Stanislavski dressed in costume as Vershinin in the play the Three Sisters, by Anton Chekhov
Stanislavski ในชุด Vershinin จากการแสดงละครเรื่อง The Three Sisters, by Anton Chekhov (ที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Stanislavski_as_Vershinin.jpg)

Stanislavski and I: เมื่อเราเข้าใจกัน

Grisana “Num” Punpeng
3 min readMay 18, 2020

--

ความสัมพันธ์ของผมกับ Stanislavski (Konstantin Stanislavski นักการละครชาวรัสเซีย) เป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ผมได้ยินชื่อของเขาเป็นครั้งแรกเมื่อเข้าเรียนสาขา Drama and Theatre ในระดับปริญญาตรี จนกระทั่งจบปริญญาเอกในสาขา Actor Training และสอนการแสดงมาเป็นเวลากว่า 14 ปี เขาปรากฏขึ้นมาในความคิด คำพูด และงานเขียนของผมมากกว่านักการละครคนอื่น ๆ ทั้งหมดรวมกัน ผมได้ประยุกต์ใช้ อ้างถึง สอน คัดค้าน และต่อต้านหลักการ (ที่ถูกมองว่าเป็น) ของเขามาโดยตลอด ผมเคยมองเขาเป็นทั้งอาจารย์ ผู้นำ และแม้กระทั่งลุงแก่ ๆ ที่ล้าหลังและติดอยู่กับอดีต จนกระทั่งวันนี้…ผมว่าผมเข้าใจเขามากกว่าแต่ก่อนเยอะ เพราะผมรู้แล้วว่าสิ่งที่ผมเคยคิดเกี่ยวกับเขานั้น เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิดเท่านั้นเอง

ในฐานะนักแสดง ผมได้พยายามใช้หลักการ Emotion Memory และการศึกษาในเชิงจิตวิทยาของตัวละครอย่างลึกซึ้ง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จในแบบที่ผมหรือผู้กำกับการแสดงต้องการสักครั้ง หลายครั้งผมคิดว่าผมนั่นแหละที่ผิดปกติ เป็นไปได้อย่างไรที่หลักการแสดงที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก (ซึ่งผมก็นำมาใช้สอนนักเรียนเองด้วยซ้ำ) จะใช้ไม่ได้ผล ในขณะเดียวกันผมก็รู้ตัวมาตลอดว่าเทคนิคการเข้าถึงตัวละครที่เริ่มจากร่างกายและจินตนาการใช้ได้ผลดีกับผมมากกว่า แต่ก็อายที่จะยอมรับ เพราะมันถูกตัดสินว่าเป็นแบบ outside-in ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ ‘ปลอม’ ใคร ๆ ก็พูดว่าแบบ inside-out สิ ที่เป็นการแสดงที่แท้จริง!

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของหลักการของเขา จนเกิดเป็นการคัดค้านขึ้นมา ตอนนั้นผมคัดค้านชื่อ แนวคิด และหลักการของเขา แล้วหันไปยึดถือแนวทางการแสดงที่เน้นการฝึกฝนทางด้านร่างกายในแบบ physical theatre และการเข้าถึงตัวละครโดยเน้นการประสานจินตนาการกับร่างกาย เช่นหลักการของ Michael Chekhov หรือ การฝึกฝนของ Vsevolod Meyerhold เพราะผมเห็นด้วยกับคำกล่าวของเขาที่ว่า

‘A theatre built on psychological foundations is as certain to collapse as a house built on sand’ (Quoted in Theatre and Consciousness: Explanatory Scope and Future Potential, by Daniel Meyer-Dinkgrafe, 2005)

มารู้ทีหลังว่า ทั้ง Chekhov และ Meyerhold เป็นลูกศิษย์อันดับต้น ๆ ของ Stanislavski โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Meyerhold นั้นนับว่าเป็นทายาททางการละครเพียงคนเดียวของ Stanislavski ในช่วงสุดท้ายของชีวิตเขาเลย ข้อมูลนี้ยิ่งทำให้ผมสงสัยและสับสนว่าทำไมสองคนนั้น ซึ่งมีแนวความคิดเกี่ยวกับการฝึกฝนนักแสดงที่แทบจะตรงกันข้ามกับ Stanislavski จึงเป็นลูกศิษย์ที่ Stanislavski นับถือและไว้ใจอย่างมาก ในที่สุดเมื่อผมได้ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตและแนวคิดของ Stanislavski อย่างจริงจัง ผมถึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วความเชื่อในหลักการแสดงและการฝึกฝนนักแสดงของพวกเขาไม่ได้ห่างไกลกันเลย มันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผมเองต่างหากที่ทำให้คิดไปแบบนั้น

ความเข้าใจผิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมคนเดียว เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกวันนี้เราจะได้ยินคนพูดถึงหลักการของ Stanislavski ว่าเท่ากับการวิเคราะห์ตัวละครในเชิงจิตวิทยาและการให้ความสำคัญกับการเทียบเคียงอารมณ์ความรู้สึก หรือยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังบอกว่า Stanislavski สอน Method Acting! (ทุกครั้งที่ผมได้ยิน มันทำให้ผมสงสาร Stanislavski อย่างมากที่โดนคนจำนวนมากเข้าใจผิดแบบนี้) พูดมาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงอยากรู้แล้วว่าความเข้าใจผิดที่ผมพูดถึงคืออะไร ถ้างั้นเราลองมาดูข้อมูลตามประวัติศาสตร์กันดีกว่า

การแปลและดัดแปลง

ใน reading list ของวิชาการแสดงในอเมริกา (และในประเทศอื่น ๆ ที่มีอาจารย์สอนการแสดงจบจากอเมริกา) มักจะมีชื่อหนังสือ An Actor Prepares และ Building a Character อยู่ในนั้นเสมอ จริงอยู่ที่เนื้อหาในหนังสือสองเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นโดย Stanislavski แต่มันถูกแปลและดัดแปลงเป็นภาษาอังกฤษโดย Elizabeth Hapgood

เธอและและสามีของเธอ (Norman Hapgood ซึ่งเป็นนักเขียนและบรรณาธิการ) ได้รับมอบร่างของงานเขียนจาก Stanislavski ในปี 1929 ตอนที่พวกเขาพบกันที่ Nice ตอนนั้น Hapgood นำร่างนั้น ซึ่งยังเขียนไม่เสร็จดีกลับอเมริกาเพื่อไปแปล ในขณะที่ Stanislavski ยังมุ่งมั่นเขียนหนังสือของเขาต่อ เพื่อที่จะได้ตีพิมพ์ในรัสเซียด้วย ไอเดียของเขาคือเขาต้องการเขียนหนังสือเกี่ยวกับหลักการฝึกฝนนักแสดงหรือ the System ที่มีความยาว 2 ปีเต็ม ในครึ่งแรกนักเรียนจะเรียนกระบวนการสร้าง inner life ของตัวละคร และในครึ่งสองก็จะเป็นการฝึกการถ่ายทอดมันออกมาผ่านร่างกาย และเสียง ทำให้กระบวนการฝึกฝนการแสดงนั้นเป็นกระบวนการ psycho-physical ที่สมบูรณ์แบบ

Stanislavski ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ เขาเป็นนักคิดนักปฏิบัติที่อยากจะถ่ายทอดแนวคิดของเขาให้กับนักเรียนการแสดง ในขณะที่เขียนนั้นเขากลัวมากที่คนจะเข้าใจผิดว่า the System ของเขาเป็นแค่การศึกษาในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น (ซึ่งสิ่งที่เขากลัวก็กลายเป็นความจริงในที่สุด) ในร่างหนังสือของเขาจึงเต็มไปด้วยการเขียนเน้นย้ำ ซ้ำไปซ้ำมา หรือใช้ประโยคยืดยาวในการอธิบายหลักการอะไรบางอย่างที่ใช้คำเดียวก็พอ นอกจากนั้นเขาก็พบกับความยากลำบากในการสรรหาคำมาอธิบายแนวคิดที่ยังไม่มีใครพูดถึงในสมัยนั้น เช่น อวัจนภาษา หรือการฝึกสติ ที่เขาได้เรียนรู้จากโยคะ

ผลที่ตามมาก็คือเขาต้องแก้ไปแก้มาอยู่หลายรอบโดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง งานเขียนของเขาก็เลยไม่เสร็จสักที นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่น ทั้งจากสังคมและสงครามที่ทำให้งานเขียนของเขาล่าช้า ในปี 1935 Hapgood เพิ่งจะได้รับเนื้อหาเพิ่มเติมที่ทำให้เธอสามารถตีพิมพ์เกี่ยวกับการฝึกนักแสดงในส่วนแรกได้ เธอได้ตัดทอนเนื้อหาให้มีความกระชับขึ้น และตัดสินใจเผยแพร่งานเขียนเฉพาะส่วนแรกนั้นออกมาเป็น An Actor Prepares แล้วตั้งใจเก็บเนื้อหาส่วนที่เหลือไว้ตีพิมพ์แยกออกเป็นเล่มที่สอง

Hapgood ตัดสินใจถูกแล้วที่ไม่รอให้ Stanislavski เขียนเนื้อหาทั้งหมดเสร็จก่อน อย่างแรกเลยก็เพราะเนื้อหามันเยอะมาก เมื่อรวมการฝึกทั้งสองส่วนเข้าไว้ด้วยกันคงจะหาคนซื้อได้ยาก และอีกเหตุผลก็คือถึงรอไปเขาก็เขียนไม่เสร็จอยู่ดี เขาเสียชีวิตในปี 1938 ก่อนที่ Building a Character จะวางขายในอเมริกา 11 ปี ในเล่มสองนี้มีแค่บทสองบทเท่านั้นที่ Stanislavski เขียนเสร็จสมบูรณ์ ส่วนเนื้อหาที่ Hapgood เอามาใช้แปลใส่ในหนังสือก็ได้มาจากการรวบรวมของลูกชาย Stanislavski อีกที (ซึ่งจริง ๆ แล้วเนื้อหาเดียวกันนี้มีด้วยกัน 3 เวอร์ชั่นที่ต่างกันอยู่มาก และก็มีรายละเอียดที่ซ้ำซ้อนกับเนื้อหาที่ปรากฏใน An Actor Prepares อยู่เยอะ)

แล้วมันเป็นปัญหายังไง? ปัญหาก็คือ the System ของ Stanislavski นั้นประกอบด้วยสองส่วนที่ตัดขาดออกจากกันไม่ได้ การศึกษาในเชิงจิตวิทยาเพื่อการแสดงในส่วนแรกและการฝึกฝนทางด้านร่างกาย เสียงและจังหวะในส่วนที่สอง แต่พอมันถูกแปลออกมาและถูกแบ่งเป็นสองเล่ม ซึ่งถูกตีพิมพ์ห่างกันสิบกว่าปี ก็เลยทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าหลักการของ Stanislavski นั้นเน้นไปที่การศึกษาในเชิงจิตวิทยาที่เป็นเนื้อหาหลักใน An Actor Prepares เท่านั้น นี่แหละคือความเข้าใจผิดที่ผมมีมาโดยตลอด!

Jean Benedetti อาจารย์และนักการละครชาวอังกฤษ​ ต้องการสานต่อความตั้งใจของ Stanislavski และแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ the System เขารวมเนื้อหาทั้งสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ตรงกับคำศัพท์ในภาษารัสเซียที่ Stanislavski ใช้มากที่สุด ตัวอย่างเช่นคำว่า ‘objective’ ที่ Hapgood ใช้ จริง ๆ แล้ว Stanislavski ใช้คำง่าย ๆ ที่มีความหมายว่า ‘task’ หรืออีกคำคือ ‘unit’ ที่ความหมายดั้งเดิมคือ ‘bit’ เขาตั้งชื่อหนังสือตามที่ Stanislavski ตั้งใจใช้ ซึ่งก็คือ An Actor’s Work และตีพิมพ์ออกมาในปี 2008 หนังสือเล่มนี้มีความหนาเกือบ 700 หน้า (น่าจะหนาและหนักพอ ๆ กับ Harry Potter เล่มที่ 7) น่าเสียดายที่แม้ความพยายามนี้จะได้รับการยอมรับและความชื่นชมจากนักวิชาการ แต่โรงเรียนการแสดงและครูสอนการแสดงในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังไม่คุ้นเคยกับหนังสือเล่มนี้ และยึดกับเนื้อหาและคำศัพท์ใน An Actor Prepares อยู่ดี

การถ่ายทอดความรู้

ความรู้ทางการแสดง เรียกได้ว่าเป็น embodied knowledge ซึ่งอาศัยการรับรู้ผ่านการฝึกฝนจริงในห้องสตูดิโอ ข้อมูลในด้านทฤษฎีที่ผู้เรียนได้รับจึงมาจากคำสอนและคำสั่งของผู้สอนในห้องระหว่างการปฏิบัติ มากกว่าที่จะมาจากหนังสือหรือเอกสารวิชาการ

Lee Strasberg ผู้ที่ร่วมพัฒนา Method Acting ขึ้นมาที่ the Group Theatre ที่นิวยอร์คในช่วงปี 1930sโดยยึดหลักการวิเคราะห์ตัวละครในเชิงจิตวิทยาของ Stanislavski ให้เครดิต Stanislavski มาโดยตลอด เขาบอกนักเรียนว่าเทคนิคที่เขาสอนนั้นมีต้นกำเนิดมาจาก Stanislavski แม้ว่าเขาจะรู้ดีว่า the Method ของเขา ต่างจาก the System อยู่มาก เขาชู Emotion Memory ขึ้นมาเป็นหลักการที่สำคัญที่สุด (ซึ่งครูสอนการแสดงทั่วโลกที่เคยใช้แบบฝึกหัดทางด้านอารมณ์จะรู้ดีว่ามันทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขนาดไหน เวลาที่เอาเรื่องอารมณ์ยกขึ้นมาใช้ในห้องเรียน) ในขณะที่ the System เน้นที่ action interaction และ dramatic situation ที่นำไปสู่อารมณ์ความรู้สึก (ซึ่งเป็นเรื่องรองลงมา)

เขารู้ดีเพราะอะไร? ก็เพราะมันเป็นต้นเหตุของความแตกหักระหว่างเขากับ Stella Adler เพื่อนร่วมกลุ่ม the Group Theatre และ the Actors Studio โรงเรียนสอนการแสดงที่โด่งดังที่สุดในอเมริกาสมัยนั้น หลังจากที่ Adler ได้ไปเรียนกับ Stanislavski โดยตรงที่ Paris แล้วพบกับเทคนิค the Method of Physical Action ซึ่งเธอเห็นว่ามันมีประสิทธิภาพ (และดีต่อสุขภาพจิต) มากกว่าเทคนิค Emotion Memory เพียงอย่างเดียว เธอเอาเทคนิคนี้มาแชร์กับ Strasberg เขาต่อต้านเธอสุดแรง แล้วพอเขาได้ขึ้นเป็น director ของสตูดิโอ เขาก็เลยเปลี่ยนแนวทางการสอนของสตูดิโอให้เป็นแบบที่เขาเชื่ออย่างเดียว ทีนี้พอนักเรียนที่สตูดิโอมีชื่อเสียงโด่งดัง the Method ก็โด่งดังตามไปด้วย (ปัจจัยหนึ่งมาจากการเคลม credit การสอนดาราเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่ Strasberg ไม่ได้สอนเอง เช่น Marlon Brando ซึ่งเรียนกับ Adler เป็นต้น) ในแวดวงบันเทิงและการแสดง the Method ถูกพูดถึงว่าเหมือนกับ the System แนวทางการแสดงของ Stanislavski ที่เน้นที่ emotional identification หรือการเทียบเคียงอารมณ์ความรู้สึก ท้ายที่สุด Stella Adler ก็แยกไปเปิดสตูดิโอของตัวเอง แล้วถ่ายทอดและต่อยอดแนวคิดของ Stanislavski ในแบบที่เธอเชื่อว่าได้ผลดีที่สุดสำหรับนักแสดง

Final thoughts

แน่นอนที่ Stanislavski จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังขนาดนี้หากไม่มี Hapgood ที่ช่วยแปล ดัดแปลง และสรรหาคำที่ทำให้ผู้อ่านภาษาอังกฤษเข้าถึงได้ง่าย หรือ Strasberg ที่แม้จะสร้างความเข้าใจผิดไปอย่างกว้างขวาง แต่ก็ทำให้ Stanislavski เป็นชื่อที่นักแสดงละครเวทีและครูสอนการแสดงทุกคนต้องรู้จัก แต่ความเข้าใจผิดก็ยังเป็นความเข้าใจผิดอยู่ดี

สำหรับผม ผมรู้สึกโล่งอกที่รู้ว่า Stanislavski ไม่ได้เมินเฉยถึงความสำคัญของการฝึกฝนทางร่างกายไปพร้อม ๆ กับจิตใจและจินตนาการ หรือมองว่าการนั่งวิเคราะห์ตัวละครในเชิงจิตวิทยานั้นเพียงพอแล้วสำหรับนักแสดง ความเชื่อใจและมั่นใจในตัวเขาเพิ่มกลับขึ้นมาเป็นสิบเท่าหลังจากที่ผมได้ศึกษาแนวความคิดของเขาอย่างจริงจัง ในมุมมองของผม เขาไม่ใช่ลุงแก่ ๆ ที่ล้าหลังและติดอยู่กับอดีตอีกต่อไป เพราะผมเห็นแล้วว่าแนวความคิดของเขาใน the System นั้น สามารถทำให้นักเรียนการแสดงได้พัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และการฝึกฝนนักแสดงในแบบ psycho-physical ของเขาก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงรูปแบบไหนก็ตาม

ในฐานะนักแสดง ผมคิดว่ามันไม่สำคัญเลยที่จะต้องยึดติดกับหลักการใดหลักการหนึ่ง หรือบอกว่ามันเป็นแนวความคิดของใคร เทคนิคชื่ออะไร แม้แต่คำศัพท์ที่ Stanislavski ใช้ มันไม่เป็นอะไรเลยหากเราจะใช้คำว่า objective หรือ unit ต่อไป เพราะว่ามันทำให้เราเข้าใจหลักการทำงานของแนวคิดนี้มากที่สุด แม้เราจะรู้ว่า Stanislavski ไม่ได้ตั้งใจใช้คำเหล่านั้นก็ตาม ผมว่ามันเป็นเรื่องที่วิเศษมากหากเราได้เรียนรู้ทุก ๆ แนวทาง ทุก ๆ แบบฝึกหัด ทุก ๆ คำศัพท์ แล้วนำสิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์มาผสมผสานและประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างการแสดงที่ connect กับเพื่อนนักแสดงและกับผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

แต่ในฐานะผู้ที่รักในศาสตร์การแสดงคนหนึ่ง ซึ่งสวมหมวกเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่นด้วย ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะแสดงความรับผิดชอบในการถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ (หรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือและตรวจสอบได้)ให้เครดิตกับเจ้าของหลักการและทฤษฎี แล้วจึงให้โอกาสผู้เรียนเป็นผู้เลือกรับข้อมูล รวมไปถึงการส่งเสริมการค้นคว้าเพื่อหาข้อเท็จจริง และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สูงสุด

ความเข้าใจผิดในหลักการของ Stanislavski เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของหลาย ๆ เหตุการณ์ในสังคมและประวัติศาสตร์ ที่ไม่น่าจะถูกปล่อยให้ผ่านเลยไปด้วยคำพูดที่ว่า ‘ช่างมันเถอะ’ ได้อีกต่อไป

หนังสืออ้างอิง

Merlin, Bella. (2010). Acting: The Basics. Taylor and Francis. Kindle Edition.

Stanislavski, Konstantin (2008). An Actor’s Work (Jean Benedetti, trans.). Routledge.

--

--