GMATMemoir สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับจีแมท (1/2)

Chawit Rochanakit
4 min readAug 7, 2017

บันทึกประสบการณ์เกี่ยวกับข้อสอบที่พวกเราเอาชนะได้!

แม้ GMAT จะเป็นแค่ข้อสอบประเภทหนึ่งซึ่งเป็นใบเบิกทางไปสู่การเรียนในโรงเรียนธุรกิจชั้นนำของโลก แต่ผมกลับมีความผูกพันกับมันสูงมาก…

…ก็เพราะพอตั้งใจแล้วว่ามันจำเป็นต้องสอบให้ได้ ผมเลยจำต้องอยู่กับมัน คนอื่นที่เขาฉลาด ๆ บางคนสอบทีเดียวก็ได้คะแนนในระดับที่ใช้การได้ แต่นั่นไม่ใช่ผม — ผมอยู่กับมันนานกว่า 1 ปี สอบไปตั้ง 4 ครั้งกว่าจะได้คะแนนที่ต้องการ ไอ้เรื่องที่ต้องอ่านหนังสือหลายรอบ เครียดหลายทีนั่นไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่หรอก ประเด็นคือค่าสอบ คือมันสอบครั้งละ 250 เหรียญ ยังไม่รวมสารพัด material ทั้งหนังสือ ทั้งคอร์สติวที่ใช้เตรียมตัว ไม่น่าเชื่อว่าอีข้อสอบนี้จะดูดเงินเราไปเกือบครึ่งแสนแล้ว ไปสอบแต่ละทีเหมือนจ่ายเงินทิ้งเข้าไปพบกับความผิดหวังให้เจ็บใจเล่น

… แต่ไม่ใช่กับครั้งล่าสุด ครั้งที่ผมพยายามมากกว่าเดิมอีกหน่อย ครั้งที่ผมพยายามควบคุมตัวเองให้ไม่ตื่นเต้นเวลาคำถามขึ้นมาบนหน้าจอ ในที่สุดผมก็เอาชนะมันได้! พูดตรง ๆ เลยคือก่อนสอบครั้งล่าสุดนี้ก็ทำใจว่าถ้าไม่ได้อีกก็ช่างมันแล้ว ชีวิตนี้ไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดก็ได้ เปลี่ยนไปเอาดีทางนั้นให้รู้แล้วรู้รอด เมื่อวันสอบ พอเห็นคะแนนเด้งขึ้นมาบนจอ โอ้โห แทบร้องไห้มันในห้องสอบเลย …ใครว่าปาฏิหาริย์เป็นไปไม่ได้ มันอาจจะต้องใช้โชค เวลา และความพยายามนิดหน่อยเท่านั้นเอง

(ข้อสอบ GMAT สอบเสร็จปุ๊บรู้คะแนนปั๊บเลย (ยกเว้นส่วนเรียงความที่ต้องรอคะแนนประมาณไม่เกิน 2 สัปดาห์) และเรามีสิทธิ์เลือกที่จะยอมรับคะแนนที่ทำได้ทันทีหลังสอบเสร็จ โดยถ้าเรายอมรับคะแนน ระบบก็จะส่งคะแนนไปให้โรงเรียนที่เลือกไว้ หรือถ้าคะแนนมันขี้เหร่ก็ยกเลิกคะแนนไป ไม่มีใครรู้เห็นนอกจากเรา )

ระหว่างการเดินทางจนกว่าจะได้คะแนนนี้มา ผมได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้อง ทั้งในรูปแบบของหนังสือติว คำแนะนำ เทคนิค กำลังใจ (ทั้งให้สู้ และบอกว่ามึงไปสอบ GRE แทนมั้ย) และความช่วยเหลือจากครอบครัวในด้านค่าสอบและค่าเตรียมตัว ผมจึงขอส่งต่อประสบการณ์เท่าที่พอจะรู้ให้คนอื่น ๆ ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะสอบ GMAT เพื่อเป็นการขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนผมนะครับ

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องเทคนิคยิบย่อย มาคุยเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดก่อนดีกว่า นั่นคือเรื่อง “ทัศนคติ”

ทัศนคติคือทุกอย่าง

ผมคิดว่าสิ่งที่ผลักให้ผมอดทนทำมันจนได้ ไม่ใช่ตัวข้อสอบเองหรอก แต่มันคือ
เป้าหมายอย่างอื่นที่ผูกอยู่ ถ้าใครมีเป้าหมายที่อยากจะได้ โรงเรียนไหนที่อยากไป อาชีพไหนที่อยากทำ มันจะเป็นแรงผลักดันให้เราไม่ถอดใจ ผมเจอคนที่เก่งกว่าผมตั้งหลายคนที่เลิกแผนการในภาพใหญ่ไปเพราะแค่มีข้อสอบนี้ขวางทางอยู่ ผมอยากให้ลองอีกสักตั้งจนแน่ใจ จะได้ไม่ต้องมาคิดเสียดายทีหลัง

ทัศนคติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคืออย่าไปโกรธข้อสอบ คือมันยากจริงครับ ไม่เถียง แต่มันต้องมีเหตุผลสิที่ข้อสอบนี้ยังได้รับความนิยมในการสมัครเข้าเรียนต่อมาเป็นเวลาหลายสิบปี โรงเรียนชั้นนำแทบทุกแห่งสนับสนุนการใช้คะแนนนี้ แปลว่าข้อสอบนี้มันต้องมีข้อดี — ส่วนตัวเรามองว่าข้อสอบนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ทางที่จะทำให้โรงเรียนคัดเลือกคนที่มีคุณภาพพอใช้ได้ — คนแบบที่เราอยากร่วมชั้นเรียนด้วย — ไปเรียนด้วยกันในห้องเรียน ถ้าไม่วัดด้วยข้อสอบนี้ก็คงยากที่โรงเรียนจะสามารถคัดกรองคนที่มีปัญหากับการตั้งบัญญัติไตรยางค์พื้นฐานจนทำให้ชั้นเรียนต้องติดขัด หรือคนที่ตรรกะไม่แข็งแรงพอ ถามไปไหนมา ตอบสามวาสองศอก จะไปเถียงไปถกอะไรกับคนอื่นให้เกิดผลก็คงยาก เพราะฉะนั้นผมเลยอยากเชิญชวนให้เปิดใจรับข้อสอบนี้ เพราะยังไงเราก็ไม่มีทางเลือกมากนัก และผมมั่นใจว่าหลังจากการเคี่ยวกรำทำข้อสอบ เราจะเป็นคนที่เก่งขึ้น มีเหตุผลขึ้นแน่นอน

อย่างสุดท้ายที่อยากบอกคือมันจะมีคนเก่งมาก ๆ เช่นเพื่อนเรา รุ่นพี่เราที่พลิกหนังสือผ่าน ๆ ไปสอบออกมาหนแรก เชี่ย 700+ เฉยเลย ทำไมเค้าเก่งจัง แล้วทำไมเราไม่ฉลาดแบบนั้น ความคิดนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลในทางลบต่อตัวผมเองพอสมควรเลยนะ แต่พอมองย้อนกลับไป ผมก็อยากกลับไปบอกตัวเองในตอนนั้นว่าถ้าแกทำไม่ได้ แกก็ต้องฝึก แค่นั้นเอง จบ ไม่มีคำถามเพิ่มเติม อย่าเสียเวลาน้อยใจในโชคชะตาสมองเลย มันเป็นความคิดที่ไม่มีประโยชน์ เริ่มฝึกมันตอนนี้ เดี๋ยวนี้แหละ ถึงเวลาที่เราทำได้เราจะภูมิใจในตัวเอง

เรื่องใหญ่ ๆ เกี่ยวกับ GMAT

ผ่านพ้นเรื่องสภาพจิตใจมาแล้ว มาคุยเรื่องในภาพใหญ่เกี่ยวกับการสอบ GMAT บ้าง ต่อไปนี้จะขออนุญาตเขียนบนสมมติฐานที่ว่าผู้อ่านพอรู้จักข้อสอบประเภทนี้มาบ้างแล้ว ถ้าหากว่ายัง ต้องรบกวนให้ Google ลองอ่านรีวิวที่มีคนเขียนไว้เป็นจำนวนมากแล้วทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรืออ่านจากเว็บไซต์ทางการของผู้จัดสอบ (GMAC: Graduate Management Admission Council) ตามลิงค์นี้ได้เลย

http://www.mba.com/global/the-gmat-exam.aspx

สิ่งสำคัญที่ควรทราบในตอนนี้ คือสมัครอย่างไร ข้อสอบวัดอะไรบ้าง รูปแบบของข้อสอบและระยะเวลาสอบ ถ้าพร้อมแล้วก็มาคุยกันต่อเลย

  1. เนื้อความรู้อย่างเดียวไม่พอ — ถ้ามองในแง่ดี การสอบ GMAT มันไม่เหมือนข้อสอบวัดความรู้ทั่ว ๆ ไป เช่นสอบเอนทรานซ์ ที่เราทำได้แค่อ่านเอาเนื้อหาให้มากที่สุด โดยไม่รู้ว่าข้อสอบจะมาไม้ไหน แต่ GMAT เป็นข้อสอบที่เรียกว่า Standardized Test เพราะฉะนั้นมันจะมีรูปแบบของคำถามที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น ประเภทคำถาม โทนของคำถาม หรือแม้กระทั่งเป็นคำถามเดียวกันแค่เปลี่ยนตัวเลข คนที่สอบ GMAT ได้คะแนนดีจึงไม่ใช่คนที่ความรู้แน่นอย่างเดียว แต่เป็นคนที่ฝึกฝนจนชำนาญในด้านรูปแบบของข้อสอบด้วย ความชำนาญจะทำให้เราตอบได้ถูกต้อง ทำได้เร็วขึ้น โดนชอยส์หลอกน้อยลง ทำแล้วมั่นใจไม่จิตตกในขณะที่สอบ ผมมั่นใจว่าการเตรียมสอบ GMAT อย่างถูกวิธีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้มาก (กล่าวคือเราจะสอบได้คะแนนดี ในระยะเวลาที่สั้นลง) เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่าเราต้อง Learn how to learn และผมสรุปเอาเองว่าการเตรียมสอบ GMAT มีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ (1) ศึกษาเนื้อหาให้เข้าใจ (2) ฝึกทักษะการทำข้อสอบ และ (3) ฝึกความอึด — การสอบ GMAT ที่กินเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงนั้นเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก ถ้าไม่ฝึกฝนความอดทนวันจริงจะหมดแรงก่อนทำข้อสอบหมด
  2. การฝึกฝนหรือเรียนรู้ ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ (เดี๋ยวจะเขียนแนะนำให้ครับว่าตอนเตรียมผมใช้อะไรไปบ้าง) ตรงนี้เรื่องหนังสือหรือคอร์สติวอาจจะลางเนื้อชอบลางยา แต่ที่แน่ ๆ สำหรับตัวข้อสอบเก่า ขอแนะนำให้ฝึกทำกับ Official Questions (ข้อสอบจริงที่ปลดระวางแล้ว ที่ออกโดย GMAC มีทั้งให้โหลดฟรีในโปรแกรม แต่มันมีไม่กี่ข้อ ตรงนี้ไปซื้อหนังสือเพิ่มได้เลย รายละเอียดอยู่ในส่วนต่อไป) อันนี้ยืนยันว่าบริษัทอื่น สำนักพิมพ์อื่น ออกข้อสอบมายังไงก็ไม่เหมือน ถ้าเราใช้ข้อสอบที่ไม่สมจริง เนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพ มันจะไม่ค่อยได้ผล เสียทั้งเงินและเวลา
  3. บุญเก่าเรื่องภาษาอังกฤษมีผลไหม — แน่นอนว่ามี เพราะมันทำให้เราอ่านคำถามอ่านตัวเลือกออกทั้งส่วน Quantitative และ Verbal เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องพูดตรง ๆ ว่าถ้าหากเป็นคนที่ไปสอบ TOEIC หรือ TOEFL ก็ทรมานมากแล้ว การสอบ GMAT นั้นไม่ง่ายแน่ ๆ ต้องปูพื้นฐานภาษากันอีกเยอะ
    … แต่ว่าต่อให้เป็นคนที่พื้นภาษาอังกฤษดี ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำได้นะครับ ฝรั่งเยอะแยะไปที่ทำข้อสอบนี้แล้วไม่ได้คะแนนเลย ภาษาเป็นส่วนสำคัญของข้อสอบก็จริง แต่หัวใจของข้อสอบมันไม่ได้วัดภาษา มันวัดทักษะการให้เหตุผล เพียงแค่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ ไม่งงใช่มั้ย อย่างไรก็ดี ความรู้ทางไวยากรณ์ที่แน่นปึ๋งปั๋งจะมีประโยชน์สำหรับข้อสอบส่วน Sentence Correction นะครับ เดี๋ยวไว้คุยรายละเอียดกันอีกที สรุปตรงนี้ก่อนว่าพื้นฐานภาษาดีไม่ได้ทำให้สอบได้ดีในทันที แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานมาละยากแน่ ๆ
  4. เผื่อเวลาไว้เยอะ ๆ ใครที่สมัครเรียน MBA จะรู้ดีว่าเตรียมตัวล่วงหน้าเป็นปีก็ไม่เสียหาย กว่าจะสร้างประสบการณ์ สร้างโปรไฟล์ เรื่อง GMAT ซึ่งเป็นส่วนเดียวแต่สำคัญนี่ขอแนะนำให้พยายามทำให้มันจบ ๆ ไปเลยเมื่อเราสามารถทำได้ เพราะคะแนนเก็บไว้ได้ 5 ปี จะไปเรียนไหมยังไงไว้ค่อยมาคิด เหตุที่ต้องเผื่อเวลาเพราะการสอบแต่ละครั้ง ถ้าจะสอบซ้ำต้องเว้นระยะเวลา 1 เดือนก่อนจะสอบได้อีกครั้ง การที่ต้องเตรียมสอบโดยมี deadline ของการสมัครมาจี้ตูดอยู่นี่ไม่สนุกเลยนะครับ สุดท้ายมันมีแนวโน้มที่จะทำอะไรได้ไม่ดีสักอย่าง essay ก็ไม่ดี ใบสมัครก็ไม่ดี คะแนนสอบก็ไม่ดี เรื่องนี้แต่ละคนควรวาง timeline ของตัวเองไว้เลย เช่น ถ้าจะสมัครรอบ deadline ตุลาคม ถ้าไตรมาส 1 สอบได้ก็สอบซะเถอะ อย่าไปรอจนใกล้ ๆ แล้วค่อยมาเร่ง
  5. เวลาฝึกทำข้อสอบ อยากให้นึกว่าเราทำเพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ทำตาม checklist ว่าอ้ะ บทนี้อ่านแล้ว บทนี้ผ่าน แล้วปล่อยปละไป เพราะมันจะไม่ได้ผล เรื่องความพยายามเรียนรู้นี้หมายถึงการพยายามเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ ด้วยนะครับ บางคน (รวมทั้งผมเอง) ในช่วงแรกไม่ได้พยายามเรียนรู้จริง ๆ ทำให้คะแนนไม่กระเตื้อง เพราะเจอข้อสอบพลิกนิดเดียวก็ตอบไม่ได้ การไปโฟกัสกับเทคนิคมากจนเกินไป เช่น จะแบ่งเวลาทำข้อสอบยังไงดี ต้องดูนาฬิกาทุกกี่ข้อ ต้องมั่วแบบไหน จะรู้ไว้ก็ดีแต่เรามักจะพะวงกับตรงนั้น ทำให้เราทำสอบได้ไม่ดีเท่าที่ควร และต่อให้มีเทคนิคแพรวพราว แต่ถ้าแก่นไม่แน่นบางทีมันก็ไม่ช่วยอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่เราไม่มีโชค
  6. ลงทุนกับ GMATอย่าขี้เหนียว อันนี้เป็นคำแนะนำที่เราได้จากฝรั่งศิษย์เก่า MBA ของโรงเรียน Darden พี่แกบอกว่าถ้าต้องมันจำเป็นต้องเตรียมสอบ ถ้ารู้ว่าอ่านเองแล้วไม่ได้ผลจะต้องหาคนติว หรือจะต้องสอบหลายที — ทำไปเถอะ มันอาจจะดูเป็นเงินจำนวนมากในขณะนี้ แต่อย่าลืมว่าเราทำไปเพื่ออะไร เรากำลังเปิดโอกาสให้ตัวเอง เรากำลังพาตัวเองไปอยู่ในโรงเรียนที่จะพัฒนาตัวเราให้พร้อมกับอาชีพและเงินเดือนที่น่าจะมากขึ้น ยังไม่ต้องคิดเทียบกับเงินเดือนที่มากขึ้นหรอกครับ เทียบกับค่าเทอม MBA ก่อนก็ได้ ค่าสอบและเตรียมตัวเกี่ยวกับ GMAT จะกลายเป็นเงินนิดเดียว เพราะฉะนั้นเลยอยากแนะนำว่า GMAT เป็นสิ่งที่ควรลงทุนตามสมควร

เริ่มต้นกันสักที

ใครพร้อมจะเริ่มแล้วก็ถึงเวลาหาอุปกรณ์ นั่นคือหนังสือและ software ที่จำเป็นนั่นเอง ตอนนี้ขอแนะนำ material ที่ผมคิดว่าเป็นภาคบังคับก่อน ส่วนตัวช่วยเพิ่มเติม (ซึ่งจริง ๆ แล้วได้ผลมาก สำคัญมากสำหรับตัวผมเอง) จะพูดถึงอีกทีนะครับ เพราะมันอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับคนอื่นก็ได้ ขึ้่นอยู่กับตัวบุคคล

ถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลย

  1. เข้าเว็บไซต์ www.mba.com (เว็บไซต์ official ของ GMAT) ใครพร้อมจะสมัครสอบก็เอาเลย เขาว่ากันว่าเวลา 3 เดือนในการเตรียมตัวเป็นเวลาที่กำลังดี ทั้งนี้ทั้งนั้น 3 เดือนหมายถึงต้องอ่านทุกวัน วันละ 1–2 ชั่วโมง และถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ก็ต้องมากกว่านั้นสักเท่าตัวนะครับ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลานี้ไม่อาจรับประกันผล เพราะอย่างที่บอกว่าผมใช้เวลา 1 ปีเต็มกว่าจะมาถึงคะแนนที่พอใจ
  2. แต่ถ้าจะยังไม่สมัครสอบก็ไม่เป็นไร จริง ๆ แล้วจะให้เข้ามาโหลดโปรแกรมฟรี ชื่อ GMATPrep ที่ลิงค์นี้ http://www.mba.com/global/store/store-catalog/gmat-preparation/free-gmatprep-software.aspx
    ซึ่งพอโหลดมาแล้วในโปรแกรมจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการสอบเขียนไว้ ควรอ่านให้หมด ในโปรแกรมมีตัวอย่างคำถามให้ลองทำด้วย อันนี้ลองทำได้เลยจะได้พอรู้ว่าตัวเองอยู่ระดับประมาณไหน (แต่มันจะมีไม่กี่ข้อ ถ้าอยากได้เพิ่มก็ซื้อจากเว็บไซต์เดียวกันได้ ข้อสอบเพิ่มเติมก็จะเข้ามาฝังอยู่ในโปรแกรม) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของโปรแกรมนี้ คือมีข้อสอบ GMAT ในรูปแบบที่คล้ายการสอบจริง (mock tests) ให้มาฟรี 2 ชุด ประเด็นคือ mock tests ฟรีอันนี้แหละ สามารถใช้คาดการณ์คะแนนที่เราจะได้จริงจากการสอบได้แม่นยำที่สุด แม่นยิ่งกว่า mock test ของผู้ผลิตรายใด ๆ ในท้องตลาด จึงไม่ควรเข้าไปทำเล่น ๆ (เช่น ทำไปครึ่งหนึ่งแล้วก็หยุด หรือไปลองกด ๆ ดูแล้วก็ปิด ถ้าจะทำ mock test ควรทำให้จริงจัง ทำแบบนั่งทำครั้งเดียวจบเสมือนสอบจริง) เพราะถ้าเราเข้าไปขาดช่วงขาดตอน หรือไม่ตั้งใจ จะทำให้เราเห็นข้อสอบคุ้น ๆ พอต้องการทดสอบความสามารถจริง ๆ ผลก็จะเพี้ยน ไม่ได้บรรยากาศเหมือนจริง
  3. เรื่อง mock test นี้มีหลายตำรา บางคนบอกว่าให้ทำเลย แบบยังไม่อ่านอะไรนี่แหละ จะได้ดูแววตัวเอง บางตำราบอกว่าอย่าเพิ่งทำ เอาไว้ทำตอนที่พร้อมระดับหนึ่งแล้วจะได้ไม่เสียของ ส่วนตัวผมบอกตรง ๆ ว่าไม่รู้ว่าทางไหนดีกว่ากัน แต่ค่อนข้างเอนเอียงไปทางที่ว่าเก็บไว้สักพัก ฝึกทำจนเริ่มคุ้นชินบ้างแล้วค่อยมาทำอาจจะดีกว่า…
  4. ทั้งนี้ สิ่งที่ผมถือว่าเป็นภาคบังคับ คุณควรมี คือหนังสือ GMAT Official Guide (ต่อไปนี้เราจะเรียกว่า OG) ซึ่งรวมข้อสอบเก่า หนังสือนี้มีขายตามร้านหนังสือภาษาอังกฤษทั่วไป เช่น Asia Books, Kinokuniya และศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นต้น เล่มนี้เป็นโจทย์เก่าจากผู้จัดสอบตัวจริงเสียงจริง ข้อสอบจะมีคุณภาพสูง และข้อสอบมีรสชาติเหมือนกับข้อสอบจริง อย่าเสียเวลาใช้หนังสือโนเนมยี่ห้ออื่นฝึกมาทำนะครับ
    แต่ละปี GMAC จะออกหนังสือ Edition ใหม่ประจำปีมา โดยปกติแล้ว Edition ใหม่จะมีข้อสอบที่ไม่ซ้ำกับเล่มของปีก่อนหน้าแค่ประมาณ 15% ของทั้งเล่ม เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนหรือญาติมี Edition ของปีก่อนหน้าส่งต่อมาให้ใช้ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ต้องซื้อใหม่ก็ได้
    เทคนิคคืออย่าเขียนลงในหนังสือ จะได้เอากลับมาทำซ้ำได้โดยไม่มีร่องรอยครับ
    ใน OG จะมีข้อสอบอยู่บทหนึ่ง เรียกว่า Diagnostic Test เราลองทำชุดนี้ก่อนก็ดี จะได้รู้ว่าได้คะแนนอยู่ประมาณช่วงไหน ได้เห็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของเราก่อนที่เริ่มศึกษาจริงจัง
เล่มหลักในรูปขวา เล่มเพิ่มเติมในรูปซ้าย (ถ้าคิดว่าจะทำโจทย์ไม่ทันก็ไม่ต้องซื้อเล่มเพิ่มก็ได้) ขอบคุณนายแบบ Chanoot ด้วยครับ

แต่ละปี OG จะออกมา 3 เล่ม เล่มที่เป็นเล่มหลัก หนาสุด ราคาราว ๆ 1,400 กว่าบาทคือเล่มสีชมพูในรูปขวา ส่วนถ้าใครอยากได้โจทย์เพิ่มเติมอีก (โจทย์ไม่ซ้ำกับเล่มหนา) ก็ซื้อเล่ม OG Verbal Review และ Quantitative Review (ปกสีเขียวกับสีม่วงในรูปซ้าย) เพิ่มได้ สองเล่มบางนั้นเล่มละ 600 กว่าบาท

ส่วนในรูปซ้ายมือนี้ คือ Edition ของปีก่อนหน้า ใครมีเล่มนี้อยู่แล้วก็ไม่ต้องซื้อใหม่ก็ได้ครับ

เอาเป็นว่าคำแนะนำของเราสำหรับตอนนี้คือ หาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของตัวข้อสอบมาอ่านให้เข้าใจ เอาให้รู้นอกออกในก่อนว่าข้อสอบมันทำงานยังไง เราจะเจออะไรบ้าง ลองทำตัวอย่างข้อสอบชิมลาง (แนะนำให้ลองทำ Diagnostic Test ในเล่ม OG) ได้คะแนนมาเท่าไหร่อย่าเพิ่งไปท้อใจครับ ผมภูมิใจมากที่จะบอกว่ารอบแรกที่ผมทำคือได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่คนทั่วไปควรจะทำได้ทุกพาร์ทเลย

เดี๋ยวตอนหน้าเรามาคุยกันในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเรียน (Learn how to learn) เรื่องอุปกรณ์ หนังสือ คอร์สที่เราพบว่ามีประโยชน์ และสิ่งที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคของข้อสอบแต่ละพาร์ทกันครับ ระหว่างนี้ฝากคำถามไว้ก่อนได้ แล้วเจอกันนะครับ.

--

--

Chawit Rochanakit

Chawit is trying hard to get an 'A' for the course 'How to live happily'...