Best of Jakpat M. 2018

ผมทำ Sprint ระยะเวลา 1 ปีมาครับ

Jakpat Mingmongkolmitr
5 min readDec 31, 2018

Hello World!

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ฟาร์ (ชื่อจริงก็อยู่ข้างบนเนอะ) ศึกษาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 ภาค ICE ครับ

Sprint?

ขอเกริ่นก่อน… Sprint ที่หมายถึงนี้ไม่ใช่ Design Sprint ของ Google นะครับ แต่เป็น Scrum Sprint ตามหลักของ Agile แล้วผมก็ไม่ได้หมายความว่า ผมไปทำ Sprint มาจริงๆนะครับ เป็นการเปรียบเทียบเพื่อหลอกให้คุณกดเข้ามาอ่านเท่านั้นแหละ

ล้อเล่นน่ะครับ ผมแค่อยากจะสื่อว่าผมใช้เวลาทั้งปี 2018 เพื่อทำเป้าหมายหลักแค่อย่างเดียวให้สำเร็จ ซึ่งก็คือ “การเปลี่ยนแปลงตัวเอง” โดยช่วงท้ายแบบปีนี้ก็เหมือนกับการส่งมอบงาน แต่ติดตรงที่ Stakeholder ก็คือตัวเองเนี่ยแหละครับ ฮ่าๆๆ

Getting Started

ผมใช้เวลาคิดอยู่สักพักว่าจะเขียนบล็อคนี้ดีไหมนะ เพราะตัวผมเองนั้นเป็น Introvert แบบขั้นสุด เรียกได้ว่าวิธีเดียวที่จะชาร์จพลังตัวได้นั้นก็คือการอยู่คนเดียว เช่น การนอน

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบพูดเรื่องของตัวเองสักเท่าไหร่และชวนคุยไม่ค่อยเก่ง จนบางครั้งก็มีคนเข้าใจผิดว่าผมหยิ่ง และคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยอยากเข้ามาทำความรู้จัก แต่ทำไงได้ละเกิดมาก็เป็นอย่างงี้แล้ว

ถ้าพูดแบบติดตลกหน่อย ผมก็คงจะเป็นแนว “ไม่พูดเยอะเจ็บคอ” แต่ไหนๆปีนี้ผมก็ตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนตัวเองแล้ว ลองเล่าเรื่องตัวเองดูหน่อยก็คงไม่เสียหายอะไร

ทุกปีผมเห็นคนส่วนใหญ่จะชอบเขียน Review หรือ Recap เรื่องราวของตัวเองตลอดช่วงเวลา 1 ปีนั้นที่ผ่านมา แต่เพื่อความบันเทิงและสาระของผู้เขียนและผู้อ่าน คราวนี้ผมจึงจะขอแหวกแนวจากชาวบ้านนิดหน่อยละ

TL;DR

บล็อคนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆในปี 2018 ของผมผ่านธีม “1 Year Sprint Retrospective” อธิบายง่ายๆก็คือ ผมจะบอกเล่าประสบการณ์ตัวเองผ่าน 3 หัวข้อหลักดังนี้

What went well in this Year, What could be improved, What will I commit to improve in the next Year.

เนื้อหาในบล็อคนี้จะเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆที่ค่อนข้างใกล้ตัวผม ใครที่ไม่รู้จักผมเป็นการส่วนตัว หรือไม่ได้เรียนอยู่คณะเดียวกับผม คุณอาจจะไม่รู้จักชื่อเหตุการณ์บางอย่าง ก็ขออภัยไว้นะที่นี้ แต่ผมจะพยายามอธิบายคร่าวๆ เพื่อทุกคนให้สามารถติดตามเรื่องราวของผมได้

<2018>

What went well in this year

ปีนี้เป็นก้าวแรกของการเดินทางของผมที่มีจุดมุ่งหมายเป็น “การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้” ซึ่งผมคิดว่าก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นนั้น ผมควรเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้เสียก่อน ดั้งนั้นผมจึงเริ่มต้นปี 2018 ด้วย เป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวก็คือ “การเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ChAMP Engineering

ที่สุดของปีนี้ขอยกให้โครงการนี้เลย ChAMP Engineering บอกเลยใครไม่เข้าร่วมโครงการนี้ถือว่าพลาดหนักมาก

โครงการนี้ช่วยทำให้ผมปลดล็อคข้อจำกัดของตัวเอง และสามารถก้าวเดินต่อไปได้อีกครั้ง ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้เลยครับว่าอะไรคือสิ่งผมให้คุณค่า ผมใช้ชีวิตไปวันๆโดยที่พยายามเอาแต่เรื่องดีเข้าตัวให้ได้มากที่สุด เพราะในตอนนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันล่ารางวัล การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การเร่งเรียนเพื่อให้ได้เข้ามหาลัยได้เร็วๆ การชอบทำงานร่วมกับคนที่เก่งกว่า แต่ที่จริงแล้วการกระทำเหล่านั้นกลับทำให้ผมหยุดอยู่กับที่…

ถึงแม้ผมจะพยายามทำเพื่อตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็ไร้ซึ่งความหมาย ผมไม่เคยคิดถึงเป้าหมายในชีวิตเลย เปรียบเสมือนว่าผมกำลังวิ่งอยู่บนลู่วิ่งที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่มีเส้นชัย ไม่มีแม้กระทั่งคนข้างหน้าให้ผมคอยไล่ตาม ผมกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่ามีประโยชน์เข้าตัว โดยไม่มีแม้แต่จะหยุดคิดว่าผมทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม นี้คือจุดเริ่มต้นของการหลงทางครั้งใหญ่ในชีวิตผม ผมจึงเสพติดการแข่งขันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

บนโลกนี้มีคนอยู่ 3 ประเภท ผู้ให้ ผู้รับ และผู้แลกเปลี่ยน ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะเป็น Giver, Taker และ Matcher และผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากและไม่อายเลยว่า แต่ก่อน “ผมเป็น Taker ครับ”

สำหรับหลายคนที่รู้จักผมอาจจะสงสัยว่าผมไม่น่าจะใช่ผู้รับนะ ซึ่งมันก็ถูกครึ่งไม่ถูกครึ่งนะครับ เพราะว่าตั้งแต่ก่อนเข้ามหาลัยมาผมได้หยุดพฤติกรรมเหล่านั้นไปหมดแล้ว งั้นตอนนี้ผมเป็นคนประเภทไหนละ?

ผมไม่ใช่ผู้แลกเปลี่ยนอย่างแน่นอน ผมไม่เคยแลกเปลี่ยนกับใคร ผมมาถึงจุดนี้ได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ด้วยความเชื่อใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเท่านั้น ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด

อย่างงั้นผมเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้หรอ? หรือผมอาจจะเป็นผู้รับอยู่แล้วก็ได้? ผมใช้เวลาครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่นานพอสมควร แต่พอถึงจุดหนึ่งผมก็ตระหนักได้ว่า ผมไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหาคำตอบก็ได้นิ ผมแค่เลือกที่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดก็พอแล้วเหมือนกับสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด แต่ว่าครั้งนี้มันจะต่างออกไป เพราะว่าผมรู้ตัวแล้วว่าผมกำลังทำมันไปทำไม

“คนประเภทไหนดีที่สุด?” นั่นเป็นคำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของผม แต่มันเป็นคำถามที่ผิด เพราะคำถามนี้ไม่มีคำตอบหรอกครับ คนทุกประเภทไม่มีถูกไม่มีผิด เพียงแต่มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้นคำถามที่ถูกต้องควรจะเป็น “คนประเภทไหนที่ผมอยากจะเป็นมากที่สุด?” ผมไม่รู้หรอกครับว่าอยู่ดีๆการตั้งคำถามแบบนี้และพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ แต่ผมตัดสินใจไปแล้วว่าจะทำมัน…

ถึงแม้ว่าผมจะเคยได้ยินเกี่ยวกับคนทั้งสามประเภท และข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภทมาก่อนแล้วจากหลังสือเล่มต่างๆ แต่ผมก็ไม่สามารถตอบคำถามให้กับตัวเองได้สักที เพราะผมมองไม่เห็นตัวอย่างในโลกความเป็นจริง หรือสิ่งที่จะทำให้ผมเข้าใจตัวเองได้ว่าผมอยากเป็นแบบใคร

โครงการ ChAMP ตอบคำถามนั้นให้กับผมได้ หลังจากที่ได้พบกับบุคคลที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายในโครงการ ผมได้พบกับบุคคลที่ผมอยากใช้เขาเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต และผมก็เจอสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันนั้นก็คือพวกเขาทั้งหมดนั้นเป็นผู้ให้ครับ

อีกทั้งผมยังได้มีโอกาสฟังพี่เล้ง CEO MFEC เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆที่มีแต่ผู้ให้เท่านั้นที่สามารถสร้างมันได้ และเหตุผลที่อยู่เบี้องหลังสิ่งเหล่านั้น ผมจึงสามารถตอบคำถามตัวเองได้ในทันทีว่า ผมอยากสร้างประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ ผมอยากเป็นแบบพวกเขา และ “ผมอยากเป็นผู้ให้”

“Try not to become a man of success, but rather try to become a man of value.” — Albert Einstein

ผมอยากฝากคำถามให้เพื่อนๆที่กำลังหลงทางอยู่เหมือนกับผมในอดีต “แล้วคุณละเลือกที่ทางในการใช้ชีวิตถูกรึยัง?” คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้ถึงจะประสบความสำเร็จนะครับ ความจริงแล้วคนทั้ง 3 ประเภทที่ผมกล่าวไปนั้น ไม่ใช่บุคลิกที่สำคัญที่สุดของการประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ เหมือนที่ Peter F. Drucker กล่าวไว้ว่า

Successful careers are not planned. They develop when people are prepared for opportunities because they know their strengths, their method of work, and their values. — Peter F. Drucker

Passio(n)

ถึงแม้ว่าสิ่งที่ผมได้รับจากโครงการ ChAMP จะมีมากมายจนไม่สามารถนับได้ แต่สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ ความจริงที่ผมได้รู้ว่า Passion นั้นไม่มีอยู่จริง

แต่ก่อนผมเป็นคนที่หมกหมุ่นในคำว่า Passion มาก ผมให้ความสำคัญกับมันเหนือสิ่งอื่นใด ผมมีความเชื่อแบบผิดๆว่าถ้าหากมี Passion ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง Passion ของผมก็หมดไป

ผมไม่รู้ว่าจะสามารถหา Passion ใหม่มาเติมได้จากที่ไหน ซึ่งถ้าหากผมยังยึดตามความเชื่อเดิมและทำเพียงแค่รอ Passion ใหม่เกิดขึ้นมา ชีวิตผมคงพังไปแล้วแน่นอน แต่ผมคงไม่สามารถปล่อยให้เป็นแบบนั้นได้ ผมใช้เวลาอยู่สักพักเพื่อหาทางแก้ไขเรื่องนี้ และอยู่ดีๆวันหนึ่งผมก็บังเอิญไปเจอกับ Talk ชื่อ The Power of Pain | K.S. Khunkhao หลังจากที่ผมดูจบ มุมมองความคิดของผมเกี่ยวกับ Passion ก็ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล

สรุปสั้นๆจาก Talk นั้นก็คือ คำว่า Passion นั้นมีรากศัพท์มาก Passio ในภาษา Latin แปลว่า Suffering หรือ Pain หมายความว่าเราสามารถสร้าง Passion ได้ด้วยการเกิดความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจนั่นเอง

ซึ่งถ้าพูดลอยๆก็อาจจะไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ แต่การที่ผมได้เข้าโครงการ ChAMP นั้นทำให้ผมได้อยู่ท่ามกลางคนเก่งมากมาย คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หรือคนที่มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาตนเอง ถ้าหากผมเป็นหนึ่งในคนที่อยากประสบความสำเร็จ การได้พบเจอกับคนที่เก่งกว่าผมนั้นย่อมทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาหรือไม่สบายใจเป็นธรรมดา และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่ก่อให้เกิด Passion ขึ้น

“If you are the smartest person in the room, then you are in the wrong room.” – Confucius

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมชอบในโครงการนี้ แต่สำหรับผมแค่นี้ก็ถือว่าคุ้มค่ามากแล้ว และเพื่อไม่ให้ออกทะเลไปมากกว่านี้ ผมจึงจะขอพูดถึงในโอาสถัดๆไปแทนละกันนะครับ

The Power of Pain | K.S. Khunkhao

A Day A Book

ปีนี้ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนรักการอ่าน จากปกติเป็นคนไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเป็นเล่ม หรืออะไรก็ตามที่ต้องใช้เวลาอ่านติดต่อกันนานๆ เวลาเรียนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมก็ชอบเป็น Course Online หรือ Recipe มากกว่าอ่าน Tutorial ยาวๆ ซึ่งเป้าหมายของผมก็คือ “การอ่านหนังสือให้ได้วันละ 1 เล่ม”

ฟังไม่ผิดหรอกครับ… ผมอยากจะอ่านหนังสือให้ได้วันละ 1 เล่ม เพราะอะไรน่ะหรอ ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกครับ รู้แค่ว่าผมควรทำมันเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวให้เป็นคนที่ดีกว่านี้ แต่พอผมได้ลองอ่านหลังสือไปหลายเล่มแล้ว ผมก็ค้นพบว่าความรู้ทุกอย่างนั้นมีจุดเชื่อมโยงถึงกันไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง และสิ่งที่ผมชอบที่สุดของการอ่านหนังสือเลยก็คือ ผมได้ใช้ความรู้เหล่านั้นในชีวิตจริงบ่อยมาก

เพื่อเพิ่มความเร็วในการอ่านของผม ผมจึงจำเป็นต้องลองหาวิธีต่างๆ และคอยฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นผมก็ไปเจอ Ted Talk อันนึงพูดถึงเรื่องนี้พอดี แต่หลังจากที่ผมลองพยายามฝึกใช้เทคนิดต่างๆแล้ว ผมก็ค้นพบว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย…

เนื่องจากผมตั้งเป้าไว้ว่าผมจะทำ Sprint ตลอด 1 ปี ผมจึงไม่สามารถเปลี่ยนหรือลดเป้าหมายของตัวเองได้ แต่ว่าถ้าทำไม่เสร็จนั้นก็เป็นอีกเรื่องใช่ไหมครับ ;) จริงๆมันก็เหมือน OKRs แหละครับ เราสามารถตั้งเป้าหมายให้เกินความสามารถได้ ถ้าใครไม่รู้จักก็ข้ามไปก่อนเนอะ บล็อคต่อไปผมอาจจะมาเล่าประสบการณ์การใช้ OKRs ก็เป็นได้

สรุปตอนนี้ผมสามารถทำความเร็วในการอ่านได้แค่ 1 สัปดาห์ต่อ 1 เล่มเท่านั้น โดยสามเดือนให้หลังมานี้ ผมสามารถอ่านหนังสือไปได้ 10 เล่มแล้วครับ ปรบมือ…

ถึงแม้ว่าปีนี้ผมจะเริ่มต้นช้าเกินไป และไม่สามารถทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จได้ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยตอนนี้ผมรู้แล้วว่าปีหน้าผมควรจะปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง

How to Read a Book a Day | Jordan Harry

Thinc.

ปีนี้ก็ย่างเข้าปีที่ 3 แล้วที่ผมได้เป็นส่วนหนึ่งของชมรมนี้ ซึ่งอยู่ดีไม่ว่าดี ปีนี้ผมก็รู้สึกอยากพัฒนาชมรมต่ออย่างไม่มีเหตุผล อาจจะเป็นเพราะว่ากำลังอินกับเรื่องการสร้าง Culture ในองกรค์และศาสตร์พวก Behavior Economics ก็เป็นได้ และหลังจากกลับมาจากการฝึกงานและโครงการ ChAMP แล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกอยากสร้างประโยชน์ให้กับชมรมมากขึ้นไปอีก

ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผมทำอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับชมรมโดยตรง แต่ผมก็ให้ความสนใจไปกับเรื่อง Technology และการสร้าง Team และ Culture เป็นอย่างมากในโปรเจคที่ผมทำกับชมรม

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ Thinc. ต้องเผชิญทุกปีก็คือการเปลี่ยนรุ่น ชมรมของเรามีคติและวิชั่นว่า “Thinc. Make Impact” เนื่องจากในปัจจุบันชมรมเราจะเปลี่ยนหัวหน้าชมรมทุกปีและคนที่เป็นก็คือปี 2 ซึ่งการที่จะทำให้สมาชิกรุ่นใหม่เข้าใจและตีความคำสามคำนี้ให้ตรงกันก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และข้อจำกัดนี้เองที่ทำให้ชมรม Thinc. ไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร เพราะในแต่ละปีเป้าหมายที่ถูกตีความออกมาก็จะแตกต่างกันออกไป ทำให้ชมรมก็จะถูกบริหารในแนวทางที่ต่างออกไปทุกปี

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดก็คือ การสร้าง Vivid Vision ให้กับชมรม ถึงแม้ว่าปีนี้อาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ตามประโยชน์ของมันก็สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆของชมรมที่ติดค้างมาหลายปีได้ เราสามารถส่งต่อเจตนารมณ์ของชมรมให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน

สิ่งหนึ่งที่อยู่เบี้องหลังความสำเร็จของหลายองกรณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆในอดีตก็คือ “ความเชื่อ” คนเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีกว่าหากมีเป้าหมายเดียวกัน ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าหากทุกคนในชมรมมีความเชื่อร่วมกัน และสามารถส่งต่อความเชื่อนี้ไปให้คนรุ่นต่อไปได้ สิ่งเหล่านี้จะสามารถปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆของการเป็นชมรม และสามารถทำให้ Vision ของเราสำเร็จได้อย่างแน่นอน

Thinc. Analog

อย่างที่หลายคนรู้กันว่าชมรม Thinc. เป็นผู้สร้างแอปพลิเคชัน Chula Popbus ซึ่งเป็นผลงานแรกสุดที่สามารถสร้าง Impact ให้กับมหาลัยได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามหลังจากผลงานชิ้นนั้น Thinc. ก็ไม่เคยสามารถสร้าง Impact ได้ใหญ่กว่าหรือเทียบเท่ากับมันอีกเลย

เพื่อสานต่อเจตนารมณ์แรกของชมรม ผมว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ผมกับรุ่นพี่ในชมรมจึงช่วยกันหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ข้อสรุปสุดท้ายว่า คนในชมรมตอนนี้นั้นมีแต่ Geek ทำให้ทีมขาดส่วนผสมหลายๆอย่างที่สามารถก่อให้เกิด Impact ได้ เราจึงสร้างทีม Analog ขึ้นมาเพื่อเติมเต็มส่วนที่หายไป

Thinc. Analog คือกลุ่มคนที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นมา โดยทำงานร่วมกับทีม Developer ของ Thinc.

สิ่งที่ผมได้ระหว่างการสร้างทีม Analog ขึ้นมาก็คือ การที่ผมได้รู้ว่าผมไม่รู้อะไรบ้าง ผมได้ขยายขอบเขตความรู้ในสายอาชีพของตัวเอง และผมก็จำเป็นที่จะต้องไปอ่านหนังสือเพิ่มเพื่อหาความรู้ด้านต่างๆเข้าตัวและนำมาประยุกต์ใช้กับทีม เช่น Bussiness, Management, Marketing, Design

ความจริงมันก็ดูไม่ค่อยมีอะไรใช่ไหมครับ กับแค่การอ่านหนังสือเอง ใครๆก็อ่านได้ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ผมได้นำความรู้เหล่านั้นมาใช้งานจริง ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และได้ใช้เวลาอยู่กับมัน ผมจึงสามารถเข้าใจถึงแก่นของแต่ละ Model และนำมันมาเป็นของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งผมคงไม่สามารถหาประสบการณ์แบบนี้ได้ที่ไหนอีกแล้วนอกจากชมรมนี้

พี่เล้ง(CEO MFEC) เคยบอกกับผมว่า

“ถ้าคุณฟังแล้วคุณจด ความรู้นั้นไม่ใช่ของคุณ เพราะถึงแม้คุณจะกลับไปอ่านมันคุณก็ลืมอีกอยู่ดี แต่ถ้าคุณฟังแล้วนำมันไปใช้ ความรู้เหล่านั้นจะกลายมาเป็นของคุณ และมันจะอยู่ติดตัวคุณไปตลอดชีวิต”

ถึงแม้ว่าคำพูดนี้อาจจะไม่ได้ถูกทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น เพราะแต่ละคนมีวีธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น เบโธเฟนมีวิธีในการเรียนรู้ด้วยการจดบันทึก เขากล่าวว่า “ถ้าผมไม่จดสิ่งที่ผมคิดลงในสมุด ผมจะลืมมันทันที แต่ถ้าผมจด ผมจะไม่มีทางลืมมัน แม้ว่าผมจะไม่เคยกลับไปเปิดอ่านอีกเลยก็ตาม”

ซึ่งถ้าลองย้อนกลับไปมองคำพูดด้านบนใหม่อีกครั้ง คำพูดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านประสบการณ์ทั้งชีวิตที่พี่เล้งเจอมา เขาพูดถึงคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆไม่ใช่อัจฉริยะอย่างเบโธเฟน ถ้าหากเราเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีวิธีการเรียนรู้แบบพิเศษ เราจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาตัวเอง? ลองไปคิดต่อดูนะครับ

Models

อีกหนึ่งอย่างที่ผมพบว่าเป็นปัญหาหลังจากมีเรามีความรู้เยอะแล้วก็คือ “ผมควรจะเชื่ออะไรบ้างละ?” เมื่อก่อนถ้าหากผมมีความรู้แค่นิดเดียว ผมก็คงจะเปรียบเทียบได้ไม่ยากใช่ไหมล่ะครับว่าอะไรดีกว่าอะไร แต่พอถึงจุดหนึ่งแล้ว ผมก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าผมควรจะเชื่ออะไรกันแน่ เพราะทุกคนก็จะบอกว่าของสิ่งที่เขาเชื่อนั้นดีที่สุด

ถึงแม้ว่าแต่ละ Model จะสามารถยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังได้ว่ามันดียังไง แต่สิ่งเหล่านั้นก็เป็นแค่ After-the-fact เขาอาจจะเติมแต่งสีสันเข้าไปแล้วพูดเพื่อเข้าข้างตัวเองก็ได้ แล้วทีนี้ผมจะเชื่อใครดีล่ะ ปัญหานี้ฉุดรั้งผมไว้ทำให้ไม่สามารถไปต่อได้ จนกระทั่งผมเจอคำพูดหนึ่ง

“All models are wrong, but some are useful” — George E. P. Box

แปลง่ายๆแบบที่ผมเข้าใจก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ว่าอะไรคือเรื่องจริง เราแค่ต้องรู้ว่าเราจะใช้มันได้อย่างไร “ทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก แต่บางอย่างนั้นมีประโยชน์” คงไม่เคยมีใครตั้งคำถามใช่ไหมละครับว่า 1+1=2 จริงรึเปล่า แต่ตราบใดที่โลกใบนี้ยังใช้เลขฐาน 10 อยู่ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน แค่รู้วิธีใช้มันก็พอถูกไหมครับ

Internship

ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่ CODIUM มาครับ ซึ่งผมก็ได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับ สิ่งที่ควรปรับปรุง และมุมมองของผมที่มีต่อการฝึกงานไปแล้ว ในบล็อคนี้

Developer Skills

หัวข้อนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะผมก็เดินทางสาย Developer มาสักพักใหญ่ๆแล้ว ถึงแม้ว่าในอนาคตยังไม่แน่ใจว่าจะทำงานด้านนี้รึปล่าวก็ตาม

ปีนี้เป็นปีที่ความสามารถด้าน Development ของผมนั้นพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาก ช่วงครึ่งปีแรกเป็นช่วงที่ผมพยายามหนักมากที่พัฒนา Hard Skill ของตัวเอง ถึงแม้ว่าผมจะเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่นในสายอาชีพเดียวกัน แต่ผมมีความเชื่อว่าถ้าผมไม่หยุดพักในวันหยุด เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลาสามปีผมจะสามารถไล่ตามคนอื่นได้หนึ่งปี แล้วถ้าผมทำแบบนี้ติดต่อไปได้เรื่อยๆ ซักวันหนึ่งผมก็จะสามารถแซงคนอื่นได้นั่นเองครับ

ถึงแม้ว่าความตั้งใจของผมจะเต็มร้อย แต่ผมก็ไม่สามารถหลีกหนีจากความจริงอันน่าเศร้าได้ ร่างกายของผมนั้นรับไม่ไหวครับ หลังจากที่ผมใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงระหว่างการฝึกงานจนท้อและเกือบจะหมดไฟในการเรียนรู้ไป ผมก็ตาสว่างและค้นพบสิ่งที่สำคัญกว่า Hard Skill เข้า

ในระหว่างที่ความเหนื่อยล้าและความท้อแท้กำลังกัดกินจิตใจผม ผมได้เรียนรู้และยอมรับความจริงที่ว่า Hard Skill นั้นถ้าหากเราไม่ได้ใช้มันอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะสูญหายไปตามกาลเวลาอยู่ดี ยิ่งถ้าเป็นความรู้ในวงการ Developer แล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าความรู้เหล่าจะ Outdated ได้ง่ายและเร็วมากจนบางทีก็ตั้งตัวไม่ทัน และอาจจะเกิดอาการ Burnout ได้เลยทีเดียว

โชคดีที่ผมหยุดคิดและยังไหวตัวทัน แทนที่จะฟาร์มความรู้ Hard Skill เข้าตัวอย่างเยอะๆ ช่วงครึ่งปีหลังผมจึงตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออก และเน้นไปพัฒนาตัวเองทางด้าน Soft Skill เป็นหลักแทน รวมทั้งผมยังมีโอกาสได้ทำโปรเจคในตำแหน่ง Project Manager และร่วมสร้างทีม Analog กับชมรม Thinc. อีก ทำให้ความสามารถด้าน Soft Skill ของผมก็ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดไม่แพ้กัน แต่ผมก็ไม่ได้ทิ้งความรู้ด้าน Hard Skill ไปไหนนะครับ ผมยังคงหมั่นลับมีดของผมให้คมอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในหมวดนี้ก็คือการได้เรียนรู้วิธีหาสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิต หรือ Worklife balance ของตัวเอง และการได้ออกจาก Safe-zone เพื่อลองทำอะไรใหม่อย่าง เช่น การพัฒนาทักษะการพูด และการเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งปกติแล้วมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับ Introvert อย่างผมนั่นเอง

What could be improved

หัวข้อนี้ค่อนข้างยากเพราะช่วงเวลา 1 ปีก็เป็นเวลาที่นานมาก ผมคงต้องใช้เวลาในการตกผลึกความคิดและอยู่กับตัวเองอีกสักพัก ถึงจะมองเห็นข้อผิดพลาดทั้งหมดของผมตลอดทั้งปี ดั้งนั้นผมจึงจะเขาเล่าแค่เหตุการณ์สำคัญๆก่อนนะครับ

Internship Measurement

ผมต้องยอมรับผมทำได้ไม่ดีนักในการฝึกงานที่ผ่านมา และรู้สึกผิดหวังในตัวเองเป็นอย่างมาก เนื่องจากผมยังต้องฝึกงานอีกครั้งในปีหน้า ผมจึงจะใช้โอกาสนี้เพื่อปรับปรุงแก้ไขสิ่งเหล่านั้นให้ดีขึ้น

ช่วงนี้ผมกำลังสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการวัดผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน องค์กร ความรู้ หรือแม้แต่การฝึกงาน ผมจึงกำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการวัดผลแบบต่างๆ และนำมาประยุกต์กับการฝึกงาน เพื่อที่จะทำให้การฝึกงานครั้งต่อไปของผมได้ประโยชน์มากที่สุด

ผมคงจะไม่อธิบายมากเกี่ยวกับการวัดผล สำหรับหากใครสนใจหรือสงสัยว่าทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับมันนัก ผมแนะนำ Nopadol Story Podcast และหนังสือ พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs ลองไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้นะครับ

สรุปแบบเข้าใจง่ายเลยก็คือ การวัดผลเป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้เราเกิด Self-awareness ได้อย่างดี สำหรับคนที่รู้จัก OKRs อยู่แล้ว มันก็คือเหตุผลเดียวกันกับที่ว่าทำไมเราต้องให้กับคนในองค์กรทำ Individual OKRs ด้วยนั้นแหละครับ

Young Web Master Camp 16

แอบเสียดายที่ปีนี้ผมไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมค่ายนี้ ค่ายนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผมรู้สึกเสียดายมากในปีนี้ ทั้งๆที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะต้องเข้าค่ายนี้ให้ได้ แต่ดันติดเรื่องเวลากับโครงการ ChAMP เลยไม่สามารถไปสัมภาษณ์ได้

ถึงแม้ว่าผมจะเสียดายที่ไม่ได้เข้าร่วม YWC16 แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจนั้นก็ไม่ทำให้ผมรู้สึกเสียใจเลยแม่แต่น้อย เพราะโครงการ ChAMP มันคุ้มค่ามากจริงๆ

ไม่เป็นไรครับ ไว้ปีหน้าผมจะลองสมัครใหม่อีกครั้ง และผมก็จะจัดตารางเวลาให้ดีกว่านี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ไปเข้าค่ายจริง ฮ่าๆๆ อีก 1 ปีเจอกันนะ

What will I commit to improve next year

ปีนี้ผมรู้สึกว่าชีวิตตัวเองค่อนข้างยุ่งเหยิง และไม่เป็นระเบียบเป็นอย่างมาก ผมจึงต้องหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วน

Meditation

หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาชีวิตอันยุ่งเหยิงของผมก็คือการนั่งสมาธิครับ อาจจะดูไม่ค่อยเข้ากับบุคคลิกของผมสักเท่าไหร่ ฮ่าๆๆ แต่ก็อย่างที่บอกนั้นแหละครับ ผมไม่ค่อยเล่าเรื่องของตัวเองให้ใครฟัง

ปีที่ผ่านมาผมได้ลองนั่งสมาธิวันละ 15 นาที ซึ่งบางวันผมก็ทำได้ดี บางวันก็ไม่ค่อยดี ถึงผมจะไม่ค่อยอยากเชื่อก็เถอะ แต่ยังไงก็ต้องยอมรับว่ามันช่วยได้จริง หลังจากผมได้ลองนั่งสมาธิทุกวันติดต่อกัน 1 อาทิตย์​ ผมก็รู้สึกว่าผมสามารถจัดการกับความวุ่นวายทั้งหลายที่อยู่ในหัวได้ดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ

เนื่องจากผมจะนั่งสมาธิแค่ในห้องตัวเองเท่านั้น จะให้ไปนั่งที่มหาลัยมันก็จะแอบเขินหน่อยๆ แต่ว่าพักหลังมานี้ ผมทำงานค่อนข้างหนักจนบางวันกลับมาถึงบ้านก็ปิดไฟนอนเลย จึงทำให้ผมไม่ค่อยมีเวลาได้นั่งสมาธิสักเท่าไหร่ แต่ยังไงก็ตามปีใหม่นี้ผมจะต้องนั่งสมาธิทุกวันให้ได้ครับ

Marathon

ผมจะวิ่งมาราธอนครับ แปลกอีกแล้วใช่ไหมละ ทำไมผมถึงอยากวิ่งมาราธอนน่ะหรอ ผมลองมาคิดดู จริงๆแล้วหุ่นผมก็เหมือนพี่ตูนอยู่นะ ทำไมผมจะวิ่งแบบพี่ตูนไม่ได้ล่ะ หลอกเล่นนะครับ ฮ่าๆๆๆ

ผมได้แรงบันดาลใจมากจากหนังสือ What I Talk When I Talk About Running ของคุณ Haruki Murakami

“First there came the action of running, and accompanying it there was this entity known as me. I run; therefore I am.” – Haruki Murakami

อ่านแล้วน้ำตาไหลเลยครับ แปลไม่ออก เอ้า จางไปอีก ฮ่าๆๆ

รวมทั้งผมยังได้ฟังความเห็นจากหลายๆคนที่สามารถวิ่ง Full-marathon จนจบได้ เช่น คุณแท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ

สรุปเลยก็คือ ทุกกคนที่วิ่งมาราธอนจะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าระหว่างที่วิ่งมาราธอนนั้น เราจะพบกับช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง และค้นพบควาหมายที่แท้ของชีวิตเขา ซึ่งผมอยากลองเจอประสบการณ์ตรงแบบนั้นดูบ้าง เผื่อว่าผมจะค้นพบมุมมองในการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ และนำมันมาใช้สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเองได้

Data Scientist

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมไม่ประสบความสำเร็จมากๆเลยก็คือ “การค้นหาตัวเอง” จนกระทั่งตอนนี้ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชอบอะไรกันแน่

ผมคิดว่าถ้าผมค้นหาตัวผมให้พบได้เร็วที่สุด ผมจะสามารถดึงศักยภาพทั้งหมดของตัวเองและทุ่มเทให้กับสิ่งนั้นเพียงแค่สิ่งเดียว

ในปีนี้ผมจึงจะลองศึกษาเกี่ยวกับ Data Science เพื่อดูว่าตัวเองจะชอบทำงานด้านนี้รึเปล่า และถ้าชอบผมจะสามารถพามันไปได้ไกลแค่ไหนกันแน่?

A Day A Podcast/TedxTalk

ถ้าลองสังเกตุดู ทุกคนจะเห็นว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่ Motivate ผมนั้นมาจาก Podcast TedxTalk และหนังสือเป็นหลัก ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่สามารถอ่านหนังสือวันละหนึ่งเล่มได้ในเร็วๆนี้ แต่อย่างน้อยผมก็จะฟัง Podcast หรือ TedxTalk อย่างน้อยวันละ 1 เรื่องให้ได้ แค่นี้แหละ

Table of Contents

สำหรับคนที่อ่านหนังสือเยอะก็คงจะเคยเจอปัญหาหนึ่งก็คือ “ลืม” ผมก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่เหมือนกันครับ ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงดี หรือว่ามันเป็นความจริงที่นักอ่านทุกคนต้องยอมรับมันกันแน่

ระหว่างที่ผมได้แต่ทำใจยอมรับกับความจริงนี้ ผมบังเอิญได้ฟังความเห็นจากนักอ่านคนหนึ่ง และเขาก็คือ คุณแท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าเก่าเจ้าเดิมนั่นเอง

ผมชอบวิธีคิดของเขามาก เขาเลือกที่จะยอมรับความจริงว่ายังไงเราก็ต้องลืมอยู่แล้ว แต่เขากลับไม่ยอมให้ความรู้เหล่านั้นหายไปอย่างเสียเปล่า ทุกครั้งที่เขาอ่านหนังสือจบหนึ่งเล่มเขาจะจดบันทึกว่า หนังสือเล่มนี้ให้อะไรกับเขาบ้าง และถ้าวันหนึ่งเขาต้องการหาคำตอบเรื่องใดก็ตาม เขาจะสามารถรู้ได้ทันที่ว่าเขาจะกลับมาหามันได้จากหนังสือเล่มไหนหน้าอะไร

OKR: Objectives and Key Results

นอกจากเรื่องของการวัดผลการฝึกงานที่ผมได้พูดไปข้างต้นแล้ว ผมยังมีแผนที่จะนำ OKRs มาใช้ในการตั้งเป้าหมายในชีวิตประจำวันของผมด้วย

ในโครงการ ChAMP ผมได้มีโอกาสทำ IDP หรือ Individual Development Plan ซึ่งหลักการของมันก็คล้ายกับ OKRs แหละ แค่มันจะโฟกัสไปที่การพัฒนาตัวเองมากกว่าการทำให้ Vision ของเราสำเร็จ

Vivid Vision

ก่อนที่ผมจะสร้าง OKRs ของตัวเอง ผมก็ต้องมี Vision ที่ชัดเจนให้กับตัวเองซะก่อน

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ทางชมรม Thinc. ได้มีการทำ Vivid Vision เพื่อกำหนดแนวทางของชมรมให้ชัดเจน และสามารถส่งต่อเจตนารมณ์เหล่านั้นให้กับรุ่นน้องได้อย่างครบถ้วน และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ผมจึงอยากนำ Framework นี้มาประยุกต์ใช้กับชีวิตผมบ้าง ถ้าหากผมมองตัวเองไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ผมอยากเห็นตัวเองเป็นอย่างไร และสามารถเขียนมันออกมาเป็นตัวอักษรได้ เผื่อวันหนึ่งผมจะสามารถถ่ายทอดความฝันอันยิ่งใหญ่ให้คนอื่นฟังได้ง่ายมากขึ้น

Quote of The Year

สุดท้ายนี้ผมขอจบปี 2018 ของผมด้วยคำพูดที่ผมชอบมากที่สุดในปีนี้

“Remember, today is the tomorrow you worried about yesterday” — Dale Carnegie

</2018>

<2019>

สวัสดีปีใหม่ ขอให้พลังจงสถิตอยู่กับท่าน…

--

--

Jakpat Mingmongkolmitr

A full-time learner, part-time developer and sometime writer.