Inside Out — แด่ความเศร้าที่ถูกช่วงชิง

Hima
3 min readAug 16, 2015

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง*

Inside Out เป็นอนิเมชั่นที่ผู้เขียนอยากดูมานานตั้งแต่ได้ยินเรื่องของไอเดียการนำ 5 ใน 6 อารมณ์พื้นฐานในมนุษย์ตามทฤษฏีของ Paul Ekman มาเป็นตัวละครที่มีชีวิตและดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่างโลกข้างนอกหัว ที่มีตัวละครเป็นมนุษย์ปกติทั่วไป กับโลกข้างในหัว ที่มีเหล่าอารมณ์พื้นฐานมีชีวิตโล่นแลดในโลกแห่งสมองและจิตใจที่ Pixar จินตนาการขึ้น

แม้ว่าจะผิดหวังจากคลิปโฆษณา “We are not eating that” แต่เมื่อได้ดูตัวหนังในโรงภาพยนตร์แล้ว หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังอันดับต้นๆในดวงใจ ไปในทันที เพราะบทเรียนที่อนิเมชั่นเรื่องนี้พูดถึง เป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ควรได้เรียนรู้

เมื่อสังคมช่วงชิงความเศร้าไปจากเรา

Joy ภาคภูมิใจที่ตัวเองสามารถทำให้ไรลีย์มีความสุขได้ แต่การย้ายบ้านใหม่ทำให้สถานะของเธอสั่นคลอน ไรลีย์เริ่มไม่มีความสุข เธอจากเพื่อนเก่า บ้านหลังเก่า ความทรงจำเก่าๆ มายังสถานที่แห่งใหม่ ที่ดูเหมือนจะมีแต่ปัญหาและทำให้เธอกังวลมากกว่าเดิม

แม่ขอบคุณไรลีย์ที่ยังคงเป็นลูกที่ร่าเริงของพ่อและแม่

ในสภาพที่เธอต้องการให้ Sadness ทำงาน แต่พยายามยับยั้งไว้ด้วย Joy คุณแม่ของไรลีย์เห็นการกระทำของเธอ และขอบคุณไรลีย์ที่ยังคงร่าเริงแม้ว่าพ่อจะเจอกับความเครียดอยู่ ณ ตอนนั้น Joy และไรลีย์ได้รับสารเดียวกันจากแม่ของเธอ

เธอไม่มีสิทธิแสดงออกว่าเธอเศร้า

แม้ว่า Inside Out จะมีขอบเขตของเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่เรื่องของการแสดงความเศร้าออกมานั้น เป็นเรื่องในระดับสังคมที่ทุกๆคนล้วนได้รับผลกระทบกันอยู่

เราอยู่ในสังคมที่การแสดงออกว่าเศร้า เป็นสิ่งที่น่าอาย และควรเก็บซ่อนไว้คนเดียว ไม่แสดงให้ใครเห็น การแสดงออกว่าเศร้า การร้องไห้ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อ่อนแอ เรามีหนังสือที่สอนให้เราหัดคิดบวก เรามีสื่อต่างๆที่พยายามบอกให้เรามีความสุข บอกว่าทุกอย่างอยู่ที่จิตใจของเรา และให้เรามองโลกในแง่บวก

เราอยู่ในสังคมที่พยายามช่วงชิงความเศร้าไปจากเรา

มันมีเหตุผลที่ทำไมคนที่ดูอารมณ์ดีหรือดูตลกอยู่ตลอดเวลา จริงๆแล้วเป็นคนที่เศร้าที่สุดเมื่อเขาอยู่คนเดียว เราตกใจและไม่นึกว่าคนเหล่านี้จะมีเรื่องอะไรให้เศร้า เช่นเดียวกับที่หลายๆคนตกใจเมื่อได้ข่าวว่าคนดังอย่างโรบิน วิลเลียมฆ่าตัวตาย บางคนพร้อมที่จะตัดสินว่าเขาอ่อนแอ โดยไม่คิดที่จะเข้าใจสภาพแวดล้อมหรือสิ่งที่เขาต้องเจอมาเสียด้วยซ้ำว่าเขาต้องใช้ความเข้มแข็งเพียงใดกับการต่อสู้กับความเศร้าเพื่อให้คนอื่นรอบตัวมีความสุข

สภาพสังคมที่พร้อมจะรุมทำร้ายคนที่แสดงความเศร้าออกมา ทำให้หลายคนตัดสินใจทำเช่นเดียวกับ Joy เราขัง Sadness ไว้ในวงกลมเล็กๆ

แต่การที่เราคิดแต่ในแง่บวก มองแต่ในทิศทางที่ดี พยายามร่าเริงแจ่มใส โดยเก็บความเศร้าไว้ข้างในมันเป็นเรื่องที่ดีไม่ว่าในแง่ไหนก็ตามจริงหรือ? Inside Out ก็ได้แสดงให้เราเห็นว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้นเลย

เมื่อเราช่วงชิงความเศร้าไปจากคนอื่น

ในฉากที่Bing Bong เพื่อนในจินตนาการของไรลีย์กำลังเสียใจจากการที่รถติดจรวดที่เขากับไรลีย์วางแผนจะนั่งไปดวงจันทร์ด้วยกัน ถูกทิ้งหรือ “ลบเลือน” ไปจากความทรงจำ สิ่งที่ Joy ตัดสินใจทำคือการพยายามให้กำลังใจหรือพยายามให้ Bing Bong ร่าเริงโดยการเบนความสนใจไปเรื่องอื่น ทว่าไม่มีปฏิกิริยาใดๆ Bing Bongยังคงนั่งเงียบไม่พูดอะไร

“ฉันเสียใจด้วยนะที่เขาเอารถติดจรวดของเธอไป พวกเขาเอาของรักของเธอไป”

Sadness พูดพร้อมกับนั่งลงข้างๆBing Bong ซึ่งเป็นคำพูดที่ขัดใจ Joy เป็นอย่างยิ่งเพราะเธอคิดว่ามันจะทำให้ Bing Bong รู้สึกแย่ลงกว่าเดิม

แต่ Bing Bong ผู้นั่งเงียบมาโดยตลอด ไม่ตอบสนองใดๆต่อการให้กำลังใจของ Joy กลับเริ่มอ้าปากและคำพูดทั้งหมดก็พรั่งพรูออกมา ความรู้สึกของการสูญเสียสิ่งที่มีค่าของตน

Bing Bong เปิดใจให้ Sadness

เราคุ้นๆกับคำพูดเหล่านี้กันบ้างไหม?
“เรื่องแค่นี้เอง ยังมีคนอื่นลำบากกว่าเธอนะ”
“มองในแง่ดีสิ อย่างน้อยเธอยังมีอะไรมากกว่าคนอื่นนะ”
“อย่าคิดมากเลย”

สิ่งเหล่านี้เราอาจจะเคยพูดกับคนอื่น เราอาจทำไปด้วยความเห็นใจว่าอีกฝ่ายหนึ่งเศร้า และการพยายามทำให้เขารู้สีกดีขึ้น คือสิ่งที่ดีที่สุด เราทำไปด้วยเจตนาที่ดี

ทว่าคำพูดเหล่านี้ หลายๆครั้ง ไม่ได้ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น หากแต่กลับบอกฝ่ายที่เศร้า ว่าความเจ็บปวดของเขาไม่สำคัญ ความเศร้าของเขานั้นไม่ถูกต้อง เขาควรจะมีความสุข เขาไม่ควรเสียเวลาไปกับความเศร้า

การที่ใครสักคนแสดงออกให้เห็นว่าเศร้า หลายครั้งสิ่งที่เขาต้องการคือใครสักคนที่รับฟัง ใครสักคนที่แสดงให้เขาเห็นว่าเข้าใจความเจ็บปวดของเขา ใครสักคนที่รู้สึกไปด้วยกันกับเขา ใครสักคนที่พร้อมจะรับความเศร้าของเขาไป แล้วไม่ใช่ช่วงชิงมันไปแล้วแทนที่มันด้วยความสุข

แต่รับไป เพื่อจะได้รู้สึกถึงความเศร้านั้นไปด้วยกัน

เห็นใจ ไม่เหมือน เข้าใจ

คุณแม่ของไรลีย์พยายามปลอบเธอที่เล่นฮอกกี้ไม่ดีเหมือนเดิมด้วยการบอกว่า”ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง”

ความแตกต่างระหว่าง การเห็นใจ(Sympathy) และ การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น(Empathy) เป็นบทเรียนสำคัญบทเรียนหนึ่งในชีวิต หลายๆคนสับสนระหว่างสองอย่างนี้ และไม่เข้าใจเมื่อเพื่อนที่มาปรึกษาหรือระบายความเศร้าให้ฟัง ปิดใจและไม่คุยกับเราอีก

Empathy คือการที่เรารู้สึกร่วมไปกับผู้อื่น คือการที่เราเปิดใจ ไม่ตัดสินอีกฝ่าย ตั้งใจฟังและรับรู้ความรู้สึกของฝ่ายตรงข้าม ในทางวิทยาศาสตร์การกระทำนี้ เกิดจาก Mirror Neuron ที่ตอบสนองต่ออารมณ์ของอีกฝ่ายและพยายามทำซ้ำความรู้สึกหรืออารมณ์นั้นๆ ซึ่งการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นนี้ มีประโยชน์อย่างมากในความสัมพันธ์ มันทำให้คนเชื่อมถึงกัน มันทำให้คนไว้ใจซึ่งกันและกัน และมันช่วยเยียวยาความเศร้า ความกระวนวาย หรือความกลัว มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว

แต่นั่นหมายความว่าเราจะเข้าใจความเศร้าของคนอื่นไม่ได้ หากเราไม่เปิดใจให้ตัวเองรู้สึกเศร้าเช่นกัน และในสังคมที่บอกให้ทุกคนต้องมีความสุข บอกว่าการที่ตัวเองเศร้าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ก็คงยากที่จะทำให้ใครเปิดใจรับความเศร้าเข้ามา ส่งผลให้ Empathy เป็นทักษะที่คนเราไม่ได้รับการฝึกฝนมากเท่าที่ควร

วีดีโอแสดงความแตกต่างระหว่าง sympathy และ empathy

และนั่น ทำให้หลายๆคนเผลอทำสิ่งที่ Joy ทำ คือพยายามผลักไล่ความเศร้าออกไป เหมือนที่เธอทำกับ Bing Bong และทำให้ Bing Bong ปิดใจตัวเองเรื่อยๆ ต่างจาก Sadness ที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและเห็นว่าเธอพร้อมที่จะรับความเศร้าของเขาด้วยความเต็มใจ

และมันก็คงได้เวลาแล้ว ที่ไรลีย์ควรจะมีสิทธิเศร้าได้เหมือนกัน

เพศกับการแสดงออกถึงความเศร้า

จริงอยู่ที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากการที่สังคมตีตราความเศร้าว่าเป็นสิ่งที่อ่อนแอและไม่ควรแสดงออกมา แต่ระดับและรูปแบบของผลกระทบนี้แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆอย่าง และหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดก็คือ เพศ

การที่ Inside Out เล่าเรื่องนี้โดยมีตัวเอกเป็นเด็กผู้หญิงอายุ 11 ปีนั้น มีนัยยะในเรื่องของการที่เพศหญิงนั้นมักเป็นเพศที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องยิ้ม มีความสุข และทำให้ผู้อื่นรู้สึกสุขใจไปด้วย

สิ่งเหล่านี้ เห็นได้จากการที่ผู้ชายส่วนมาก(อย่างน้อยก็ในตะวันตก) ไม่รู้สึกขัดเขินหรือคิดว่าเป็นเรื่องไม่สมควรแต่อย่างใด กับการที่พวกเขาจะบอกหญิงสาวแปลกหน้าที่เดินผ่านกัน ว่ายิ้มสิ ทำไมหน้าเศร้าจัง โดยที่เราแทบจะไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ชายเลย

แต่กับผู้หญิงมันเกิดขึ้นบ่อย บ่อยมากเสียจนมีต้องมีการรวมตัวและเรียกร้องให้เลิกบอกให้ผู้หญิงยิ้มให้กับคนแปลกหน้า หรือการที่ผู้หญิงต้องยิ้มตลอดเวลาหรือทำตัวเป็นมิตร ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติจนมีคำศัพท์ที่เรียกผู้หญิงที่ถ้าอยู่เฉยๆแล้วไม่ได้ยิ้มว่าเธอมี Bitchy Resting Face เสียด้วยซ้ำ

ในเกาหลีใต้ถึงกับมีการศัลยกรรมเพื่อให้ดูเป็นผู้หญิงที่ยิ้มอยู่ตลอดเวลา Source: http://www.buzzfeed.com/ryanhatesthis/plastic-surgery-that-forces-you-to-smile-uncontrollably-is-a?sub=2567270_1569362#.ilbGAAn8p

ใน Inside Out เราจะพบว่าไรลีย์นั้นถูกคาดหวังว่าต้องเป็น Happy Girl ของพ่อและแม่ คุณแม่เป็นคนเน้นถึงความสำคัญของการที่ผู้หญิงต้องทำให้ผู้ชายรู้สึกมีความสุข โดยขอบคุณไรลีย์ที่ทำตัวร่าเริงและช่วยให้พ่อไม่เครียดไปมากกว่านี้

5 อารมณ์หลักของแม่ไรลีย์

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในฉากนึงเราจะเห็นว่าคนควบคุมอารมณ์หลักของแม่ของไรลีย์คือ Sadness แต่เราแทบจะไม่เห็นแม่ของไรลีย์แสดงอารมณ์เศร้าออกมาให้เห็นเลย (เป็นที่น่าเสียดายที่เรื่องของ Inside Out นั้นไม่ได้ดำเนินไปถึงช่วงวัยรุ่นของไรลีย์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการวิจัยค้นพบว่าเด็กผู้หญิงสูญเสียความมั่นใจในตัวเองมากที่สุด)

อาจฟังดูขัดแย้งกัน แต่เมื่อไรลีย์ไม่สามารถเศร้าได้ เธอก็ไม่สามารถมีความสุขได้ อารมณ์ที่เหลืออยู่บนแผงควบคุม มีแต่ความกลัว ความโกรธ และความขยะแขยงเท่านั้น

แต่เธอก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงอารมณ์เหล่านี้เลย

อารมณ์โกรธและความเป็นชาย

เราคงเคยได้ยินกับคำที่ว่าลูกผู้ชายต้องไม่หลั่งน้ำตา และประโยคอื่นๆที่อาจจะมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่จุดประสงค์ของมันเหมือนกัน นั่นคือการบอกว่าน้ำตาและความเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ และผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ

แล้วผู้ชายจะทำอย่างไรเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับไรลีย์? เมื่อไม่สามารถสุขได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เศร้า สิ่งที่เหลือคือความโกรธ ความกลัวและความขยะแขยง

และนั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผู้ชายแตกต่างจากไรลีย์ ผู้ชายสามารถโกรธได้

คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หัวหน้าทีมควบคุมอารมณ์ของพ่อไรลีย์คือAnger

ในสังคมของเรานั้น แม้อารมณ์เองก็ไม่สามารถหลุดจากการถูกจัดกลุ่มแปะป้ายว่าเป็นลักษณะของเพศชายหรือหญิงไปได้ และในสังคมปัจจุบันนี้ เราก็ได้จัดกลุ่มไปแล้วว่า ความโกรธ คือการแสดงออกถึงความเป็นชาย ในขณะที่ความเศร้าคือการแสดงออกถึงความเป็นหญิง ใน Inside Out เองก็ได้แสดงออกถึงจุดนี้โดยอารมณ์ที่เป็นหัวหน้าทีมของตัวละครพ่อของไรลีย์นั้นคือ Anger

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถแสดงความเศร้าได้ ผู้ชายยังมีความโกรธเป็นเครื่องมือ และความโกรธนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ชาย ยิ่งสภาพสังคมที่เชิดชูและสนับสนุนการแข่งขัน ความโกรธจึงกลายเป็นอารมณ์ที่ได้รับการยอมรับไปโดยปริยาย (Anger เป็นหนึ่งในอารมณ์ที่ใช้ตอนไรลีย์เล่นฮอกกี้) วัฒนธรรมสนับสนุนให้ผู้ชายโกรธและผู้หญิงห้ามโกรธ ยิ่งเห็นได้ชัดจากการที่เรารู้สึกว่าเด็กผู้ชายทะเลาะกันโดยใช้กำลังนั้นเป็นเรื่องปกติ บีบให้เด็กผู้หญิงต้องทะเลาะกันโดยใช้วิธีที่แยบยลและไม่แสดงออกว่าโกรธ เช่น การปล่อยข่าวลือ หรือการไม่รับเพื่อนเข้ากลุ่ม

แต่เมื่อเราจัดไปแล้วว่าความเศร้าเป็นของผู้หญิง ทำให้การแสดงความเศร้าของผู้ชายมาพร้อมกับการลดทอนความเป็นชาย ผู้ชายจะสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนอื่นได้อย่างไร? ความเชื่อผิดๆในนิยามของความเป็นชายนี้ ทำร้ายผู้ชายมามากมายแล้ว และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายหลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ไม่เข้ารับการรักษาจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

การทะเลาะกันบนโต๊ะอาหารระหว่างไรลีย์กับพ่อของเธอ แสดงให้เห็นว่าตัวเธอไม่มีสิทธิในการแสดงความโกรธ ความกลัว หรือความขยะแขยงออกมา เธอต้องเป็น Happy Girl ของพ่อและแม่ต่อไป

เมื่ออารมณ์ที่เหลือของเธอไม่ได้รับการยอมรับ ไรลีย์ก็ไม่มีอะไรเหลืออีกต่อไป ส่งผลให้แผงควบคุมอารมณ์ของเธอค่อยๆหยุดการทำงาน

เธอเริ่มที่จะ “ไม่รู้สึก” อะไรอีกแล้ว

ความเศร้าเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน

ในช่วงสุดท้ายของหนัง ในที่สุด Joy ก็เข้าใจถึงความสำคัญของ Sadness ในหนังนำเสนอตรงนี้ได้อย่างฉลาด โดยใช้สิ่งที่ Joy เชื่อมั่นว่าเป็นความทรงจำแห่งความสุขมาตลอด มาแสดงให้เห็นว่าการที่จะมีความสุขได้นั้นมันไม่ใช่แค่การกำจัดความเศร้าทิ้งไป แต่บางครั้งความเศร้าต่างหากที่นำมาซึ่งความสุข

เมื่อ Joy สามารถพา Sadness มาถึงแผงควบคุมได้ แผงควบคุมก็ค่อยๆเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง และนั่นก็พาเราไปสู่ฉากสุดท้ายของหนัง ฉากที่ในที่สุดไรลีย์ก็เปิดใจให้พ่อแม่ของเธอได้รับรู้ถึงความเศร้าของเธอ

“หนูรู้ว่าพ่อกับแม่ไม่ต้องการให้หนูเป็นแบบนี้ แต่หนูคิดถึงบ้าน หนูคิดถึงมินนิโซตา พ่อกับแม่อยากให้หนูร่าเริงแต่หนูอยากได้เพื่อนคนเก่า ทีมฮอกกี้ทีมเก่า หนูอยากกลับบ้าน อย่าโกรธหนูเลยนะ”
source: http://www.imdb.com/title/tt2096673/quotes?item=qt2536237

แม้ว่าไรลีย์จะแชร์ความรู้สึกของเธอให้พ่อแม่ฟัง แต่จากการที่พ่อและแม่ของเธอทำให้เธอเห็นแล้วว่าครอบครัวนี้ให้ความสำคัญกับความสุขเหนืออื่นใด จนไม่มีพื้นที่ให้กับความเศร้า ทำให้เธอต้องรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำอยู่มันผิด การที่เธอเศร้าทำให้พ่อและแม่ของเธอผิดหวัง

แต่สิ่งที่ไรลีย์ทำ เป็นสิ่งที่สำคัญและยิ่งใหญ่กว่าที่เธอคิด ตลอดทั้งเรื่องพ่อและแม่ของเธอไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับบ้านเก่าที่จากมา นี่เป็นครั้งแรกที่พ่อแม่ลูกได้แบ่งปันความรู้สึกว่าทุกคนคิดถึงบ้านเก่ามากเพียงใด

เมื่อไรลีย์ปล่อยให้ Sadness ทำงาน พ่อและแม่ของเธอก็ได้มีโอกาสให้ Sadness ของตนได้ทำงานเช่นเดียวกัน และเมื่อเรารู้จักการแสดงความเศร้าอย่างถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งสามคนได้เชื่อมถึงกัน และสายสัมพันธ์ของครอบครัวก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทำให้ Inside Out ไม่ใช่เพียงแค่อนิเมชั่นที่สนุกสนานและสอนเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์สำหรับเด็กๆ แต่มันเป็นสื่อที่สะกิดเราทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ให้หันมาดู Sadness ในตัวเรา

แล้วถามตัวเองว่า นานแค่ไหนแล้ว ที่เราปล่อยให้เธออยู่ในวงกลมเล็กๆวงนั้น

ลิงค์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง

Paul Ekman Group
เวบไซต์ของ Paul Ekman นักจิตวิทยาที่ค้นคว้าเรื่องของอารมณ์ และเป็นผู้ให้คำปรึกษาใน Inside Out

Greater Good
เวบไซต์โครงการ Greater Good โดย Dacher Keltner ศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยาที่เน้นเรื่องการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเพื่อสังคมที่ดีขึ้น และเป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษาใน Inside Out

Odd Girl Out ร้าย…แบบเด็กผู้หญิง
หนังสือที่เปิดเผยการรังแกกันในกลุ่มเด็กผู้หญิง ที่เมื่อไม่สามารถแสดงอารมณ์โกรธและใช้ความรุนแรงแบบผู้ชายได้ จึงต้องหันไปใช้วิธีอื่นแทน

Toxic Masculinity
รวบรวมผลเสียที่ส่งผลกระทบต่อผู้ชายอันเนื่องมาจากนิยามของความเป็นชายภายใต้สังคมแบบ Patriarchy (สภาพสังคมปัจจุบันที่ให้คุณค่าความเป็นชายสูงกว่าความเป็นหญิง)

Stop Telling Women to Smile
เวบไซต์ต่อสู้กับการคุกคามทางเพศโดยศิลปินชื่อ Tatyana Fazlalizadeh

--

--

Hima

Game Dev | iOS Dev| Intersectional Feminist |Anti IP Law| เกม|การ์ตูน|Social Justice