเย็น ๆ

คำว่า to ที่หลาย ๆ คนชินว่ามันต่อด้วย verb ช่อง 1 แบบไม่ผันไม่เติมอะไรเลย มันเรียกแบบเป็นทางการว่า to+infinitive คือมันเป็นรูปแบบหนึ่งของกริยา ตัวอย่างประโยคง่าย ๆ เช่น

ต้องการที่จะกิน เขียนว่า I want to eat. (want เป็นกริยาหลัก ด้วยแบบแผน want ต้องตามด้วย to-infinitive จะมา I want eat ไม่ได้ นับว่าผิด)

It’s too difficult to forget you. (is เป็นกริยาหลัก) เป็นต้น จริง ๆ มันมีรายละเอียดเรื่องความหมายอีก เอาไว้วันหลังค่อยคุยกันเรื่องนี้

แต่หลาย ๆ คน อาจลืมประโยคสามัญประจำบ้าน เช่น

Welcome to Thailand! เอ้อ Thailand ก็ไม่ใช่กริยานี่หว่า แต่ประโยคนี้ก็ถูกต้อง

แล้วมันสรุปว่าไง to ต้องตามด้วยกริยาเสมอไปรึเปล่านะ… คำตอบคือไม่ใช่ไง อีเผือก (ตรงนี้ยังง่ายอยู่ ถ้าคุณงงจะขอดุ)

ต้องไม่ลืมครับว่าคำว่า to ทำหน้าที่เป็น Preposition หรือคำ “บุพบท” ด้วย ก็คือคำเชื่อมพวก ที่ ซึ่ง อัน อะไรทำนองนั้น ตัวอย่างก็เหมือนเดิม เช่นพาใครซักคนมาที่ห้อง เปิดประตูปุ๊บก็พูดเลย Welcome “to” my room. ยินดีต้อนรับ “สู่” มายรูมจ้า (/ผายมือพร้อมวางแผนบางอย่างในใจ) เห็นปะครับ to ไม่เห็นจะต้องเกี่ยวกับ verb เสมอไป

กลับมาที่เรื่องเริ่มต้น หลายคนคงเดาออกแล้ว I look forward to hearing from you. to ในที่นี้มันเป็น Preposition ไงครับ เลยต้องตามด้วย V-ing

(ภาษาหรู ๆ ของ Verb -ing เรียกว่า gerund ครูสมศรี พี่แนนพี่หอกอะไรก็ตามในท้องตลาดสอนมาหมดแล้วแหละ ผมรู้ แต่คุณลึม)

Gerund นั้นทำหน้าที่เป็นเสมือนนาม (ภาษาไทยเราเรียก อาการนาม)
เช่น run = วิ่ง running = การวิ่ง

Running is good for you. (Running เป็นนามและประธาน is เป็นกริยา)

สรุปก็คือว่าจริง ๆ แล้ว Look forward to มันต้องตามด้วยคำนามอยู่แล้ว เพราะ to ตรงนี้เป็นบุพบท มันเลยไม่ใช่ข้อยกเว้นพิลึกอะไรที่อยู่ดี ๆ ก็มาสั่งว่าขอยกเว้นให้กริยาต้องเป็น ing นะ สำหรับอันนี้เป็นคำพิเศษต้องยอมเค้า มันไม่ช่ายยยอย่างนั้น การอธิบายแบบสั้น ๆ ว่าขอให้ตามด้วยเวิร์บไอเอ็นจีมันเลยถูกต้องแค่ครึ่งเดียว

Look forward to ไม่ต้องตามด้วย V-ing เสมอไป ตามด้วยคำนามยังได้เลย เช่น
I always look forward to Friday! เป็นต้น หรือตัวอย่างต่อไปนี้

http://www.picturequotes.com/everyone-deserves-something-that-makes-them-look-forward-to-tomorrow-quote-2473

Look forward to อาจเป็นคำที่คุ้นมากที่สุดว่าต้องตามด้วย V-ing (หรือคำนาม) จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายคำมาก ๆ เลยครับที่เป็นลักษณะเดียวกัน ถามว่าจะรู้ได้ไงว่าต้องใช้ไอเอ็นจี คำตอบคือต้องขยันจำนะครับว่า to เหล่านี้เป็น preposition ตามด้วย Gerund หรือคำนาม หรือนามวลี เช่น

I am addicted to eating sushi. (be addicted to + V-ing)

She is committed to minding other people’s business. มุ่งมั่นกับการเสือก (committed to + V-ing)

He confessed to killing his roommate. (confess to +V-ing)

Having lived in Thailand since I was born, I’m not used to driving on the right. (be used to + V-ing)

I still have jet lag. I can’t adjust to the time change yet. (adjust to + noun)

สรุปสุดท้ายว่าที่ look forward to ต้องตามด้วย V-ing ก็เพราะ to เป็นบุพบท ไม่ใช่ส่วนหนึ่งขงกริยา to-infinitive นั่นเอง เขียนยาวเกินไปหน่อย แต่จบแล้วครับ

แถม สำหรับคนที่อยากรู้เพิ่มอีกนิด

  1. look forward to นี้เรียกว่า phrasal verb หรือ multi-part verb เป็นกริยาที่มีคำกำหนดมาเป๊ะ ๆ แล้วว่าไอ้นี่ต้องคู่กับไอ้นี่ และมีความหมายในตัวมันเอง มักจะเดายาก แกเคยท่องแหละน่าสมัยสอบเข้ามหาลัย เช่น
    call off = cancel
    The ceremony on the ground was called off because of inclement weather.
    get up = rise and leave bed
    I get up at 6 am every day.
    look forward to ก็เหมือนกัน อีนี่คือมาเป็นแพค 3 ไง แปลว่าตั้งหน้าตั้งตาคอย
  2. ส่วนคำอื่น ๆ ที่นิยม (และต้อง) ใช้ไปด้วยกัน เรียกว่า Collocation ไม่มีวิธีใดที่จะรู้ได้นอกจากสังเกตและจำครับ เช่น ต้องจำว่า dedicated ตามด้วย to นะ ไม่ใช่ for คนที่เขียนภาษาอังกฤษได้ดี ถูกต้องสละสลวย จะไม่เพียงเขียนไวยากรณ์รูปประโยคถูกต้อง แต่ศัพท์แสงต้องถูกหลักการด้วย Collocation เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับคลังคำศัพท์
  3. มีคนถามว่า looking forward to ยังต้องตามด้วย V-ing มั้ย คำตอบคือ ต้องเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง looking ข้างหน้าไม่เกี่ยวกับ Gerund หรือ Verb ing ข้างหลัง เพราะ looking ข้างหน้าเป็นการผันตามประธาน เช่น

I look forward to hearing from you. (รอคำตอบอยู่นะครับ ค่อนข้างทางการ ใช้กันทั่วไป)

I AM LOOKING forward to hearing from you. (กำลังรอฟังคำตอบอยู่นะ นี่เบิกรูหูรอฟังคำตอบอยู่เลย อันนี้ไม่ทางการแต่แสดงภาพชัดเจนว่ากูรอจริงอะไรจริง ไม่ควรใช้ในจดหมายทางการ)

At the time, I WAS ALWAYS LOOKING forward to his midnight calls. (อันนี้เล่าเรื่องในอดีต ตั้งหน้าตั้งตารอในอดีต was + V-ing ปัจจุบันอาจจะเลิกกันไปแล้ว เป็นต้น)

Chawit

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในชุดบทความ “หน้าแว่นแม่นอังกฤษ”

Chawit เป็นคนใส่แว่นที่ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ แค่มีความสนุกสนานกับการสังเกตภาษา รู้อะไรมาก็อยากเขียนเล่าสู่กันฟัง เท่านั้นเอง

ตอนเก่า ๆ ของ “หน้าแว่นแม่นอังกฤษ”

--

--

Chawit Rochanakit

Chawit is trying hard to get an 'A' for the course 'How to live happily'...