How will you measure the Internship?

คุณจะวัดผลการฝึกงานอย่างไร?

Jakpat Mingmongkolmitr
6 min readJul 9, 2019
Photo by Tyler Nix on Unsplash

Hello World!

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ฟาร์ (ชื่อจริงก็อยู่ข้างบนเนอะ) ศึกษาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 ภาค ICE ครับ

Getting Started

ในช่วงระหว่างปิดเทอมขึ้นปี 3 ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานมาครับ ซึ่งผมก็ได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ฝึกงานครั้งแรกของผมไปแล้วในบล็อกก่อนหน้านี้

ซึ่งในช่วงปิดเทอมขึ้นปี 4 ที่จะถึงนี้ ผมยังต้องไปฝึกงานอีกรอบ เพื่อเอาหน่วยกิตของมหาลัย และผมก็โชคดีที่มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทต่างๆมากมาย สำหรับปีนี้ผมถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์มาแล้ว 4 ครั้ง ถ้ารวมปีที่แล้วด้วยอีก 1 ครั้ง ก็จะรวมเป็นทั้งหมด 5 ครั้งครับ

ผมจึงอยากเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งหมดของผมให้ฟัง ผ่านการตอบคำถามทั่วไปที่หลายคนสงสัย และคำถามที่ไม่มีใครนึกถึงแต่ผมคิดว่ามันก็สำคัญไม่แพ้กันครับ เช่น “คุณจะวัดผลการฝึกงานอย่างไร?”

TL;DR

บล็อกนี้ผมจะมาตอบคำถามต่างๆเกี่ยวกับการฝึกงาน ไม่ว่าจะเป็นคำถามเล็กๆ เช่น “เราควรเตรียมตัวไปสัมภาษณ์อย่างไร?” ไปจนถึงคำถามที่ใครหลายคนมองข้ามไป เช่น “เราควรเลือกที่ฝึกงานจากอะไร” หรือ “เราจะวัดผลการฝึกงานได้อย่างไร?”

โดยผมจะอาศัยความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมได้สะสมมาตลอดระยะเวลาแรมปี ตกผลึกมันออกมาเป็นบทสรุปขนาดพอดีคำให้ทุกคนรับประทานกันครับ

ถ้าหากคุณคนเป็นคนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งาน หรือกำลังเจอปัญหาเกี่ยวกับการหาที่ฝึกงานอยู่ ผมอยากให้ลองเปิดใจฟังความคิดเห็นของผมดูสักนิดนะครับ ;)

Internship

I am Jakpat Mingmongkolmitr

“สวัสดีครับ ผมชื่อ ฟาร์ กำลังศึกษาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ภาควิศวะคอมพิวเตอร์ หลักสูตรนานาชาติครับ”

เวลาเข้าห้องสัมภาษณ์ คำถามแรกที่ผมโดนถามทุกครั้งก็คือ “สวัสดีครับ แนะนำตัวเองหน่อยครับ” และสิ่งที่เรามักจะตอบก็คือประโยคสั้นๆ สองสามประโยค ที่ไม่ได้มีแก่นสาระอะไรเลย เรามักจะพูดสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว หรือไม่เขาก็สามารถอ่านมันจาก Resume อันแสนภาคภูมิใจของเรา ที่ถูกเตรียมไว้ให้สำหรับผู้สัมภาษณ์ ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมานั่งอยู่ตรงหน้าเขาซะอีก

หลังจากนั้นบทสนทนาก็จะขาดตอน ห้องทั้งห้องตกอยู่ในภวังค์แห่งความเงียบ คุณทำได้แค่นั่งนิ่งเงียบรอคอยความหวัง พร้อมทำตาปริบๆอย่างไร้เดียงสา เป็นการส่งสัญญาณบอกเขาว่า “ผมไม่มีอะไรจะพูดแล้ว คิดไม่ออกแล้วโว้ยยย ได้โปรดกำจัดความเงียบนี้ออกไปที ส่งคำถามต่อไปมาโล้ดดด”

ถ้าคุณโชคดีแล้วเขาช่วยคุณ คุณก็รอดตัวไป แต่!!! ถ้าบังเอิญผลบุญที่คุณทำไว้เมื่อวันก่อน หรือบทสวดมนต์ที่คุณท่องก่อนนอนเมื่อคืน มันดันไปหมดซะก่อน เพราะคุณเผลอลืมลุกให้คนชรานั่งบน BTS เมื่อเช้านี้ คุณก็จะโดนคำถามปลายเปิดยอดฮิตลำดับต่อไปทันที “แค่นั้นหรอครับ งั้นเล่าให้ฟังหน่อยว่าเคยทำอะไรมาบ้าง”

หลังจากที่คุณสามารถหลุดจากวังวนของการแนะนำตัวเองมาได้ คุณก็ยังจะต้องเจอกับมรสุมของคำถามปลายเปิดอีกมากมายถาโถมเข้ามาใส่คุณ โดยไม่สนใจว่า มื้อเช้าคุณกินโจ๊กหมูพิเศษใส่ไข่สองฟองมาอิ่มท้องรึปล่าว

ใช่แล้วครับ ไม่มีใครชอบคำถามปลายเปิดหรอกครับ แต่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่คุณจะเจอบ่อยมากในการสัมภาษณ์งาน เพราะมันเป็นวิธีการที่เร็วที่สุดเมื่อเราต้องการที่จะทำความรู้จักคนคนหนึ่งภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

jakpat.m@gmail.com

อย่างแรกก่อนที่คุณจะส่ง Resume ไปสมัครงานที่ไหนก็ตาม ผมอยากขอให้คุณตรวจสอบชื่ออีเมล์ที่คุณใช้ก่อนเลยครับ เพราะมันจะเป็นประตูบานแรกที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคุณได้

ถ้าหากใครใช้อีเมล์ที่ไม่มีชื่อตัวเองอยู่ หรือแทบจะไม่สื่อความหมายอะไรเลย เช่น farinwza007eiei@yahoo.com ผมแนะนำให้เปลี่ยนดีกว่าครับ เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย แต่เอาเข้าจริงผมก็แอบเสียดายอยู่เหมือนกันนะ ผมว่าใช้แบบเก่าก็ Old Skool ไปอีกแบบเหมือนกันนะครับ ฮ่าๆๆ

ง่ายที่สุดก็คือใช้ ชื่อจริงและนามสกุลย่อเป็น Email เลยครับ อย่างของผมก็จะเป็น jakpat.m@gmail.com ซึ่งมาจากชื่อจริงของผมและตัวอักษรแรกในนามสกุลนั่นเอง

และอีกอย่างผมอยากแนะนำคือ ให้ใช้ Gmail นะครับ ทำไมน่ะหรอ ผมว่ามันเท่ดี ;)

First Impression

ว่ากันว่าคนเรามีเวลาเพียง 7 วินาที เพื่อสร้าง First Impression ที่ดีกับคู่สนทนาของเราได้ ถ้าหากคุณสามารถผ่านโจทย์แรกของการสมัครงานมาได้แล้ว (การส่ง Resume) โจทย์ต่อไปที่ท้าทายไม่แพ้กันเลยก็คือ “การสร้าง First Impression ที่ดีเวลาสัมภาษณ์” นั่นเอง

คุณมีโอกาสเพียงแค่ 7 วินาทีในการสร้าง First Impression กับคนที่เราไม่รู้จัก ใช่แล้วครับ เพียงแค่ 7 วินาทีเท่านั้น ที่คุณจะสามารถเก็บแต้มต่อแรกในการฝึกงานของคุณได้ อาจจะฟังดูน้อยใช่ไหมละครับ แต่จริงๆแล้วใน 7 วินาทีคุณสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว

ผมคิดว่าในประเทศไทยน่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ผมขอยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวใครหลายคนมากที่สุดละกันครับ ฮ่าๆๆ

“BNK48” เป็นวงเกิร์ลกรุ๊ป…บลาๆๆ คงไม่ต้องอธิบายก็ได้มั้งครับ ทุกคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว ถึงจะชอบหรือไม่ชอบก็ตามที gogo~

ในงานจับมือ BNK48 คุณมีเวลาเพียง 8 วินาที ถ้ามองในมุมของโอตะ คุณจะมีเวลาแค่ 8 วินาทีในการทำให้ตัวเองโดดเด่นจากผู้ร่วมงานคนอื่นๆ และทำให้ Member จำคุณได้มากที่สุด

ในทางกลับกัน Member แต่ละคนก็มีเวลาแค่ 8 วินาที ในการทำให้คนที่มาหาได้รับความประทับใจสูงที่สุด และอยากติดตามผลงานของเขาต่อไป แต่อย่าลืมไปนะครับว่า ในหนึ่งวันเขาต้องเจอกับ 8 วินาทีนี้นับครั้งไม่ถ้วน ผมว่าเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อยเลยทีเดียว

หรือไม่งั้น ลองไปฟังแนวคิดเจ๋งๆจากไอดอลของผม พี่เอ็ด7วิ แทนก็ได้นะครับ ผมว่าฮาดี เอ้ย มีสาระดีพอสมควรเลยทีเดียว ฮ่าๆๆ

ปล. ผมไม่เคยไปงานจับมือ หรืองานอะไรทำนองนี้นะครับ อะแฮ่มๆ พอดีมีเหตุผลส่วนตัวนิดหน่อยน่ะครับ ถ้าเคยไปอาจจะไม่ได้มีโอกาสเขียนบล็อกนี้ให้อ่านกัน ฮ่าๆๆ ส่วนข้อมูลพวกนี้ก็ได้มาจากการสอบปากคำเพื่อนๆเอาครับ…

All the New Hires Are Above Average

คนส่วนใหญ่บนโลกนี้สัมภาษณ์ไม่เก่ง แต่เราก็คิดว่าเรารับคนที่ดีที่สุดเข้ามา เพราะถึงอย่างไรก็ตามเราก็ตัดสินคนได้เก่งอยู่แล้วนี่ สัมภาษณ์ไม่เก่งก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย แต่เราคิดผิดมหันต์

“เราทุกคนคิดว่าตัวเองตัดสินคนเก่ง แต่เราไม่เคยย้อนกลับไปตรวจสอบว่าเราเก่งจริงหรือไม่ ดังนั้น ทักษะการตัดสินใจของเราจึงไม่เคยพัฒนาเลย”

มีงานวิจัยและข้อมูลจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วง 3–5 นาทีแรกของการสัมภาษณ์เท่านั้น หรือบางทีอาจจะเร็วกว่านั้นด้วยซ้ำไป ส่วนเวลาที่เหลือเป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องของสิ่งที่เราตัดสินใจไปแล้วนั่นเอง

ข้อมูลเหล่านั้นยังบอกอีกด้วยว่า ผู้สัมภาษณ์จะเอนเอียงไปทางผู้สมัครที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว และเทคนิคการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักจะใช้ไม่ได้ผลเพราะสาเหตุเหล่านี้

พูดง่ายๆคือ คนเรามักจะใช้ทางลัดต่างๆ หรือ “Heuristic” (Mental Shortcut) ในการตัดสินใจ เราชอบใช้อารมณ์หรือความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เพราะมันสะดวกและใช้พลังงานน้อยกว่า เช่น “ผู้สมัครคนนี้ต้องทำงานเป็นทีมได้ดีแน่ๆ เพราะพูดเก่งและตอบคำถามได้น่าประทับใจมาก (แม้ไม่เคยได้เห็นการทำงานของเขา)” สำหรับคนที่เคยอ่านหนังสือ Thinking, Fast and Slow ผมกำลังพูดถึงกระบวนการคิดแบบ System 1 และ System 2 อยู่นั่นเอง

ในกรณีที่ผมยกตัวอย่างว่า เรามักคิดว่าเราตัดสินใจเก่งกว่าผู้อื่น หรือ เรามักจะมั่นใจว่าผู้สมัครที่เราเอนเอียงไปหานั้น จะมีความสามารถมากกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ สิ่งเหล่านี้ก็เป็น “Cognitive Bias” ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Illusory superiority” หรือที่เรามักรู้จักกันในชื่อ “Lake Wobegon effect”

Every coin has two sides

สิ่งเหล่านี้น่ากลัวกว่าเรื่อง First Impression หลายเท่าตัว เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมหรือคาดเดาได้ เนื่องจากมันเป็นปัจจัยที่มาจากตัวผู้สัมภาษณ์ล้วนๆ

คำว่าน่ากลัวที่ผมหมายถึงนั้นมองได้สองด้าน

ด้านแรกคือ “บริษัท” การที่บริษัทละเลยในมาตราฐานของการสัมภาษณ์นั้น อาจก่อให้เกิดรอยรั่วที่มองไม่เห็นขึ้น และเมื่อเราสังเกตเห็นมันก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว จนในที่สุดเรือลำนั้นก็จมลงสู่ก้นท้องทะเลลึกโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมันอาจจะเป็นฝันร้ายของทุกบริษัทเลยก็ว่าได้ และคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ผมไปสัมภาษณ์มา จะยังไม่มี Awareness ในเรื่องนี้ก็เถอะ (นี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมไม่ค่อยอยากทำ Full-time กับบริษัทส่วนใหญ่ในไทย)

ด้านที่สองก็คือ “ผู้สมัคร” ด้วยเหตุผลข้างต้น ความสามารถส่วนตัวของเราอาจจะถูกมองข้าม และเสียโอกาสในการฝึกงานกับบริษัทเหล่านั้นไปในที่สุด ซึ่งวันนี้ผมไม่ได้มาพูดในมุมมองของบริษัท ฉะนั้น ผมอยากบอกว่าเราสามารถใช้จุดอ่อนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ได้ และทำให้เราได้เข้าไปฝึกงานกัน ฮ่าๆๆ

“Improvise. Adapt. Overcome” — Bear Grylls

ความจริงอันน่าโหดร้ายคือ คุณสามารถใช้เวลา 5 นาที เสแสร้งเป็นคนที่ผู้สัมภาษณ์จะเอนเอียงความรู้สึกไปหาได้ และใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดพยายามทำให้เขาไม่เปลี่ยนใจจากคุณ

และนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ว่า Comminication Skills ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนเก่งและโปรไฟล์ดีแค่ไหนก็ตาม เพื่อป้องกันความผิดพลาดและการเข้าใจผิดของผู้สัมภาษณ์ และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของเราไว้นั่นเอง (ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีนะ)

แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่เคยฉวยโอกาสเหล่านี้ในทางที่ไม่ดีหรอกนะครับ เพราะมันไม่ตรงตามเป้าหมายหลักในการฝึกงานของผม

(ความจริงคือ ผมไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคเหล่านี้หรอกครับ เพราะผมเก่ง หมายถึงเก่ง แบบมีความรู้เยอะน่ะหรอ? ยังไงเขาก็รับเข้าทำงานอยู่แล้ว? อ่อเปล่าครับ เก่งแต่ปากนี้แหละ… พูดเป็นอย่างเดียวทำไม่ได้หรอก ตึ่งโป๊ะ)

How do you prepare for an Internship?

Interview

คำถามคลาสสิกที่ผุดขึ้นมาในหัวของทุกคนก่อนจะไปสัมภาษณ์ และเป็นคำถามที่หลายคนไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือแม้กระทั่งบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะควรถามคำถามนี้กับใครดี วันนี้ผมมีคำตอบแบบฉบับของผมมานำเสนอครับ

สำหรับผม ผมคิดว่าคำถามนี้ค่อนข้างไร้สาระครับ ผมไม่เคยคิดถึงคำถามนี้เลยก่อนที่ผมจะไปสัมภาษณ์ ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ ผมแทบจะไม่ได้เตรียมตัวอะไรไปเลยครับ ผมไม่เคยซ้อมตอบคำถามหน้ากระจกให้ตัวเองดูดี ผมไม่เคยนั่งเรียบเรียงคำพูดสวยหรูเพื่อไปตอบคำถาม ผมไม่เคยสุ่มคำถามจากอินเตอร์เน็ตมาแล้วนั่งหาคำตอบ ผมไม่เคยแม้แต่กระทั้งการบอกกับตัวเองว่า “ผมเก่ง ผมทำได้อยู่แล้ว ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี” เพื่อทำให้จิตใจตัวเองสงบและไม่ตื่นเต้น สิ่งเดี่ยวที่ผมทำก่อนไปสัมภาษณ์ก็คือ “การเตรียมพร้อมความมั่นใจในตัวเอง” ครับ

บางคนอาจจะสงสัยว่า “ความมั่นใจมันเตรียมพร้อมกันได้ด้วยหรอ?” หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า “การซ้อมไงละ คือความมั่นใจ ยิ่งซ้อมเยอะก็ยิ่งมั่นใจไง” แต่สำหรับผมแล้ว ความมั่นใจในตัวเองนั้นมันต่างออกไป

สาเหตุหนึ่งที่ผมเลือกที่จะไปด้นสดหน้างานแทนที่จะเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่เพราะว่าผมขี้เกียจตัวเป็นขน ขี้เกียจสันหลังยาว หรือคิดว่าตัวเองเก่งแล้วนะครับ แต่มันเป็นเพราะสิ่งที่ผมให้คุณค่านั่นเอง

ผมต้องยอมรับว่าผมนั้นเป็นคนเพื่อนน้อย ผมเป็นคนชวนคุยไม่เก่ง คนที่อยู่รอบข้างผมส่วนใหญ่มักจะเบื่อเมื่อต้องใช้เวลาอยู่กับผมนานๆ ซึ่งผมก็รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้ทุกอย่างครับ แต่จะให้ทำยังไงละครับ ก็มันคือตัวตนของผม และผมจะไม่มีทางปลอมแปลงตัวตนของผมเองอย่างเด็ดขาด

คุณค่าที่ผมให้ความสำคัญที่สุดก็คือ “ความจริงใจ” ครับ ผมไม่พยายามที่จะเสแสร้งเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ ผมไม่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เป็นที่รักใคร่คนอื่น (ถึงแม้ว่าเวลาไปทำบุญ ผมจะชอบอธิษฐานให้ผมเป็นที่รักใคร่ของทุกคน ตามที่แม่ผมบอกก็เถอะ) และถึงแม้ว่าโลกนี้จะโหดร้ายขนาดไหน แต่ผมก็เลือกที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในเรื่องของการให้ เชื่อมันในคุณค่าที่ตัวเองให้ความสำคัญ เพราะผมเชื่อว่า “สิ่งที่มีค่าที่สุดที่ผมสามารถมอบให้ผู้อื่นได้ก็คือ ตัวผมเอง” (เห้ยยย โคตรเท่อ่ะ ผมคิดได้ไงเนี้ยๆ)

ถ้าผมพยายามเสแสร้งเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ พยายามเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น นั้นหมายความว่า ผมให้ความสำคัญกับมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อตัวผม มากกว่ามุมมองที่ผมมีต่อตัวเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมควมคุมไม่ได้ ผมไม่สามารถคาดเดาได้ว่า การกระทำของผมนั้นจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไร แต่ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งที่ผมสามารถความคุมได้ สิ่งนั้นก็คือ “ความคิดของตัวผมเอง”

ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะมอบสิ่งที่สำคัญที่สุดของผมให้กับคนรอบข้างเสมอครับ ซึ่งนั้นก็คือ “ตัวผมเอง” นั่นเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวผมเองบอกกับตัวเองเสมอมานั่นเอง เอง เอง… (ทำเสียงเอคโค่)

“สิ่งที่มีค่าที่สุดที่คุณสามารถมอบให้ผู้อื่นได้ก็คือ ตัวของคุณเอง” — Jakpat M. Inw za 007 eiei 2019

ด้วยคุณค่าที่ผมให้ความสำคัญนี้ ผมจึงอยากจะนำเสนอตัวตนในแบบฉบับที่จริงใจที่สุดเวลาไปสัมภาษณ์งาน และพยายามที่จะไม่ใส่สีเติมแต่งใดๆเข้าไปเพิ่มโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ดี และหนึ่งในการกระทำที่ผมเลือกทำก็คือ การเลือกที่จะไม่ฝึกซ้อมก่อนไปสัมภาษณ์งานเลยแม้แต่ครั้งเดียว (จริงๆ ก็ขี้เกียจซ้อมด้วยแหละ แต่นี้เขียนบล็อกไง ผมจะพูดให้ตัวเองดูดียังไงก็ได้ ฮ่าๆๆ หลอกเล่นนะครับ ที่เล่ามานี้เรื่องจริงหมดนะ เออ)

Self-assurance

“การเตรียมพร้อมความมั่นใจในตัวเอง” หรือที่ผมเรียกว่า “Self-assurance” ก็คือ การที่เตรียมตัวเองให้พร้อมและมั่นใจตลอดเวลา ว่าผมจะสามารถส่งมอบความเป็นตัวเองได้มากสุดทุกครั้งที่ผมตอบคำถาม และสิ่งที่ผมทำก็คือ การทบทวนเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และคาดเดาเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ผมเคยทำอย่างไร และถ้าเป็นตัวผมตอนนี้ผมจะทำอย่างไร

ผมพึ่งมารู้ทีหลังว่า วิธีการที่ผมใช้นั้นเรียกว่า “การสร้างแบบจำลองทางความคิด” หรือ “Creating Mental Models” ลองไป Google อ่านเพิ่มเติมได้นะครับ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผมยังคงมีการเตรียมตัวในส่วนของ Hard Skill หรือ Technical Skill อยู่ตลอดนะครับ ถ้าหากการสัมภาษณ์ครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้ด้าน Techinical ด้วย ผมก็จะทบทวนความรู้เหล่านั้นให้พร้อมที่สุดก่อนไปสัมภาษณ์เช่นกัน

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผมไม่ได้ต้องการให้คุณเชื่อและทำตามผมนะครับ แต่ผมอยากให้ทุกคนมองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงอีกหนึ่งแนวคิดของเพื่อนคนหนึ่งเท่านั้น และลองนำมันไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองที่สุดครับ

และสุดท้าย(ถ้ามีโอกาส) ไว้เรามาพูดคุยถึงประสบการณ์การสัมภาษณ์กันนะครับ ผมเองก็อยากรับรู้เรื่องราวของเพื่อนๆเหมือนกัน :)

Resume

ถ้าให้พูดตามตรง ผมก็ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการทำ Resume มากสักเท่าไหร่ เพราะครั้งแรกที่ทำก็คือลองทำเองเลย ไม่ได้ศึกษาวิธีทำจากที่ไหนก่อน จนกระทั่งตอนนี้ ผมก็ยังคงใช้อันเดิมอยู่ ฮ่าๆๆ แค่แก้เนื้อหานิดหน่อยให้เข้ากับแต่ละบริษัทที่สมัครไปเท่านั้นเอง

แต่ถึงอย่างนั้น Resume ของผมก็ผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง ถึงแม้ครั้งแรกๆ ผลลัพธ์ หรือ Feedback อาจจะไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่ผมก็น้อมรับคำติชมเหล่านั้น และพยายามปรับปรุงมันแก้ไขเรื่อยมา และตอนนี้มันก็สามารถใช้งานได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ ในช่วงแรก หลายคนอาจจะค่อนข้างกังวลเกี่ยวเรื่อง Resume ว่าจะเขียนยังไงดี ถ้าเขียนไม่ดีก็จบเห่ อาจจะทำให้ไม่โดนเรียกสัมภาษณ์​เลยก็ได้ จากประสบการณ์ของผม ผมว่ามันไม่ค่อยเกี่ยวหรอกครับ

ไม่มีทางที่ Resume หนึ่งอันจะสามารถครอบคลุมเนื้อหาที่เขาอยากรู้ได้ทั้งหมดอยู่แล้วครับ การที่บริษัทจะรับเด็กฝึกงานเพิ่มหนึ่งคนนั้น หมายถึง cost ที่บริษัทจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ด้วยหลายเหตุผล การรับเด็กฝึกงานก็ยังคงจำเป็นต่อบริษัทอยู่ดี ดังนั้นบริษัทจะไม่มีทางพิจรณาเด็กฝึกงานจากเพียงแค่ Resume อย่างเดียวแน่นอน เขาจำเป็นต้องพิจรณาถึงปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น EQ หรือ LAX Test ซึ่งก็ต้องเรียกมาสัมภาษณ์เท่านั้น

แต่!!! ถ้า Resume ของคุณแย่มากขนาดนั้น ขนาดที่ว่าเขาอ่านจบแล้ว ไม่เข้าใจอะไรเลย หรือ คุณเอาแต่เขียนเรื่องไร้สาระที่เขาไม่อยากรู้และไม่จำเป็นต้องรู้ คุณก็ควรลองมาพิจารณา Resume ของคุณใหม่อีกรอบนะครับ

ผมอยากจะขอฝากหลักการเล็กๆน้อยๆในการเขียน Resume ให้เพื่อนๆ แต่ขอย้ำอีกรอบก่อนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความคิดเห็นที่ผมเก็บเกี่ยวและตกผลึกมาจากคนรอบข้างหรือ Mentor ของผมเท่านั้น ไม่ได้นำมาจาก Practice หรือ How-to อะไรเลย ดังนั้นก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยนะครับ ;)

Resume ที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้:

  • ไม่ควรใส่รูปตัวเองใน Resume (เว้นแต่ว่าคุณจะมั่นหน้ามากพอ…)
  • ควรเขียน Resume ด้วยตัวเอง ไม่ควรใช้เครื่องมือที่ช่วยคิดคำให้ (เขาดูออก)
  • ควรใช้ภาษาอังกฤษ เว้นแต่ว่าเขาจะบอกคุณให้ใช้ภาษาไทย
  • *ควรเขียนแต่สิ่งที่เขาอยากรู้เท่านั้น เช่น ความรู้ที่มีประโยชน์กับองค์กรนั้นๆ
  • ควร Customize เนื้อหา ทุกครั้งที่ส่งให้แต่ละบริษัท
  • *กิจกรรมนอกหลักสูตรไม่ได้สำคัญที่สุด เว้นแต่ว่าคุณรู้ว่าใส่ไปทำไม
  • ไม่จำเป็นต้องทำให้สวยงาม เว้นแต่คุณจะสมัครงานด้าน Design
  • ไม่จำเป็นต้องใส่เกรด ถ้ามันทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นใจ
  • *ไม่ควรใส่หลอดพลังหรือเปอร์เซ็นเพื่อบอกทักษะ (ถามเพิ่มเติมได้)

ข้อที่มี * คือ ควรพิจรณาให้รอบคอบเป็นพิเศษ

ปล. หากใครสงสัยถึงเหตุผลของแต่ละข้อ หรือมีเรื่องอยากจะมาพูดคุยปรึกษากัน ก็ทักมาได้นะครับ และในอนาคตผมคงจะไปศึกษาวิธีการเขียน Resume ให้มากกว่านี้

How should we choose an internship?

Better Call Saul

ลือกันว่า (จริงๆ ไม่มีใครลือหรอกครับ ผมแค่ไม่รู้จะขึ้นต้นประโยคด้วยอะไรเฉยๆ หมดมุขแล้ว ฮ่าๆๆ)

ลือกันว่า เวลาเราต้องการตัดสินใจอะไรบางอย่างที่สำคัญมากๆ เรามักจะถามความคิดเห็นจากบุคคลที่เราเคารพ เช่น พ่อแม่ หรือ เพื่อนสนิทที่ไว้ใจ เพราะเราเชื่อว่าเขาจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเรา แต่ความจริงแล้วมันใช้อย่างนั้นจริงๆหรอ?

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ผมมีปัญหาอย่างหนักเกี่ยวกับการเลือกที่ฝึกงาน เนื่องจากผมเคยฝึกงานมากแล้วหนึ่งรอบ ทำให้ผมคาดหวังกับการฝึกงานครั้งนี้ไว้สูงมาก ผมจึงไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้โดยลำพังได้ และเริ่มมองหาความช่วยเหลือ

ในตอนแรก ผมพยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับที่ฝึกงานแต่ละที่ให้ได้มากที่สุด และพยายามเล่าข้อมูลเหล่านั้นให้คนอื่นฟังเพื่อให้เขาช่วยคิด ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมเข้าใจการกระทำของตัวเองว่า ผมต้องการความคิดเห็นจากบุคคลที่มีประสบการณ์มากกว่าผม เพราะเขาอาจจะรู้ว่าคำตอบไหนคือสิ่งที่ดีที่สุด

ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทุกคนที่ผมขอความช่วยเหลือนั้น เขาสามารถหาคำตอบให้กับผมได้เสมอในแบบฉบับที่เขาคิดว่าดี แต่คำตอบเหล่านั้นไม่ได้ช่วยอะไรผมเลย มันเป็นเพียงข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาเพื่อสนับสนุนตัวเลือกต่างๆเท่านั้นเอง เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่ต้องตัดสินใจก็คือ “ตัวผมเอง”

หลังจากการถามคำความคิดเห็นจากเพื่อนๆ ไม่ได้ช่วยให้ผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ผมจึงเริ่มถามคำถามที่เฉพาะเจาะจงขึ้น คำถามที่ปลายปิดมากยิ่งขึ้น กับคนที่ผมไว้ใจและนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ จนในท้ายที่สุดแล้ว ผมก็เลือกที่จะถามกับพ่อผมเองว่า “ระหว่าง A กับ B ผมเลือกอะไรดี?”

ซึ่งมันเป็นคำถามที่สิ้นคิดเป็นอย่างมาก เหตุผลแรกก็คือ พ่อผมไม่ได้ผมอยู่ในขอบเขตที่จะสามารถตอบคำถามนี้ได้เลย เพราะพ่อผมทำงานเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย แต่สิ่งที่ผมต้องการคำตอบนั้นกลับเป็น การเลือกที่ฝึกงานในบริษัทที่มี Core Business คือ Technology

เหตุผลที่สองก็คือ คำถามนี้เป็นการผลักภาระการตัดสินใจทั้งหมดไปให้พ่อของผม ซึ่งมันแสดงถึงการไร้ซึ่งความรับผิดชอบ และความขี้ขลาดในการตัดสินใจของผม

นับเป็นโชคดีของผม แทนที่พ่อของผมจะรับฟังข้อมูลทั้งหมด และตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา แต่พ่อของผมกลับเลือกที่จะพูดความจริงที่ผมเองนั้นก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ปกปิดมันเอาใว้ “ป๊าตอบคำถามนี้ไม่ได้หรอก ฟาร์ต้องเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง”

แต่ละคำถามที่ผมเอ่ยปาก ถามเพื่อน ถามรุ่นพี่ ถามเมนทอร์ หรือถามพ่อ นั้นมีความตั้งใจเพียงอย่างเดียวซ่อนอยู่ ซึ่งมันก็คือการขยาย Safe Zone ในการตัดสินใจของเรา โดยการผลักภาระความรับผิดชอบในความผิดผลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเราไปให้ผู้อื่น และนี้จึงเป็นสาเหตุที่ คำถามที่ยากที่สุด ถูกถามกับคนที่ผมใจไว้มากที่สุดว่าเขาหวังดีกับผม

แปลไทยอีกรอบก็คือ ความจริงแล้ว เราไม่ได้ต้องการคำตอบของคนอื่นหรอก แต่เราถามเขาเพื่อเป็นการเพิ่มความสบายใจ และความปลอดภัยในการตัดสินใจของเรานั้นเอง และสิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ ในอนาคต เราจะได้สามารถหาข้ออ้าง และโยนความผิดให้กับเขาได้ หากการตัดสินใจนั้นไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ

ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะคิดว่า มันฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐานที่พวกเราก็น่าจะรู้และเข้าใจอยู่แล้วใช่ไหมละครับ แต่ถ้าหากเราสามารถยอมรับได้ว่าการตัดสินใจของเรานั้นอาจจะมีข้อผิดพลาด และเราต้องพร้อมที่จะรับความเสี่ยงจากการตัดสินใจนั้นๆ เราก็จะสามารถก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ และไม่จำเป็นต้องมานั่งเสียเวลาอย่างผม

ความตั้งใจในการถามคำถามนั้น ไม่ควรทำเพื่อหาแนวร่วมในการตัดสินใจของเรา หรือผลักภาระในการตัดสินใจไปให้ผู้อื่น เพราะสุดท้ายแล้วคนตัดสินใจก็คือตัวเราเองอยู่ดี และเราก็ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงนั้นแต่เพียงผู้เดียว

Cautious vs Adventurous Mindset

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ก็คือ “การเลือกถามคำถาม”

จากที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า เราไม่ควรถามคำถามเพื่อ หาคนมาช่วยแบกรับความเสี่ยง ในการตัดสินใจของเรา

แล้วเราควรถามคำถามอย่างไรละ?

ก่อนอื่น ผมขอแบ่งการถามคำถามออกเป็นสองแบบ ซึ่งก็คือ “การถามตัวเอง” และ “การถามผู้อื่น”

คุณผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า เวลาเราต้องตอบคำถามหรือตัดสินใจเรื่องสำคัญบางอย่างให้กับตัวเอง มันมักจะยากเสมอ ไม่ใช่เพราะว่าคำถามมันยากหรอกครับ แต่เป็นเพราะเราเลือกที่จะใช้ Cautious Mindset ในการหาคำตอบนั้นต่างหาก

แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากมีคนมาขอความช่วยเหลือ หรือถามคำถามกับเรา เราก็มักจะสามารถหาคำตอบให้กับเขาได้อย่างง่ายดาย แถมยังเพิ่มบทเรียน Life Coach ให้กับเขาได้อีกด้วย!! แหม่ เรานี้มันเก่งจริงๆ ว่าไหมละครับ ฮ่าๆๆ

ซึ่งสาเหตุที่มันง่าย ก็เพราะว่าเราใช้ Adventurous Mindset ในการตอบคำถามของคนอื่นนั่นเอง

เรามักจะตอบคำถามของผู้อื่นโดยอาศัยมุมมองแบบการผจญภัย เราจะมองหาโอกาสในการเรียนรู้ของแต่ละทางเลือก และอาจจะมองข้าม Opportunity Cost ต่างๆไป เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้แบกรับความเสียงของการตัดสินใจนั้นโดยตรง

ในขณะเดียวกันเวลาเราต้องตอบคำถามให้ตนเอง เรามักจะชั่งน้ำหนัก และคำนึงถึง Opportunity Cost ต่างๆ และยังจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงในการตัดสินใจนั้นอีกด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะคิดไตร่ตรองและรอบคอบเป็นพิเศษ จนบางครั้งเราก็อาจจะมองข้ามโอกาสสำคัญบางอย่างไปได้

ซึ่ง Mindset ทั้งสองแบบนี้ก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้และเลือกถามคำถามให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของเรา

เช่น เราไม่ควรถามคำถามปลายปิด และผลักภาระการตัดสินใจไปให้ผู้อื่น เพราะเขาก็จะไม่สามารถตอบคำถามเราด้วย Adventurous Mindset ได้ และคำถามนั้นก็จะไร้ประโยชน์ไปโดยปริยาย เพราะเราเองก็มี Cautious Mindset เหมือนกัน

“Everyone you will ever meet knows something you don’t.” ― Bill Nye

Herzberg’s Two-Factor Theory of Motivation

เพื่อไม่ให้บล็อกนี้ยาวจนไปกว่านี้ ผมจะขออธิบายแค่คร่าวๆนะครับ หรือถ้าจะใช้ดีผมอยากแนะนำให้ไปอ่าน Two Factor Theory by Frederick Herzberg ก่อนแล้วค่อยกลับมาอ่านหัวข้อนี้ต่อครับ

ทฤษฎีนี้กล่าวไว้ว่า ความพึ่งพอใจในการทำงานของคนเรา ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย Motivation Factor กับ Hygiene Factor

โดยสองปัจจัยนี้อยู่กันบนระนาบเดียวกัน กล่าวคือ ปัจจัยหนึ่งไม่ได้มีผลกระทบต่ออีกปัจจัยหนึ่ง คิดง่ายๆก็คือ แกน X กับ แกน Y ในกราฟสองมิติอ่ะครับ (ลองดูในภาพตัวเองด้านล่าง)

Motivation Factor คือ ปัจจัยด้านแรงจูงใจ เช่น ความสำเร็จที่จะได้รับ การยกย่อง(recognition) ความหมายในการทำงาน ความก้าวในหน้าที่การงาน

Hygeine Factor คือ ปัจจัยด้านสุขอนามัย เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน สิ่งอำนวยความสะดวก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สถานที่ทำงาน การเดินทาง บลาๆๆ

การเพิ่ม Hygeine Factor ให้พนักงานนั้นเป็นแค่เพียงการแก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้า หรือที่ Herzberg เรียกว่า “Kick in the ass” ในทางกลับกันการเพิ่ม Motivation Factor นั้นให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า แต่ก็ปฏิบัติได้ยากกว่าเช่นกัน

อธิบายยาวละ สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ ปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขในการทำงานนั้นมันไม่ได้มาจากเงินเพียงอย่างเดียว หลายคนที่ผมรู้จักมักจะเลือกที่ฝึกงานจากค่าตอบแทนเป็นหลัก ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร แต่เราก็ไม่ควรที่จะพิจรณาจากค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

ดังนั้น ถ้าหากเราจะเลือกที่ฝึกงานดีๆสักที่ นอกจาก Hygeine Factor แล้ว การพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆของ Motivation Factor ก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอยากมากเช่นกัน และคุณจะไม่จำเป็นต้องมานั่งเสียใจในภายหลังอย่างแน่นอน

“Frederick Herzberg, asserts that the powerful motivator in our lives isn’t money; it’s the opportunity to learn, grow in responsibilities, contribute to others, and be recognized for achievements.” — Frederick Herzberg

Reference: Two Factor Theory by Frederick Herzberg

Paradox of Choice

หัวข้อนี้ขี้เกียจเขียนละ ไปหาเอาเองละกันเนอะ ฮ่าๆๆ

อ่ะใจดี แปะลิงก์ให้

How will you measure the Internship?

เอาละครับ ถึงเวลาเข้าเรื่องกันแล้ว ทั้งหมดที่ผมเล่ามาก่อนหน้านี้เป็นบทนำเท่านั้นแหละครับ ฮ่าๆๆ

Motivation

ก่อนอื่นเลยทุกคนคงจะมีคำถามใช่ไหมละครับว่า “ทำไมเราต้องวัดผลการฝึกงานด้วยละ” สิ่งเหล่านี้มันเริ่มต้นจากการที่ผมเริ่มศึกษาเกี่ยวกับ OKRs (Objective and Key Results) ผมสนใจว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งถึงให้ความสำคัญและเลือกใช้ OKRs แต่พอเริ่มศึกษาไปได้สักพัก ผมก็ได้รู้ว่าแก่นแท้ของมัน ก็คือ “การวัดผล” หรือ “Measurement” นั่นเอง

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมจึงรู้สึกสนใจในเรื่องของการวัดผลเป็นพิเศษ และนอกเหนือจากการนำมันไปปรับประยุกต์ใช้กับเรื่องงานแล้ว ผมก็อยากที่จะนำมันมาใช้ในชีวิตประจำวันของผมด้วย ซึ่งนั้นก็นำไปสู่การวัดผลของการฝึกงานของผมนั่นเอง

Intuition

ถ้าลองคิดแบบเร็วๆดู Metric ที่เราควรใช้ในการวัดผลการทำงานต่างๆ ก็ควรจะเป็น “ค่าตอบแทน” หรือ “เงิน” ใช่ไหมละครับ

แต่เหมือนที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ผมไม่เห็นด้วยกับการที่จะเอาเงินมาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกที่ฝึกงาน ซึ่งในการวัดผลก็เช่นกัน ผมไม่เห็นด้วยกับการที่เราจะนำเงินมาใช้วัดผลการฝึกงาน

ถ้าสำหรับการทำงานจริงแล้ว ผมไม่เถียงว่าเงินเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ เพราะมันบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของเราและคุณค่าที่บริษัทมอบให้เราได้ แต่สำหรับการฝึกงานแล้ว จำนวนเงินที่เราได้รับนั้น มันไม่ได้บ่งบอกถึงความหมายอะไรเลย

มันสมควรแล้วหรือ ที่จะบอกว่าเด็กคนนี้ฝึกงานประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะเขาได้รับเงินมากกว่า? แน่นอนว่าไม่

สำหรับผม การเปรียบเทียบจำนวนเงินเป็นเพียงการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดของการฝึกงานเท่านั้น สิ่งที่เราไม่อยากยอมรับว่าเราทำผิดพลาด หรือทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ “การกอบโกยความรู้”

ในปี 2019 นี้ คงไม่มีใครมานั่งเถียงกันแล้วว่า “การลงทุนในความรู้เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด” ผมว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจดี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การปฎิบัติจริงนั่นก็เป็นอีกเรื่องใช่ไหมละครับ

“An investment in knowledge pays the best interest.” — Benjamin Franklin

Question

ถ้าอย่างนั้นเราควรวัดผลอย่างไรล่ะ?

Answering

ผมให้คำตอบที่ถูกต้องที่สุดไม่ได้หรอกครับ และผมก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเองได้เช่นกัน สิ่งที่ผมทำได้ ก็คือการเลือกสิ่งที่ผมคิดว่าเหมาะสมและดีที่สุดให้กับตัวเอง ณ ขณะนั้นเท่านั้นเอง

ผมโชคดีที่ได้ทีโอกาสรู้จักกับ Mentor ของผมคนหนึ่ง และทุกครั้งที่ผมปรึกษาปัญหาต่างๆกับเขา เขามักจะพูดกับผมเสมอว่า “พี่เชื่อว่าทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วดีเสมอ” ซึ่งผมก็เชื่อว่า เขาเชื่ออย่างนั้นจากใจจริง ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การพูดเพื่อปลอบใจ

และคำพูดนี้นี่เองที่ทำให้ผมสามารถกล้าที่จะเดินหน้าต่อโดยไม่ต้องกลัวความล้มเหลว เพราะสุดท้ายแล้วถ้าผมสามารถนำสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ “ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็จะดีเสมอ” และมันก็ขึ้นอยู่กับตัวผมเองไม่ใช่ใครอื่น

สิ่งที่คำคัญที่สุดของการหาคำตอบนี้ก็คือ การหาความหมายของการฝึกงาน เพราะว่า

ก่อนที่เราจะสามารถวัดผลอะไรบางอย่างได้ เราจำเป็นต้องรู้ถึงจุดหมายปลายทางที่เราอยากจะไปก่อน หรือก็คือ Objective ของการฝึกงานของเรานั้นเอง

สุดท้ายแล้วการหามาตรามาวัดความสำเร็จของการฝึกงานก็จะไม่ใช่เรื่องยาก

Answer(s)

ณ ตอนนี้ผมได้หาคำตอบให้กับตัวผมเองแล้ว และผมอยากจะช่วยเพื่อนๆในการตอบคำถามเหล่านี้ ผมจึงเริ่มเขียนบล็อกนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับเพื่อนๆที่ต้องการจะหาคำตอบด้วยตนเอง ไม่ใช่การบอกสูตรสำเร็จตายตัว หรือการยัดเยียดคำตอบของผมให้กับผู้อื่นแต่อย่างไร

ผมจึงพยายามที่จะเล่าประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมเผชิญมา อธิบายถึงปัจจัยต่างๆที่เป็นประโยชน์ในการหาคำตอบ และพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะส่งต่อข้อความเหล่านี้อย่างเป็นกลาง โดยไม่นำความคิดของตัวเองไปชักจูงความคิดของผู้อ่าน

ดังนั้นผมจึงอยากให้เพื่อนๆลองไปหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ด้วยตัวเอง และทำให้การฝึกงานของเราเกิดประโยชน์สูงสุดกันเถอะ

สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างมากว่า บทความของผมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และขอให้เพื่อนๆหาความหมายของการฝึกงานเจอนะครับ

ขอบคุณที่อ่านจบครับ เจอกันในบล็อกหน้าครับผม

--

--

Jakpat Mingmongkolmitr

A full-time learner, part-time developer and sometime writer.