มารู้จักกับ “peer-to-peer lending” กันเถอะ

iou — Nic
3 min readJul 6, 2016

--

หลายๆ คนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับธุรกิจที่เรียกว่า peer-to-peer lending มากันบ้างแล้ว บางคนอาจจะแค่เคยได้ยินแต่อยากรู้จริงๆ จังๆ ว่ามันคืออะไร ซึ่งบทความนี้จะสามารถช่วยท่านทำความรู้จักกับ peer-to-peer lending ได้มากขึ้น

peer-to-peer lending คือนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่กำลังประสบความสำเร็จในระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มันคือไอเดียที่ปฎิวัติรูปแบบการลงทุนและสินเชื่อของสถาบันการเงินที่คร่ำครึ มาเป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ โดยในลักษณะนี้ ผู้กู้สามารถรับดอกเบี้ยสินเชื่อที่ถูกกว่า และผู้ปล่อยกู้มีโอกาสที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ชนิดใหม่ที่สามารถให้อัตราผลตอบแทนที่สม่ำเสมอและมากกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจรูปแบบนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่ทางภาครัฐและเอกชนกำลังหาข้อสรุปของธุรกิจชนิดนี้ในบ้านเรา เนื้อหาส่วนใหญ่ในบทความนี้จะอ้างอิงถึงโมเดล peer-to-peer lending ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยหากมีการอนุมัติให้ทำธุรกิจในรูปแบบนี้ในประเทศไทย อาจมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปบ้าง

เนื้อหาของบทความนี้จะอธิบายว่า อะไรคือ peer-to-peer lending ประวัติโดยย่อ รวมถึงข้อดีและข้อเสีย

อะไรคือ “peer-to-peer lending”

ก่อนที่จะเริ่มเข้าไปในรายละเอียด มาเริ่มที่ความหมายของคำว่า peer-to-peer lending (หรือรู้จักกันสั้นๆ ว่า p2p lending) กันก่อนดีกว่า ถ้าจะเอาความหมายตามชื่อนั้น peer-to-peer lending หมายถึงการกู้ยืมเงินระหว่าง บุคคล — ต่อ — บุคคล ซึ่งลักษณะการทำงานหรือกระบวนการของ p2p lending ตาม Wikipedia ได้ให้คำจำกัดความของ peer — to — peer lending ว่า “การทำธุรกรรมทางการเงินชนิดหนึ่ง (โดยส่วนมากจะเป็นการกู้ยืมเงิน) ระหว่างบุคคล โดยผ่านระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง”

จริงๆ แล้วนั้น p2p lending ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราให้เพื่อนของเรายืมเงิน หรือเวลาที่เรามีเงินเหลือแล้วเอาไปให้คนอื่นยืม แต่การกระทำแบบนี้โดยส่วนมากจะทำระหว่างคนรู้จักกันซึ่งมีความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นประกัน หากมองในภาพที่กว้างขึ้น เราไม่มีทางรู้จักคนเป็นพันๆ คนได้เลย เพราะเหตุนี้จึงมีพื้นที่ให้บริษัท p2p lending ที่ประสบความสำเร็จมากในสหรัฐ เช่น lending club หรือ prosper เข้ามาทำธุรกิจ โดยที่บริษัทดังกล่าว มีหน้าที่เชื่อมโยงระหว่าง ผู้กู้ และ ผู้สนใจปล่อยกู้ และมีหน้าที่คร่าวๆ คือการ

  • คัดกรองเครดิตของผู้กู้ เพื่อให้ผู้ปล่อยกู้มั่นใจว่าได้ปล่อยกู้กับคนที่มีเครดิตที่ดี
  • ช่วยเป็นตัวกลางในการทำสัญญาเงินกู้
  • บริการเก็บเงิน และติดตามหนี้

ประวัติของ “peer-to-peer lending”

Peer — to — peer lending ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง เพราะว่า Zopa ซึ่งเป็น บริษัท p2p lending เจ้าแรกของโลกจากประเทศอังกฤษ ได้เปิดตัวสู่สาธารณชนในปี ค.ศ. 2005 โดยที่ prosper และ lending club ได้เปิดตัวตามมาในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2006 และ 2007 ตามลำดับ โดยที่ prosper สามารถสร้างฐานสมาชิกได้ถึง 100,000 คน และสามารถให้บริการปล่อยกู้เงินได้ถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 9 เดือนหลังจากเปิดตัว ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจนี้

จนมาถึงทุกวันนี้ ธุรกิจ peer-to-peer lending ถือว่าผ่านมาสองช่วงหลักๆ ของการดำเนินกิจการ คือ

Quiet Period

คือช่วงระหว่างปี 2008–2009 ที่บริษัทไม่มีการออกสินเชื่อเพิ่มเพราะไม่มีการระดมทุน หรือการลงทุนจากผู้ปล่อยกู้ เนื่องจาก Securities and Exchange Commission (SEC) หรือ กลต. ของประเทศสหรัฐได้สั่งระงับการออกสินเชื่อชนิดนี้ และให้ผู้ประกอบการนำสินเชื่อทั้งหมดมาลงทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ โดยที่ปัจจุบัน สินเชื่อชนิดดังกล่าวออกมาในรูปแบบหลักทรัพย์ที่ลงทะเบียนกับ SEC

Peer — to — Peer 2.0

หลังจากช่วง Quiet period บริษัทอย่าง prosper และ lending club ให้ความสนใจกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น เห็นได้จากการที่จำนวนหนี้เสียของสินเชื่อที่ออกหลังจากช่วง quiet period นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงปี 2006–2007 นั้น สินเชื่อของ prosper และ lending club มีหนี้เสียเป็นสัดส่วนประมาน 40% และ 24% ตามลำดับ ปัจจุบันนี้ หนี้เสียของทั้งสองบริษัทต่ำลงมาก โดยมีอัตราหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 4% ซึ่งทำให้เป็นทางเลือกของการลงทุนที่น่าสนใจมาก

peer-to-peer lending ต่างจากธนาคารอย่างไร?

สิ่งที่ทำให้ p2p lending ต่างจากสถาบันการเงินที่เห็นได้ชัดมากที่สุดนั้นคือต้นทุน ซึ่งคล้ายๆกับการที่ streaming เป็นการนำหนังหรือเพลงมาให้ผู้บริโภคในราคาที่ต่ำกว่า ส่วน p2p lending เป็นการนำสินเชื่อมาให้ผู้บริโภคในรูปแบบที่ถูกกว่า

ต้นทุนของสถาบันการเงิน

  1. คอมพิวเตอร์, เว็บไซต์
  2. พนักงานกว่า 100,000 คน
  3. สาขามากกว่า 1,000 สาขา

ต้นทุนของบริษัท p2p lending

  1. คอมพิวเตอร์, เว็บไซต์
  2. พนักงานน้อยกว่า 100 คน
  3. สาขาเพียง 2–3 สาขา

ตัวอย่างเช่น ธนาคาร Wells Fargo และ Prosper Loans

credit: http://www.lendingmemo.com/what-is-peer-to-peer-lending/

ประโยชน์ของ peer-to-peer lending

การที่ต้นทุนของบริษัท p2p lending ถูกกว่านั้น หมายความว่าค่าบริการต่างๆ จะตกไปเป็นภาระของผู้บริโภคน้อยลง โดยประโยชน์ของ p2p lending สามารถสรุปได้คร่าวๆ คือ

ผู้กู้

1. ได้รับสินเชื่อที่ดอกเบี้ยถูกกว่าสถาบันการเงิน

เพราะต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถคิดดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสถาบันการเงิน ตัวอย่างเช่น การกู้จาก p2p lending อาจมีดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตถึง 5% โดยเมื่อคิดเป็นจำนวนเงินแล้วถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากที่เดียว

2. มีการสมัครรับสินเชื่อที่ง่ายกว่าสถาบัน

ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปธนาคารเพื่อขอสินเชื่อ โดยที่อาจจะไม่ได้รับอนุมัติก็ได้ การกู้ผ่านบริษัท p2p lending นั้นง่ายเพียงแค่ยื่นขอสินเชื่อผ่านระบบออนไลน์

3. ไม่มีค่าปรับในการชำระสินเชื่อก่อนกำหนด

โดยทั่วไป สถาบันการเงินจะคิดค่าปรับเมื่อผู้กู้ต้องการชำระเงินกู้ (prepay) ก่อนกำหนดเนื่องจากจะทำให้รายได้ของสถาบันการเงินนั้นลดลง ต่างกับบริษัท p2p lending (เช่น prosper และ lending club) ซึ่งไม่มีการคิดค่าปรับหากต้องการชำระเงินกู้ก่อนกำหนด

ผู้ปล่อยกู้ / ผู้ลงทุน

1. ได้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงจากหลักทรัพย์ชนิดใหม่

หากดูตัวอย่างของ prosper และ lending club บัญชีลงทุนที่มีอายุประมาณ 18 เดือนนั้น มีผลตอบแทนประมาณ 5–9% ต่อปี

2. หลักทรัพย์ชนิดนี้มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับหุ้น

ตลาดหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนใน p2p lending ในระยะยาว แต่เมื่อเทียบกันทางด้านความเสถียรแล้วนั้น p2p lending มีความเสถียรกว่า เพราะการลงทุนดังกล่าว เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เรียกว่า consumer credit ตัวอย่างง่ายๆ คือ ในปี 2008 ตลาดหุ้นในสหรัฐสูญเสียมูลค่ามากถึง 35% ต่างกับ consumer credit ที่ไม่เคยทำให้ผู้ปล่อยกู้เสียเงินลงทุน

credit: http://www.lendingmemo.com/what-is-peer-to-peer-lending/

กราฟนี้เปรียบเทียบ อัตราดอกเบี้ย (interest rate) และอัตราหนี้เสีย (default rate) ของบัตรเครดิตในสหรัฐ โดยมีช่วงสีเทาเข้มคือช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในปี 2008 นั้น ถึงแม้อัตราหนี้เสียจะเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนั้นก็ยังสูงกว่าอยู่ดี ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมธนาคาร ยินดีที่จะให้บัตรเครดิตแก่ผู้บริโภค เพราะมันแทบจะการันตีผลตอบแทนเชิงบวก

3. เป็นการลงทุนที่เข้าใจง่ายและน่าเชื่อถือ

p2p lending นั้นเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถลงทุนใน consumer credit โดยที่สามารถกระจายการลงทุนในสินเชื่อที่ผ่านการคัดกรองแล้วจำนวนมาก นอกจากนี้ p2p lending ยังเป็นการลงทุนที่เข้าใจง่ายกว่าหลักทรัพย์หลายๆ ชนิด เพราะโดยพื้นฐานแล้ว มันคือการให้กู้ยืมเงินนั่นเอง

4. ได้รับผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอ

เนื่องจากผู้กู้จะมีการผ่อนชำระทุกเดือน หมายความว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคืนทุกเดือนเช่นกัน

5. เป็นการลงทุนที่ช่วยเหลือผู้อื่น

เป็นข้อที่พวกเรา iou ชอบมากที่สุด การลงทุนใน p2p lending นั้นเป็นสิ่งที่ดีเพราะเงินลงทุนดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ที่มีเครดิตที่ดีให้สามารถลดภาระหนี้สินด้วยดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โดยที่ผู้ลงทุนยังได้ผลตอบแทนที่ดีด้วยเช่นกัน

เริ่มต้นกับ peer-to-peer lending

โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนการใช้บริการ p2p lending มีดังนี้

ผู้กู้

  • สมัครผ่านเว็บไซต์ และเลือกจำนวนวงเงินที่ต้องการ
  • รับผลประเมินเครดิตและดอกเบี้ยที่บริษัท p2p lending กำหนด
  • สินเชื่อจะถูกนำขึ้นไปเสนอแก่ผู้ลงทุนเพื่อรับเงินลงทุน พร้อมกับการยืนยันตัวตนเพื่มเติมจากทางบริษัท
  • เมื่อการยืนยันตัวตนสำเร็จและเงินลงทุนในสินเชื่อของผู้กู้ ถึงจำนวนที่กำหนด บริษัท p2p lending จะทำการสรุปสัญญา และดำเนินการโอนเงินให้ผู้กู้
  • ผู้กู้ได้รับเงินและรอชำระค่างวดในแต่ละเดือน

ผู้ลงทุน

  • สมัครบัญชีลงทุนผ่านเว็บไซต์ (อาจต้องมีการยืนยันตัวตนและจำนวนเงินลงทุน)
  • เลือกสินเชื่อที่ผู้ให้บริการ p2p lending นำเสนอในเว็บไซต์
  • ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนแบบไม่เต็มจำนวนวงเงินสินเชื่อได้
  • เมื่อสินเชื่อได้รับการยืนยันตัวตนและอนุมัติ เงินลงทุนจะถูกโอนไปให้ผู้กู้

สรุป

โดยสรุปแล้ว p2p lending เป็น นวัตกรรมทางการเงิน ที่นำเสนอการลงทุนในรูปแบบใหม่และเป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่ดีสำหรับผู้กู้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจลักษณะนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่ทางภาครัฐและเอกชนกำลังหาข้อสรุปของธุรกิจชนิดนี้ในบ้านเรา ซึ่งหวังว่าในระยะเวลาอันสั้นนี้ จะเห็นผู้ประกอบการ p2p lending ในประเทศไทย โดยเนื้อหาในบล็อกนี้ เราอยากจะแนะนำให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใน และรู้จักกับ p2p lending เพื่อตรียมพร้อมหากธุรกิจนี้ได้รับไฟเขียวให้ได้เริ่มดำเนินการในบ้านเรา

ติดตามและรับข่าวสารเพิ่มเติมจากเราได้ที่

--

--