ความหมายของชีวิต 2019

ชีวิตคือการเลือก

Jakpat Mingmongkolmitr
4 min readNov 30, 2019

Hello World!

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำตัวก่อนนะครับ

สวัสดีครับ ผมชื่อ ฟาร์ (ชื่อจริงก็อยู่ข้างบนเนอะ) ศึกษาอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 ภาค ICE ครับ

Getting Started

คุณเคยมีคำถามแบบนี้ในหัวมั้ยครับ

เรียนจบแล้วทำอะไรดี? เรียนต่อเลยดีไหม? หรือเลือกทำงานสายไหนดี?

เมื่อ 1 ปีก่อน คำถามเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆสำหรับผม และผมก็คิดว่าโครงการ ChAMP Engineering จะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ให้กับผมได้

ผมจึงตัดสินใจที่จะสมัครเข้าโครงการนี้โดยทันที และมันก็ทำให้ชีวิตผมก็ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล…

ผมคงจะเล่าให้ฟัง ตามความจริงว่า โครงการนี้ไม่ได้ช่วยตอบคำถามเหล่านั้นให้กับผมเลย ทุกวันนี้ผมยังคงถามตัวเองเสมอว่า ผมควรเลือกไปเรียนต่อดีไหม?

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมได้เรียนรู้นั้นกลับเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก ณ ตอนนี้ ผมคงบอกได้แค่ คำถามเหล่านั้นที่เคยเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับผมเมื่อ 1 ปีที่แล้ว กลับกลายเป็นเรื่องตลกขบขันเมื่อเทียบกับคำถามที่ผมต้องหาคำตอบให้ได้ในตอนนี้

อะไรคือความหมายของชีวิต?

และในบล็อกนี้ผมจะมาตอบคำถามสุดท้ายนี้ในแบบฉบับของผมให้เพื่อนๆได้รับฟังกันครับ

นอกจากนี้ ผมยังวางแผนจะกลับมาเขียนบทความ “ความหมายของชีวิต” ใหม่อีกครั้งในทุกๆปี เพื่อที่จะได้คอย Reflect ตัวเอง และสำรวจการเจริญเติบโตทางความคิดของผมนั่นเอง

ChAMP คืออะไร?

ChAMP หรือ Chulalongkorn Alumni Mentorship Program เป็นโครงการของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำศิษย์เก่าที่เป็นประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพการงาน อาทิ เช่น เจ้าของกิจการ CEO CFO MD Partner ขององค์กรที่มีชื่อเสียง และศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลก มาเป็น Mentor เพื่อให้คําแนะนํากับ Mentee ซึ่งเป็นรุ่นน้องนิสิต ป.ตรี ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ ทั้งในด้านการตั้งเป้าหมายชีวิต การวางแผนเส้นทางอาชีพ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจและทัศนคติที่ดี พัฒนาทักษะความสามารถในมิติต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงโลกการศึกษาเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ผมเข้านั้นไม่ใช่ ChAMP แต่เป็น ChAMP Engineering ซึ่งเป็นอีกโครงการที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน แต่จัดขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://champ.cbs.chula.ac.th/

Disclaimer

ในบล็อกนี้ ผมไม่ได้มาพูดถึงวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ตามหลักศาสนาหรือปรัชญาแต่อย่างไร เพราะผมเชื่อว่าความสำเร็จและความสุขอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เป็นสองสิ่งที่เราต้องเลือกและชั่งน้ำหนักระหว่างมันอยู่เสมอ อย่างน้อยผมก็เชื่ออย่างนั้น ณ ตอนนี้ ขณะที่ผมกำลังเขียนบล็อกนี้อยู่

ในทางตรงกันข้าม ผมจะมาให้คำนิยามกับคำว่าชีวิต ด้วยเหตุผลและประสบการณ์ที่ผมตกผลึกมาตลอดระยะเวลา 1 ปี เพื่อตอบคำถาม

อะไรคือความหมายของชีวิต?

ชีวิตไม่ใช่ความสำเร็จ

จักภัท มิ่งมงคลมิตร

ถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านทุกท่านลองนำชื่อจริงของผมไปเสิร์ช Google ในตอนนี้ (2019)

สิ่งที่แรกที่ท่านจะได้พบนั้น ไม่ใช่ Facebook Profile หรือ Youtube Channel ที่มีคลิปวิดีโอส่งงานอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษตอน ป.5 อะไรทำนองนั้นหรอกนะครับ

แต่หากว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดในวัยเยาว์ ที่ผมได้ทำมันสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เมื่อ 5 ปีก่อนนั่นเอง

ณ เวลานั้น ชีวิตผมมีเป้าหมายชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งผมต้องการ ผมลืมตาตื่นขึ้นมาทุกเช้าด้วยความต้องการอันแรงกล้าที่จะเดินตามความฝัน และผมก็ใช้ชีวิตทุกวันอย่างสุดความสามารถเพื่อทำให้ความสำเร็จนั้นเป็นจริง ซึ่งในไม่ช้าความพยายามของผมก็สัมฤทธิ์ผล แต่ใครจะไปรู้ละครับ ว่าถ้าวันหนึ่งเป้าหมายที่เราเคยตั้งไว้ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เราจะต้องทำอะไรเป็นอันดับต่อไป… ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันครับ

ปล. ถ้าจะลองเสิร์ชดูจริง ๆ เนี่ย กรุณาใช้ชื่อภาษาไทยนะครับ เพราะว่าถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็อาจจะเจอ Facebook Profile ของผมจริง ๆ นั่นแหละครับ ฮ่า ๆๆ

ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว

สิ่งตอบแทนที่ผมได้จากความพยายามหลายต่อหลายปี คือความรู้สึกยินดีเพียงแค่ไม่กี่ลมปาก มันกลับไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถเอ่ยถึงอย่างภาคภูมิใจได้ตลอดเวลา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนที่รับรู้ถึงความสำเร็จของเราจะเข้าใจไปกับมัน แต่ส่วนที่แย่ที่สุดก็คือความรู้สึกที่ตามมาหลังจากนั้น

“…เคว้ง” ผมถูกความสำเร็จในวัยเยาว์ลูบหลังและตบหัวในเวลาเดียวกัน และชีวิตผมก็ถูกใช้แบบทิ้งขว้าง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…

ผมไม่มีเป้าหมายในชีวิตอีกต่อไป ผมใช้ชีวิตไปวันๆ โดยพยายามกอบโกยเอาแต่สิ่งดี ๆ เข้าตัวให้ได้มากที่สุด เพราะผมคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่เด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งจะสามารถทำได้ ณ เวลานั้น แต่หารู้ไม่ว่า การกระทำเหล่านี้กลับทำให้ผมหยุดอยู่กับที่…

ถึงแม้ผมจะพยายามทำเพื่อตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็ไร้ซึ่งความหมาย ผมไม่เคยคิดถึงเป้าหมายในชีวิตต่อไปของผมเลย เปรียบเสมือนว่าผมกำลังวิ่งอยู่บนลู่วิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีเส้นชัย ไม่มีแม้กระทั่งคู่แข่งให้ผมคอยไล่ตาม ผมกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดว่ามีประโยชน์เข้าตัว โดยไม่มีแม้แต่จะหยุดคิดว่าผมทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการหลงทางครั้งสำคัญในชีวิตผม…

ความสำเร็จคืออะไร?

ผมจึงเข้าโครงการ ChAMP ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่หาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้

แท้จริงแล้ว ความสำเร็จนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร? ใช่สิ่งที่ผมเคยพบเจอเมื่อ 5 ปีก่อนหรือเปล่า? หากเริ่มต้นผิดทุกอย่างจะผิดไปจากที่ตั้งใจไหม? และ ผมอยากใช้ชีวิตตามอุดมคติของความสำเร็จเหล่านั้นจริงหรือไม่?

ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เอ่ยปากถามคำถามเหล่านี้ตรง ๆ กับ Mentor ของผม แต่การได้พบและพูดคุยกับบุคคลที่ — เรานิยามเขาว่า — ประสบความสำเร็จ ก็ช่วยให้ผมเข้าใจความสำเร็จมากยิ่งขึ้นและตอบคำถามเหล่านี้ได้

นอกจากนี้ ผู้คนมากมายที่ผมพบเจอในโครงการ ต่างมีความขัดแย้งในตัวเองอย่างน่าประหลาดใจ ไม่ว่าจะเป็น

  • คนที่เก่ง แต่บอกว่าตัวเองยังโง่ประสบการณ์
  • คนที่รวยล้นฟ้า แต่บอกว่าตัวเองจนความรู้
  • คนที่รู้คำตอบ แต่ไม่เคยหยุดถามคำถาม
  • คนที่พร้อมจะให้ แต่ไม่เคยหวังผลตอบแทน
  • คนที่พร้อมจะรับ แต่เข้าใจถึงความสำคัญของการให้
  • คนที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เคยรีบร้อนไขว่คว้าหามัน*

บุคคลเหล่านี้ได้สร้างแรงบันดาลใจและคำถามมากมายให้กับผม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมสังเกตเห็นก็คือ บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย และคนส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความสำเร็จเป็นผลมาจาก “ความโชคดีที่หลากหลายและความได้เปรียบที่โผล่ขึ้นมาแบบคาดเดาไม่ได้” ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหมละครับ ความสำเร็จจะเป็นผลมาจากสิ่งที่เราความคุมไม่ได้ได้อย่างไร หรือบางที พวกเขาอาจจงใจถ่อมตนด้วยเหตุผลบางอย่างอยู่ ก็เป็นได้…

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ใครกันที่เป็นคนกำหนดความสำเร็จเหล่านั้น? เจ้าตัวหรือคนรอบกาย? หรือแท้จริงแล้ว มันอาจจะเป็นเรื่องของโชคชะตาที่เราไม่สามารถกำหนดมันขึ้นมาได้เอง

ดั้งนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรที่เราจะเลิกสนใจความสำเร็จเหล่านั้น และหันกลับมาให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ทำสิ่งที่เราสามารถความคุมได้ให้ดีที่สุด โดยปล่อยให้ความสำเร็จเป็นเพียงสิ่งที่คนอื่นจำกัดความให้กับเรา เพราะในความเป็นจริง ความสำเร็จอาจเป็นสิ่งที่เราความคุมไม่ได้แต่ตั้งแรก

ทำงานของเราให้เสร็จ และปล่อยความสำเร็จเป็นเรื่องที่คนอื่นพูด — ฟาร์ไม่ได้กล่าว

ภาระผูกพัน

บางคนอาจมองว่า ความสำเร็จคือภาระผูกพันที่เราทุกคนต้องรับผิดชอบเพื่อมอบความหมายให้กับชีวิตของตัวเราเอง

การไปเยือนนครเมกกะเพื่อเข้าร่ามพิธีฮัจญ์สักครั้งในชีวิต เป็น 1 ใน 5 พันธกรณีของศาสนาอิสลาม และเป็นเป้าหมายสูงสูดหนึ่งเดียวของชาวมุสลิมทุกเพศทุกวัย

ย้อนกลับไป ก่อนที่การมาถึงของสองพี่น้องตระกูลไรต์จะปฏิวัติการเดินทางไปตลอดกาล การที่คนธรรมดาคนนึงจะเดินทางข้ามทวีปนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมันหมายถึงการเตรียมตัวตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทั้งเรื่องฐานะทางการเงิน ความพร้อมทางร่างกาย หรือความกล้าหาญทางจิตใจ

ถึงแม้ว่า ชาวมุสลิมบางคนจะเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ยังไม่พร้อม แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ด้วยการทำงานหนักอย่างยากลำบาก เก็บหอมรอมริบ เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเดินทางของตน เช่นเดียวกันกับ พ่อค้าคริสตัลผู้นี้

วันแล้ววันเล่า พ่อค้าผู้นี้ได้แต่เฝ้ามองผู้แสวงบุญมากหน้าหลายตา เดินทางผ่านหน้าร้านค้าของตนเอง มุ่งหน้าสู่นครเมกกะสรวงสวรรค์ของเหล่ามุสลิม ถึงแม้ว่าเขาจะมีเงินมากพอที่จะไปกลับได้สองรอบ ถึงแม้ว่าร่างกายเขาจะพร้อมด้วยวัยสี่สิบกลางๆ แต่อะไรกันละคือสิ่งที่คอยฉุดรั้งเขาไว้จากภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้

“Because it’s thought of Mecca that keeps me alive. That’s what helps me face these days that are all the same, these mute crystals on the shelves, and lunch and dinner at that same horrible café. I’m afraid that if my dream is realized, I’ll have no reason to go on living.” — The Crystal Merchant

ความสำเร็จมีจริงหรือ?

ผมคงให้คำตอบที่ถูกต้อง 100% ไม่ได้หรอกครับ ว่าความสำเร็จคืออะไร และมันมีอยู่จริงหรือเปล่า ยังคงมีคำถามมากมายที่ผมต้องหาคำตอบ

ถ้าเราประสบความสำเร็จแล้ว เราจะไม่เหลือความหมายในการใช้ชีวิตแล้วหรือเปล่า มันจะเหมือนกับความรู้สึกที่ผมเคยพบเจอเมื่อ 5 ปีก่อนหรือไม่

หรือแท้จริงแล้ว ความสำเร็จอาจจะเป็นเพียงแค่กลไกลวงโลกอย่างหนึ่งที่ถูกกำจัดความขึ้นมาตั้งแต่อดีต เพื่อมอบความหมายบางอย่างให้กับชีวิตอันไร้ความหมายของเรา

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความสำเร็จไม่มีอยู่จริง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า

อะไรคือความหมายของชีวิต?

ชีวิตไม่ใช่การเลือก

Theseus Paradox

หากเรือสำเภาลำหนึ่ง ระหว่างการเดินทางรอบโลก ได้รับการซ่อมแซมโดยการแทนที่ไม้เก่าที่ผุพังด้วยลำไม้ที่ใหม่และแข็งแรงกว่า จนกระทั่งไม่มีชิ้นส่วนเก่าของเรือหลงเหลืออยู่เลย เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง เรือสำเภาลำนี้ยังคงเป็นสำเภาลำเดิมหรือไม่?

เรือลำนี้กลายเป็นตัวอย่างสำคัญในบรรดาเหล่านักปรัชญาเกี่ยวกับคำถามเชิงตรรกะเรื่องการเติบโต ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าเรือนั้นยังคงเป็นเรือลำเดิม ในขณะเดียวกัน อีกฝ่ายก็โต้ว่าเรือได้เปลี่ยนไปแล้ว

หลายศตวรรษต่อมา นักปรัชญา โทมัส ฮอบส์ ได้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากเรารวบรวมชิ้นส่วนเก่าทั้งหมดที่ถูกทิ้งเก็บไว้ใต้ท้องเรือขึ้นมาประกอบเป็นเรือลำใหม่อีกลำ และเรือลำใดกันแน่ ที่เป็นเรือต้นแบบของธีเซียส?

คงเป็นคำถามที่ตอบยากใช่ไหมละครับ ที่จริงแล้วคำถามเชิงปรัชญาแบบนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัวหรอกครับ และคำตอบของเหล่านักปรัชญาก็มีหลากหลายมากเกินกว่าจะพรรณนา แต่มีคำตอบหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ เมื่อเรานำเรือสำเภาลำนี้มาเปรียบเทียบกับความหมายของชีวิต

Continual Identity

ตามระบบเชิงปรัชญาของอาริสโตเติลและผู้ติดตาม มีสี่เหตุปัจจัยที่ใช้ในการบรรยายถึงสิ่งหนึ่ง โดยปัจจัยเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบให้กับ Paradox นี้ได้ ปัจจัยแรกคือ รูปเหตุ (Formal cause) หรือรูปทรง คือโครงร่างและดีไซน์ของสิ่งนั้น ในขณะที่วัสดุเหตุ (Material cause) คือสสารที่ใช้สร้างสิ่งนั้นขึ้นมา

ตามคำกล่าวของอาริสโตเติล อัตลักษณ์ของสิ่งหนึ่ง (“what-is-it”) คือรูปเหตุ ดังนั้น สำเภาของธีเซียสจึงเป็นเรือ “ลำเดิม” เพราะรูปเหตุ หรือโครงร่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนไป แม้ว่าสสารที่ใช้ในการสร้างจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

อีกหนึ่งเหตุของอาริสโตเติลคือ จุดหมายปลายทาง หรืออันตเหตุ (Final cause) ซึ่งคือจุดประสงค์ของสิ่งนั้น โดยเรือสำเภาของธีเซียสก็มีจุดหมายปลายทางเดิม ถึงแม้ว่าวัสดุเหตุจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

และสุดท้าย สัมฤทธิเหตุ (Efficient cause) คือวิธีการและผู้สร้างที่ก่อให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น เช่น ช่างฝีมือที่ถักทอและประกอบวัตถุ ในกรณีเรือสำเภาของธีเซียสนั้นหมายถึง คนงานที่สร้างเรือในตอนแรก ซึ่งน่าจะได้ใช้เครื่องมือและเทคนิคการสร้างเดียวกันในการซ่อมแผ่นไม้ของเรือ

อาถรรพ์รัก 7 ปี

มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวไว้ว่า ร่างกายของมนุษย์จะเกิดใหม่ทุก ๆ 7 ปี คุณอาจจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ มันอาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มันอาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่มากมายอย่างมีนัยสำคัญ หรือมันอาจเป็นเพียงเป็นแค่ริ้วรอยที่เหี่ยวย่นตามกาลเวลา ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ มันเกิดขึ้นในระดับของหน่วยที่เล็กที่สุดซึ่งประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของมนุษย์ ซึ่งก็คือ ระดับเซลล์ (Cellular level)

งานวิจัยหลายแห่งพบว่า ระยะเวลาที่เซลล์ในร่างกายทุกเซลล์ได้รับการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดอยู่ในช่วงเวลา 7 ปีพอดีโดยประมาณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ทำให้ร่างกายของเราเหมือนเป็นคนใหม่ทั้งหมดเท่านั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของเซลล์ร่างกายที่สัมผัสจับต้องได้เท่านั้น แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทุก ๆ 7 ปี เช่นกัน

แม้อาจจะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสรุปได้ว่าอาถรรพ์รัก 7 ปีมีอยู่จริง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถหนีความจริงที่ว่า ความสัมพันธ์ของคนเรามักจะพังทลายลงในช่วงระยะเวลา 7 ปี และทฤษฎีเดียวกันนี้ก็อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญไปซะทีเดียว เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนเรื่องวัฎจักรเซลล์ ร่างกาย และจิตใจ

ซึ่งเราสามารถพูดโดยรวมแบบไม่ตัดสินได้ว่า ตัวคุณเมื่อ 7 ปีที่แล้วอาจจะไม่ใช่ตัวคุณในวันนี้ ดังนั้น ถ้าหากจะมีใครสักคนที่รักและรับความเป็นตัวคุณได้จนถึงตอนนี้ นั่นคงเป็นเพราะเขาคนนั้นรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ความคิด หรือจิตใจของคุณได้ และรักตัวตนคุณจากใจจริงนั่นเอง

เราคือใคร?

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้นำพาเราไปสู่คำถามสำคัญอีกข้อเกี่ยวกับตัวตนของเรา

ถ้าหากเราลองนำเรือสำเภาของธีเซียสมาเปรียบเทียบกับร่างกายของเรา การเปลี่ยนแผ่นไม้เก่าที่ผุพังก็เปรียบเสมือนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ที่ตายด้วยเซลล์เกิดใหม่ และถ้าวันหนึ่ง เราได้ทำเป้าหมายของเราสำเร็จลุล่วงแล้ว แต่ตัวตนของเราในวันนี้ไม่ใช่ตัวตนเดียวกับเมื่อ 7 ปีก่อน หมายความว่าเราไม่ได้บรรลุเป้าหมายใช่หรือเปล่า? แล้วชีวิตของเราจะไร้ความหมายหรือไม่?

ถ้าหากเรายังคงเดินตามเป้าหมายเดิมอยู่ ตัวเราในวันนี้กับตัวเราเมื่อ 7 ปีก่อนเป็นคนเดียวกันหรือไม่? ถ้าไม่ แล้วตัวเราในตอนนี้คือใคร? แท้จริงแล้ว เราควรจะเลือกใช้ปัจจัยใดในการบรรยายถึงตัวตนของเรากันแน่?

เช่นเดียวกันกับความสำเร็จ ผมคงไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้อง 100% ได้อย่างแน่นอน แต่สำหรับตัวผมเองนั้น ผมเลือกที่จะนิยามตัวตนของผมจาก อันตเหตุ (Final cause) หรือจุดหมายปลายทางในชีวิตของผม

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิตคือความสำเร็จ แล้วถ้าความสำเร็จนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถกำหนดเองได้ และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า

อะไรคือความหมายของชีวิต?

เราเชื่อการศึกษาได้จริงหรือ?

“Deutschland über alles”

“ชาติเยอรมันเหนืออื่นกว่าชาติใด” คือ ท่อนหนึ่งของเพลงชาติเยอรมนีในสมัยที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีปกครองประเทศ ครั้งหนึ่งชาวเยอรมันทุกเพศทุกวัยต่างร่วมร้องเพลงนี้อย่างภาคภูมิ และเชื่ออย่างสนิทใจว่า เผ่าพันธุ์เยอรมันคือสายพันธุ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก — “ชาติเยอรมันเหนืออื่นกว่าชาติใด”

ความตั้งใจสูงสุดของฮิตเลอร์และพรรคนาซีคือการสร้างประเทศเยอรมนีให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และเพื่อที่จะทำให้ความฝันของฮิตเลอร์สำเร็จ นอกเหนือจากการสร้างแสนยานุภาพทางการทหารแล้ว การสร้างพลเมืองในอุดมคติตามแบบฉบับของพรรคนาซีก็เป็นอีกหนึ่งรากฐานที่สำคัญเช่นกัน จึงหนีไม่พ้นเรื่องของการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนระดับชั้นต่าง ๆ

หลังจากที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ เขาก็ได้ทำการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาทั้งหมดโดยทันที เขาสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรใหม่เกี่ยวกับเรื่อง “ความตระหนักทางเชื้อชาติ หรือ racial awareness” เด็กนักเรียนทุกเพศทุกวัยจะต้องเรียนรู้ถึงหน้าที่ทางเชื้อชาติของพวกเขา นอกจากนี้ ทุกคนยังต้องได้รับการศึกษาที่เน้นในเรื่องของชีววิทยาและธรรมชาติวิทยา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ที่ “มีคุณค่า” และ “ไร้คุณค่า” เพื่อเสริมสร้างความตระหนักทางเชื้อชาติ และการแบ่งแยกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความจริงอันน่าโหดร้ายคือ พรรคนาซีและฮิตเลอร์ประสบความสำเร็จครับ นโยบายการศึกษาใหม่สามารถหล่อหลอมเด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ล้านคน ให้กลายเป็นพลเมืองตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนที่พวกเขาจะสังเกตเห็นถึงความผิดปกติทางสังคมและต่อต้านพรรคนาซี ในทางตรงกันข้าม เยาวชนส่วนใหญ่กลับเชื่อฟังและเทิดทูนบูชาพรรคนาซีมากกว่าพ่อแม่ของพวกเขาเสียอีก เด็กบางคนถึงกับประณามพ่อแม่ของพวกเขา หรือแจ้งเจ้าหน้าที่พรรคทันที เมื่อพบว่าผู้ปกครองของเขามีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อพรรคนาซี

ท้ายที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์เหล่านี้อาจะนำพาเราไปสู่อีกหนึ่งคำถามสำคัญ

เราเชื่อการศึกษาได้จริงหรือ?

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็มีค่านิยมหลายประการที่ถูกสืบทอดต่อกันมาผ่านระบบการศึกษา ที่แม้แต่คุณเองก็คงจะรับรู้และสังเกตุเห็นได้ไม่ยาก เช่น การแข่งขัน หรือการแบ่งชนชั้น เป็นต้น

ถ้าหากคุณไม่อยากถูกการศึกษาตีกรอบทางความคิด หรือถูกปลูกฝังค่านิยมบางอย่างตามอุดมคติของใครบางคน คุณก็ควรหันกลับมาตั้งคำถามกับการศึกษาของตัวเองให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อเหตุผลสุดท้ายที่สำคัญที่สุด “การหาความหมายของชีวิต”

ทางเลือก

คนไทยส่วนใหญ่มักถูกปลูกฝั่งตั้งแต่เด็กว่า ชีวิตนั้นเปรียบเสมือนทางเลือก ถ้าหากเราเลือกที่จะเดินบนเส้นทางหนึ่งแล้ว เราจะไม่สามารถแก้ไขได้มันอีกต่อไป หรือเราอาจจะต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เพื่อเลือกอีกเส้นทางที่แตกต่างออกไป

ผมก็วาดรูปเก่งเหมือนกันนะเนี่ย

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังถูกบังคับให้เลือกเส้นทางสำคัญต่างๆในชีวิต ตั้งแต่ตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่เรายังไม่พร้อม และต้องทนอยู่กับความกลัวจากการตัดสินใจที่ใหญ่เกินจะรับไหว เช่น ถ้าหากคุณอยากเป็นหมอ คุณต้องเลือกเรียนสายวิทย์คณิตเท่านั้น ห้ามเรียนสายศิลป์ภาษาเป็นอันขาด ไม่อย่างงั้นคุณอาจจะสอบไม่ติดคณะแพทย์ หรือไม่คุณก็อาจจะต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็คือการซิ่วนั่นเอง

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ คนเรามักจะไม่กล้าตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของตัวเอง และในบางครั้ง เราไม่กล้าแม้กระทั่งจะกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยซ้ำไป เพราะเรากลัวว่าเส้นทางใหม่ที่เราเลือกนั้นอาจจะไม่ดีเท่าเดิม หรือก็คือสิ่งที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ “Status-quo Bias” นั่นเอง

การผจญภัย

เวลาที่เราพูดถึงการผจญภัย สิ่งที่เรามักจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ “ความสนุก” เราทุกคนล้วนอยากมีการผจญภัยเป็นของตัวเอง และไขว่คว้าค้นหามัน เรารับรู้ว่ามันเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากมายมหาศาล มากจนกระทั่ง ทำให้เราสามารถข้ามภัยอันตรายหรือความไม่แน่นอนที่มักจะมาพร้อมกับการผจญภัย นอกจากนี้เรายังรู้อีกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการผจญภัยนั้นไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นสิ่งที่เราเจอระหว่างการเดินทางต่างหาก เราต่างรู้ดี ถูกไหมครับ

แต่ในขณะเดียวกัน นับเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เมื่อเวลาเราพูดถึงการใช้ชีวิต เรากลับมักถูกอารมณ์ความรู้สึกครอบงำ และไขว้เขวได้อย่างง่ายดาย เรากลัวความล้มเหลว เรากลัวการเลือกเส้นทางผิด เรากลัวว่าจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้ โดยมองข้ามสิ่งที่สำคัญที่สุดไป

Enjoy the journey, not the destination — Jakpat M.

ชีวิตไม่ใช่การเลือก

ผมได้เรียนรู้ว่า การใช้ชีวิตไม่ใช่การเลือกเส้นทางที่มีคนจำกัดความไว้ให้แล้ว แต่เป็นการสร้างเส้นทางการผจญภัยของตัวเองขึ้นมาใหม่ เราสามารถที่จะเดินไปทางซ้ายหรือทางขวาเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ ไม่ใช่ทางเดินคู่ขนานอย่างที่เราเข้าใจผิดเสมอมา

My mom always said life was like a box of chocolates. You never know what you’re gonna get. — Forrest Gump

คุณผู้อ่านหลายท่านคงจะเคยได้ยินวลีเด็ดนี้จากหนังเรื่อง Forrest Gump อยู่บ่อยครั้ง บางคนก็เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบนี้ บ้างก็ว่าเหลวไหลเกินความเป็นจริงไปหน่อย แต่สำหรับผมแล้ว เหตุผลเดียวกันนี้นี่แหละที่ทำให้ผมชอบกินช็อกโกแลตเป็นที่สุด แล้วถ้าอย่างนั้น ทำไมผมถึงจะไม่ชอบการใช้ชีวิตละ?

ชีวิตไม่ใช่การเลือก

ชีวิตคือการเลือก

กฎการยกกำลัง

ในคัมภีร์ไบเบิลมีคำกล่าวว่า

“ผู้ที่มีอยู่แล้วจะมีมากขึ้นจนเหลือเฟือ ส่วนผู้ที่ไม่มีนั้นแม้แต่สิ่งที่มีอยู่ก็จะถูกพรากไป”

อัลเบิร์ตไอน์สไตน์เองก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ดอกเบี้ยทบต้นเป็น “สิ่งมหัศจรย์ลำดับที่แปดของโลก” หรือ “การค้นพบทางคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าไอน์สไตน์พูดแบบนั้นจริง และดอกเบี้ยทบต้นก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อก็คือ เราไม่ควรประมาทพลังของการเติบโตแบบทวีคูณ “กฎการยกกำลัง” หรือ “Power Law” นั่นเอง

โดยส่วนใหญ่แล้วการลงทุนแบบวิธีหว่านแหและรอลุ้น มักจะล้มเหลวไม่เป็นท่า เนื่องจากผลตอบแทนจากการร่วมลงทุนนั้นไม่ได้เป็นไปตามกฎการแจกแจงแบบปกติ แต่เป็นไปตามกฎการยกกำลังมากกว่า หลังจาก Facebook ซื้อกิจการของ Instagram ไปในปี 2010 บริษัท แอนดรีเซน โฮโรวิตซ์ ได้กำไร 78 ล้านดอลลาร์ จากเงินลงทุนเพียง 250,000 ดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากแอนดรีแซนเลือกลงทุน 250,000 กับทุกบริษัท พวกเขาต้องเจอบริษัทอย่าง Instagram มากถึง 19 แห่ง ถึงจะสามารถทำให้มูลค่าบริษัทสูงเท่าปัจจุบันได้

นักลงทุน

กฎการยกกำลังไม่ได้มีความสำคัญต่อการร่วมลงทุนในเชิงธุรกิจเท่านั้น เพราะพวกเราทุกคนล้วนเป็นนักลงทุนเช่นกัน เมื่อเราเลือกอาชีพ ก็เท่ากับว่าเราเชื่อว่างานนั้นจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าไปอีกหลายสิบปี

“อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว”

เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เราทุกคนถูกสอนให้กระจายความเสี่ยง แม้แต่นักลงทุนที่เก่งกาจก็ยังกระจายการลงทุนให้อยู่กับหลายบริษัก แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากคุณเป็นนักลงทุนที่เข้าใจกฎการยกกำลัง คุณก็จะพยายามลงทุนกับบริษัทให้น้อยที่สุดเท่าที่จะป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ใช่พอร์ตการลงทุน เราไม่สามารถกระจายความเสี่ยงให้กับชีวิต โดยการทำงานหลายสิบอาชีพพร้อมกันได้

แต่ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาของเรากลับสอนไปในทิศทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยทุกแห่งเชื่อในเรื่องของ “ความเป็นเลิศ” ในทุกสิ่งที่ทำ และคู่มือหลักสูตรหนาหลายร้อยหน้าที่สามารถทำให้คุณคอหักได้โดยการขว้างเพียงครั้งเดียว ก็ดูเหมือนจะถูกออกแบบมาเพื่อตอกย้ำว่า “ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะทำอะไร ตราบใดที่คุณทำสิ่งนั้นได้ดี” แต่น่าเสียดายที่นั่นเป็นความคิดที่ผิดมหันต์อย่างไม่น่าให้อภัย จริงอยู่ที่คุณควรจะจดจ่อกับสิ่งที่คุณทำให้ดีที่สุด แต่โลกนี้โหดร้ายกว่าที่คุณคิด ดั้งนั้นก่อนที่คุณจะทุ่มเทให้กับสิ่งใด จงคำนึงถึงกฎแห่งการยกกำลังอยู่เสมอ และคิดให้หนักว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่ากับคุณในอนาคตหรือไม่

อย่าปล่อยให้โลกที่ปฎิเสธพลังแห่งกฎการยกกำลังมาตีกรอบการตัดสินใจของคุณ ถึงแม้ว่ามันจะหมายถึงโลกที่คุณดำรงอยู่มาตลอดชีวิตก็ตาม — Jakpat M.

เราเลือกตลอดเวลา

My mom always said life was like a box of chocolates. You never know what you’re gonna get. — Forrest Gump

ถึงแม้ว่าชีวิตของเราอาจจะเหมือนกล่องช็อกโกแลต เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะเจอกับรสชาติอะไรบ้างหากเรายังไม่ได้ลองเปิดกล่องดู และเราก็อาจจะไม่รู้รสชาติที่แท้จริงของมันถ้าหากยังไม่ได้ลองชิม แต่ในท้ายที่สุดแล้ว คนที่เลือกว่าจะหยิบช็อกโกแลตชิ้นไหนขึ้นมาลิ้มรสบ้างก็คือ “ตัวของเราเอง”

ชีวิตคือการเลือก

--

--

Jakpat Mingmongkolmitr

A full-time learner, part-time developer and sometime writer.