ดองดึง: ไม้ดอกมีพิษ

Jaran Pr
2 min readMar 5, 2024

ดองดึงไม้เถาล้มลุกที่จัดอยู่ในสกุล Gloriosa ซึ่งพืชในสกุลนี้ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ Gloriosa baudii (A.Terracc.) Chiov., Gloriosa carsonii Baker, Gloriosa flavovirens (Dammer) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa lindenii (Baker) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa littonioides (Welw. ex Baker) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa modesta (Hook.) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa revoilii (Franch.) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa rigidifolia (Bredell) J.C.Manning & Vinn., Gloriosa sessiliflora Nordal & Bingham, Gloriosa simplex L. และ Gloriosa superba L. โดยสมาชิกส่วนใหญ่พบกระจายอยู่ในเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนของทวีปแอฟริกา(1)

สำหรับดองดึง (Gloriosa superba L.) จัดเป็นชนิดที่มีขอบเขตการกระจายพันธุ์ที่กว้างที่สุดเนื่องจากพบการกระจายในหลายประเทศของแอฟริกาตอนกลางและตอนใต้ รวมถึงพบเกือบทุกประเทศในเขตร้อนของเอเชีย(1) สำหรับประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคแต่จะพบมากในภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันตก โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น คมขวาน (ประจวบคีรีขันธ์) ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู (ภาคกลาง) พันมหา (นครราชสีมา) มะขาโก้ง (ภาคเหนือ) หัวขวาน (ชลบุรี)(2)

ภาพที่ 1 ลักษณะใบ ดอก ฝัก เมล็ด และหัวของดองดึง

ลักษณะทั่วไปของพืชชนิดนี้ลำต้นจะเลื้อยพันไม้อื่นซึ่งยาวได้ถึง 3 เมตร มีหัวใต้ดินคล้ายหัวขวาน ใบเดี่ยวรูปลิ่มแคบเรียวยาวปลายใบม้วนใช้ยึดเกาะ เส้นใบขนานตามยาวของใบ แผ่นใบสีเขียว ดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กลีบดอกบิดเป็นเกลียวแข็ง มี 6 กลีบ ดอกอ่อนมีสีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อดอกบานเต็มที่ ดอกจะชูเกสรเพศผู้เลยพ้นกลีบดอกขึ้นมา ผลเป็นฝักแห้งแล้วแตก รูปทรงกระบอกมี 3 พู ภายในมีเมล็ดทรงกลมสีส้มมากถึง 14 เมล็ด

ดองดึงเป็นพืชที่มีลักษณะของดอกที่โดดเด่นและสวยงามมากสามารถปลูกเป็นไม้ดอกประดับได้ ปัจจุบันมีการปลูกทั่วโลกเพื่อใช้เป็นไม้กระถางและไม้ตัดดอก แต่การปลูกต้องระวังการเข้าทำลายจากเชื้อรา Sclerotium sp. สำหรับการปลูกดองดึงสามารถปลูกได้ทั้งจากเมล็ดและจากหัว แต่การเพาะปลูกจากหัวเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดเพราะมีอัตราการรอดสูง เจริญเติบโตได้รวดเร็วและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เร็ว ขณะที่การปลูกจากเมล็ดถึงแม้จะมีอัตราการงอกสูงแต่จะใช้ระยะเวลาการปลูกที่ยาวนานกว่า สำหรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกดองดึงจะต้องมีแดดจัด และชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี

ภาพที่ 2 ต้นกล้าดองดึงจากการเพาะเมล็ด (ก) การปลูกด้วยหัว (ข) และการเข้าทำลายจากเชื้อรา (ค)

ดองดึงเป็นพืชที่ทุกส่วนมีพิษ โดยเฉพาะส่วนหัวใต้ดินที่มีสารพิษกลุ่มโคลชิซีน (Colchicine) สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท หัวใจ ไต และระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานเข้าไปทำให้เกิดการระคายเยื่อบุลำไส้ หายใจลำบาก อาเจียน และอาจถึงตายได้(3)(4)(5)

กล่าวโดยสรุปดองดึงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม และมีสรรพคุณทางสมุนไพรในการรักษาโรค แต่การใช้ประโยชน์จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวังถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย

เอกสารอ้างอิง

1. POWO (2024). “Plants of the World Online. Facilitated by the Royal Botanic Gardens, Kew. Published on the Internet; http://www.plantsoftheworldonline.org/ Retrieved 05 March 2024.”

2. สำนักงานหอพรรณไม้. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์. กรุงเทพฯ: สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.

3. วชิรพงษ์ หวลบุตตา. (2548). ไม้ประดับมีพิษ. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน.

4. Jana, S. & Shekhawat, G.S. (2011). Critical review on medicinally potent plant species: Gloriosa superba. Fitoterapia, 82, 293–301.

5. นิจศิริ เรืองรังษี. (2547). สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บี เฮลท์ตี้.

--

--