Saunders Hall, University of Virginia Darden School of Business

ไปเรียน MBA ในอเมริกาดีมั้ย

MBA คืออะไร ผ่านสายตาของคนไทยคนหนึ่งที่เพิ่งเรียนจบ MBA ปีหนึ่ง กำลังจะขึ้นปีสอง

Chawit Rochanakit

--

MBA (Master of Business Administration) หรือปริญญาโทด้านการจัดการธุรกิจน่าจะเป็นชื่อดีกรีที่เราได้ยินกันบ่อย หลาย ๆ คนพอเริ่มทำงานมาได้สักพัก ก็เริ่มคิดถึง MBA เป็นทางเลือกในการเพิ่มความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตอนนี้ผมเองซึ่งเรียน MBA ที่อเมริกาจบปี 1 แล้ว กำลังปิดเทอมและฝึกงาน เตรียมตัวขึ้นชั้นไปเป็นนักเรียนปี 2 ในเดือนสิงหาคม กำลังมีเวลาว่าง ๆ ได้นั่งนึกย้อน (เรียกอีกอย่างว่าฟุ้งซ่าน) ถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ก็คิดว่าอยากจะลองแชร์ความคิดของผมเองว่า MBA มันคืออะไร เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่พิจารณาอยู่

ตั้งใจไว้ว่าบทความชุดนี้จะเป็นซีรีส์แบบจบใน 3 ตอน และตอนนี้คือตอนแรก มาพูดถึงภาพใหญ่เกี่ยวกับดีกรีนี้กันก่อน

สิ่งที่ต้องบอกกันก่อน คือข้อเขียนนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว และผมพยายามเขียนให้ครอบคลุมลักษณะของ MBA ในประเภทที่ได้เรียนเองและประเภทที่พอจะมีประสบการณ์ รู้จัก และพออธิบายได้ แต่แน่นอนว่า MBA มันมีหลายแบบ เหมือนข้าวผัดกะเพราอะครับ สั่งบางร้านได้ถั่วฝักยาวติดมาด้วย บางร้านแถมเห็ดอีก บางร้านก็กะเพราต้นตำรับ MBA ก็แบบนั้นแหละครับ ชื่อดีกรีเดียวกัน แต่สิ่งที่นักเรียนจะได้ระหว่างเรียนและหลังจบออกมาย่อมไม่เหมือนกัน

บทความในซีรีส์นี้ คำว่า MBA นั้น ผมกำลังพูดถึงโปรแกรม MBA ในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ที่จัดอันดับโดยองค์กรต่าง ๆ ซึ่งแม้ผลจะต่างกันบ้างขึ้นกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ แต่โดยรวมแล้วอยู่ในระดับประมาณ Top 20 ของอเมริกาหรือของโลก นอกจากนี้ ผมยังหมายถึงโปรแกรม Full-Time MBA (หรือ Residential MBA) ที่ใช้เวลาเรียน 2 ปี เรียนแบบเต็มเวลา โปรแกรมไม่สนับสนุนให้นักเรียนทำงานอื่นใดระหว่างเรียน และค่าเทอมตั้งแต่ประมาณ 60,000 เหรียญต่อ 1 ปีขึ้นไป โปรแกรมที่อยู่ในกลุ่มนี้ แม้จุดเด่น จุดขายจะต่างกัน แต่ธรรมชาติหลัก ๆ ของโปรแกรมและนักเรียนมักจะคล้ายคลึงกันครับ

MBA คืออะไร

พูดถึง MBA เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้นตามแต่ประสบการณ์ที่เคยเห็นหรือได้ยินมา บางคนคิดถึงคำว่า Top schools เพราะ MBA เป็นโปรแกรมหนึ่งที่มีการจัดอันดับกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด เรื่อง Ranking นี้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ในตัวมันเองไปด้วย บางคนคิดถึงคุณสมบัติว่ามันเข้าไปเรียนยาก (ซึ่งถ้าดูจากสัดส่วนการรับนักเรียนเข้าเรียนของ Top schools ก็คงพูดได้ว่าจริง หลายที่รับแค่ 10% จากใบสมัครทั้งหมด ที่ไหนรับเกิน 30% ก็ถือว่าค่อนข้างเยอะมากแล้ว) ความเข้ายากทำให้มีธุรกิจรับให้คำปรึกษาในการทำแพคเกจใบสมัครเข้าเรียน ซึ่งธุรกิจเหล่านี้คิดค่าบริการอย่างต่ำ ๆ คือหลักแสน อย่างสูง ๆ คือหลักล้าน แน่นอนว่าแทบทั้งหมดนั้นไม่รับประกันผลลัพธ์ บางคนนึกถึงคำว่า “เด็กทุน” เพราะหลาย ๆ บริษัท เช่น ธนาคารขนาดใหญ่ในเมืองไทย หรือรัฐวิสาหกิจบางที่มักให้ทุนคนที่มีศักยภาพมาเรียนต่อ แล้วให้กลับไปทำงานใช้ทุน นอกจากนี้ MBA อาจทำให้เรานึกถึงอาชีพที่คนจบออกมาแล้วมักเลือกเป็นกัน เช่น Management consulting หรือ Investment banking ไม่ว่าจะเป็นเพราะความสนใจในอาชีพอย่างแท้จริง เห็นว่าเป็นอาชีพที่สามารถต่อยอดได้ดี หรือค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง สุดท้ายที่ผมนึกออก บางคนก็ว่าไปเรียน MBA ก็คือการชุบตัว

ถ้าพูดแบบตรงตัวแล้ว MBA คือโปรแกรมที่เข้าไปเรียนแล้วพอจบออกมาแล้วจะได้ปริญญาโท คนที่สมัครจะเรียนด้านไหนมาก็ได้ในตอนปริญญาตรี และก่อนสมัครต้องมีประสบการณ์การทำงาน (แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานในโลกธุรกิจ) MBA เป็นโปรแกรมการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดงานในโลกธุรกิจ โลกทุนนิยมเป็นหลัก (แม้ว่าหลัง ๆ มานี้ จะเริ่มมีการให้ความสนใจในการใช้ศาสตร์บริหารธุรกิจกับการจัดการที่ไม่เน้นกำไร หรือไม่ใช่ทุนนิยมจ๋า ๆ เสมอไป นักเรียนบางคนเรียนจบแล้วตั้งใจจะไปทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือภาครัฐ แต่ก็เป็นส่วนน้อย) เป็นโปรแกรมที่เน้นผลิตคนแบบ Generalist มากกว่าคนที่รู้เฉพาะทาง เช่น ตอนเรียนอาจจะเน้นด้าน Finance แต่เมื่อเรียนจบออกมา ความคาดหวังโดยทั่วไปก็คือคนนั้นจะกลายเป็น “ผู้บริหาร” ที่เชี่ยวชาญด้านการเงิน คือรู้การเงิน ทำงานได้ แต่มีความเข้าใจ และสามารถจัดการธุรกิจในภาพรวมได้

นักเรียนที่มองหาโปรแกรม MBA และนักเรียนที่โปรแกรมเหล่านี้มองหา น่าจะแบ่งได้เป็น 3 พวกหลัก ๆ คือ

  1. คนที่ทำงานในโลกธุรกิจหรือการบริหารมาก่อน แล้วอยากจะเปลี่ยนสายงาน เช่น เคยทำ Consulting อยากย้ายไปทำงานในสาย Technology เคยทำงานวิเคราะห์ M&A อยากไปเป็น Investment banking บางคนเคยทำ Marketing research มาก่อน แล้วอยากจะเป็น Management consulting เคยทำงานใน Startup แล้วอยากเข้าสู่เส้นทาง Venture capital หรือบางคนทำงานองค์กรใหญ่ ๆ มาก่อน อยากผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ
  2. คนที่ปกติไม่ได้ทำงานในสายบริหารหรือธุรกิจ แต่ต้องการเข้าสู่โลกบริหารธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลงเป็นได้ในหลายระดับ เช่น บางคนเคยเป็นวิศวกรโยธา อยากทำงานเป็น Investment banker บางคนเป็นทหารมาก่อน อยากเปลี่ยนเป็นพลเรือนและทำงานในโลกธุรกิจ หรือมีธุรกิจส่วนตัว บางคนเป็นครูสอนฟิสิกส์โรงเรียนมัธยม อยากเป็น Consultant บางคนเป็นหมอ แต่อยากเสริมประสบการณ์การบริหาร บางคนเป็นนักแสดงละครเวทีมาเป็นสิบปี ถึงจุดหนึ่งต้องการเปลี่ยนไปทำงานบริษัทก็มีครับ
  3. คนที่ตั้งใจจะทำงานในสายอาชีพเดิม แต่ต้องการไต่บันไดระดับขั้นบริหารให้สูงขึ้นผ่านการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ และความเข้าใจธุรกิจที่รอบด้านขึ้น เช่น เป็นนักการตลาดที่ยังต้องการทำงานการตลาด แต่ต้องการโตเป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วรู้สึกว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ด้านการเงินเพิ่มเติม บางคนไม่ได้ทำงานในสายบริหารมาก่อน เช่น เป็นวิศวกร แต่พอถึงจุดหนึ่งที่จำเป็นต้อง (หรือต้องการ) ไปทำงานในสายบริหารที่ต้องบริหารคนจำนวนมากขึ้น ก็เลยมาเรียน MBA การแบ่งระดับด้านการบริหารนี้บางทีก็ชัดเจนในบางสายอาชีพ เช่น Management consulting ถ้าไม่ได้เป็นคนที่เก่งแบบพิเศษจริง ๆ บริษัทก็มักจะส่ง หรือสั่งให้ไปเรียน MBA ก่อนที่จะได้เลื่อนขั้นสูงขึ้นไปจากการเป็นนักวิเคราะห์ไปเป็นคนจัดการโปรเจกต์ เป็นต้น

ความต้องการอีกอย่างของแทบทุกคนในทุกกลุ่ม ที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมาแต่รู้กันในใจ คือต้องการได้เงินเดือน หรือค่าตอบแทนที่มากขึ้น อย่างน้อยคือคิดในระยะกลางถึงระยะยาวแล้วต้องคุ้มกับค่าเทอมที่ต้องจ่ายไป และเวลา 2 ปีที่ต้องหยุดพักการทำงาน

ความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายของ MBA มีสามประเภทหลัก ๆ นี้สำคัญมากนะครับ เพราะผมคิดว่าถ้า Admission committee อ่านใบสมัครแล้วไม่รู้ว่าเราเป็นใครในสามพวกนี้ หรืออ่านแล้วไม่เห็นความเชื่อมโยงของเหตุผลว่าเรามาจากไหน อยากไปที่จุดไหน เพราะอะไร และตัวเรามีศักยภาพที่น่าจะทำสำเร็จได้ยังไง ผมคิดว่าโอกาสได้รับการตอบรับเข้าไปเรียนแทบจะเป็นศูนย์ ที่สำคัญกว่านั้นคือถ้าเราไม่ใช่คนหนึ่งในสามพวกนี้ MBA ก็น่าจะไม่ตอบโจทย์เรา

ลักษณะของ MBA — ในนั้นมีอะไรบ้าง

แน่นอนครับ ขึ้นชื่อว่าเป็นการเรียนแล้ว มันก็ต้องมีการเรียนในห้องเรียนเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก

ในด้านวิชาการ (Academics) โรงเรียนเกือบทั้งหมดจะมีวิชาหลัก (Core courses) ที่พูดถึงหลักการบริหารธุรกิจโดยทั่วไปตามฟังก์ชันและทักษะ เช่น Finance, Accounting, Marketing, Operations, Leadership, Decision analysis, Economics, Business ethics เป็นต้น ส่วนที่เหลือจะเป็น Elective courses ที่เลือกได้ตามความสนใจส่วนตัว หรืองานที่อยากทำหลัง MBA มักจะเป็นเนื้อหาย่อย ๆ ในรายละเอียดของแต่ละฟังก์ชันหรือทักษะทางธุรกิจ หรือเรื่องสมัยใหม่แบบ FinTech, Software design, Coding for managers, Data science, AI and the future of work เป็นต้น

ลักษณะของวิชาเรียนในโรงเรียน MBA ถ้าใครเคยเรียนสายบริหารธุรกิจ หรือเศรษฐศาสตร์มาก่อนในสมัยปริญญาตรีมาเจอเข้าอาจจะตกใจได้ ว่าทำไมเนื้อหาใน MBA มันน้อยขนาดนี้ หลักสูตรส่วนใหญ่คือสอนหลักการหรือทฤษฎีเท่าที่จำเป็น ซึ่งตามจริงแล้ว คนที่ต่อไปจะไปเป็นผู้บริหารนั้นไม่จำเป็นต้องรู้เยอะ รู้ลึก รู้ทุกทฤษฎีเลย เรียน ๆ ไป บางทียังไม่ทันพ้นเทอมก็ลืมแล้ว แต่ทักษะที่สำคัญกว่าคือ ถามคำถามที่สำคัญเป็นไหม จับประเด็นได้ไหม ถ้าไม่รู้เรื่องบางอย่างแล้วหาคำตอบเองได้ไหม และต้องมี Intuition หรือความหยั่งรู้ คล้าย ๆ สัญชาตญาณ — นั่นแหละครับ โปรแกรม MBA ที่จัดอันดับดี ๆ จะมีบรรยากาศการเรียนการสอน ทั้งในห้องและนอกห้องเรียนที่ช่วยเสริมทักษะเหล่านี้

คิดอีกมุมหนึ่ง ถ้าลองมองตามธรรมชาติที่ผ่านมา หลักสูตรมันออกแบบมาทำให้คนที่เคยเป็นทหารมาก่อน สามารถจบออกมาแล้วเดินออกไปทำงาน Management consulting ได้ หรืออย่างเพื่อนอเมริกันของผมเองคนนึงที่ผมภูมิใจในตัวมันมาก เป็นวิศวกร ทำโปรเจกต์ก่อสร้างมาสี่ปี แต่ตัวเองสนใจการเงิน ติดตามเรื่องราวในตลาดทุนมาบ้าง แค่มาเพิ่มความเข้าใจพื้นฐานนิดหน่อย ตอนซ้อมสัมภาษณ์นี่มันขยันเป็น Minion เลย ณ เวลาที่เขียนอยู่ตอนนี้มันไปเดินใส่สูทใน Investment bank ที่ใคร ๆ ก็อยากทำงานด้วยในนิวยอร์กแล้วตลอด summer นี้ ที่พูดมาทั้งหมด คือต้องการจะบอกว่าถึงแม้เนื้อหาจะหลากหลาย แต่มันไม่ได้ยากเกินระดับที่คนที่โรงเรียนเลือกเข้าไปแล้วจะเรียนไม่ได้ หรือทำความเข้าใจไม่ได้ แม้ว่าจะไม่มีพื้นฐานโดยตรงมาก่อน

… แต่เอาเข้าจริงแล้ว น้ำหนักความสำคัญของด้านวิชาการในโปรแกรม MBA นั้นน้อยกว่าที่คิดมาก ๆ เห็นได้จากการที่โรงเรียนหลายแห่งมีนโยบายไม่ประกาศเกรดให้นายจ้างได้ทราบ นักเรียนบางคนกล้าพูดว่ามันเป็นส่วนสำคัญน้อยที่สุด (แน่นอนว่าอาจารย์ไม่ชอบคำพูดนี้เท่าไหร่) แม้ว่าเราจะใช้เวลาในห้องเรียนกันไม่น้อยก็ตาม โอเคแหละ มันอาจจะมีคนที่สนใจการเรียนเป็นพิเศษ แต่ Mindset โดยทั่วไปของนักเรียนและตัวโรงเรียนเอง คือ เรียน MBA แล้วต้องได้งาน

ถ้าอย่างนั้น นอกจากห้องเรียนแล้วมีอะไรบ้าง เราคงต้องกลับไปดูคำพูดยอดนิยมที่นักเรียน MBA จำนวนมากชอบพูดกันว่า

ชีวิต MBA มีอยู่ 4 อย่าง Academics, Recruiting, Social, Sleep และเราเลือกได้แค่ 3 อย่างใน 4 อย่างนี้

Recruiting
ก็คือการหางานทำ นับเป็นส่วนประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของ MBA ที่ผมเชื่อว่าหาไม่ได้ในโปรแกรมปริญญาโทแบบอื่น ๆ สำหรับ Top MBA schools แล้ว โรงเรียนจะมีความสัมพันธ์กับบริษัทชั้นนำของโลกเป็นร้อย ๆ บริษัท ในแทบทุก Industry แม้จุดเน้นของแต่ละโรงเรียนอาจจะต่างกัน (จะเขียนถึงในตอนต่อ ๆ ไป) ในแต่ละปี บริษัทมากกว่าร้อยแห่งก็จะมาให้ข้อมูล จัดกิจกรรม เลี้ยงข้าว รวมถึงสัมภาษณ์รับนักเรียนไปทำงานกันถึงที่โรงเรียนเลยทีเดียว เพราะคนที่เรียนในที่เหล่านี้ก็เหมือนหัวกะทิที่เค้าอยากได้ตัวไปทำงานด้วยอยู่แล้ว ในโรงเรียนก็จะมีทีม Career development (แต่ละที่อาจเรียกชื่อไม่เหมือนกัน) ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการบริหารความสัมพันธ์กับบริษัทเหล่านี้ จัดการการสัมภาษณ์ ให้คำปรึกษา ฝึกนักเรียนให้พร้อมกับการหางานในสาขาอาชีพต่าง ๆ การให้คำปรึกษาด้าน Career management นี้ หลายโรงเรียนสนับสนุนศิษย์เก่าแบบ Lifetime เลย เช่น เรียนจบไปแล้วเป็นสิบปี วันหนึ่งต้องหางานใหม่ขึ้นมาแล้วไม่รู้จะเริ่มที่ไหน ก็กลับมาปรึกษาทีมนี้ที่โรงเรียนได้

ใน MBA การหางานนี้เป็นเนื้อเดียวกันกับชีวิตการเป็นนักเรียน เช่นวัน ๆ นึง เราอาจจะเรียนสองคาบในแต่ละวัน แต่เวลาที่เหลือก็คือทำ Resume ซ้อมสัมภาษณ์ ไป Briefing (งานที่บริษัทมาพูดที่โรงเรียน เชิญชวนนักเรียนให้สมัคร) ไป Networking event (งานแนวงานเลี้ยง พบปะพูดคุย หรือสัมมนา เป็นงานที่ต้องพบปะผู้คน ส่วนใหญ่บริษัทมักเป็นเจ้าภาพ บางที Career development ของโรงเรียนก็จะเป็นคนกลางเพื่อให้บริษัทกับนักเรียนได้เจอกัน) ไป Event เสร็จแล้วก็ต้องเขียน Email ขอบคุณคนที่ได้เจอได้คุยตามมารยาท ถ้าพูดถึงบริบทของที่อเมริกา การโทรศัพท์ไปคุย (Networking call) กับคนที่ทำงานในแต่ละบริษัท (ส่วนมากมักเป็นการคุยกับศิษย์เก่าโรงเรียนตัวเอง) ก็เป็นเรื่องสำคัญมากถึงมากที่สุดที่จะทำให้เราได้งาน เป็นโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับสายงานที่สนใจ ได้รู้จักจุดเด่น วัฒนธรรม หรือข้อสังเกตของบริษัทแต่ละแห่ง ได้ข้อมูลไปใช้พูดตอนสัมภาษณ์ และได้แสดงออกว่าเรามีความสนใจในบริษัทนั้น ๆ

การหางานนี่แหละเป็นปัจจัยความเครียดของคนส่วนใหญ่เลย ส่วนหนึ่งก็เพราะปริมาณ การต้อง Network นั้นมันเยอะ มันเหนื่อย แต่ที่สำคัญอีกอย่างคงเป็นเพราะแต่ละคนล้วนลาออกจากงานมาเรียนกัน เงินเดือนก็ไม่มี ค่าเทอมก็แพง ทุกคนก็ต้องดิ้นรนและช่วยเหลือกันให้ได้งาน ส่วนจะช่วยเหลือกันหรือแข่งกันเอาเป็นเอาตายมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละโรงเรียน

Social
ความต้องการด้านสังคมเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และเหมือนว่าความต้องการนี้จะสูงพิเศษสำหรับนักเรียน MBA ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านความสนุกสนาน เพราะใคร ๆ ก็อยากมีเพื่อน ไม่อยากเหงากันทั้งนั้น แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็คิดถึงอนาคต อยากสร้าง network เอาไว้ช่วยเหลือ หรือใช้ประโยชน์จากกันหลังเรียนจบและไปทำงานตามเส้นทางของแต่ละคน

เรื่องสังคมนี้มีมาในหลายรูปแบบ โรงเรียน MBA ที่ดี ๆ มักมีโครงสร้างที่ช่วยส่งเสริมสังคมอยู่แล้ว เช่น กีฬาสีระหว่างทีม ปาร์ตี้ที่โรงเรียนเป็นสปอนเซอร์ กิจกรรม Event ต่าง ๆ โดยมากแล้วนักเรียน MBA ก็จะได้ฝึกบทบาทความเป็นผู้นำในการร่วมจัดการกิจกรรมเหล่านี้

แทบทุกโรงเรียนจะมี Clubs ซึ่งแบ่งเป็น Career clubs เช่น Finance Club, Consulting Club, Tech Club เป็นต้น, Affinity clubs คือจัดตามกลุ่มที่เหมือน ๆ กัน เช่น Black student association, Asian business club, LGBTQ club, และ Recreational clubs เช่น Basketball club, Wine and cuisine club, Outdoors club เป็นต้น แต่ละโรงเรียนจะมีกี่ clubs ก็แตกต่างกันไป อย่างโรงเรียนของผมมี 50 กว่า clubs และทั้งหมดเป็น Student-run clubs ครับ

นอกจากโครงสร้างพวกนั้นแล้ว แน่นอนว่าแต่ละคนก็จะจับกลุ่มกันเองตามความพอใจส่วนบุคคลและกลไกทางสังคม เช่น เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว เศรษฐานะ (ฟังดูไม่สวยงามเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม MBA ครับ) แล้วก็ทำกิจกรรมต่าง ๆ กัน ไปบาร์ ไปปาร์ตี้ห้องเพื่อน ไปดื่ม ไปกินข้าว ไปตีกอล์ฟ ไปไร่ไวน์ ไปเที่ยวอเมริกาใต้ด้วยกัน ไปโร้ดทริปกัน เป็นต้น

ด้วยเวลาที่จำกัดแค่ 2 ปี แต่มีประตูเปิดให้โอกาสไหลมาแบบตู้ม ๆ ฉะนั้นแล้วจึงไม่แปลกที่หลายคนจะเลือกสามเหลี่ยม Academics, Recruiting, Social แล้วเอา Sleep ไว้ท้ายสุด ค่อยนอนเมื่อมีเวลา บางคนมีลูกเป็นทารก ผมเห็นมันมาเรียนทีนึกว่าซอมบี้ นับถือใจจริง ๆ ครับ

เรียน MBA ดีไหม

มาถึงคำถามสำคัญ อันนี้ผมว่าต้องเริ่มกลับไปถามที่เป้าหมายก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายด้านการงาน

พิจารณา Career goals

คือเรียนจบแล้วอยากทำงานด้านไหน อยากทำงานที่ไหน (จะหางานที่อเมริกา หรืออยากกลับไทย) ถ้ากลับไทยแล้วจะได้เงินเดือนเท่าไหร่

งานที่อยากทำ ตลาดงานนั้นเห็นคุณค่าของ MBA หรือเปล่า (พูดง่าย ๆ คือ งานนั้นจ่ายค่าตอบแทนคุ้มไหม) บางสายงานไม่ได้เห็นว่า MBA มีประโยชน์กับงานนั้น ๆ ดังนั้นค่าตอบแทนก็จะไม่สูงเป็นพิเศษตามไปด้วย บางบริษัทไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า MBA คืออะไร เห็นได้จากการที่ HR บางที่ก็ถามเน้นจะเอาคำตอบให้ได้ว่าจบสาขาเฉพาะด้านไหน ทั้ง ๆ ที่ MBA มันไม่ใช่ปริญญาเฉพาะทาง

ในขณะที่สายงานที่สนใจคุณค่าที่บัณฑิต MBA จะพกติดตัวไปทำงานด้วย มักจะสะท้อนในค่าตอบแทนที่สูงกว่า หรือประวัติว่ามีการจ้าง MBA อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้จะรู้ได้อย่างไร ต้องลองคุยกับคนรู้จักในสายงานต่าง ๆ คุยกับ HR หรือคุยกับคนที่จบ MBA แล้วผ่านขั้นตอนการหางานมาครับ

งานบางสายเช่น Consulting หรือ Investment banking ถ้าไม่ได้เริ่มงานกับบริษัทในสายงานเหล่านี้โดยตรงตั้งแต่จบปริญญาตรี โอกาสที่จะได้เข้าไปทำงานโดยไม่มี MBA นั้นเป็นเรื่องยากมาก อันนี้เป็นเหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่หลาย ๆ คนเลือกเรียน MBA

ถ้าวางแผนว่าจะอยู่ในสายงานเดิม ก็อาจต้องชั่งน้ำหนักว่าถ้าไม่มี MBA กับมี MBA จะทำให้โอกาสในการก้าวหน้าต่างกันมากน้อยแค่ไหน อันนี้ต้องพิจารณาวัฒนธรรมองค์กรตัวเองประกอบด้วย

Ranking ของโรงเรียน MBA เรียกได้ว่าส่งผลโดยตรงกับบริษัท ตำแหน่งงาน เงินเดือนที่จะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแรกหลังเรียนจบ บริษัทระดับท็อป ๆ เช่น Top management consulting firms ของโลก ถ้าเราเรียนในโรงเรียน MBA ที่ไม่ติดอันดับต้น ๆ ในทางปฏิบัติแล้วเค้าแทบจะเด้ง Resume เราไปอยู่ในกอง “ไม่เอา” โดยอัตโนมัติเลยครับ ข้อมูลพวกนี้ถามจากศิษย์เก่าที่เรียน MBA ก็จะรู้กันดี หรืออ่านใน Career report ของโรงเรียน MBA แต่ละแห่ง ก็จะเห็นได้ทันทีว่าบริษัทที่เราสนใจรับนักเรียนจากโรงเรียนแห่งนั้นไปทำงานหรือเปล่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นักเรียน MBA มักมีลักษณะอย่างไร

การมองในแง่นี้อาจจะพอช่วยตอบได้อีกทางหนึ่ง ว่า MBA นั้นเหมาะกับเราหรือเปล่า แน่นอนว่านักเรียน MBA ก็เหมือนคนทั่วไปครับ ไม่มีใครเหมือนกันเป๊ะ ๆ สักคน แต่ผมคิดว่ามันมีลักษณะร่วมที่พอสังเกตได้คือ

  1. ไม่กลัวการเจอผู้คนใหม่ ๆ มีความมั่นใจในตัวเองระดับหนึ่ง คนจำนวนมากอาจจะเป็นคน Extrovert แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนครับ คน Introvert ก็มีหลายคน แค่ต้องไม่กลัวการพบปะกับผู้คน
  2. ส่วนใหญ่มักเป็นคน Type A Personality คือเป็นคนที่ชอบ หรือสบายใจกับแข่งขัน ทำอะไรแข่งกับเวลาได้ มี Sense of urgency อาจมีความก้าวร้าวแฝงอยู่ ถ้าเป็นคน Type B เป็นคนชิลจัดจะรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติในสภาพสังคมแบบนี้ (ข้อมูลเกี่ยวกับ Types A และ B ครับ — https://en.wikipedia.org/wiki/Type_A_and_Type_B_personality_theory)
  3. มีความสนใจ (passion) ทั้งด้านการงาน เช่น marketing สินค้าแบรนด์หรู การลงทุนแบบ Net impact และด้านอื่นในชีวิต อย่างน้อยสักเรื่องหนึ่ง เช่น ชอบเดินป่ามาก ชอบทำคุกกี้มาก ชอบร้องเพลงมาก เป็นต้น การมี passion มันทำให้เป็นคนที่น่าสนใจโดยธรรมชาติ ผมสังเกตว่าผู้บริหารส่วนใหญ่จะมีความสนใจนอกเหนือจากเรื่องงานด้วยแทบทั้งสิ้น
  4. มีความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ หรืออยากทำงานที่มีโอกาสได้บริหารคนอื่น
  5. พึ่งตัวเองได้ ผลักดันตัวเองได้ แม้แต่เรื่องง่าย ๆ อย่างกินข้าวคนเดียวได้ ไปห้องน้ำไม่ต้องไปเป็นกลุ่ม ต้องเป็นคนที่ทำอะไรคนเดียวแล้วไม่ลำบากใจ
  6. พูดจาและเขียนหนังสือรู้เรื่อง ไม่ต้องพูดเก่งที่สุด แต่ไม่ใช่คนที่พูดแล้วทุกคนส่ายหัวว่ามันพูดอะไร ไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ทักษะการสื่อสารตอนเรียนก็จะได้พัฒนาด้วย แต่มันต้องมีต้นทุนมาก่อนยพอสมควร
  7. เป็นคนแก้ปัญหาได้ดี เรียนรู้เร็ว ค่อนข้างฉลาด ฉลาดในที่นี้ไม่ได้แปลว่ารู้เรื่องเฉพาะทางทุกอย่างนะครับ แต่หมายถึงเป็นคนที่พอเห็นปัญหาตรงหน้าแล้วเข้าใจได้ในเวลาไม่นานว่าแก่นของมันคืออะไร หรือเป็นคนที่ไม่กลัวการแก้ปัญหา ไม่รู้อะไรก็จะหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง ช่างสังเกต

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เราคิดว่าทำให้คน ๆ หนึ่งสามารถใช้ชีวิตใน MBA ได้ง่ายขึ้น หรือได้ผลตามต้องการมากขึ้น คือ เป็นคนดื่ม คือถ้าไม่ดื่มก็ไม่ได้เสียหายขนาดนั้น แต่ชีวิตอาจจะยากขึ้นเวลาเข้าสังคม ทั้งการสังสรรค์กับเพื่อน และที่สำคัญกว่านั้นคือในสถานการณ์ของการ Recruiting ซึ่งแอลกอฮอล์ก็ยังมีส่วนสำคัญมาก ที่นี่เราดื่มกันในโรงเรียนเป็นเรื่องปกติมาก, เล่นกีฬาหรือดนตรีเป็นอย่างน้อยสักอย่าง มันทำให้เข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น อันนี้คงเป็นจริงในหลายสถานการณ์นอกจาก MBA ด้วย, มีความสนใจ และเข้าใจในวัฒนธรรมอเมริกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ติดตามกีฬาพวกกอล์ฟ อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล หรือรู้ประวัติศาสตร์อเมริกาคร่าว ๆ บ้าง ควรรู้ว่ารัฐไหนอยู่ตรงไหนของประเทศ เมืองไหนเป็นยังไง เรื่องพวกนี้มีบทบาทมากจริง ๆ ในวงสังคมและวง Recruiting ถ้าคล่องกว่าก็ได้เปรียบกว่า คือจะไม่ดูกีฬาพวกนี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราเลือกที่จะไม่สนใจเลยแล้วพบว่าเข้าวงสังคม หรือวงการหางานได้ยากนี่มันโทษใครไม่ได้เลยครับ นอกจากตัวเอง

และในทางกลับกัน MBA น่าจะไม่เหมาะกับคุณ ถ้าหาก…

  1. คุณไม่สบายใจอย่างมากในการเข้าสังคม พบเจอคนเยอะ ๆ แล้วเป็นกังวล
  2. คุณไม่มีความรู้สึกอยากเป็นผู้นำเลยในชีวิตนี้ พอใจกับการอยู่ใต้ผู้บังคับบัญชาไปตลอด หรือรู้สึกว่าหัวหน้าปัจจุบันคือดีที่สุดแล้ว ถ้าฉันเป็นเขา ฉันไม่รู้จะทำอะไรให้ดีกว่านั้นได้เลย
  3. คุณจัดการความเครียดไม่ได้ ไม่ยอมรับกับความไม่แน่นอนไม่ต้องการทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน — จริง ๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ก็มาฝึกทักษะการ Prioritize ตอนเรียนนี่แหละครับ เพราะมันเหมือนเวลาในหนึ่งวันนั้นไม่พอจริง ๆ ส่วนเรื่องความไม่แน่นอนนั้น ต้องพูดว่า MBA นี่มีเรื่องผิดหวังเป็นปกติมาก เช่น บริษัทที่อยากทำงานด้วยไม่เลือกเราไปสัมภาษณ์ หางานไม่ได้จนนาทีสุดท้าย หรือสุดท้ายแล้วไม่ได้งานตามที่ตัวเองอยากทำ การเรียน MBA นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะสอนให้เรารับมือกับเรื่องพวกนี้ เรื่องเซอร์ไพรส์แบบอื่นก็มี เช่น บางคนเรียน ๆ ไป ทำอะไรกับคู่สมรสตัวเองไม่รู้ มีลูกเฉยเลย ก็ต้องทำงานหนักขึ้น เรียนก็ต้องเรียน งานก็ต้องหา ลูกก็ต้องเลี้ยง
  4. คุณสนใจวิชาการมากเป็นพิเศษ คาดหวังว่าจะต้องได้ความรู้เป็นชิ้นเป็นอัน ทฤษฎีแน่น — MBA ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้เลยครับ อย่างที่บอกว่าความรู้หลัก ๆ ที่เรียนกันจริง ๆ มีนิดเดียว ที่เหลือมันเป็นเรื่องของการเรียนรู้วิธีตัดสินใจ การสื่อสาร การเอาหลักการไปประยุกต์ใช้
  5. ไม่อยากเป็น General manager ไม่สงสัย หรือไม่อยากรู้อะไรนอกจากสายงานตัวเองเลย เช่น ทำงานการตลาด แต่พอพูดถึงบัญชี แทนที่จะนึกอยากรู้ว่ามันจะส่งผลยังไงต่อภาพรวมธุรกิจ ระบบต้นทุนมันส่งผลต่องานของเรายังไง หรือมันจะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นยังไง กลับร้องยี้แล้ววิ่งหนีทันที ไม่อยากเรียนรู้มันเพราะไม่ใช่อะไรที่ตั้งใจจะทำ หรือเพราะกลัว ลักษณะแบบนี้ไม่ตรงกับ Proposition ของ MBA ครับ
  6. ไม่มีเป้าหมายด้านอาชีพที่ชัดเจน เพียงแค่อยากฝึกภาษา หรืออยากหาเพื่อนใหม่ ถ้าความต้องการมีแค่สองอย่างหลังเป็นหลัก MBA จะไม่คุ้มเลยครับ ถ้าภาษาไม่แข็งแรงเอาเลยตั้งแต่ต้น มันเรียนลำบาก หางานลำบาก เข้าสังคมลำบาก พูดง่าย ๆ คือใน MBA พวกนี้ มันไม่มีเวลามาเรียนภาษาแล้ว ภาษามันต้องใช้การได้เดี๋ยวนั้น ส่วนด้านการหาเพื่อนเพิ่มเติม อันนั้นควรจะมองให้เป็นผลพลอยได้มากกว่าจุดประสงค์หลัก เพราะสภาพสังคมของอเมริกา และสภาพสังคมคนเรียน MBA ไม่ได้ทำให้เราหาเพื่อนได้ง่ายเหมือนกับการผูกมิตรกับฝรั่ง Expat ในที่ทำงานที่เราเคยอยู่มา หรือการเจอนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องเข้าใจว่าสภาพมันต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ

เรียน MBA หรือ Master of Science ดี

ขอปิดท้ายด้วยคำถามยอดฮิต ว่าจะเลือกเรียน MBA หรือ Master of Science เฉพาะสาขา (เช่น Finance, Marketing, Strategy หรือ Data science) ดี มาถึงตรงนี้แล้วเชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบในใจ แต่ถ้าจะสรุปอย่างรวบรัดคือ

Master of Science ในสาขาเฉพาะทางต่าง ๆ ค่าเทอมมักจะถูกกว่า MBA มาก, ส่วนมากไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงาน, เน้นวิชาการเฉพาะด้านมากกว่า MBA มาก, มีส่วนประกอบของ Recruiting ที่โรงเรียนสนับสนุนโดยตรง หรือเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมน้อยกว่า MBA มาก หรือไม่มีเลย, มีโครงสร้างด้าน Social น้อยกว่า MBA มาก หรือไม่มีเลย, ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นด้วยกันน้อยกว่า MBA มาก ไม่ได้มีความคาดหวังทางสังคมว่าเราต้อง Network กับใครมากมาย, และบริษัทที่รับสมัครงาน อาจเป็นคนละกลุ่ม หรือคนละตำแหน่งงานกับที่รับสมัครจาก MBA และทางเลือกมีจำกัดตามสาขาวิชาเฉพาะมากกว่าครับ

ในตอนต่อ ๆ ไป เราจะพูดถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก MBA ใน 1 ปีที่ผ่านมา การเตรียมตัวสมัคร เตรียมตัวมาเรียน และเรื่องสำคัญอย่างการเลือกโรงเรียนนะครับ

Flagler Court, University of Virginia Darden School of Business

--

--

Chawit Rochanakit

Chawit is trying hard to get an 'A' for the course 'How to live happily'...