การศึกษาและเงื่อนไข

สิ่งที่คุณต้องยอมรับหากอยากเรียนในระบบ

Jakpat Mingmongkolmitr
3 min readMay 15, 2020
Photo by David Garcia on Facebook

Hello World!

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ฟาร์ ชื่อจริง “จักภัท มิ่งมงคลมิตร” พึ่งจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาค ICE ครับ

Getting Started

หลังหลุดพ้นจากข้อผูกมัดทางการศึกษาในระบบมาได้ ก็ถึงเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เรามีอิสระในการเลือกอย่างสมบูรณ์ แต่ก่อนที่จะจากกันไกล ไหน ๆ ก็อยู่ด้วยกันมาร่วมปีที่ 19 ละ ผมขอจดบันทึกทิ้งท้ายบอกลาการศึกษาในระบบสักหน่อย จะได้ไม่คิดถึงกันเนอะ

Disclaimer

ผมไม่รู้นะครับว่าคณะหรือสาขาวิชาอื่น ๆ เป็นอย่างไร และผมก็ไม่สนใจด้วย ผมอยากสื่อสารมุมมองที่ผมมีต่อระบบการศึกษาไทยผ่านประสบการณ์ตรงของผม ถ้าผมไปตรวจสอบความถูกต้องกับคนอื่น บล็อกของผมก็คงไม่มีความหมายถูกไหมละครับ เพราะมันจะกลายเป็นบล็อกของทุกคนแทน

ขอย้ำอีกครั้งนะครับ คุณกำลังอ่านบล็อกของ จักภัท มิ่งมงคลมิตร กล่าวคือ สิ่งที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปเป็นความคิดความอ่านของผม

ผมอยากเตือนว่าเนื้อหาในบล็อกนี้มีความรุนแรงทางความคิด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และไม่ตัดสินความคิดเห็นผู้อื่นนะครับ แต่ถ้าหากคุณพร้อมเปิดใจ และนำไปเปรียบเทียบกับมุมมองแนวคิดของคุณเอง ผมรับประกันว่า คุณจะได้ประโยชน์แน่นอนครับ

เงื่อนไขที่ 1: ความพยายามที่ไม่จำเป็น

คงไม่มีอะไรในโลกที่ได้มาง่าย ๆ โดยไม่ใช้ความพยายามถูกไหมครับ ว่าแต่ความพยายามคืออะไรละ?

Attempt (v.) : make an effort to achieve or complete (something, typically a difficult task or action).

ความตั้งใจ

ผมคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า ถ้าผมตั้งใจเรียนผมจะสามารถทำ GPAX 4.00 ได้เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าผมจะเคยได้ GPA 4.00 เทอมหนึ่งก็ตาม แต่ผมก็ไม่เคยตั้งใจเรียนเลย ผมได้ 4.00 เพียงเพราะวิชาเหล่านั้นมันเรียนสนุกกว่าเทอมอื่นก็เท่านั้น

ทำไมผมถึงไม่ตั้งใจเรียนละ? ไม่สิ ถ้าจะให้ถูกควรจะถามว่า ทำไมผมถึงไม่สามารถตั้งใจเรียนได้ละ? ผมเองก็ตอบไม่ได้ครับ อย่างไรก็ตาม หนึ่งความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือระบบการศึกษาของไทยนั้นไม่ได้ดีเลิศเมื่อเทียบกับระบบอื่น ๆ และก็คงมีเป็นร้อยเหตุผลที่คุณสามารถนึกออก ถ้าถามว่าการศึกษาบ้านเรามันห่วยยังไง ผมไม่ได้อยากมาเถียงเรื่องนี้หรอกนะครับ แต่เอ๊ะ ทำไมคนเราถึงอยากไปเรียนต่อต่างประเทศกันหว่า สงสัยเพราะอากาศเมืองไทยมันร้อนเกินไปแหละครับ

แต่เนื่องจากเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้ ทำไมเราไม่ลองหันมามองที่ตัวเองดูละครับ บางทีปัญหามันอาจจะมาจากตัวเราเอง หรือบางทีเราอาจจะโง่เกินไปจนต้องใช้ความพยายามในการศึกษาหาความรู้…

(ถึงแม้จะเปลี่ยนได้จริง ก็คงไม่ทันใช้การก่อนเราเรียนจบหรอกครับ ฮ่า ๆๆ)

พยายามอย่างไม่ตั้งใจ

ถึงแม้ว่าผมจะไม่ตั้งใจเรียน แต่ผมก็มีความพยายามในการเรียน เรื่องนี้คงสะท้อนอยู่ในแล้วตัวเลขที่ประทับอยู่บนรายงานผลการศึกษา ผมมองว่าการศึกษาตามระบบเป็นหน้าที่ครับ เป็นหนึ่งสิ่งที่ผมต้องทำเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าผมพร้อมและมีความรับผิดชอบมากพอสำหรับโลกความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ “ความรู้” ตลอดระยะเวลา 4 ปีในมหาลัย ผมได้ความรู้มากมายจากการท่องจำและสอบ ถึงแม้ว่าวิธีการที่ทำให้ได้ความรู้มาจะไม่ค่อยน่าสันทัดเท่าไหร่ แต่สำหรับเด็กเนิร์ด การได้ครอบครองความรู้เหล่านั้นก็ทำให้ผมมีความสุขมาก และอยากจะเก็บรักษามันไว้ให้นานเท่าที่นานได้

เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความรู้ และใช้เวลาน้อยให้ที่สุด ผมจึงจำต้องใช้ความพยายามเข้าสู้ ถึงผมจะใช้เวลาอ่านหนังสือ แค่ประมาณ 2 วันต่อวิชาในการสอบแต่ละครั้ง แต่ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า ผมทำหน้าที่นี้อย่างสุดความสามารถ หลายครั้งที่ผมสามารถสอบได้ท็อปในวิชาที่ผมชอบ ด้วยการอ่านแค่ครึ่งวัน (แบบ literally เพราะผมเริ่มอ่านตอนเที่ยงคืน นอน 2 ชม. และไปสอบในตอนบ่าย)

ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน ถ้าหากคุณรู้สึกว่าพยายามแทบตาย แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาดีเท่าที่หวัง และกำลังดูถูกตัวเอง อย่าพึ่งด่วนสรุปผมนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วความพยายามอย่างไม่ตั้งใจของผมอาจจะมากกว่าความพยายามที่คุณใส่ลงไปก็ได้ หรือบางทีคุณแค่อาจจะไม่เหมาะกับการศึกษาในระบบ คุณอาจจะไม่เหมาะกับการเป็นผู้ตามในด้านการเรียน แต่คุณอาจจะเป็นผู้นำในด้านการลงมือทำ เพียงแค่คุณยังไม่รู้ตัว เพราะเงื่อนไขของระบบได้ปิดกั้นคุณเอาไว้ ซึ่งถ้าเป็นแบบหลัง เด็กเนิร์ดอย่างผมจะอิจฉาคุณมาก ๆ เลยละครับ

ความพยายามที่ไม่จำเป็น

สาเหตุที่ผมอยากอ่านหนังสือสอบให้ใช้เวลาน้อยที่สุด ก็เพราะผมรู้ตัวดีว่า ผมทำมันได้ไม่ดีครับ 1. ผมไม่สนใจเนื้อหาเหล่านี้ ในทางกลับกัน ถ้าเป็นวิชาที่ผมชอบ ผมจะอ่านมันเยอะมาก ๆ เพียงเพราะว่าอยากรู้ให้มากขึ้น 2. การอ่านหรือการฟังไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะกับผม ผมรู้ตัวดีว่าผมไม่ถนัดการอ่านหนังสือเพื่อสอบ ผมรู้ว่าถึงอ่านเยอะแค่ไหนสอบเสร็จสักพักผมก็ลืม งั้นทำไมผมไม่ลอง Optimize มันดูละ ผมจึงเริ่มทดลองใช้เวลาอ่านหนังสือให้น้อยลงแต่ใส่ความพยายามมากขึ้น เพื่อจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ให้ประโยชน์มากกว่า

นับเป็นโชคดีของผมที่เรียนจบมาได้ โดยเกรดเฉลี่ยไม่น่าเกลียด แต่ก็ไม่ได้ดีอะไร เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จหรือโชคดีแบบผม ซึ่งสาเหตุที่การศึกษาของเราแย่นั้น ก็ไม่ได้มาจากไหนไกล มันมาจากตัวเราเองครับ แต่ไม่ได้แปลว่าเราโง่นะครับ เพียงแต่เราทุกคนนั้นล้วนมีวิธีการเรียนรู้ที่ต่างกัน ฟังพูดอ่านเขียน การดู การลอกเลียนแบบ การฝึกฝน การลงมือทำ สุดแล้วแต่คนถนัด หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมเองก็อาจจะมีผลเช่นกัน เช่น บางคนไม่สามารถเรียนรู้ได้ดีภายใต้แรงกดดันหรือเวลาที่จำกัด คุ้น ๆ ไหมละครับ การสอบยังไงละ! แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับถูกบังคับให้ทุ่มเทเวลาและความพยายามทั้งหมดไปกับวิธีการที่ระบบเลือกมาให้ คุณคิดว่ามันถูกต้องสมควรไหมละครับ

อย่างตัวผมเอง ผมก็ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการทำงานและทำกิจกรรมนอกหลักสูตร ผมจึงรู้ตัวว่าผมจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่าน การพูด การสอน และ Reflection หรืออะไรก็ตามที่มีคู่สนทนา และผมเองคงไม่มีโอกาสได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ถ้าหากผมเชื่อฟังระบบ และไม่ทุ่มเทความพยายามเพื่อที่จะได้เรียนให้น้อยลง ฟังดูขัดแย่งใช่ไหมครับ และนี่ก็คือเงื่อนไขที่หนึ่ง “ความพยายามที่ไม่จำเป็น”

ปล. ผมขอไม่บอกเกรดของผมนะครับ เพราะในแต่ละคณะหรือแต่ละรุ่น ก็จะมีมาตรฐานที่ต่างออกไปตามหลักสูตร

เงื่อนไขที่ 2: ความเป็นเลิศในทุกสิ่งที่ทำ

ผมเคยพูดถึงบทนี้ไปแล้วในบล็อก “ความหมายของชีวิต 2019”

ดั้งนั้นผมจะขอใช้สกิลอันแสนภาคภูมิใจที่ผมได้รับมาการศึกษา “Plagiarism” หรือการก็อปแปะนั่นเอง

กฎการยกกำลัง

ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำกล่าวว่า

“ผู้ที่มีอยู่แล้วจะมีมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่ไม่มีนั้นแม้แต่สิ่งที่มีอยู่ก็จะถูกพรากไป”

อัลเบิร์ตไอน์สไตน์เองก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ดอกเบี้ยทบต้นเป็น “สิ่งมหัศจรย์ลำดับที่แปดของโลก” หรือ “การค้นพบทางคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไอน์สไตน์พูดแบบนั้นจริง และดอกเบี้ยทบต้นก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ เราไม่ควรประมาทพลังของการเติบโตแบบทวีคูณ “กฎการยกกำลัง” หรือ “Power Law” นั่นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้วการลงทุนแบบวิธีหว่านแหและรอลุ้น มักจะล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องจากผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนนั้นไม่ได้เป็นไปตามกฎการแจกแจงแบบปกติ แต่เป็นไปตามกฎการยกกำลังมากกว่า หลังจาก Facebook ซื้อกิจการของ Instagram ไปในปี 2010 บริษัท แอนดรีเซน โฮโรวิตซ์ ได้กำไร 78 ล้านดอลลาร์ จากเงินลงทุนเพียง 250,000 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากแอนดรีแซนเลือกลงทุน 250,000 กับทุกบริษัท พวกเขาต้องเจอบริษัทอย่าง Instagram มากถึง 19 แห่ง ถึงจะสามารถทำให้มูลค่าบริษัทสูงเท่าปัจจุบันได้

นักลงทุน

กฎการยกกำลังไม่ได้มีความสำคัญต่อการร่วมลงทุนในเชิงธุรกิจเท่านั้น เพราะพวกเราทุกคนล้วนเป็นนักลงทุนเช่นกัน เมื่อเราเลือกอาชีพ ก็เท่ากับว่าเราเชื่อว่างานนั้นจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าไปอีกหลายสิบปี

“อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”

เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เราทุกคนถูกสอนให้กระจายความเสี่ยง แม้แต่นักลงทุนที่เก่งกาจก็ยังกระจายการลงทุนให้อยู่กับหลายบริษัก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากคุณเป็นนักลงทุนที่เข้าใจกฎการยกกำลัง คุณก็จะพยายามลงทุนกับบริษัทให้น้อยที่สุดเท่าที่จะป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ใช่พอร์ตการลงทุน เราไม่สามารถกระจายความเสี่ยงให้กับชีวิต โดยการทำงานหลายสิบอาชีพพร้อมกันได้

แต่ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาของเรากลับสอนไปในทิศทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยทุกแห่งเชื่อในเรื่องของ “ความเป็นเลิศ” ในทุกสิ่งที่ทำ และคู่มือหลักสูตรหนาหลายร้อยหน้าที่สามารถทำให้คุณคอหักได้โดยการขว้างเพียงครั้งเดียว ก็ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อตอกย้ำว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำอะไร ตราบใดที่คุณทำสิ่งนั้นได้ดี” แต่น่าเสียดายที่นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์อย่างไม่น่าให้อภัย จริงอยู่ที่คุณควรจะจดจ่อกับสิ่งที่คุณทำให้ดีที่สุด แต่โลกนี้โหดร้ายกว่าที่คุณคิด ดั้งนั้นก่อนที่คุณจะทุ่มเทให้กับสิ่งใด จงคำนึงถึงกฎแห่งการยกกำลังอยู่เสมอ และคิดให้หนักว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่ากับคุณในอนาคตหรือไม่

“ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำอะไร ตราบใดที่คุณทำสิ่งนั้นได้ดี” — การศึกษา

เฉลี่ยเกรด

ถ้าแม้ว่าผมจะไม่มีเกรดเฉลี่ย 4.00 เป็นอาวุธให้พ่อแม่ใช้ตอกหน้าป้าข้างบ้านในเซสชั่นอวดลูกหลานประจำปี แต่อย่างน้อยผมก็ได้เรียนรู้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้จากแฟนของผม ผู้เป็นเลิศทางการศึกษา

ผมเริ่มรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกับเกรดของผมครั้งแรก เมื่อผมมีโอกาสไปเดินงาน OCSC International Education EXPO 2019 ร่วมกับผู้เป็นเลิศทางการศึกษาที่ได้เกรดเฉลี่ยสะสม 4.00 ผมเองก็ไม่อยากลงลึกในประสบการณ์ครั้งนี้ เอาเป็นว่า ผมกลายเป็นเด็กด้อยโอกาสทันทีเมื่อมีคนเฉลี่ยเกรดของผมและผู้เป็นเลิศ ผมไม่ได้หมายถึงโอกาสจริงในการเรียนต่อนะครับ แต่ถ้าหากคุณลองจินตนาการว่า มีนักเรียน 2 สนใจที่จะเข้ามหาลัยที่คุณดูแล และหนึ่งในนั้นได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง แน่นอนว่าเขาคงดึงดูดความสนใจของคุณได้ไม่น้อย ถูกไหมละครับ

ความเป็นเลิศในทุกสิ่งที่การศึกษาเชิดชู ทำให้เกิดเงื่อนไขที่สอง ซึ่งก็คือการ “เฉลี่ย” เนื่องจากการเฉลี่ยนั้นเป็นวิธีที่เที่ยงตรงที่สุดที่จะบอกว่าคุณเป็นเลิศในทุกด้าน และการเฉลี่ยแรกที่เราในฐานะนักเรียนต้องฟันฝ่าก็คือการ “เฉลี่ยเกรด” เราถูกเปรียบเทียบ ถูกตัดสิน ถูกเหยียบย้ำ เพียงเพราะแค่เราไม่สามารถเป็นเลิศในทุกสิ่งได้ และผมไม่ถูกใจสิ่งนี้

ผมมีเพื่อนจำนวนไม่น้อยที่พลาดโอกาสมากมาย เพียงเพราะเหงือออกที่มือง่ายและวาดเส้นตรงไม่ตรง ทำให้ได้ B วิชาวาดรูปตั้งแต่เข้ามหาลัยปีแรก หรือแย่กว่านั้นถ้าหากไม่ใช้ความพยายามเข้าช่วย เมื่อถูกเฉลี่ย บุคคลเหล่านี้จะถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเขาจะได้ท็อปวิชาฟิสิกส์และเคมีก็ตามที ในทางตรงกันข้าม คนที่มีพรสวรรค์ก็สามารถเก็บ A ได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องอาศัยความพยายามที่ไม่จำเป็นมากเกินไป นับเป็นเรื่องโชคดีสำหรับผมที่ค้นพบความสนุกของวิชานี้ และสามารถเปลี่ยนความพยายามให้กลายเป็นความบันเทิงได้ โดยการโหลดเกม iSometric มาแข่งกับเพื่อนว่าใครจะสามารถแก้โจทย์ได้มากกว่ากันหรือทำเวลาได้เร็วที่สุด จนสุดท้ายผมก็สามารถคว้า A มาครอบครองได้อย่างภาคภูมิใจ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือเงื่อนไขนี้จะติดตัวคุณไปจนวันตายไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อคุณเรียนจบ บริษัทจะเฉลี่ยความสามารถคุณเพื่อหาคนที่ใกล้เคียงกับความเป็นเลิศมากที่สุด เมื่อคุณมีความรัก ผู้ใหญ่จะเฉลี่ยรายได้คุณเพื่อประเมินว่าคุณดูแลลูกสาวเขาได้หรือไม่ และเมื่อคุณมีครอบครัว ลูกของคุณก็ไม่วายที่จะเฉลี่ยคุณและน้อยอกน้อยใจว่าทำไมตนไม่มีดั่งคนอื่นเขา

และถึงแม้ว่า คุณจะรู้จักกฎการยกกำลัง แต่การศึกษากลับเป็นโครงสร้างที่คอยฉุดรั้งคุณเอาไว้ในวังวงของความเป็นเลิศ บางทีนี้อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ถึงเรียนไม่จบกัน และนี่ก็คือเงื่อนไขที่สอง “ความเป็นเลิศในทุกสิ่งที่ทำ”

(มุกนะครับ เผื่อคนไม่เก็ท มันมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จหรือลาออกจากมหาลัย)

เงื่อนไขที่ 3: ผัดวันประกันพรุ่ง

อีกหนึ่งเงือนไขที่เกิดขึ้น ระหว่างชีวิตมหาลัยคือ “ไว้ค่อยละกัน รอสอบเสร็จก่อน” นี่คือเงื่อนไขที่ทำให้ผมเสียใจที่สุดในชีวิต และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเกลียดการศึกษาในระบบเข้าเส้น

ผมเป็นหนึ่งในผลผลิตที่ประสบความสำเร็จของการศึกษา เพราะเมื่อถึงยามคับขัน ผมมักเลือกหน้าที่ก่อนความชอบเสมอ หลายคนอาจสามารถปล่อยวางเรื่องการสอบได้ แต่น่าเสียดายที่ผมไม่ใช่หนึ่งในนั้น และถึงแม้ว่าผมจะพยายามใช้เวลาอ่านหนังสือให้น้อยเพียงไหน ผมก็ต้องสละเวลาจากสิ่งที่ผมชอบ อย่างน้อยที่สุด 1 สัปดาห์อยู่ดี

คุณอาจจะคิดว่าแค่อดดูซีรี่ย์ 1 สัปดาห์ ความอดทนผมต่ำเกินไปรึเปล่า ก็อาจจะจริงครับ แต่ผมอยากให้คุณลองคิดตามผมดู สมมุติว่าผมจำเป็นต้องเรียนคอร์สออนไลน์หาความรู้เพิ่ม เนื่องจากสาขาที่ผมเรียนไม่ได้สอนสิ่งที่จับต้องได้มากพอสำหรับการทำงานเป็น Software Developer เช่น การเขียนเว็ป ฯลฯ ซึ่งในสายอาชีพของผม สิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับการหางานหรือเรียกค่าตัวเพิ่ม มากกว่าเกรดหรือความรู้ตามหลักสูตรซะอีก เพราะสองอย่างหลังแค่มีให้เกินมาตรฐานก็เพียงพอแล้ว ดั้งนั้นผมขอเอาเวลา 1 สัปดาห์ไปนอนดูซีรีย์ให้หนำใจ แล้วรีบกลับไปเรียนคอร์สออนไลน์ต่อดีกว่าครับ

หลายครั้งที่ผมพลาดโอกาสการเรียนรู้ดี ๆ ไป เพียงเพราะการผัดวันประกันพรุ่งเพื่อทำหน้าที่ในฐานะนักศึกษา ซึ่งก็คือ การสอบเพื่อความเป็นเลิศโดยใช้ความพยายามที่ไม่จำเป็น แม้ว่าในบางกรณี มันจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา และนี่ก็คือเงื่อนไขที่สาม “ผัดวันประกันพรุ่ง”

ของขวัญจบการศึกษา

ในช่วงเวลาสุดท้ายของการเรียนมหาลัย ระหว่างที่ผมกำลังอ่านหนังสือเพื่อสอบวิชาท้ายสุด ผมบังเอิญนึกถึงทฤษฎีหนึ่งที่เคยอ่านเจอในหนังสือนอกเวลา เพราะว่ามันมีส่วนเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ผมกำลังเตรียมสอบ ซึ่งผมพบว่ามันน่าสนใจมาก เพียงแต่ผมจำทฤษฎีนั้นไม่ได้ 100% ด้วยสายเลือดเด็กเนิร์ดที่ไหลเวียนอยู่ในตัว ผมจึงจำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้เดี๋ยวนั้น แต่โชคชะตากลับไม่เข้าข้างผม เพราะเหลือเวลาอีกแค่เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น ก่อนที่การสอบปลายภาคออนไลน์ครั้งสุดท้ายในชีวิตผมจะเริ่มขึ้น ผมจึงชั่งน้ำหนักเหตุผลต่าง ๆ เพื่อหาตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่มีเหตุผลไหนเลยที่หนักแน่นพอที่จะอนุญาติให้ผมเลิกเตรียมสอบ และหยิบ Kindle Oasis อาวุธคู่กายขึ้นมาอ่านหนังสือเล่มเก่าเล่มนั้น ซึ่งถ้าเป็นตัวผมในอดีตผมคงเลือกหน้าที่ไปแล้ว แต่ครั้งนี้กลับต่างออกไป อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่มีเพื่อนยืนอ่านหนังสือหน้าห้องสอบอย่างขะมักเขม้น เพื่อตอกย้ำผมว่าหน้าที่ของนิสิตที่ดีคืออะไร ไม่นานภาพความทรงจำเก่า ๆ ในเหตุการณ์เดียวกันก็เริ่มผุดขึ้นมาในหัวของผม เปิดโอกาสให้ผมได้ทบทวนตัวเองเกี่ยวกับเงื่อนไขของการศึกษา กว่าจะมาถึงตอนนี้ การสอบครั้งสุดท้าย ผมต้องเสียสละและผูกมัดกับเงื่อนไขอะไรมาบ้าง ท้ายที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจทิ้ง Kindle หันกลับมาหยิบ Macbook Pro 15-inch ตัวโปรดและบรรจงเขียนบล็อก “การศึกษาและเงื่อนไข” บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เพื่อน ๆ อ่านกัน หวังว่าจะชอบนะครับ ขอบคุณครับ

ข้อความถึงการศึกษา

เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมและได้ประโยชน์จากการศึกษาสูงที่สุด การศึกษาที่ดีไม่ควรมีเงื่อนไขเหล่านี้ นี่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ถูกมองข้าม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกจนไม่มีใครกล้าแตะ และผลักภาระให้นักศึกษาเป็นคนหาทางแก้ไขเอาเอง

ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและเล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ ในฐานะเด็กเนิร์ดคนหนึ่งที่รักการเรียนรู้ เมื่อมีโอกาส ผมสัญญาว่าจะช่วยเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง และเป็นกำลังสำคัญให้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างแน่นอน

ผมขอฝากไว้เท่านี้ครับ ขอบคุณครับ

--

--

Jakpat Mingmongkolmitr

A full-time learner, part-time developer and sometime writer.