อริสโตเติล : บิดาแห่งการพัฒนาการการเรียนรู้ของมนุษย์

ประสบการณ์มนุษย์ในสมัยโบราณ เริ่มต้นจากการเสาะแสวงหาความรู้ความจริงต่าง ๆ จากธรรมชาติและประสบการณ์ (Experience) ของตนเองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ และได้กลายเป็นตัวแปร (variables) หรือปัจจัยช่วยให้สามารถค้นพบคำตอบที่เป็นความรู้มากมาย จึงทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น รู้จักใช้สติปัญญา ความคิดและเหตุผลในการแก้ปัญหา และศึกษาข้อเท็จจริงต่าง ๆ

เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มีความคิดริเริ่มและมีระบบประสาทที่วิวัฒนาการดีกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ จึงทำให้มนุษย์รู้จักใช้เสียง และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในการสื่อความหมาย เช่น รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร และตัวเลขเข้ามาช่วยในการติดต่อสื่อสาร และใช้ช่วยในการจดบันทึกปรากฏการณ์และประสบการณ์ต่าง ๆ มนุษย์พยายามเสาะแสวงหาความรู้และพยายามทำความเข้าใจกับสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ทางธรรมชาติ โดยหวังที่จะปรับปรุงวิถีทางในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น อนึ่งความรู้ในที่นี้หมายถึง ข้อเท็จจริงและทฤษฎีต่าง ๆ ที่ช่วยให้สามารถเข้าใจปรากฎการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติและช่วยในการแก้ปัญหา

ประสบการณ์มนุษย์ในสมัยโบราณเริ่มเสาะแสวงหาความรู้ความจริงต่าง ๆ โดยอาศัยปรากฏการณ์ของตนเองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เท่านั้น จากประสบการณ์ที่เขามีอยู่จะช่วยให้สามารถค้นพบคำตอบที่เป็นความรู้ความจริงมากมาย อาทิ การที่มนุษย์ทราบว่าไฟทำให้วัตถุร้อนหรือไหม้ได้ จึงได้นำไฟมาใช้ในการหุงอาหาร แม้แต่ในปัจจุบัน มนุษย์ก็ยังใช้วิธีหาความรู้จากประสบการณ์ เนื่องจากวิธีค้นหาความรู้ของมนุษย์ในสมัยนั้น เป็นวิธีแบบลองผิดลองถูก อาศัยความเชื่อทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี จากคำบอกเล่าของผู้รู้และประสบการณ์บางส่วน จึงทำให้มนุษย์ค้นพบความรู้ที่เป็นความจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์มิได้ลดละความพยายามที่จะศึกษาค้นหาความรู้ให้น้อยลงไปเลย มนุษย์ที่เริ่มเกิดใหม่ในสมัยต่อมากลับมีความพยายามเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้อาจเป็นเพราะมนุษย์มีความจำเป็นต้องเอาชนะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง

จากการที่มนุษย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์และเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น จึงทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้น รู้จักใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาและศึกษาข้อเท็จจริงต่าง ๆ มนุษย์ที่มีลักษณะข้างต้นและมีชื่อเสียง ได้แก่ อริสโตเติล (Aristotle) เซอร์ฟรานซิส เบคอน (Fransis Bacon) ชาร์ลส ดารี่วิน (Charies Darwins) และจอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill)

สำหรับ อริสโตเติล (Aristotle : The Thinker, 284–322 B.C.) ปราชญ์ชาวกรีกผู้ยิ่งใหญ่ ให้ความรู้แก่ “มนุษยชาติ” เรามากมาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำแนะนำถึงการดำเนินชีวิตและกระบวนการค้นหาความรู้ความจริงในส่วนที่เป็นรูปธรรมในเชิงวิทยาศาสตร์ ทัศนะของอริสโตเติลมีแบบแผนคนละแนวกับเปลโต (Plato: 427 B.C.) และโสเครติส ในขณะที่เปลโตเป็นมโนนิยม (Idealism) อลิสโตเติลยึดหลักประจักษ์นิยม ( Realism ) และในขณะที่เปลโตเป็นนามธรรม (Abstract) อริสโตเติล ยึดรูปธรรม (Concreate) ซึ่งแนวคิดทฤษฎีและแนวทางต่าง ๆ ของท่านสอดคล้องและใกล้เคียงกับหลักและวิธีการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (New Sciences) และเป็นวิธีการ (Methodology) ที่ถูกต้องสำหรับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จากหลายวิชา ซึ่งมีวิวัฒนาการกันตามลำดับมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่ก็ยังมีหลักการอีกหลายประการที่วิทยาศาสตร์ยังคันหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวคิดเชิงทฤษฎีที่อริสโตเติลได้ค้นคว้าให้แก่มนุษยชาติในปัจจุบันยังไม่ได้

อริสโตเติลได้แบ่งศาสตร์แห่งความรู้ออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. ความรู้ด้านทฤษฎีหรือที่เป็นเชิงวัตถุวิสัย 2. ความรู้ทางด้านการปฏิบัติ 3. ความรู้ที่ได้จากผลของการปฏิบัติ เช่น ศิลปะอริสโตเติล

ให้หลักการและแนวคิดในการพัฒนาวิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์โดยอาศัยปัจจัยองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ดังกล่าวได้แก่ ความรู้ทางด้านทฤษฎี ทางด้านการปฏิบัติและผลของการทดลอง และสรุปในรูปของกระบวนการคำถาม 4 ประการ คือ มันคืออะไร มันทำด้วยอะไร มันสร้างขึ้นมาอย่างไร และทำไมมันถูกสร้างขึ้นมา

ฉะนั้นวัตถุทุกชนิดในโลกแห่งประสาทสัมผัสจึงเป็นการรวมรูปวัตถุเข้าด้วยกัน นี่คือความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างเปลโตกับอริสโตเติล โดยเปลโตเห็นว่า มโนคติเป็นนามธรรมที่อยู่ในโลก แต่อริสโตเติลเห็นว่า เป็นนามธรรมที่อยู่นอกโลก

วิธีการทางแพทยศาสตร์ในปรัชญาของอริสโตเติลสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนา แสวงหาความรู้ของมนุษย์ด้วยการพัฒนาหลักการ โดยการสืบและค้นคว้า (Iquiry Method) อย่างมีเหตุผลและเป็นกระบวนการที่สามารถมองเห็นภาพที่เป็นจริงในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของการพิจารณาด้านฟิสิกส์ วิญญาณ อภิปรัชญา ของบุคคลอื่น ๆ เพื่ออริสโตเติลจะได้สรุปมโนทัศน์ (Concept) และวางแนวทางวิทยาการความรู้ตามหลักปรัชญาต่อไป

ด้วยเหตุนี้ อริสโตเติลจึงได้สอนไว้ในวิชาจริยศาสตร์ว่า ความสุขของมนุษย์คือความสุขที่ได้มาจากใจ ไม่เหมือนกับความสุขทางกายที่ไม่จีรังยั่งยืน คุณธรรมความดีย่อมเกิดจากความยับยั้งชั่งใจการระบายความปรารถนาให้ถูกส่วนและการมีศิลปะในการดำเนินชีวิตในด้านความคิด เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อริสโตเติล กล่าวอธิบายว่า ความแตกต่างระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความแตกต่างที่พบในสิ่งที่ประกอบด้วยเนื้อหาทางวิชาการโดยธรรมชาติ และธรรมชาติของรูปร่างของแต่ละสิ่งจากผลิตผลทางศิลปะ โดยอาศัยหลักภายในแห่งการเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง บางวันโตหรือเพิ่มขึ้นตามขนาด บางอย่างเมื่อเปรียบเทียบโดยปริมาณแล้วมันก็คงที่ธรรมชาติเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงอินทรียวัตถุและองค์ประกอบของธาตุ พืช สัตว์ แต่ละส่วนของมันซึ่งแตกต่างในส่วนปลีกย่อยที่ประกอบขึ้นด้วยวิชาฟิสิกส์ รวมถึงดาราศาสตร์ เคมีและอุตุนิยมวิทยา จิตวิทยาก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติแสดงให้เห็น เนื้อหา มิได้เป็นเรื่องธรรมชาติอย่างแท้จริง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอทั้งในเรื่องขนาด พื้นผิวปริมาตร เส้น จุดและจำนวน นักวิทยาศาสตร์มักจะมุ่งความสนใจไปยังจำนวนต่าง ๆ มากกว่าสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องวัตถุ และความเคลื่อนไหวที่อยู่ในอภิปรัชญาหรือที่เรียกว่าปรัชญาชั้นสูง อภิปรัชญามีความเกี่ยวพันกับหลักการแห่งความรู้ขั้นสูงสุดและเกี่ยวกับสาเหตุของความเป็นอยู่และการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ก็ยังมีหลักการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ในสากลโลก

การเรียนวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดและชัดแจ้งนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของเรื่องราว ความมุ่งหมายและหลักการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของศิลปะ การพิจารณาตามทฤษฎีหรือให้เป็นไปตามลักษณะหรือเหตุการณ์ของสิ่งต่าง ๆ หรือการกระทำต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งต้องพิจารณาจากคำตอบที่นิยมกันของทุกคำถาม ความสัมพันธ์ของปัญหาทางวิทยาศาสตร์นำไปสู่การอภิปรายที่อยู่ในคำแนะนำของอริสโตเติลเอง เป็นผลให้เกิดประวัติการอภิปรายแพร่หลายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นผลหรือปัจจัยหาข้อสรุปเป็นทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติในที่สุด

อิทธิพลทางความคิดในการเขียนปรัชญาเรื่องสุดท้ายของอริสโตเติลเป็นการคาดคะเนย้อนไปไกลที่สุดของผลงานการเขียน โดยได้แสดงจุดเด่นคือ การแสดงให้เห็นแนววิธีการ “การวิพากษ์วิจารณ์” (Criticism) ที่มุ่งจะแยกอุดมคติของนักปรัชญาทั้งสองแนวทางออกจากกัน หลักการที่ได้มานั้นช่วยให้เกิดหลักที่อ้างอิง (Reference) และมีอิทธิพลสำหรับนักปรัชญาอื่น ๆ ซึ่งมักจะใช้อธิบายลักษณะที่ยากแก่การอธิบาย โดยไม่อธิบายถึงข้อขัดแยังทางปรัชญา แต่ต่อมาก็ได้มีการค้นหามติที่จะนำไปสู่การอธิบายอย่างเป็นกลางในรูปของกระบวนทัศน์ (Paradigm) ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของอริสโตเติล ทำให้เกิดผู้เชี่ยวชาญขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังกล่าวได้ว่า อริสโตเติลเป็นคนแรกที่บัญญัติ กำหนดศัพท์และปัญหาทางปรัชญาอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน มีการตีความหมายและการแก้ปัญหานั้นด้วย อนึ่งได้มีการอภิปรายปัญหาทางศีลธรรม ตรรกศาสตร์ (Logic) และฟิสิกส์ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความประทับใจที่มีต่อความคิดของอริสโตเติล แม้จะห่างจากความคิดทางการเมืองไปบ้าง อย่างไรก็ตาม ปรัชญาแบบอริสโตเติลก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาการและวิธีการแสวงหาความรู้ของมนุษย์โดยทั่วไปต่อนักศึกษาและผู้เชี่ยวชาญในทางวิทยาศาสตร์มาก และมากกว่าในทางการเมืองด้วยซ้ำไป ซึ่งทำให้อริสโตเติลเป็นลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของเปลโต แต่เราเกือบจะหาความคิดทางการเมือง อันเป็นประเด็นหลักของอริสโตเติลในรูปของการปกครองไม่ได้เลย แต่หากเมื่อได้ผนวกระบบความคิดทางการเมืองของอริสโตเติลในรูปแบบของการพิสูจน์ (Proof) ทางวิทยาศาสตร์แล้ว เราก็ต้องยอมรับว่า “อริสโตเติล” ศรัทธาในความจริง (Reality) มากกว่าความเพ้อฝัน และความจริงของเขาก็คือ “รูปแบบ” ที่มาในลักษณะของวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้นั่นเอง (ปดิวรัดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, 2553)

ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า อริสโตเติล จึงเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการแก่ชาวโลกในฐานะบิดาแห่งการพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ในสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้นพบ (Discovery) ในวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ในยุคต้น ๆ นั่นก็คือ วิธีอนุมาน (Deductive Method) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการหาข้อเท็จจริง โดยวิธีการใช้เหตุผลประกอบด้วยข้อเท็จจริงใหญ่ ซึ่งถือว่า เป็นเหตุการณ์ที่มีความเป็นจริงอยู่แล้วภายในตัวของมันเอง และข้อเท็จจริงย่อยเกี่ยวข้องกับกรณีเฉพาะที่สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงใหญ่ โดยการนำประยุกต์และหาข้อสรุป (Conclusion) เพื่อไปเรียนรู้และการพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยอย่างเป็นระบบระเบียบเพื่อใช้งานต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ปดิวรัดา ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา. (2553). เทคโนโลยีสื่อเชิงสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.

ข้อมูลผู้เขียน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระย