ภาวะเครียดในเด็ก
กุสุมาศ ตันไชย สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา #BSRU #SciBSRU #ThaiMedBSRU
ความเครียด ในทางจิตวิทยาหมายถึง อาการที่เป็นผลมาจากปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายจิตใจและสติปัญญาต่อสิ่งที่มาคุกคาม เป็นภาวะชั่วคราวของความไม่สมดุล ซึ่งเกิดกระบวนการรับรู้หรือการประเมินของบุคคลที่มีต่อสิ่งที่เข้ามาในประสบการณ์ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งคุกคาม โดยที่การรับรู้หรือการประเมินนี้เป็นผลมาจากการกระทำร่วมกันของสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สิ่งแวดล้อมในสังคม การทำงาน ธรรมชาติและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต กับปัจจัยภายในบุคคลอันประกอบด้วย เจตคติ อารมณ์ ลักษณะประจำตัว ประสบการณ์ในอดีต ตลอดจนความต้องการของบุคคล
อาการที่แสดงออกถึงความเครียด
Robbins (2000) แบ่งลักษณะผลของความเครียดที่แสดงออกเป็น 3 ทาง ดังนี้
1. ทางร่างกาย
โดยมากอาการเครียดจะแสดงออกทางร่างกาย ซึ่งผลการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดโดยผู้วิจัยด้านสุขภาพพบว่า ความเครียดสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกายได้ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเร็วขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะและนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ
2. ทางจิตใจ
ความเครียดทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ ความเครียดส่งผลทางด้านจิตใจโดยแสดงออกในรูปแบบของความรู้สึกกดดัน วิตกกังวล โกรธง่าย เบื่อหน่าย และเลื่อนลอย
3. ทางพฤติกรรม
เมื่อบุคคลเกิดความเครียดจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การบริโภคเปลี่ยนแปลง สูบบุหรี่หรือดื่มสุรามากขึ้น พูดเร็ว นอนหลับยาก
การเกิดความเครียดในเด็ก
ความเครียดของเด็กสามารถแบ่งอาการออกได้ 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 เด็กอาจเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่ไม่กระทบกับผลการเรียน และไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง อาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น
ระดับที่ 2 เริ่มรุนแรงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
ระดับที่ 3 ถือเป็นระดับที่รุนแรงและมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ผลการเรียนตก ซึมเศร้า เหม่อลอย อยากตาย ร่างกายไม่มีพละกำลัง
จากการวิจัยพบว่า ร้อยละ 5–10 ของกลุ่มโรควิตกกังวลและซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียด ที่พบในเด็ก ส่วนมากจะพบว่าเป็นความเครียดที่เข้าสู่ระดับกลางถึงรุนแรง แต่ถ้าเป็นความเครียดธรรมดาทั่วไป พบได้มากถึง ร้อยละ 20–30
สาเหตุที่เด็กเครียด เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งจาก ครอบครัว บางครั้งที่เด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน หรือถูกตำหนิบ่อยๆ ทำให้เด็กเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ นานไปเด็กก็ซึมซับ เกิดความวิตกกังวลจนไม่สามารถตัดความคิดนี้ออกไปได้ รวมถึงการเลี้ยงดูและความคาดหวัง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กบางคนที่พ่อแม่จริงจังเรื่องเรียนหรือสอบแข่งขันมาก ต้องแบกรับความคาดหวังของทั้งพ่อแม่และครูก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้เด็กเกิดความกดดัน พ่อแม่ที่เครียดก็ส่งผลให้เด็กเครียดด้วย นอกจากนั้น โรงเรียน ก็มีส่วนทำให้เด็กเครียดได้เช่นกัน ครูดุ เข้มงวดเกินไป ลงโทษรุนแรง การบ้านเยอะ เด็กบางคนถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย ก็เกิดความวิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รัก สุดท้ายเรื่องของ การปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง เช่น เปิดเทอม ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้าน พ่อแม่เลิกรากัน สูญเสียคนหรือสัตว์เลี้ยงที่รัก ภัยอันตรายต่างๆ ทำให้เด็กบางคนที่มีพื้นอารมณ์วิตกกังวลง่าย ไวต่อการกระตุ้น อ่อนไหว ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น รวมไปถึงพฤติกรรมติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต ในเด็กบางคน ก็เพราะอยากหนีออกจากความเครียดในใจ
ความเครียดของเด็ก
ส่งผลกระทบไปทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการการเรียนรู้ต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการทางจิตใจหรือความเจ็บป่วยทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ขาดสมาธิ รับประทานได้น้อยลง พ่อแม่พาไปตรวจที่โรงพยาบาลทางกายก็ไม่พบสาเหตุชัดเจน อีกทั้งความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลกระทบถึงการเจริญพัฒนาของเซลล์ประสาทในสมอง หรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่ส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน อีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาเด็กมาขอรับคำปรึกษาจากผู้ชำนาญการทางด้านสุขภาพจิต เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจส่งผลต่อสัมพันธภาพกับคนรอบข้างเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อีกด้วย
ความเครียดส่งผลต่อร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียด (Cortisone) ที่ส่งผลให้สมองส่วน cortex และพื้นที่สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิด ความฉลาด สูญเสียไป อาจกล่าวได้ว่า ความเครียดมีผลขัดขวางต่อการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งยังทำให้กลายเป็นคนก้าวร้าวหรือไม่มั่นใจในตนเอง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีผลทำให้บุคลิกภาพที่ดีเสียไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กมีความเครียด เด็กไม่สามารถบอกเราได้ว่า “โอ้ย! หนูเครียด” “หนูไม่สบายใจ” หรือ “หนูกลุ้มใจ” แต่เมื่อเด็กมีความเครียดเด็กจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมหลายๆ แบบ ในเด็กเล็กจะมีอาการให้ผู้ใหญ่สังเกตเห็นได้ เช่น
1. ร้องไห้งอแงหงุดหงิด ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จนกลายเป็นเด็กดื้อ
2. มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก เช่น ดูดนิ้วมือ ดึงผม เช็ดจมูก
3. มีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน
4. นอนหลับยาก ตื่นนอนในเวลากลางคืน ละเมอเดิน ปัสสาวะรดที่นอน
5.บางคนอาจแสดงออกถึงความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก เอาแต่ใจตนเอง
6. แยกตัวไปอยู่ตามลำพัง เก็บตัว และอาจมีอาการซึมเศร้า
7. เด็กมีลักษณะไม่นิ่ง บางคนอาจอาละวาดไม่ยอมหยุด ไม่มีเหตุผล
8. เด็กเริ่มโกหก นิสัยก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น จะพบในเด็กที่โตขึ้น
ในบางคนที่มีภาวะสมาธิสั้นอยู่แล้วจะทำให้มีอาการมากขึ้น ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่มากระตุ้น และวิธีการปรับตัวของเด็ก อาการดังกล่าวแสดงถึงความเครียดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น แต่หากความเครียดนี้เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคตับ ฯลฯ เพราะเมื่อเราเกิดความเครียด ต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายสามารถทนต่อความเครียดออกมามากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดความอ่อนแอลงจากความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมน เกิดการเสื่อมของร่างกายก่อนวัยอันควร หรือที่เรียกว่า แก่ง่าย ตายเร็ว ซึ่งการเผชิญกับความเครียดของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่สามารถรับรู้ความเครียดและหาหนทางแก้ไขได้ด้วยตัวเอง อาจโดยการพักผ่อนหย่อนใจ หรือออกห่างไปจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด
ทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด
1. หาสาเหตุที่ทำให้เด็กเครียดและแก้ที่สาเหตุนั้น ที่สำคัญพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความเข้าใจ ยอมรับเด็กในตัวตนของเด็กโดยไม่สร้างความคาดหวังที่กลายเป็นความกดดันจนเกินไป เด็กควรมีวิธีการจัดการกับความเครียดได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น ได้เล่นกีฬาที่ชอบ อ่านหนังสือ เล่นสนุกกับเพื่อนตามความเหมาะสม ฯลฯ แต่ก็มีคำแนะนำที่ชวนให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น
2. หมั่นสังเกตพฤติกรรมลูก พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ เพราะเบื้องต้นแล้วพ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการเข้าไปพูดคุยหรือรับฟังความคิดเห็น พยายามแสดงความเป็นห่วงและเข้าใจลูก แล้วพวกเขาก็จะรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจเขามากขึ้น
3. ไม่กดดันเรื่องการเรียน ไม่ควรกดดันลูกในเรื่องของการเรียน อย่าคาดหวังมากจนเกินไปเพราะจะทำให้เด็กเครียดได้ สมมุติว่าเด็กบางคนเรียนไม่ค่อยเก่ง แล้วพ่อแม่คาดหวังสูง ก็อาจทำให้เด็กกดดันและเครียดได้ แต่ถ้าเด็กเป็นคนอ่อนไหวต่อความรู้สึก แม้พ่อแม่ไม่ได้กดดันหรือคาดหวังอะไร เด็กก็อาจจะเครียดเอง เพราะสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยที่ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ หรือไม่ก็เกิดการเปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน เพราะฉะนั้นในสถานการณ์เดียวกัน เด็กบางคนอาจจะเครียดและไม่เครียดก็ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของเด็กเอง
4. ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือใช้วิธีการตี เพราะเด็กจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง อาจทำให้เข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก อีกทั้งยังทำให้เด็กเกิดการต่อต้าน บางครั้งเด็กอาจเลียนแบบโดยใช้วิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อตนเองไปใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน พ่อแม่ควรมีสติและเหตุผลมากที่สุด นอกจากนั้นควรเลือกเพิกเฉยต่อเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพราะบางอย่างเด็กอาจต้องการให้พ่อแม่สนใจเขา
5. เข้าใจและมีเวลาให้ มีเวลาอยู่กับลูกบ่อยๆ เช่น ทำกิจกรรม เล่นกับลูก ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายแนบแน่น ถ้าหากลูกอยู่ในวัยประถมศึกษาก็อาจเล่นสนุกกับลูก ชมเชย และมีเวลาให้ลูกสม่ำเสมอ ส่วนลูกวัยรุ่นก็อาจเป็นเพื่อนคุย เป็นที่ปรึกษา ก็จะทำให้ลูกเล่าหรือระบายความในใจออกมาได้ เด็กก็จะไม่เครียด
6.สอนให้ลูกรู้จักการตระหนักรู้ในตัวเอง การตระหนักรู้ในตัวเอง หมายถึงความสามารถในการเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งสำคัญมาก หากคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกค่อยๆ หัดทำความเข้าใจต่อความต้องการของตัวเอง รับรู้และแยกแยะความรู้สึกของตัวเองได้ ความตระหนักรู้นี้จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีเหตุผล รักตัวเอง มองเห็นข้อดีในตัวเอง มองเห็นจุดที่ยังสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้ และเข้าใจผลกระทบของการแสดงออกนั้น ๆ ได้ว่าส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง
7. สอนให้ลูกรู้จักการควบคุมตัวเอง นอกจากเข้าใจ รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง และมองเห็นผลกระทบจากการแสดงออกของเราต่อผู้อื่นแล้ว การสามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ของตัวเอง และสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กมีบุคลิกที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดี เช่น เมื่อเด็กเครียด เขาจะเริ่มทำความเข้าใจต่อความรู้สึกเครียดที่เกิดขึ้นในตัวเขา ก่อนที่จะหาวิธีจัดการและแสดงออกมาได้อย่างเหมาะสม เขาอาจเลือกที่จะพูดคุย ปรึกษา หรือระบายกับคุณพ่อคุณแม่ แทนการตะโกนหรือแสดงอารมณ์โมโหร้าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กได้
8. สร้างแรงจูงใจให้ลูก ฝึกให้ลูกมีแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic motivation) เต็มไปด้วยพลังที่ขับเคลื่อนจากภายใน มากกว่าการมีแรงจูงใจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เงินทอง การได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น ซึ่งการมีแรงจูงใจนี้จะช่วยให้เขาสามารถตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนสำเร็จ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความยากลำบาก ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ในที่สุด ซึ่งในบริบทของภาวะเด็กเครียดอาจสามารถยกตัวอย่างได้เช่น ลูกเครียดเรื่องเรียน และไม่อยากอ่านหนังสือสอบแล้ว เพราะมองไม่เห็นว่าจะทำข้อสอบหรือได้เกรดที่ดีขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจฝึกให้เขามองเรื่องการเรียนเป็นมากกว่าเรื่องของการทำเกรดให้ดี เปลี่ยนให้ลูกมีแรงจูงใจที่อยากจะสนุกกับการเรียน หรือการลงมือทำอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอก และที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนเขาอย่างสุดความสามารถ และเติมกำลังกายใจ ให้เขารู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยวหรือต้องผ่านอุปสรรคนี้ไปโดยลำพัง
9. สอนให้ลูกรู้จักการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น คือความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และแสดงความใส่ใจเป็นพิเศษหากคนๆ นั้นรู้สึกไม่ดี กังวล หรือเศร้า เป็นต้น ความสำคัญในข้อนี้คือการหัดให้ลูกใส่ใจในการฟัง ฟังมากกว่าแค่คำพูด ฟังอย่างตั้งใจและหัดสังเกต ทั้งน้ำเสียงและภาษากาย ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น และใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น
10. สอนให้ลูกมีทักษะในการอยู่ร่วมกับคนอื่น การอยู่ร่วมกับคนอื่น คือความสามารถในการแสดงปฏิสัมพันธ์ มนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ถือเป็นสิ่งสำคัญมากหากลูกเติบโตไปอยู่ในสังคมที่ต้องพบปะผู้คนมากมายในอนาคต คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารด้วยวัจนะภาษา อวัจนะภาษา และการให้เกียรติผู้อื่น เป็นต้น
ท่านสามารถลองทำแบบทดสอบความเครียดได้ที่ https://link.bsru.ac.th/ufs
เอกสารอ้างอิง
1. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าถึงได้ที่ https://link.bsru.ac.th/ufr
2. แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ และนายแพทย์จอม ชุมช่วย โรงพยาบาลมนารมย์ เข้าถึงได้ที่ https://link.bsru.ac.th/ufq
3. แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต