The Good Dinosaur — ขอเวลารักษาแผลในใจ

อนิเมชั่นเรื่องใหม่ของ Pixar พยายามนำเสนอประเด็นที่หนักและมืดมน แต่กลับทำร้ายมันด้วยสูตรสำเร็จฮอลลีวูด

Hima
3 min readDec 1, 2015

!! SPOILER ALERT บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง !!

แม้ว่า setting ที่สมมุติว่าอุกกาบาตไม่ได้พุ่งชนโลก ทำให้ไดโนเสาร์รอดชีวิตและวิวัฒนาการจนถึงขั้นพูดได้ สื่อสารได้เหมือนมนุษย์ จะไม่เป็นที่ชื่นชอบของนักวิทยาศาสตร์บางคนเสียเท่าไรนัก (*อะแฮ่ม* Neil deGrasse Tyson *อะแฮ่ม*) แต่สำหรับผู้เขียนที่ค่อนข้างชื่นชอบของแปลก เมื่อได้ฟัง setting ที่สลับบทบาทมนุษย์กับไดโนเสาร์แล้วก็รู้สึกว่าอยากดูขึ้นมาทันที และไปดูที่โรงโดยที่ไม่ได้ดูเทรลเลอร์เลยแม้แต่นิดเดียว(เนื่องจากไม่อยากถูกสปอยล์)

แต่เมื่อได้ดูแล้ว ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่าน่าจะอ่านรีวิวและหาข้อมูลก่อนเสียเงินดูหนังเรื่องนี้ The Good Dinosaur เป็นภาพยนตร์ที่พยายามพูดเรื่องที่สำคัญ แต่บทกลับอ่อนแอ น่าผิดหวัง จนไม่อยากเชื่อว่านี่คือผลงานของสตูดิโอที่สร้างภาพยนตร์อย่าง Inside Out ออกมา

ตัวเอกที่ตามสูตรแต่แตกต่าง

หากดูเผินๆแล้ว อาร์โล ไดโนเสาร์ลูกคนสุดท้องของครอบครัวไดโนเสาร์กินพืชนี้ อาจจะเหมือนตัวเอกตามสูตรหนังฮอลลีวูดทั่วไป นั่นคือ อ่อนแอ ทำอะไรก็ผิดพลาด ขี้กลัว ที่และเมื่อเฮนรี่ผู้เป็นพ่อแนะนำ”ตราประทับ”ให้ลูกๆทั้งสามตัวได้รู้จัก คนดูก็สามารถเดาได้ทันทีว่า นี่คงเป็นเรื่องราวของการเดินทางและเติบโตของอาร์โล ที่ต้องก้าวผ่านความขี้กลัวของตนเอง ทำเรื่องยิ่งใหญ่ และฝากตาประทับไว้เหมือนพี่ๆอีกสองคนในที่สุด

อาร์โล กับ เฮนรี

การเดินทางของอาร์โลเริ่มต้นขึ้นหลังจากความตายของผู้เป็นพ่อ ที่ถูกคลื่นซัดหายไปต่อหน้าต่อตาของอาร์โล ในวันพายุฝนพัดกระหน่ำ

บทของเรื่องหากดูแล้วก็คงไม่มีปัญหาอะไร การตายของพ่อหรือแม่ของตัวละครเอกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่(Lion King และ Brother Bears คงเป็นตัวอย่างแรกๆที่หลายๆคนนึกถึง) และแม้ว่าพล็อตจะดูซ้ำซากและพบเจอได้บ่อยครั้งไปบ้าง แต่ถ้าหากผู้สร้างสามารถเขียนบทและนำเสนอได้อย่างมีชั้นเชิง ตัวหนังก็สามารถสนุกและดูสดใหม่ได้

The Good Dinosaur พยายามทำอะไรที่ต่างไปจากเดิม จริงอยู่ที่อาร์โลเป็นตัวเอกที่ต้องเจอกับการจากไปของผู้เป็นที่รักในช่วงแรกของหนังไม่ต่างจากตัวละครเอกในเรื่องอื่นๆ อาจจะต่างจากตัวเอกตัวอื่นนิดหน่อย ตรงที่อาร์โลเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่เล็กแคระแกรนกว่าไดโนเสาร์ตัวอื่นในสายพันธ์เดียวกัน แต่อาร์โลก็ไม่ใช่ตัวเอกตัวแรก

แต่อาร์โลเป็นตัวละครเอกตัวแรกของ Pixar ที่เป็นผู้มีอาการป่วยทางจิตใจ

โรคแผลใจ — PTSD

เมื่อคนเราต้องประสบกับเหตุการณ์ที่น่ากลัวและร้ายแรง เช่น การก่อการร้าย รอดชีวิตจากการถูกฆ่า สงคราม อุบัติเหตุหรือภัยภิบัติร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นกับตนเอง คนที่ตนรัก หรือพบเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้อื่น แม้จะรอดชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านั้นมาได้ แต่สิ่งนึงที่เหตุการณ์เหล่านั้นมักทิ้งไว้ในตัวคนเหล่านี้ คือโรคแผลใจ หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆว่า โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง(Post Traumatic Stress Disorder — PTSD)

ในอเมริกา โรค PTSD ได้รับการให้ความสนใจอย่างจริงจังในช่วงยุค80 เนื่องจากพบว่าทหารที่กลับมาจากสงครามเวียตนามหลายๆคนมีอาการหวาดกลัว ส่งผลให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ยาก สำหรับในไทยนั้น เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนไทยหลายคนไม่ว่าเด็กและผู้ใหญ่ก็กลายเป็นโรคนี้ ก็คงไม่พ้นเหตุการณ์สึนามิในปี2547

PTSD ไม่ใช่อาการหวาดกลัวธรรมดาทั่วไป แต่เป็นอาการป่วยทางจิตใจ โดยเป็นความผิดปกติทางจิตในกลุ่มโรควิตกกังวล โดยผู้ป่วยมักรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นยังตามมาหลอกหลอนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อได้เจอกับสิ่งกระตุ้น(Trigger) ที่ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจนั้น

นี่คือสิ่งที่ The Good Dinosaur แตกต่างจากเรื่องอื่น ในอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆนั้น แม้ว่าตัวเอกจะต้องพบกับความตายของผู้ปกครองของตน แต่ทุกคนมีปฏิกิริยาเพียงความเศร้า เสียใจ ตามสเต็ปของผู้ที่ต้องพบเจอกับการสูญเสีย

แต่อาร์โลไม่ใช่แบบนั้น

The Good Dinosaur นำเสนอชัดเจนว่าความตายของเฮนรี่ผู้เป็นพ่อ ทำให้อาร์โลป่วยเป็นโรคนี้ โดยเราจะเห็นได้จากฉากที่อาร์โลเผชิญหน้ากับพายุฝนอีกครั้ง สายฟ้าฟาดบนท้องฟ้าเป็นตัวTriggerที่ทำให้อาร์โลหวนนึกไปถึงความตายของพ่อ สิ่งนี้กระตุ้นปฏิกิริยา Fight-or-Flight ของอาโรว์ ทำให้เขาวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต ทิ้งสป็อตเอาไว้ตัวคนเดียว ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นอาการของผู้ป่วยโรค PTSD ทั้งสิ้น

ตัวอย่างทหารผู้ป่วย PTSD จาก Young Black Jack animation

นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ นี่ไม่ใช่”ความกลัว”ธรรมดาที่ใครๆก็สามารถก้าวพ้นได้ นี่คืออาการป่วยทางจิตใจ ที่ต้องได้รับการรักษา บำบัด และเยียวยาอย่างถูกวิธี

และนั่นก็อาจจะเป็นหน้าที่ของสป็อต “หมานุษย์”คู่หูของอาร์โล

PTSD กับ สุนัขบำบัด

โรคPTSD นั้นเป็นโรคที่ไม่มีวิธีการรักษาตายตัว แต่ละเคสนั้นแตกต่างกัน แม้ว่าจะมีแนวทางการรักษาอยู่บ้าง แต่การรักษาให้หายขาดไปเลยนั้นเรื่องที่ยาก อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีทางที่จะช่วยเยียวยาให้ผู้ป่วยจากโรคนี้มีอาการที่ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ง่ายขึ้นได้

หนึ่งในเทคนิคการรักษาที่มีตั้งแต่ปี 2012 คือการบำบัดผู้ป่วยโรคPTSDด้วยสุนัข ด้วยการที่สุนัขเป็นสัตว์ที่จะปกป้องเจ้าของของมัน และรักเจ้าของของมันอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ สุนัขจึงเป็นเพื่อนที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคPTSD รู้สึกปลอดภัย และรู้ว่ามีใครที่พร้อมจะปกป้องและอยู่ดูแลเขาอยู่

สป็อตช่วยเยียวยาจิตใจและอาการPTSDของอาร์โล

สิ่งเหล่านี้เราสามารถเห็นจากตัวหนังผ่านความสัมพันธ์ระหว่างอาร์โลและสป็อต สป็อตเป็นผู้หาอาหารให้อาร์โล คอยปกป้องอาร์โลจากภัยอันตรายต่างๆ รวมถึงเชื่อฟังคำสั่งของอาร์โลแต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าอาร์โลจะทิ้งสป็อตไว้คนเดียวเมื่ออาการPTSDกำเริบจากการเห็นฟ้าผ่า สป็อตก็ไม่เคยแสดงอาการโกรธ โมโห หรือรำคาญอาร์โลเลยแม้แต่ครั้งเดียว

สป็อตช่วยสร้าง”พื้นที่ปลอดภัย”ให้อาร์โล และทำให้อาร์โลรู้จักการไว้วางใจ และรู้ได้ว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี หากมีสป็อตอยู่ข้างกาย สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลเดียวกันกับที่เหล่าทหารที่ประสบอาการPTSDหลังกลับจากสงคราม มีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการบำบัดด้วยสุนัข

การรักษาแผลใจต้องใช้เวลา

Pixar ทำการบ้านและหาข้อมูลมาค่อนข้างดีในเรื่องของการนำเสนอผู้ป่วย PTSD แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ในส่วนท้ายของหนังนั้นได้ทำลายการนำเสนอที่ดีเหล่านี้ด้วยการยัดเยียดสูตรหนังสไตล์เดิมๆเข้าไป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น PTSD ไม่ใช่เป็นแค่ความกลัวธรรมดาๆ มันคืออาการป่วยทางจิตใจที่ต้องได้รับการรักษา และการรักษานั้นก็ใช้เวลายาวนานมาก เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ หรือการที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับแผลใจนี้ไปตลอดชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องแปลก การที่จะก้าวข้ามแผลใจไปได้เป็นเรื่องที่ยากมาก และไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้ ผู้ป่วยสึนามิในไทยจากปี 2547 ก็ยังมีคนที่ปัจจุบันนี้ยังไม่หายขาด ตื่นตระหนกทุกครั้งที่ได้ยินสัญญาณเตือนภัย

แต่ Pixar กลับปฏิบัติต่อ PTSD เหมือนเป็นเพียงแค่ความกลัวปกติ ธรรมดาอย่างนึงที่สามารถก้าวพ้นได้ในไม่กี่วัน เพียงเพราะกำลังใจจากคนแปลกหน้า ฝันเห็นวิญญาณของผู้เป็นพ่อและพลังของมิตรภาพ โดยในช่วงท้ายของเรื่อง ตัวหนังได้บังคับให้อาร์โลต้อง”เผชิญหน้ากับความกลัว” — บทพูดที่ตัวหนังย้ำนักย้ำหนาแทบตลอดทั้งเรื่อง — โดยอาร์โลต้องช่วยสป็อตจากไดโนเสาร์มีปีกท่ามกลางพายุฝนพัดกระหน่ำกับระดับน้ำในแม่น้ำที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

และตามสไตล์สูตรหนังที่ทุกคนเดาได้ อาร์โลเอาชนะความกลัว ช่วยชีวิตสป็อต และรอดจากการโดนคลื่นซัดตกน้ำ(ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งที่2แล้ว ชวนให้คิดว่าอะไรจะโชคดีขนาดนี้ หรือพ่อของอาร์โลกันแน่ที่โชคร้ายตายในครั้งแรก)

นี่เป็นการสร้างความเข้าใจผิดที่ทำร้ายผู้ป่วย PTSD โรคต้องได้รับการดูแลจากผู้ที่มีความรู้ แต่The Good Dinosaur กลับตอกย้ำความเชื่ออย่างผิดๆเดิมๆว่าโรคPTSDหายได้ด้วยการกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งนั้น วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วย PTSDทุกคน และหากจะใช้วิธีนี้ ผู้ป่วยก็ต้องเผชิญกับตัวTriggerภายใต้การควบคุมดูแล และค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่จะทำร้ายผู้ป่วยให้อาการหนักและย่ำแย่กว่าเดิม

แม้ว่าบทตรงนี้จะเขียนได้แย่ แต่เราก็อาจจะอนุโลมให้ได้เนื่องจากระยะเวลาในหนังจำกัด และอาร์โลอาจจะเป็นส่วนน้อยที่สามารถหายหรืออาการดีขึ้นจาก PTSD ได้ภายในเวลารวดเร็ว เนื่องจากได้รับการบำบัดจากสป็อตไปแล้วบางส่วน

แต่ช่วงท้ายของหนัง ก็ซ้ำเติมบทให้เลวร้ายและส่งสารที่เป็นภัยต่อผู้ป่วยทางจิตเวทเข้าไปอีก

แค่มองไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นอะไร

ฉากสุดท้ายของหนังอาร์โลเดินกลับมาถึงบ้านในที่สุด และเพื่อพยายามยัดเยียดให้คนดูเข้าใจว่าอาร์โลเติบโตแล้ว แม่ของอาร์โลถึงกับเห็นภาพหลอนมองเงารางๆไกลๆของอาร์โลเป็นเฮนรี่สามีของตัวเอง(ทั้งๆที่ความสูงแตกต่างกันจนไม่น่าจะมองพลาดได้ แต่คุณแม่คงเหนื่อยและแก่แล้ว)

และเมื่ออาร์โลก้าวผ่านความกลัวของตัวเอง เดินทางกลับมาถึงบ้านได้ อาร์โลก็ได้ประทับตราเท้าของตัวเอง ร่วมกับสมาชิกไดโนเสาร์ตัวอื่นๆในครอบครัว ราวกับเป็นสัญลักษณ์ว่าอาร์โลนั้น”ปกติ”แล้ว

ผู้เขียนมีปัญหากับการสอนลูกของสองสามีภรรยาไดโนเสาร์สองตัวนี้มาตั้งแต่แรกแล้ว ด้วยการกดดันอาร์โลว่าต้อง”ปกติ” ให้พี่น้องมาประทับตาให้เห็นต่อหน้าต่อตา กดดันให้อาร์โลรู้สึกด้อยค่า และเกิดการแข่งขันกันระหว่างพี่น้อง แต่ความรู้สึกแย่อันนั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับตอนจบของเรื่อง

การได้ประทับตราของอาร์โล หลังจากก้าวผ่านอาการ PTSD ของตัวเองแล้ว เสมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าอาร์โลจะได้รับการยอมรับเป็นปกติเข้าสังคมได้ก็ต่อเมื่อหายจากโรคนี้แล้ว แต่ในความจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น โรคนี้ไม่ได้หายกันง่ายๆและหลายๆคนก็ต้องอยู่กับมันไปทั้งชีวิต

สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การไปชี้หน้าพวกเขาว่าผิดปกติและบังคับให้พวกเขาอยู่ในสังคมนี้ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมของเรา ให้นึกถึงพวกเขา และทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคนอื่นได้ง่ายขึ้น

ในปัจจุบัน เราจะเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้ในสื่อต่างประเทศในรูปแบบของ “คำเตือน” หรือ Trigger Warning โดยผู้ผลิตสื่อจะมีการลิสต์เนื้อหาบางอย่างที่อาจเป็นตัวกระตุ้นเหตุการณ์ร้ายๆให้กับผู้ชมสื่อที่มีอาการ PTSD ได้ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืน การก่อการร้าย หรือภัยภิบัติต่างๆ ไม่ต่างจากคำเตือนสำหรับผู้แพ้อาหารประเภทต่างๆ หรือทางลาดสำหรับสำหรับผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น หรือแปลหนังสือเป็นอักษรเบรลล์ให้ผู้พิการทางสายตาสามารถได้อ่านหนังสือเหมือนคนที่มองเห็นได้

อย่างไรก็ตามผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับอาการป่วยที่มองไม่เห็น โดยมีคำศัพท์เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Ableism(เอบึลอิสซึ่ม) ซึ่งหมายถึงระบบสังคมที่เหยียดและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ป่วยทั้งทางกายและใจหรือผู้ที่พิการโดยไม่มีเหตุผล หรือขาดความเข้าใจ

อาการป่วยทางจิตใจหลายๆอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า ถูกเข้าใจผิดและมองว่าเป็นอาการ “สำออย” หรือ “อ่อนแอ” ของคนๆนั้น และสามารถแก้ไขได้เพียงแค่คนนั้นแก้ไขลักษณะนิสัยของตัวเอง แต่ในโลกความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น อาการบางอย่างเกิดขึ้นเพราะเป็นอาการป่วยทางจิตใจ มันไม่ต่างจากอาการป่วยทางกายเลย แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ทำให้คนที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ไม่กล้าจะพูดถึงเรื่องนี้กับใคร ไม่ได้สิทธิในการลาป่วยจากที่ทำงาน หรือกระทั่งไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพราะโทษตัวเอง คิดว่าปัญหาเกิดจากนิสัยตัวเอง ไม่ใช่อาการเจ็บป่วยใดๆ

Elliot ไก่พูดได้จาก Space Dumplins เป็นตัวอย่างที่ดีของตัวละครที่มีอาการทางจิต แต่เพื่อนๆเข้าใจและปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้

แทนที่ The Good Dinosaur จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้และนำเสนอเรื่องที่สอดคล้องกับวิธีเยียวยารักษา ทั้งเรื่องกลับพยายามเสนอสารที่บอกว่าความกลัวเป็นข้อเสีย และต้องก้าวผ่านมันให้ได้ (แม้จะมีฉากที่ไดโนเสาร์กินเนื้อบอกอาร์โลให้อยู่กับความกลัว แต่ฉากนั้นก็เหมือนโดนทำลายสิ้นด้วยผีคุณพ่อเข้าฝันอาร์โลตอนหลัง) นับว่าเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง และไม่อยากเชื่อว่าจะมาจากสตูดิโอที่ผลิต Inside Out ที่สอนให้เราพยายามเข้าใจจิตใจผู้อื่น

แผลใจ กับการใช้ชีวิตร่วมกับมัน

แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ Pixar พยายามนำเสนอตัวเอกที่มีอาการป่วยทางจิตใจแตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บทที่แย่ของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ส่งสารที่ทำร้ายผู้ป่วย PTSD ในปัจจุบัน จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองที่พาลูกไปดู ควรบอกลูกให้เข้าใจว่าแม้เขาจะไม่สามารถก้าวผ่านแผลใจนั้นไปได้เหมือนอาโรว์ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีค่า และไม่ได้ทำให้รักที่มีต่อเขาน้อยลง

มันคงจะดีกว่านี้ หาก The Good Dinosaur แสดงให้เราเห็นว่าแผลใจบางอย่าง ไม่ต้องถึงกับก้าวพ้นมันไปก็ได้ แต่ขอให้อยู่กับมัน ควบคุมมันได้ และสังคมรอบข้างก็ควรเข้าใจ พยายามสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาช่วยเหลือให้คนที่ป่วยจากอาการนี้อยู่ในสังคมง่ายขึ้น

อย่าบังคับให้คนเหล่านี้ต้องหายขาด ถึงจะได้รับสิทธิในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะสำหรับชีวิตของผู้ป่วยPTSD แล้ว การที่ต้องอดทนหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ รับยา ปรึกษากับจิตแพทย์ แล้วยังต้องมาทำงานทุกวัน พยายามใช้ชีวิตตามปกติ บอกใครก็กลัวจะไม่เข้าใจ หรือโดนหาว่าสำออยและอ่อนแอ มันใช้พลังและแรงใจกว่าคนที่ไม่ได้ป่วยโรคนี้มากมายนัก

แค่นี้ก็น่าจะเป็นความสำเร็จ ที่สมควรได้รับการประทับตราแล้ว

ลิงค์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเครียดหลังเหตุสะเทือนขวัญ(PTSD)
บทความให้ความรู้เกี่ยวกับโรคPTSD

สีนามิ : การตายและบาดแผลจากพื้นที่
บทความรวบรวมข้อมูลและสถิติความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

Paws for Veterans
องค์กรณ์ที่มีสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยบำบัดทหารที่เป็นโรคPTSD

How to be an Ally for People with PTSD
บทความภาษาอังกฤษ ว่าด้วยเรื่องของสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคPTSD อยู่ร่วมกันในสังคมได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น

What is Ableism?
บทความภาษาอังกฤษ อธิบายถึงความหมายของคำว่า Ableism และผลกระทบต่อสังคม

--

--

Hima

Game Dev | iOS Dev| Intersectional Feminist |Anti IP Law| เกม|การ์ตูน|Social Justice