GMATMemoir สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับจีแมท (2/2)

Chawit Rochanakit
7 min readAug 20, 2017

บันทึกประสบการณ์เกี่ยวกับข้อสอบที่พวกเราเอาชนะได้!

หลังจากตอนที่แล้วเราคุยกันเรื่องเตรียมพร้อมไปรบกับข้อสอบ GMAT คราวนี้เราจะเริ่มออกรบจริง ๆ กันแล้ว

จะว่าไปแล้วการออกรบมันมีสองส่วน ส่วนแรกคือรบขณะเตรียมตัวไปสอบ แล้วเราก็รบอีกทีตอนสอบจริง ผมจะพยายามสรุปเรื่องรบเวลาเตรียมตัวให้ได้มากที่สุด ถ้าเราเตรียมตัวในวิธีที่เหมาะกับตัวเรา ผลสอบที่ดีคงไม่หนีไปไหนไกล เอาเป็นว่าเรามาเริ่มทำในส่วนที่พวกเราควบคุมได้ให้ได้ดีที่สุดก่อนก็แล้วกัน

หมายเหตุ ข้อมูลข้างล่างนี้ ถ้าไม่เคยเตรีียมสอบ GMAT มาก่อน อาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจ ต้องขออภัยเพราะมันเจาะจงมาก แต่ถ้าใครเริ่มศึกษาข้อสอบแล้วเราน่าจะต่อกันติดนะครับ

ตอนแรก (1/2) อยู่ที่นี่นะครับ

เกี่ยวกับผลคะแนน

ทุกคนคงทราบแล้วว่าข้อสอบ GMAT มี 4 ส่วน คือ AWA (Analytical Writing), Integrated Reasoning, Quantitative และ Verbal โดยส่วนที่เอามาคิดเป็นคะแนนเต็ม 800 (ซึ่งใครหลายคนหวังอยากได้ 700+) คิดมาจากคะแนน Quantitative และ Verbal เท่านั้น แต่อีกสองส่วนที่เหลือก็เอาเป็นว่าพยายามดูแลคะแนนบ้าง อย่าให้มันน่าเกลียดเกินไป

ทีนี้ความสำคัญมันไม่ได้อยู่แค่เลขคะแนนสามหลักนั้น เพราะคะแนนที่เราทำได้จะโดนวัดเป็น percentile เทียบกับคนบนโลกที่สอบ GMAT ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ว่าคะแนนที่เราได้นั้นคิดเป็น percentile ที่เท่าไหร่ ตรงนี้ business school ก็จะเอามาใช้เพื่อพิจารณาความสามารถของเราด้วย

สำหรับข้อมูลว่าในเวลานี้ คะแนน XXX คิดเป็น percentile ที่เท่าไหร่ ก็เข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ official ตาม link ข้างล่าง (จริง ๆ แล้วในเว็บนี่ก็ไม่ได้ล่าสุด เพราะมันไม่ตรงกับคะแนนจริงที่ผมได้มาล่าสุด แต่ไม่รู้จะหาอ้างอิงไหนมาให้แล้ว)

ส่วนลิงค์นี้ไม่ใช่ official แต่อธิบายดีและเชื่อถือได้

จากใน link จะเห็นได้ว่าถ้าเราได้คะแนนรวม 700 จะทำให้เราอยู่ใน percentile ที่ 89 (กล่าวคือเอาคนสอบ 100 คนมา rank ตามลำดับ มีผู้สอบทั่วโลกแค่ 11 คนที่คะแนนดีอยู่เหนือเรา) นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมคนถึงพูดกันว่าอยากได้ 700 คะแนน และคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนดี ๆ ก็เกิน 700 กันทั้งนั้น พูดง่าย ๆ คือในโรงเรียนเหล่านั้นก็เป็นการรวมตัวของหัวกะทิระดับนึงนั่นแหละ

นอกจาก percentile บนคะแนนรวมแล้ว มันก็มี percentile สำหรับส่วน Quantitative และ Verbal แยกกันอีก จากในลิงค์เดิม ให้สังเกตว่าถ้าทำคะแนน Quantitative ได้ 50 ถึงจะได้ percentile ที่ 87 และถ้าทำได้เต็ม 51 มันจะกระโดดไปที่ percentile 97 เลย ในขณะที่ Verbal นั้น ได้แค่ 39 คะแนนก็เป็น percentile ที่ 89 แล้ว

ที่คะแนนมันมีช่วงแปลก ๆ เพราะเค้าต้องทำ range เผื่อไว้ให้มันเทียบค่ากลางได้หลาย ๆ ปี ส่วนการกระจายของคะแนนที่ต่างกันใน Quantitative และ Verbal เชื่อว่าเป็นเพราะคนจีน อินเดีย เอเชีย มหาเทพคณิตศาสตร์ทั้งหลายมาช่วยกันดันคะแนน Quant ทำให้ percentile มันเคลื่อนไปมาก ในขณะที่ Verbal นั้น percentile ยังไม่ถูกกระทบจากความเก่งกาจของคนสอบมากนัก พูดง่าย ๆ คือสำหรับ verbal แล้ว เป็นการเอาชนะความโหดของข้อสอบเองมากกว่า

ทีนี้สมมติเราดูที่ 700 จะเห็นว่าระดับคะแนนนี้มีวิธีการที่ทำให้ได้มาหลายแบบ ตัวอย่างเช่น

นาย A ได้ Q 51 (maximum แล้ว) และ V 35
นาย B ได้ Q 49 และ V 37
นาย C ได้ Q 48 และ V 38

สามคนข้างบนนั้น ตามตารางจะคิดคะแนนรวมออกมาได้ 700 เหมือนกัน แต่สัดส่วน percentile มันไม่เหมือนกันครับ โรงเรียนก็จะเอามาดูว่าคนนี้เก่งเลขมากกว่าภาษา คนนี้เก่งภาษามากกว่าเลข เป็นต้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมคิดว่า implication ของเรื่องคะแนนนี้มีอยู่ 2 อย่าง

(1) คะแนน 700+ ที่สมดุลระหว่าง Quantitative และ Verbal ดีกว่าคะแนน 700+ ที่เอนไปทางใดทางหนึ่งมากไป แต่ละโรงเรียนท็อป ๆ เค้าจะมีจุดตัดในใจอยู่ว่าอยากเห็น Quant ประมาณเท่านี้ Verbal ประมาณเท่านี้ ถ้าต่ำกว่านี้โรงเรียนก็ไม่แน่ใจว่าเออ คนนี้จะเรียนในห้องทันไหม เป็นต้น ผมไม่รู้ว่าจุดตัดมันอยู่ที่ตรงไหนเป๊ะ ๆ สำหรับแต่ละโรงเรียน… แต่จุดนั้นมันมีอยู่จริงครับ (รู้มาจากการที่เคยคุยกับ admission committee ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง) เอาเป็นว่า Q ถ้าจะให้ดีควรจะไปถึง 48 เป็นอย่างน้อย

(2) Q48 ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนเอเชียส่วนใหญ่ แต่ถึงได้ Q48 มาแล้ว ถ้าจะเอา 700+ แปลว่าเราต้องทำ Verbal ให้ได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ได้ง่ายมากนัก พูดง่าย ๆ คือต่อให้เลขดีมาก แต่ภาษาทำได้ไม่ดี มันเข็นให้คะแนนรวมขึ้นไปได้ยากครับ เราจึงควรทำให้ระดับคะแนนควรจะพอใช้ได้ทั้งคู่

แล้วทำยังไงถึงจะได้คะแนนมาล่ะ

เออ… คำถามดี ก็เตรียมสอบไง เรื่องวิธีเตรียมเป็นอะไรที่แล้วแต่บุคคลมาก แต่จะขอแชร์อะไรที่ผมคิดว่ามัน work สำหรับตัวผมเอง เผื่อใครจะเอาไปลอง ส่วน online course ที่จะแนะนำต่อไปนั้นมันมี free trial ให้ทุกราย อย่าเพิ่งจ่ายเงินก้อนใหญ่หลายพัน ไปลองเรียนดูก่อนว่าถูกจริตมั้ยค่อยลงทะเบียนจริงจังจะดีกว่า

Quantitative

หลายคนที่ผมรู้จัก เป็นคนที่ถนัดเลขอยู่แล้ว แค่ทำโจทย์ใน OG พอให้คุ้น ๆ มือ ไปสอบออกมาก็ได้ 48 49 แล้ว แต่ด้วยความที่ sense เลขผมไม่ดีเท่าไหร่ โจทย์ง่าย ๆ พลิกนิดหน่อยสมองก็ชัทดาวน์แล้ว ผมเลยต้องใช้ตัวช่วยนิดหน่อยคือพวก online course ที่อธิบาย concept เป็นเรื่อง ๆ ไปเลยด้วย ไม่ได้มีแค่โจทย์แบบใน OG

… ตัวอย่างเช่น เรื่องค่าเฉลี่ยเลขคณิต นอกจากการรู้จักสูตรมาตรฐาน เราก็จะได้ทำความเข้าใจลักษณะของมันในบางแง่มุมที่อาจจะมีประโยชน์กับการสอบ เช่น ลำดับตัวเลขที่เรียงกันโดยมีระยะห่างเท่ากัน เลขตรงกลางคือค่าเฉลี่ย เช่น 110, 111, 112, 113, 114 ในเลขชุดนี้ ค่าเฉลี่ยคือ 112 และจากลำดับเลขเรียงนั้น ถ้าเราตัดหัวตัดท้ายในลำดับออกโดยสมดุลกัน ค่าเฉลี่ยจะคงเดิม เช่น ถ้าเปลี่ยนเลขชุดนั้นเป็น 110, 112, 114 ค่าเฉลี่ยก็จะคงเดิมที่ 112 — เนี่ย ยังเงี้ย เรื่องง่าย ๆ บางคนมันรู้เองแบบไม่ต้องสอนไง แต่บางคน (เช่นเรา) จะนึกไม่ทัน การได้เรียนเนื้อหาเน้นเป็นหัวข้อจึงอาจช่วยให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น

Quantitative: Material

ถ้าหลังลองทำโจทย์เลขใน OG แล้วรู้สึกไม่ค่อยไหว ลองดูตัวช่วยพวกนี้ก็ได้ครับ (เขียนจากอะไรที่ใช้จริงเท่านั้น ไม่ได้ค่าโฆษณา)

Magoosh ให้ 4/5
เป็น 1 ใน online course ที่คุณภาพใช้ได้และราคาไม่แพงมาก สมัครทีนึงเรียนได้ 1 ปี มีคลังข้อสอบแถมให้ ในนั้นก็จะอธิบาย Quantitative เป็นเรื่อง ๆ แบบละเอียดมากทีเดียว ถ้าต้องการซ่อมสร้างพื้นฐานก็แนะนำว่าใช้ได้ (จริง ๆ Magoosh มี Verbal ด้วย แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่) ข้อเสียนิดนึงคือรู้สึกว่าสไตล์การสอนมันแอบน่าเบื่อนิดนึง

EMPOWERgmat ให้ 4.5/5
เป็น course ที่ดีในแง่การฝึกพฤติกรรมการทำโจทย์เลข เช่น วิธีแทนค่า การระวังโจทย์หลอก สอนโดยใช้โจทย์ใน OG ควบคู่กันไปด้วยเป็นหลัก เพราะโจทย์หลายข้อมันมีวิธีคิดที่ดีกว่าที่ OG เฉลย นึกถึงสมัยเราเรียนเลขตอนมัธยมกับหนังสือ สสวท. แล้วต้องแสดงวิธีทำให้วุ่นวาย เฉลยใน OG ก็มักจะเป็นแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงเราแทนค่ากิ๊กก๊อกก็ได้คำตอบที่เชื่อถือได้แล้ว ผมคิดว่าคอร์สนี้ค่อนข้างดีสำหรับคนที่คะแนนติดอยู่ประมาณ 40 กลาง ๆ แล้วดันไม่ขึ้น (ส่วนมากคะแนนจะติดตรงนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้ แต่มักเป็นเพราะทำผิด โดนโจทย์หลอกมากกว่า ต้องฝึกให้แม่นขึ้น) แต่ถ้าพูดถึงแง่การอธิบายพื้นฐานแต่ละเรื่องนั้น Magoosh จะละเอียดกว่า ในด้านคนสอนผมค่อนข้างชอบแม้จะไม่เคยเห็นหน้า เพราะน้ำเสียงกระตือรือร้นดี

จากความรู้สึกเราเชื่อว่าคอร์สนี้ออกแบบมาให้ไปถึงประมาณ 49 คะแนนอะครับ โดยคนสอนจะจงใจเลี่ยงโจทย์ที่ยาก ๆ เกินไป แล้วเน้นโจทย์พื้นฐานที่จะทำให้เราไปถึง 48–49 คะแนน ถ้าอยากได้ 50–51 คอร์สนี้จะไม่ช่วยเท่าไหร่เพราะคนสอนจะบอกให้ข้ามโจทย์ที่ยาก ๆ ไปเลย

GMATClub Tests เราให้ 4/5
GMATClub เป็นเว็บไซต์คล้าย ๆ พันทิปแห่งวงการ GMAT ทีนี้เค้าก็ทำ test มาขายให้ทำด้วย มันมักจะมีโปรโมชั่นลดราคาโผล่มาเรื่อย ๆ จำได้ว่ามันไม่แพงเท่าไหร่เลยซื้อมาเก็บไว้ แต่ก็ได้ทำไปแค่ไม่กี่ข้อ และไม่เคยลอง mock แบบเต็ม ๆ แต่ทำแล้วรู้เลยว่าข้อสอบคุณภาพดีมากทีเดียว (แม้จะไม่ใช่ของ OG) และเฉลยก็ดีมาก มีพื้นที่ให้คนมา comment วิธีทำที่ต่างกันด้วย เอาเป็นว่าเหมาะสำหรับการฝึกทำโจทย์ที่ค่อนข้างยากหน่อย

นอกจากตัวเลือกที่พูดถึงข้างบน บางคนก็อ่านหนังสือ Manhattan GMAT ซึ่งมีหลายเล่มตามหัวข้อ ราคาก็สูงนิดนึง เล่มละหลายร้อยบาท แต่ผมรีวิวไม่ได้เพราะไม่เคยใช้จริง ๆ จัง ๆ

Quantitative: Insights on the Exam

ข้างล่างนี้คือข้อสังเกตของผมเองต่อข้อสอบส่วน Quantitative ครับ

  1. Data Sufficiency เป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะเราทำไปแล้วจะไม่รู้เลยว่าตอบถูกหรือตอบผิด มันตรวจคำตอบไม่ได้ แต่ถ้าทำ OG และข้อสอบที่เชื่อถือได้จนมีชั่วโมงบินมากพอ เราจะเริ่มมีญาณเวลาเจอคำถาม เช่น คำถามมาทรงนี้ ต้องไม่ลืมทดสอบคำตอบด้วยตัวเลขที่เป็นเศษส่วน เป็นต้น การทำพาร์ทนี้ให้ได้คะแนนดี อาศัยทั้งความรู้ที่แม่นยำ และความคล่องในการทำ (คือตัดตัวเลือกได้ถูกต้อง ไม่ผิด และเร็ว — จำให้ได้ว่า A, B, C, D, E นั้นแต่ละตัวแปลว่าอะไร เพราะในข้อสอบมันจะไม่เปลี่ยน อย่าไปเสียเวลาคิดในห้องสอบ)
  2. คะแนน Quantitative ในระดับประมาณ 47–49 คือการทำข้อที่ความยากปานกลางให้ถูกต้องเกือบทั้งหมด ไม่ใช่การทำข้อที่ยากที่สุดให้ถูกต้อง พยายามประคองเนื้อหาเรื่องหลัก ๆ ให้แม่นยำก่อน เนื้อหาพวกนั้นคือเลขพื้นฐานมัธยมต้นครับ ได้แก่เรื่องสมบัติของจำนวน โจทย์ปัญหาพื้นฐาน เลขยกกำลัง อัตราส่วนและเปอร์เซ็นต์ ของผสม สมการ อสมการ ค่าสัมบูรณ์ เรขาคณิตพื้นฐาน ทีนี้ถ้าเราทำข้อพื้นฐานถูกเยอะ ๆ ผิดน้อย ๆ มันจะมีข้อยาก ๆ โผล่มา แล้วถ้าเราทำได้ คะแนนมันก็จะพุ่งไปที่ 50 หรือ 51 (ซึ่งคนเขียนทำไม่ได้จ้า) เรื่องยาก ๆ พวกนั้นคือความน่าจะเป็นแบบยาก ๆ การจัดหมู่ คอมบิเนชั่นแบบยาก ๆ เรขาคณิตแบบยาก ๆ หรือเรื่องเซตที่ซ้อนกันสามสี่วง เป็นต้น แต่ถ้าข้อพื้นฐานทำผิดเรื่อย ๆ คะแนนก็จะตกขอบลงไป
  3. บางทีข้อสอบก็สุ่มมาไม่ครบทุกเรื่อง เวลานั่งสอบอย่าไปเสียเวลาจิตตกว่าเอ๊ะข้อนี้ดูยาก ข้อนี้ดูง่าย เราทำได้ดี ทำได้ไม่ดีแน่ ๆ คือมันบั่นทอนและไม่มีประโยชน์ อันนี้ประสบการณ์ตรงเลยครับ สอบครั้งล่าสุดนี้ผมทำข้อที่ 1 ไม่ได้อีกแล้ว ใจเสียอีกแล้ว (ซึ่งก็เหมือนกับการสอบครั้งก่อน ๆ ไม่รู้ผีอะไรสาปว่าข้อแรกผมจะต้องทำไม่ได้เสมอ ไม่ว่าจะง่ายแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่อง ratio) ข้อต่อมาทำไปทำมา เออทำไมมันง่ายจังแต่ละข้อ นาทีนั้นจิตตกในห้องสอบแล้ว ในใจพูดว่า เท เท เท เท เทแม่งให้หมดดดดดด กลับบ้านไปซ้อมมาใหม่อีโง่ จะร้องไห้แล้ว แต่จิตตกได้แค่ยี่สิบวินาทีก็คุยกับตัวเองอีกครั้งว่า เฮ้ย เอาหน่อย สู้ให้สมศักดิ์ศรี ส่งข้อง่ายมาเราก็ทำให้มันถูกนี่แหละ สุดท้ายทำเสร็จก่อนเวลา และได้ออกมา 49 คะแนนแบบปาฏิหาริย์ รอดตัวไป
  4. ข้อไหนที่รู้ว่าทำยังไงก็ไม่ได้ก็ข้ามไปเถอะ วิธีนี้คงไม่เหมาะสำหรับเทพที่จะเอา 50 หรือ 51 แต่มันเป็นอะไรที่ช่วยให้ผมได้ 49 ไม่ใช่ทำไม่ทันจนต้องมั่วแล้วเหลือ 45 คะแนน อันนี้แล้วแต่กลยุทธ์แต่ละคนเลย ควรฝึกจนรู้ตัวว่าข้อแบบนี้จะไฟท์ให้ได้ ข้อแบบไหนจะเท
  5. ข้อที่ยากแบบไม่มีเหตุผลจริง ๆ มันมีไม่กี่ข้อหรอก ส่วนใหญ่แล้วไม่ว่าคำถามจะดูประสาทแดกแค่ไหน มันโดนออกแบบมาให้คิดได้ภายใน 2 นาที ถ้าหากคุณแม่นยำพอ และเลือกวิธีแก้โจทย์ที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นถ้าเราเจอว่าข้อไหนต้องใช้ 3 หรือ 4 หรือ 5 นาที สังหรณ์ใจได้เลยว่าเราไม่ได้ทำวิธีที่เหมาะสมอยู่ ควรไปหาเฉลยมาดูว่าวิธีคิดแบบอื่นเป็นยังไง

Verbal

อย่างที่เคยบอกว่าหลายคนพื้นฐานดีมาจากไหน มาเจอ GMAT ก็ร้องเลย เฮ้ย ภาษาอังกฤษที่กูรู้จักมันไม่ใช่แบบนี้รึเปล่า เอาเป็นว่าใจเย็น ๆ แล้วมาเริ่มต้นกัน

ผมคิดว่า Verbal เป็นส่วนที่ลุยไปทำโจทย์ OG แล้วจะเก่งเลยเป็นไปได้ยากมาก สำหรับ Sentence Correction เราต้องมีพื้นฐานไวยากรณ์ที่ถูกทดสอบให้แม่นยำ และสำหรับส่วน Critical Reasoning ซึ่งปกติแค่โจทย์ก็อ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่องอยู่แล้ว ยิ่งต้องทำความเข้าใจว่าโจทย์มีกี่ประเภท ให้เข้าใจว่าถามแบบนี้แปลว่าถามอะไร เพื่อให้หน้าที่เราในห้องสอบเหลือแค่การแปลเนื้อความของโจทย์ข้อนั้นและตัวเลือกพอ ไม่ใช่ต้องมานั่งตั้งสติกับคำถามอีกรอบนึง ว่าถามแบบนี้ควรจะคิดยังไง

Verbal: Material

นอกจาก OG ผมใช้หนังสือหลัก ๆ สองเล่ม คือ Sentence Correction กับ Critical Reasoning ของ Manhattan ที่อยู่ในลิงค์ข้างล่างนี้

แต่คนส่วนใหญ่จะบอกว่า PowerScore เลิศมากสำหรับ Critical Reasoning เด็ดระดับที่พลาดไม่ได้ อันนี้ผมก็คอมเมนต์ไม่ได้เพราะตัวเองไม่ได้อ่าน แต่แทบทุกคนพูดถึงมันจริง ๆ

สำหรับหนังสือ 2 เล่มนั้น บทบาทของมันคือทำให้ผมเข้าใจว่า อ๋อ ข้อสอบมีคำถามที่ถามประจำ ๆ กี่แบบ จะได้ไม่งงเวลาไปทำใน OG และให้ความเข้าใจพื้นฐาน ทั้งนี้ทั้งนั้น จากการอ่าน 2 เล่มนั้น ผมทำ Verbal ได้มากสุดแค่ที่ 33 คะแนน อย่างเรื่อง Sentence Correction ตอนที่ศึกษาไปได้สักพัก ผมก็คิดว่าผมเข้าใจไวยากรณ์หมดแล้ว ข้อสอบมันคงยากผิดมนุษย์จริง ๆ เรามันหัวดำไม่ได้หัวทอง ชะตาชีวิตคงมีแค่นี้…

จนกระทั่งผมได้พบกับ e-GMAT คอร์สออนไลน์ที่โฆษณาเกลื่อนกลาดตาม Facebook และ Website ว่าดีเว่อร์สำหรับนักเรียนต่างชาติ ยิ่งตอนแรกรู้ว่าผลิตและสอนโดยคนอินเดีย ก็ยิ่งไม่มั่นใจ จนกระทั่งมีคนรู้จักบอกว่า มันดีจริง ๆ นะ เออเอาวะ ลองก็ลอง

ผมจะบอกว่าสำหรับผมแล้ว e-GMAT เป็นอะไรที่เปลี่ยนชีวิตเลย สอนดีมาก ตรงประเด็นมาก ละเอียดมาก ทำให้ผมรู้ว่า Sentence Correction ที่มันดูยากในข้อสอบจริง มันไม่ใช่เรื่องเซนส์ของภาษาอะไรหรอก ตัวเรานี่แหละที่ไม่แม่นจริง ยังประยุกต์พื้นฐานความรู้ไม่ได้

เอาเป็นว่าขอแนะนำ e-GMAT แบบตรง ๆ เลย ไม่ได้ค่าโฆษณาสักบาท ลองไปเรียนฟรีก่อนก็ได้ว่าเข้ากันได้รึเปล่า ส่วน Critical Reasoning ของ e-GMAT ก็สอนดีมากทีเดียวนะครับ

Verbal: Insights on the Exam

ผมขอสรุปสิ่งที่เป็นหัวใจจริง ๆ ที่ได้ค้นพบมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหัวใจเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อเรามีพื้นฐานมาพอสมควรนะครับ

Sentence Correction

ใครที่ทำข้อสอบ Error Recognition สมัย ม.ปลายได้ 100 เต็มอย่างผมก็หงายได้กับ GMAT เพราะมันวัดไวยากรณ์เชิงโครงสร้างและสไตล์ มากกว่าวัดเป็นจุดเล็ก ๆ แบบสมัยเราเด็ก ๆ เช่น สมัย ม. ปลาย เราถูกวัดแค่ tense หรือ verb form เป็นจุด ๆ ในประโยค ในขณะที่ GMAT มันสนใจทั้งรูปประโยค ถูกไวยากรณ์มั้ย เขียนกระชับหรือเปล่า ความหมายกำกวมไหม เป็นต้น

สำหรับ GMAT แล้ว เรื่องที่สำคัญเท่ากับไวยากรณ์ คือความหมายของประโยค เพราะคำสั่งจริง ๆ ของข้อสอบส่วนนี้ แปลออกมาได้อีกที คือ

“ประโยคที่ให้มา ตรงที่ขีดเส้นใต้น่ะ เขียนดีรึยัง ถ้าถูกไวยากรณ์แล้ว ความหมายชัดเจนแล้ว เลือกข้อ A (นั่นคือไม่ต้องแก้) แต่ถ้าไม่ถูกไวยากรณ์ จะเลือกข้อไหน (B C D หรือ E) แต่แก้แล้วต้องได้ความหมายตามที่โจทย์ต้องการจะสื่อด้วย”

กล่าวคือ ต่อให้ข้อที่เลือกไวยากรณ์ถูก แต่ไปทำให้ความหมายเดิมบิดพลิ้ว ก็ถือว่าผิดนะครับ

หลายคนจะพูดถึงเทคนิคข้อสอบ SC ว่าเห็นชอยส์ปุ๊บรีบสังเกตเลย อุ๊ย A, B มี -es C, D, E ไม่มี -es สงสัยทดสอบเรื่อง subject — verb agreement แน่เลย แล้วก็พยายามหาทางว่าตรงไหนผิด ตรงไหนถูก แต่ผมไม่เห็นด้วย วิธีที่ผมใช้คืออ่านประโยคในโจทย์ โจทย์อันที่มีขีดเส้นใต้นั่นแหละ ให้เข้าใจก่อนว่าโจทย์มันอยากจะพูดว่าอะไรก่อนที่จะไปดูตัวเลือก ถ้าความรู้ไวยากรณ์เราแม่นจริง มันจะเริ่มเห็นลาง ๆ ตั้งแต่ต้นแล้วว่าอะไรน่าจะผิด หรือเขียนยืดเยื้อไปไหม เป็นต้น แล้วค่อยไปตัด choices อีกที

ไวยากรณ์ที่ถูกทดสอบบ่อย ๆ มีหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง modification, parallelism, และ subject-verb agreement แต่ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ข้อไหน เรื่องนึงที่ต้องนำมาใช้เสมอคือโครงสร้างประโยคธรรมดา ๆ นี่แหละ อย่าลืมว่าแต่ละข้อที่มันให้มา หลาย ๆ บรรทัด คือประโยคสมบูรณ์ 1 ประโยค แต่เขียนให้มันยาก ๆ ยาว ๆ และทุกคนคงรู้ว่าประโยคจะเป็นประโยคได้ ต้องมีอย่างน้อย 1 ประธาน และ 1 กริยาแท้สำหรับประธานนั้น ความรู้ข้อนี้ใช้เช็ค choice ได้ในทุกกรณี ไม่ว่า choice จะดูดีแค่ไหน แต่ถ้าเอาไปใส่แล้วไม่ได้ประโยคสมบูรณ์ขึ้นมา ข้อนั้นก็ผิดแน่นอน

Critical Reasoning

สิ่งที่สำคัญกว่าการระบุได้ว่า อ๋อ ข้อนี้ให้ strengthen ข้อนี้ให้ weaken argument แล้วพยายามใช้เทคนิคหา choices คือการทำความเข้าใจ argument ในข้อนั้นเอง ในแต่ละข้อ เราต้องหา conclusion ให้เจอ ทั้งนี้ conclusion คือข้อสรุปที่คนพูดหรือคนเขียนตามโจทย์ต้องการที่จะให้คนอ่านเชื่อตามนั้น ถ้าเราอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่า conclusion ที่แท้จริงคืออะไร ไม่ว่าจะเลือกช้อยส์ข้อไหนไปก็เหมือนมั่วกลาย ๆ อะครับ

ตัวอย่างแบบข้อนี้ ส่วนที่เป็น conclusion คือสีเหลือง

ถ้าแปลโจทย์ให้หมดก็คือ

สาเหตุที่เรือจมตอนมีพายุนั้นยังไม่รู้ชัด แต่ที่เจอซากเรือ เจอ hull (คืออะไรก็ไม่รู้ ช่างแม่ง ไม่ต้องรู้ก็ได้) สองชิ้นอยู่ใกล้กัน แต่พายุจริง ๆ แล้วคงแรงจนของสองชิ้นที่แหกออกนั้นมันควรจะโดนแยกออกจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น เรือไม่ได้จมเพราะ hull แตกเป็นสองชิ้น (เวลาเราแปล เราแปลหยาบ ๆ แบบนี้แหละครับ ไม่ต้องเสียเวลาแปลละเอียดทุกกกระบิ เอาแค่เข้าใจเส้นเรื่องพอ)

อย่างข้อนี้ การที่คนพูดสรุปมาว่ามันไม่ใช่เพราะ hull แหกเรือถึงจม เค้าต้องเชื่ออยู่ในใจว่า การที่ hull อยู่ข้างกันนั้นเท่ากับว่ามันไม่ได้โดนแหกตั้งแต่ต้น (เพราะไม่งั้นพายุคงพัดมันห่างออกจากกันไปแล้ว) สิ่งที่ไม่ได้พูดออกมานี้เรียกว่า assumption หรือข้อสมมติฐาน จริง ๆ แล้วเวลาเราพูด argument อะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน เรามีสมมติฐานในใจเสมอแหละครับ เราแค่ไม่รู้ตัว

อย่างตัวอย่างข้อนี้ ถ้าอ่านวิธีทำโจทย์ประเภท assumption จากแหล่งต่าง ๆ จะเจอเค้าสอนว่าให้ทำ ‘negation test’ และคำตอบที่ถูกต้องคือข้อ B นะครับ

Reading Comprehension

การอ่านให้ได้ผลดีสำหรับข้อสอบ GMAT คือ

(1) อ่านแบบ engaged คือต้องสนใจ จดจ่อ อิน เช่น เรื่องแพะภูเขาสองสายพันธุ์ พันธุ์นึงความยาวหน้าอกมากกว่าอีกพันธุ์เพราะเป็นวิวัฒนาการเพื่อให้กินไลเคนส์ใต้หิมะได้ ในขณะที่อีกพันธุ์อกจะสั้นกว่า แต่ผลการวิจัยล่าสุดพบว่านั่นอาจจะไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกต้อง… คือเวลาอ่านต้องรู้สึกแบบ ว้าว แพะภูเขา น่าสนใจสุด ๆ ไปเลยว่ะ อู้หู แล้วไงนะบอกกูอีกสิ เอาให้ได้ประมาณนี้ คือถ้าเราอ่านแบบอืด ๆ ข้อมูลมันจะไม่เข้าหัวเพราะมันเยอะ พาลจะง่วงซะเปล่า ๆ

คือหัวข้อเรื่องมันวนอยู่ไม่กี่อย่างครับ สิทธิสตรีในอดีต ชนเผ่าพื้นเมือง ประเภทของสัตว์ โลกกับอวกาศ ธุรกิจพื้นฐาน การตลาด อ่านใน OG ก็จะพอเห็น จริง ๆ แล้วอ่านไม่เข้าใจทุกคำก็ยังทำได้ แต่ถ้าพื้นฐานดี อ่านแล้วเข้าใจมากกว่ามันจะรู้สึกดี มั่นใจขึ้นเวลาทำ

(2) ต้องอ่านแบบเข้าใจเส้นเรื่องตลอดทั้งเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเห็น การให้เหตุผล การคล้อยตามและขัดแย้ง เช่น นักวิชาการ 1 เชื่อ แต่นักวิชาการ 2 ไม่เชื่อ เพราะอะไร ส่วนคนที่ 3 ไม่เชื่อ แต่ให้เหตุผลไม่เหมือนคนที่ 2… แล้วตัวคนเขียนบทความเองล่ะ เห็นด้วยกับคนไหน หรือความเห็นเป็นกลาง อันนี้สำคัญมากจริง ๆ ครับ เข้าใจแค่รายละเอียดเป็นจุด ๆ ไม่ได้ เพราะคำถามบางข้อมันวัดความเข้าใจของเราแบบทั้งบทความ

เทคนิคที่เราคิดเองใช้เอง คืออ่านไป มือเขียนแผนภาพโครงเรื่องของบทความไป (เราทำจนอ่านจอแบบตาดูไป มือเขียนไปแทบไม่มองกระดาษเลย) เขียนเป็น bullet สั้น ๆ ใช้ลูกศร (เช่น เขียนข้อสรุปที่มีคนพูดในบทความ ล้อมกรอบไว้ แล้วหลักฐานสนับสนุนที่คนนั้นกล่าวไว้เป็นข้อ ๆ ก็เขียนลูกศรพุ่งใส่เข้าไป) ใช้เครื่องหมายที่เราเข้าใจได้เอง เช่น พอในบทความเริ่มมีตัวละครเพิ่มมาแย้ง ไม่เห็นด้วย ก็เขียนเครื่องหมายไม่เท่ากับให้เด่น ๆ เป็นต้น และเราเขียนเป็นภาษาไทยด้วยในบางครั้งเพื่อความรวดเร็ว ถ้าทำแผนภาพโครงเรื่องแบบนี้ได้ ไม่ว่าคำถามจะถามรายละเอียดตรง ๆ หรือถามในภาพใหญ่ เช่น สรุปว่าทั้งเรื่องพูดถึงอะไร แผนภาพนี้จะตอบได้หมดเลย

ข้อสำคัญสุดท้ายคือเวลาทำ Verbal ใน OG พยายามอ่านเฉลยเสมอ ไม่ว่าจะตอบถูกหรือตอบผิด เพื่อให้เห็นวิธีคิดของคนออกข้อสอบว่าทำไมข้อนี้ถูก ข้อนี้ผิด วิธีคิดของเรามันใช่จริง ๆ หรือแค่บังเอิญถูก

บทส่งท้าย: วิธีการเรียนรู้

ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบพาร์ทไหน มันมีประเด็นเรื่องการเรียนรู้ที่เราคิดว่าสำคัญ คือ

  1. ระหว่างความถูกต้องกับเวลา ช่วงแรก ๆ ที่ฝึก เน้นความถูกต้องก่อน พยายามเข้าใจไม่เพียงแค่ทำไมถูก ทำไมผิด แต่พยายามสำรวจวิธีคิดของตัวเองด้วย
  2. พยายามอ่าน ซ้อมทำข้อสอบให้ต่อเนื่อง บางช่วงผมก็เกเรไม่ได้อ่าน แต่ที่ผ่านมาพบว่าช่วงที่หายไปสักพักแล้วกลับมาอ่านเยอะ ๆ ยังไงก็ไม่ดีเท่าอ่านทุกวัน วันละไม่กี่ข้อก็ยังดี
  3. Error log เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก พยายามจดไว้ว่าข้อไหนผิด ผิดเพราะอะไร (เช่น ไม่รู้จริง ๆ หรือสะเพร่า) วนมาทำซ้ำเพื่อความเข้าใจ
  4. ทำ mock test เพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ที่ระดับไหน และได้ฝึกความอึดในการทำข้อสอบแบบต่อเนื่องหลายชั่วโมงด้วย เราคุยกันไปแล้วในบทความตอนที่ 1 เรื่อง mock test ของ GMATPrep ที่มีให้ฟรีสองชุด และซื้อเพิ่มได้นะครับ ตอนผมฝึกนั้นใช้เวลาเดือนสุดท้ายก่อนสอบ ทำ mock สัปดาห์ละ 1 ครั้งในช่วง weekend
  5. ข้อสอบ OG ไม่ว่าจะจากหนังสือ จาก GMATPrep หรือ Mock Test ถ้าไม่มีเฉลย หรืออ่านเฉลยแล้วไม่เข้าใจอยู่ดี เอาคำถามนั้นไป Google ได้เลยครับ พิมพ์โจทย์ไปเลย รับรองว่ามีให้อ่านได้แทบจะทุกข้อ ตั้งแต่ทำมายังไม่เคยเจอ OG ข้อไหนที่ไม่มีคนไปถามไว้ก่อนในเว็บบอร์ด หรือ GMATClub เลยครับ
  6. อย่าท้อ ในช่วงที่เราฝึกทำโจทย์ จนถึง mock เราก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จนมันถึงวันนึงขณะที่ทำ mock มันเหมือนอยู่ดี ๆ ตรัสรู้อะ คำถามมายังไงก็รู้สึกว่าเราตอบได้หมด เห็นตัวเลือกแล้วเหมือนเห็นข้อหลอกเรืองแสงวิ้ง ๆ แล้วหลังจากวันนั้นคะแนนที่ทำได้ก็ไม่เคยลดลงต่ำกว่านั้นเลย สำหรับผม ผมพบว่าจุดคลิกนั้นมันมีอยู่ มันมาจากความเข้าใจและชั่วโมงบินที่มากพอ มันอยู่ตรงไหนไม่รู้ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้นะครับ

ตอนนี้นึกออกเท่านี้แหละครับ บังเอิญเจอโพสต์ Facebook อันข้างล่างนี้ ก็เขียนดีมาก (เขียนดีกว่าผม) เอาเป็นว่าไปเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมได้ แม้ว่าข้อมูลบางอย่างจะไม่ได้อัพเดตเพราะเวลาผ่านมาสองปีแล้ว แต่เนื้อหาเกือบทั้งหมดยัง valid อยู่

ถ้ามีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติมติดต่อมาได้ จะพยายามตอบให้เท่าที่ทราบ ขอให้ทุกคนได้คะแนนดี ๆ สมกับความพยายามนะครับ.

--

--

Chawit Rochanakit

Chawit is trying hard to get an 'A' for the course 'How to live happily'...