What’s about (S)U? X Archaeology

FA-AKSORN JOURNAL
2 min readJan 14, 2020

--

สวัสดีค่ะ วันนี้วารสารฟ้าอักษรจะพาผู้อ่านทุกท่านไปพูดคุยกับนักศึกษาคณะโบราณคดี ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงหัวหน้านักศึกษาคณะโบราณคดี เขาจะมาร่วมพูดคุยและเล่าถึงการเรียน สังคมและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับคณะโบราณคดี อาจเรียกได้ว่าเป็นคณะที่ยืนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ บทสัมภาษณ์จะเป็นอย่างไรนั้น เชิญทุกคนอ่านได้จากด้านล่างนี้เลยค่ะ

  • แนะนำตัว

สวัสดีครับ ผมชื่อนายภานุพงศ์ ศานติวัตร ชื่อเล่นชื่อโฟล์ค กำลังศึกษาอยู่ปีที่สี่ เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ โทพิพิธภัณฑ์ คณะโบราณคดี มหาลัยศิลปากรครับ

  • มีอะไรจะเพิ่มเติมหรือเปล่า

(หัวเราะ) ก็เป็นหัวหน้านักศึกษาคณะโบราณคดีด้วย แต่ไม่พูดถึงนะในส่วนนี้

  • ช่วยอธิบายเกี่ยวกับสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะที่เรียนอยู่สักหน่อย

คือ มันจะเป็นสาขาความรู้ทางด้านวิชาการที่เกี่ยวกับเรื่องการศึกษาศิลปะทุกๆ อย่าง เพื่อเอามาอธิบายมนุษย์ อันนี้คือมองจากภาพรวมนะ

  • อธิบายมนุษย์อย่างไร

เช่น ในยุคหนึ่ง คนเราเลือกที่จะทำศิลปะในรูปแบบนี้ออกมาโดยมีบริบทรอบข้างประกอบด้วยอะไรบ้าง

  • เหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้คืออะไร เป็นจุดมุ่งหมายแรกเลยไหม

ไม่ถึงกับเป็นจุดหมายแรกนะ เราแอดมิชชั่นติดแล้วเคยไปค่ายของคณะ เลยรู้สึกว่าชอบ ก็เลยเรียนคณะนี้ ซึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้นะว่าประวัติศาสตร์ โบราณคดี และประวัติศาสตร์ศิลปะแตกต่างกันหรือเหมือนกันยังไง แต่พอมาเรียนทำให้รู้ว่าเป็นไทป์ที่เราสนใจจริงๆ

  • จำกัดความของคำว่าโบราณในแบบของตัวเอง

คือศาสตร์ความรู้หนึ่งที่เราใช้เพื่อศึกษามนุษย์ในอดีต เป็นช่องทางที่หลักฐานทางเอกสารตอบเราไม่ได้แต่เราจะใช้พวกโบราณคดีตอบและอธิบายสิ่งของที่อยู่ในอดีต

  • โบราณคดีในความเข้าใจของตัวคุณคืออะไร

มันคือ (คิด) วิธีการหนึ่งในการศึกษามนุษย์ในอดีต

  • ทำไมเราต้องศึกษามนุษย์ในอดีต

คำถามมันกว้างมากเลยนะ อักษรศาสตร์ก็ศึกษามนุษย์ในอดีตผ่านตัวอักษร สังคมศาสตร์ก็ศึกษามนุษย์ในอดีตผ่านประวัติศาสตร์ คำถามนี้ถ้าให้อธิบายอย่างจริงจังคงใช้เวลาเป็นวัน เอาเป็นว่าเราศึกษามนุษย์ในอดีตเพื่อให้เข้าใจที่มาของปัจจุบัน

  • อะไรคือเสน่ห์ของคณะโบราณคดี

คณะนี้มีความหลากหลายในการเรียนรู้

  • ถ้ามองจากสายตาคนนอก โบราณคดีเป็นสาขาความรู้ที่ค่อนข้างเฉพาะทาง คุณมีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

สำหรับคนที่ไม่ค่อยสนใจด้านประวัติศาสตร์จะค่อนข้างเฉพาะทางจริงๆ อยู่ไกลตัวมาก แต่ถ้าเป็นคนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์หรือคนที่ศึกษาด้านนี้โดยตรงก็จะยิ่งเข้ามาใกล้ในวงของโบราณคดีมากขึ้นเพราะว่าถ้าเราสนใจด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อที่เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ในมุมมองที่ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์อย่างเดียว ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ผ่านเอกสารเราก็จะได้มุมมองหนึ่ง แต่ถ้าเราเรียนโบราณคดีด้วยเราจะได้อีกมุมมองหนึ่ง

  • ดูเหมือนคุณจะไม่เชื่อถ้าไม่เห็นหลักฐาน

ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น คือถ้าเกิดมีเอกสารเขียนไว้ โอเคสามารถเชื่อได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้ามันไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมออกมา… อาจารย์มักจะพูดเสมอว่า ศิลปกรรมโกหกเราไม่ได้

  • เด็กโบราณดูเหมือนจะเชื่อคนยากนะ

นี่อาจจะเป็นเสน่ห์ของคณะโบราณคดีก็ได้นะ (หัวเราะ) ตั้งคำถามกับทุกอย่างและไม่เชื่อถ้าไม่มีหลักฐาน ประมาณนั้น

  • การเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะแตกต่างจากการเรียนศิลปะรูปแบบอื่นอย่างไร

พื้นฐานที่สุดเลยการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ต้องไปเรียนวาดรูป แต่ใช้การวิเคราะห์ วิจารณ์และวิพากษ์งานต่างๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ศิลปินทำผลงานชิ้นนี้ออกมา มีนัยยะอะไรอยู่ในนี้ มีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้น

  • นอกจากเอกประวัติศาสตร์ศิลปะมีเอกไหนที่อยากลองไปเรียนไหม

จริงๆ มันไม่อยู่ในส่วนของปริญญาตรี แต่อยู่ในสาขาปริญญาโท เกี่ยวกับเรื่องจารึกอักษรโบราณอะไรพวกนี้ น่าสนใจดีเป็นภาควิชาสาขาภาษาตะวันออก ถ้าจำไม่ผิดนะ

  • สำหรับคนที่เรียนสาขาความรู้นี้และเป็นสาขาความรู้เดียวในประเทศไทย คุณคิดว่าหลักสูตรที่เรียนตอนนี้ดีพอหรือยัง

จริงๆ การเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมันไม่มีทางที่จะเรียนหมดภายในสี่ปี แต่ว่าการมาเรียนในสี่ปีมันเหมือนสอนวิธีคิดเรามากกว่า พวกเนื้อหาข้อมูลเราไม่มีวันที่จะเรียนรู้ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าหลักสูตรที่เรียนตอนนี้ดีพอหรือเปล่าเพราะมันไม่มีตัวเปรียบเทียบ แต่มันคุ้มค่าที่จะเรียนเพราะว่าสอนแนวคิดอะไรบางอย่างกับเรา และมอบประสบการณ์การไปภาคสนามมากมาย

  • การไปภาคสนามให้อะไรกับเรา

ขึ้นอยู่กับแต่ละวิชา แต่พื้นฐานก็คือการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไปเห็นของจริง เห็นหลักฐาน เราจึงจะอธิบายได้อย่างมั่นใจ อีกมุมคือการที่เราเห็นของจริงทำให้เราสามารถบอกได้ว่าหลักฐานอันนี้บูรณะนะ ซ่อมนะ ทุกอย่างที่เราใช้การมองเราก็จะสามารถอธิบายได้ เพราะอย่างนั้นเวลาที่เราไปภาคสนาม สิ่งที่เราเห็นเราสามารถใช้อธิบายแบบเรียนของเราในห้องเรียน

ขอบคุณรูปจากคุณภานุพงศ์ ศานติวัตร
  • ภาพของโบราณคดีก่อนเข้ามาเรียนและหลังเข้ามาเรียนแตกต่างกันอย่างไร

อย่างเราเรียนเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาพก่อนเข้ามาก็เป็นเรียนในห้อง อาจจะไปพิพิธภัณฑ์บ้าง วิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะอะไรแบบนี้ แต่เข้ามาเรียนจริงๆ มันซับซ้อนกว่านั้น อันนั้นเป็นแค่ผิวเปลือกนอก พอเข้ามาเรียนทำให้เราเห็นว่าเรียนในห้องเรียนทฤษฎีก็ส่วนนึง เสร็จแล้วเราก็ต้องไปจับของที่อยู่ในสถานที่จริงแล้วเราก็ต้องเอามาวิเคราะห์ให้เป็นความคิดของเรา เวลาเราไปสถานที่จริงเราต้องสร้างไอเดียในการตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามกับมันด้วย แกลเลอรีก็เหมือนกัน เวลาไปต้องตั้งคำถามกับมัน ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าสวยแล้วจบ

  • สี่ปีในมหาวิทยาลัยและคณะนี้อะไรเป็นสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด

มันเหมือนไล่ระดับไป ตอนเข้ามาปีหนึ่งมันมีวิชาหนึ่งชื่อว่าประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศเพื่อนบ้าน อันนั้นคือยากสุดสำหรับเราในปีหนึ่ง วิชานี้จะสอนประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศใกล้เคียงโดยสังเขป พอมาปีสองมีสิ่งที่ยากมากกว่าคือวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกกับประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียตะวันออกโดยสังเขป มาเรียนพร้อมกันในเทอมเดียวกัน พอมาปีสามความยากคือการต้องมาคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ การบริหารจัดการเวลาทำงานส่ง พอปีสี่ความยากคือความว่าง ความว่างมันกลายมาเป็นความยากของเราเพราะว่ามันทำให้เราจัดการเวลาได้ยากมากขึ้น เพราะดูเหมือนจะไม่มีอะไรเลย แต่ว่าเราก็ยังมีงานที่ต้องส่ง เหมือนเป็นการเพิ่มวินัยในการทำงานของเราด้วย

  • นอกจากความท้าทายในวิชาหรือหรือการจัดการต่างๆ เรื่องสถานที่ถือเป็นสิ่งหนึ่งไหม เพราะก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องวังท่าพระซ่อมไม่เสร็จ

จริงๆ การไม่มีที่เรียนเป็นปัญหาอยู่แล้ว แต่มันตามมาด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย ไม่ใช่แค่เราคนเดียวนะที่สงสัย เราจ่ายค่าเทอมหนึ่งหมื่นเจ็ดพันบาทเราได้รับอะไรบ้าง แล้วเราก็จะเอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่นที่จ่ายค่าเทอมเท่ากัน ทำไมเขามีห้องสมุดเปิดจนถึงดึก เขามีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ แต่ประเด็นก็คือนอกจากเราจะไม่มีพวกนี้แล้ว เรายังไม่มีพื้นที่ในการเรียนรู้ของเรา อย่างเช่นพื้นที่ห้องสมุด

  • ห้องสมุดสำหรับเด็กโบราณเป็นเรื่องจำเป็นใช่ไหม

ใช่ เพราะว่าทุกอย่างอยู่ในห้องสมุด 90% อยู่ในห้องสมุด มีแค่ 10% ที่อยู่ในโลกออนไลน์ การไม่มีตึกเรียน คือโบราณมีตึกเรียนที่ศูนย์สันสกฤต แต่ว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการไปเรียน แล้วก็ไม่ใช่บรรยากาศของการเป็นสถานศึกษา จริงๆ ตอนนี้เราก็ยังรู้สึกว่าที่นี่ไม่ได้โอเคขนาดนั้น มันโอเคในแง่มุมของพื้นที่แล้วก็ระยะทางการมาเรียน แต่ว่าหลายๆ อย่างก็ยังขาดหายไป เช่น พื้นที่ในการทำกิจกรรม ห้องสมุด อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่ไม่มีห้องสมุดนะ แต่ห้องสมุดที่มีอยู่ตอนนี้ไม่รองรับร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาของการปรับปรุง แต่ช่วงเวลาของห้องสมุดที่มันไม่รองรับเราร้อยเปอร์เซ็นต์มันส่งผลกระทบในหลายๆ เรื่อง

  • มีอะไรในคณะที่อยากเปลี่ยนแปลง

ลิฟต์ไง มันเก่า (หัวเราะ) จริงๆ ชอบพูดตลอดที่อยากให้เปลี่ยนแปลงคือห้องสมุด เพราะเวลาเราทำงานเราต้องใช้ห้องสมุด ทำงานหนึ่งชิ้น อันดับแรกเราต้องมีหนังสือพื้นฐานที่พูดภาพรวมของสิ่งที่เราจะหา สองคือแนวคิดที่คนเคยคิดมาแล้วหรือธีสิส สามคือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดมันมีแค่หนังสือพื้นฐานเท่านั้นที่ห้องสมุดมี ต่อให้เราไปทับแก้วเราก็จะไม่เจอหนังสือวิทยานิพนธ์ มันจะมีเรื่องโจ๊กของเด็กโบราณคือถ้าวางโทรศัพท์ วางกระเป๋าไว้ไม่หาย แต่ถ้าวางหนังสือไว้จะหาย เพราะหนังสือสำคัญมาก

  • ไหนๆ ก็ได้กลับมาวังท่าพระแล้ว คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของวังท่าพระ

เสน่ห์ของมันคือเสรีภาพทุกตารางนิ้วจริงๆ ที่นี่ทุกคนยอมรับทุกความแตกต่าง ใครจะทำอะไรก็ได้แค่ไม่กระทบคนอื่น

  • คุณรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ไหม

เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่และที่นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่มันไม่ใช่มุมมองที่เป็นความทรงจำที่ดีทั้งหมด มันก็มีท้งดีทั้งไม่ดีด้วย รวมๆกัน

  • ด้วยหน้าที่ต่างๆ ของคุณ ทำให้คุณถูกมองว่าเป็นคนมี Management skill สูง อะไรเป็นคติในการเรียนหรือการทำงานที่ทำให้ดูจัดการทุกอย่างดีแบบนี้

ไม่รู้ เอาจริงเราไม่รู้เลยว่าเป็นแบบนั้นหรอ แต่รู้สึกว่าช่วงนี้ก็ทำงานเผาเยอะนะ (หัวเราะ) ถ้าเป็นเรื่องของงานจริงๆ เราแบ่งเวลาให้การทำอย่างอื่นมากกว่าอีก เช่น กินเหล้ากับเพื่อน แต่ในการทำงานเป็นเรื่องของการจัดการ เรามีเดดไลน์ของเรา เราแค่จัดการว่าต้องทำขั้นตอนนี้ก่อนที่จะถึงเดดไลน์ ทำตามแผนที่วางไว้แต่แรก พอเราได้งานมาเยอะๆ เราจะเริ่มวางแผนแล้วว่างานนี้ส่งวันนี้นะ

  • คิดว่าคุณกับโบราณคดีมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ไม่รู้เหมือนหรือเรียกว่าได้รับมานะ คือเราชอบตั้งคำถาม เราไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มันอาจจะเป็นมาตั้งแต่ก่อนเรียนโบราณ แต่พอมาเรียนคณะนี้ทำให้เราชอบตั้งคำถามในส่วนของรายละเอียดมากขึ้น เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เราตั้งโจทย์ทางความคิด และพยายามหาคำตอบ

  • จับผิด?

ประมาณนั้น แต่มันเป็นการจับผิดที่มีประโยชน์นะ หรือเปล่า (หัวเราะ)

  • สิ่งที่ได้จากการเรียนโบราณ

สิ่งที่ได้มากที่สุดจากการเรียนโบราณทั้งหมดคือประสบการณ์ ไม่รู้ว่าที่อื่นเรียนอย่างไร แต่รู้สึกว่าเรียนที่ไหนก็ได้ประสบการณ์ชีวิตไม่เท่าที่นี่ เราคิดว่าไม่น่ามีคณะไหนที่พาเราไปต่างจังหวัดแล้วปล่อยเราไว้กลางทุ่งเพื่อไปสำรวจนู่นนี่นั่นแล้วตอนเย็นถึงกลับมารับ เราได้ไปสถานที่ ไปเที่ยวและได้ออกภาคสนามด้วย ก็ยิ่งทำให้เราเจอผู้คนมากขึ้น นอกจากนี้ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายและเข้าใจคนนู้นคนนี้ ซึ่งทำให้เรามีประสบการณ์ทั้งด้านที่ดีและด้านไม่ดี

  • นั่นทำให้คุณเป็นคนที่เปิดกว้างมากขึ้น

เป็นคนที่ยอมรับความแตกต่าง ใช้คำนี้ดีกว่า

  • โบราณคดีมีความสำคัญต่อสังคมอย่างไร

(คิด) ถ้ามองในมุมวิชาการเป็นเหมือนเสาหลักที่คอยยืนยัน ย้ำจุดยืนของการมีตัวตนทางศิลปะวัฒนธรรม แต่ถ้ามองในมุมสังคมทั่วๆไป คนจะมองไม่ค่อยเห็น คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ เพราะถ้าเกิดเปรียบสังคมเหมือนต้นไม้ ศาสตร์ทางด้านโบราณคดีหรือคณะโบราณคดีเปรียบเหมือนราก อยู่ใต้ดิน คอยค้ำจุนต้นไม้อยู่ คนไม่ค่อยรู้ความสำคัญของมันแต่ว่ามันคอยค้ำความเป็นมาและรากฐานของสังคม

  • ถ้าเรียนจบอยากกลับมาทำงานในสายโบราณคดีไหม

ก็ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาทำหรือเปล่า แต่มั่นใจว่าไม่ว่าจะได้กลับมาทำงานสายตรงหรืองานอดิเรกแต่สิ่งที่ได้เรียนมาก็คงอยู่กับเราไปตลอด เช่น ถ้าเราทำงานด้านพิพิธภัณฑ์มันก็สายตรงอยู่แล้ว ได้อยู่กับด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ถ้าเราไปทำบัญชี อย่างน้อยเราทำเดินมิวเซียม ความรู้และกรอบแนวคิดพวกนี้มันได้ใช้เสมอ แนวความคิดและสิ่งที่เราคิดจะติดตัวเราไปตลอด

จบไปแล้วสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ตลอดเวลาที่มีโอกาสได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สัมภาษณ์ ผู้เขียนเองได้สังเกตเห็นถึงกระบวนการคิดรวมถึงมุมมองที่ผ่านการทบทวนอย่างหนักก่อนที่จะตอบคำถามต่างๆ ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นสเน่ห์อีกหนึ่งอย่างของนักศึกษาโบราณคดี ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจความคิดแบบ “โบราณ”ผ่านบทสัมภาษณ์นี้มากขึ้นนะคะ

.

Interviewer: meraki

Proofreader: Chidapha

Photographer: meraki

--

--