Blockchain เป็นคำตอบของธุรกิจในยุคนี้จริงหรือ ?

Dusit Neelapat
2 min readNov 1, 2017

--

เอาจริงๆแล้วในช่วงปีที่ผ่านมาในแวดวงการเงิน, start-up, fintech ของไทยเราใช้คีเวิร์ด ‘Blockchain’ นี้แพร่หลายกันมากๆราวกับว่านำไปใส่กับธุรกิจอะไรก็ตามที่ทำอยู่แล้วได้อัพเกรดธุรกิจเดิมๆที่เคยทำอยู่เป็นนวัตกรรมขึ้นในทันที..

“Bitcoin จะไปไม่รอดแต่ Blockchain เบื้องหลังของมันสุดยอดและจะอยู่ต่อไปอีกนาน”

“เราเปิดใช้ Blockchainในการโอนเงินระหว่างประเทศแล้ว เราพร้อมจะเติบโตในอนาคตแห่งนวัตกรรมการเงินเพื่อคุณ”

“เราใช้ Blockchain มาช่วยในการจัดการหนังสือค้ำประกัน”

“Blockchain จะช่วยให้การทำระบบเคลียริงเฮาส์ของเราไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป”

คำคำนี้ถูกใช้พาดหัวข่าวมากมาย ราวกับว่ามันคือ สุดยอดเทคโนโลยีแห่งยุคต่อไป ที่จะช่วยแก้ปัญหาในยุคการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางการเงินได้ …

จริงหรือ?

Blockchain เป็นฐานข้อมูลรูปแบบหนึ่ง มีมาตั้งแต่ยุค 90

เทคโนโลยีที่ดูล้ำสมัยนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่อะไรเลย เป็นเทคโนโลยีเก่าที่ถูกสร้างไว้นานแล้ว ตั้งแต่ยุค 90 หลักการทำงานของมันคือ การสร้างฐานข้อมูลดิจิตอลที่ถูกเข้ารหัสและลงเวลาไว้ (encrypted time-stamp digital document) เป็นระบบฐานข้อมูลที่เขียนข้อมูลลงบน ‘กล่อง’บรรจุข้อมูลบันทึกเวลา และนำมาเรียงต่อกันเรื่อยๆเป็น‘โซ่’

Bitcoin บันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูลประมาณทุกๆ 10 นาที (ส่วน Ethereum ประมาณ ทุกๆ 15–30 วินาที) เป็นการเขียนฐานข้อมูลที่ช้ามากๆ ถ้าเทียบกับ ฐานข้อมูลทั่วไปแบบรวมศูนย์(centralized database) ที่เขียนข้อมูลได้รวดเร็วกว่ามากๆในระดับเสี้ยววินาทีเลย

โดยหลักการแล้ว Blockchain อย่างเดียว คือฐานข้อมูลรูปแบบหนึ่ง ถ้าเราเขียนนิยามของ Bitcoin หรือ Ethereum โดยเปลี่ยนคำว่า blockchain ให้เป็นฐานข้อมูล นิยามของเทคโนโลยีทั้ง 2 ตัวนี้ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป

เราสามารถใช้ Bitcoin ส่งเงินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางที่มีอำนาจการควบคุมเงินอย่างรัฐบาล,ธนาคาร,วีซ่า ฯลฯโดยที่ธุรกรรมของเราจะถูกเข้ารหัสและส่งไปอยู่ในฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ทั่วโลก

เราสามารถใช้ Ethereum ให้เขียนสัญญาอัจฉริยะ(Smart Contract) หรือ code ที่จะรันตัวเองได้ถ้าเงื่อนไขครบสมบูรณ์ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางมาช่วยตัดสินเงื่อนไข เพราะเราเขียนโปรแกรมให้เป็นคนกลางคอยตัดสินไปแล้ว และเหมือนกัน.. ทุกอย่างจะถูกเข้ารหัสและส่งไปอยู่ในฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ทั่วโลก

เพราะนวัตกรรม open public blockchain ของทั้ง Bitcoin และ Ethereum ไม่ได้อยู่ที่การนำ blockchain มาใช้อย่างเดียวโดดๆ เราต้องการเทคโนโลยีอื่นๆและระบบอื่นๆมาใช้ร่วมกันด้วย

Blockchain เป็นสุดยอดเทคโนโลยีเบื้องหลัง Bitcoin ?

ผู้สร้าง Bitcoin (Satoshi Nakamoto) นำ blockchain ที่มีอยู่มานานแล้วมาประกอบเข้าด้วยกันผ่านการเข้ารหัส (crytography) และสร้างให้มันทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีหลักอีก 3 อย่าง

เทคโนโลยีหลักของ Bitcoin ประกอบด้วยกันทั้งหมด 4 อย่าง
1. Decentralized peer-to-peer Bitcoin protocol
โปรโตคอลแบบกระจายศูนย์จากจุดหนึ่งถึงจุดหนึ่งไม่ผ่านตัวกลาง

2. Open Public Blockchain
รายการเดินบัญชีที่เปิดแบบสาธารณะ ใครก็สามารถดูได้

3.Consensus rules
ข้อตกลงที่ทุกคนในระบบตกลงร่วมกันในการสร้างและเปลี่ยนแปลงตัวเงิน/ธุรกรรม

4.Proof-of-Work algorithm
กระบวนการในการสร้าง/ระบุข้อมูลความจริงลงบนฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ในตลาดเสรีในสเกลระดับโลก

Blockchain เป็นแค่เพียง ‘หลักฐาน’ ที่ได้จากการตกลงร่วมกันในการสร้างข้อมูลชุดหนึ่งเท่านั้น วิธีการตกลงร่วมกันโดยไม่ต้องใช้ตัวกลางในการสร้าง ‘หลักฐาน’ นี้ต่างหากที่เป็นนวัตกรรมจริงๆ

Blockchain ต่างหากที่เป็นของจริง เรานำออกมาใช้กับธุรกิจของเราได้

สมมุติว่าเราใช้ blockchain ในระบบสาธารณสุข เพื่อเชื่อมฐานข้อมูลการรักษาโรคและประวัติการเข้าโรงพยาบาลของประชาชนทุกคนทั้งหมดไว้บน blockchain นี้ เพื่อให้โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาล และ บริษัทประกันภัยทุกบริษัทสามารถเข้าถึงประวัติการรักษาของเราได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดการย้ายประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลหนึ่งจะได้รวดเร็วขึ้น หรือ จะเคลมสิทธิ/รักษา จากบริษัทประกันก็จะทำได้รวดเร็วมากกว่าต่างคนต่างทำฐานข้อมูลของตัวเอง

  • โรงพยาบาลได้ประโยชน์เพราะไม่ต้องจัดการฐานข้อมูลผู้ป่วยเองให้ยุ่งยาก
  • บริษัทประกันมีฐานข้อมูลผู้ป่วยอนุมัติสิทธิการรักษาได้รวดเร็วทันที
  • ผู้ป่วยเองมีฐานข้อมูลการรักษาของตัวเอง เมื่อต้องย้ายโรงพยาบาลหรือต้องเข้ารักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาลใหม่ไม่ต้องทำประวัติผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด

ในแว่บแรกอาจจะฟังดูดี…

แต่ในทางกลับกัน การสร้าง Blockchain แบบนี้จะนำไปสู่คำถามต่อๆไปที่น่าสนใจมากกว่าคือ

  • แล้วนี่เป็น Blockchain แบบเปิดหรือแบบปิด? ใช้การเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์หรือกระจายศูนย์? ถ้าข้อมูลส่วนตัวของเราไปอยู่ในนั้น ข้อมูลการรักษาของเรามีความเป็นส่วนตัวแค่ไหน? เรากำลังละเมิดสิทธิผู้ป่วยพื้นฐานอยู่รึเปล่า ?
  • กฎในการเขียนข้อมูลลงใน blockchain นี้ได้เป็นแบบไหน? บริษัทประกันหรือโรงพยาบาลเท่านั้นที่มีสิทธิในการเซ็นลายเซ็นดิจิตอลแล้วตกลงร่วมกันเองรึเปล่า ?
  • ใครมีอำนาจในการเขียนข้อมูลได้บ้าง? เจ้าของข้อมูลเองยินยอมพร้อมแค่ไหนให้ประวัติการรักษาของตนกระจายไปยังฐานข้อมูลของทุกๆบริษัทหรือทุกๆโรงพยาบาล? เราให้สิทธิพิเศษใครในการปลอมแปลงข้อมูลนี้ได้ไม๊?
  • ข้อมูลที่เขียนไปแล้วปลอดภัยจากการโดนเจาะ โดนโจมตี หรือโดนแฮค แค่ไหน? ข้อมูลทุกอย่างมีราคา ถ้ากลไกการป้องกันยังไม่สามารถป้องกันหรือเข้ารหัสการเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย ก็มีแต่รอวันที่พร้อมจะโดนเจาะ เราเชื่อใจคนที่ครอบครองข้อมูลเหล่านี้ได้จริงไหม?

Blockchain เพียงอย่างเดียวมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความแตกต่างหรืออัพเกรดขีดความสามารถให้ธุรกิจได้เลย ถ้ากระบวนการยืนยันข้อมูลไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ต่างไปจากเดิมได้

ถ้าคุณกำลังเป็นคนหนึ่งที่สนใจเทคโนโลยี blockchain นี้ หรือ กำลังจะออกเงินลงทุนในบริษัทที่ออกมาระดมทุนว่าจะใช้ blockchain ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมนึงอยู่ หรือ กำลังจะสมัครงานที่ปล่าวประกาศว่าต้องการวิศวกรที่สนใจเทคโนโลยี blockchain…

อยากให้ลองกลับไปตั้งคำถามดูว่า blockchain นั้นๆยังเป็นนวัตกรรมอยู่รึเปล่า? หรือเป็นแค่การหยิบเทคโนโลยีเก่าหลายสิบปีที่แล้ว มาปัดฝุ่นแต่งตัวใหม่ แล้วนำมาใส่กล่องขายให้ดูดี?

เพราะคุณอาจจะกำลังลงทุนไปกับนวัตกรรมเปลี่ยนโลกแห่งยุคจริงๆ

หรืออาจจะกำลังเสียเงินและเวลาไปโดยไม่มีทางได้มันกลับมา

บรรณานุกรม

--

--

Dusit Neelapat

Experience Designer, Pacifist, Existentialism, Bitcoin, Open Public Blockchain, Bangkok.