Strategy กลยุทธ์ คำที่ใครๆก็พูดถึง

--

กลยุทธ์ คือ การกำหนดเป้าหมายและวิธีการเดินหน้าสู่เป้าหมาย ที่ผ่านการวิเคราะห์ภาพรวมทั้งภายในและภายนอก องค์ประกอบและปัจจัยตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

พูดเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่ายๆคือ เหมือนการบัญชาการในสนามรบ ที่แม่ทัพที่มีกลยุทธ์อย่างขงเบ้ง สุมาอี้ จะไม่ใช่คนที่เข้าไปโรมรันสนามรบด้วยตัวเอง แต่จะเป็นคนที่คอยวางแผนโดยมองภาพรวมของการศึกสงคราม

ผู้ที่จะกำหนดกลยุทธ์ได้ ต้องเข้าใจว่ากองทัพตัวเองเป็นแบบไหน มีจุดแข็งด้านใด มีจุดอ่อนตรงไหน และเข้าใจกองทัพฝั่งตรงข้าม ตามตำราซุนวูที่กล่าวว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” นอกจากนี้ยังต้องรู้ดินฟ้า อากาศ สถานการณ์โดยรอบ ปัจจัยใดที่เอื้อต่อความสำเร็จ สามารถสร้างเป็นโอกาสให้ทัพตัวเองได้ ปัจจัยใดที่อาจเป็นภัยและต้องหาทางระวังไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใช้และคิดในการศึกสงคราม และถูกประยุกต์มาใช้ในทุกการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬา จนมาถึงการแข่งขันด้านธุรกิจ

เครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยในการวิเคราะห์หากลยุทธ์ที่เหมาะสมให้เราได้ และยังใช้ได้เสมอคือ SWOT หรือการวิเคราะห์
1. Strength จุดแข็ง
2. Weakness จุดอ่อน
3. Opportunity โอกาส
4. Threat ภัยคุกคาม
SWOT ช่วยให้นักวางกลยุทธ์ เข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราสามารถกำหนดทิศทางที่จะเดินต่อไป ซึ่งก็คือการกำหนดกลยุทธ์นั่นเอง

การกำหนดกลยุทธ์นั้น ประกอบไปด้วยปัจจัยสำคัญดังนี้
1. What เป้าหมาย (ที่กำหนดโดยรู้ซึ้งชัดเจนว่า ขณะนี้ เราอยู่ที่ไหน และ เราอยากจะไปตรงจุดไหน)
2. How วิธีการ (เราจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร)
นี่เป็นวิธีการพื้นฐานในการกำหนดกลยุทธ์

แต่แนวคิดใหม่ๆ ทำให้เราเห็นว่าจริงแล้วการกำหนดกลยุทธ์ที่ดี ควรจะต้องลงลึกไปกว่านั้น และเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ทำไม (Start with WHY?) เมื่อเข้าใจแก่นแท้แล้วค่อยกำหนดเป้าหมาย ดังนี้
1. Why หาแก่นแท้ (ใช้คำว่าทำไม ถามไปเรื่อยๆจนเจอแก่นแท้ของสิ่งที่ต้องการ เช่นหากต้องการแก้ปัญหาอะไรคือแก่นแท้ของปัญหา จะกำหนดกลยุทธ์ทิศทางของบริษัทอะไรคือแก่นแท้ของบริษัท)
2. What เป้าหมาย (ค่อยกำหนดเป้าหมาย หลังผ่านความเข้าใจอย่างชัดแจ้งถึงแก่นแท้ เพื่อที่จะรู้ว่าเราจะมุ่งไปตรงไหน อย่างมีเหตุผลและที่มาที่ไป)
3. How วิธีการ (จากนั้น กำหนดวิธีการ โดยใช้แนวคิด Concept มาอธิบายวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย ก่อนจะนำไปสู่การวางแผน ออกแบบวิธีการอย่างมีเหตุผล)

4. Assess ตรวจสอบ (ตรวจสอบกำหนดตัวเปรียบเทียบ เพื่อวัดว่ากลยุทธ์ที่กำหนดไว้ เป็นไปตามแผนการหรือไม่ หากไม่ ต้องกลับไปวิเคราะห์ใหม่ เพื่อปรับกลยุทธ์ให้ดีที่สุดเสมอ)

สิ่งสำคัญที่สุดของการทำกลยุทธ์ที่มักถูกมองข้าม แต่มีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดว่ากลยุทธ์ที่วางไว้จะสำเร็จหรือไม่
คือการสร้างการรับรู้ร่วมกันถึงเป้าหมาย ของคนในองค์กร เปรียบภาพเหมือนการภายเรือที่เมื่อทุกคนรู้ทิศทางที่จะไป(เป้าหมาย) แถมด้วยเหตุผลที่ไป (ทำไม) รู้วิธีการและจังหวะที่จะพาย(วิธีการ) แล้วทำร่วมกันโดยเข้าใจตรงกัน
กลยุทธ์ที่วางไว้ก็จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามที่กำหนดไว้ แต่หากการสื่อสาร การสร้างการรับรู้เรื่องกลยุทธ์ขององค์กร ไม่ชัดเจน คนในองค์กรก็จะก้าวไปอย่างไมมีทิศทางที่ชัดเจน

สิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องไม่ลืม คือกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ตัวแปรเปลี่ยน นักวางกลยุทธ์ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนกลยุทธ์
นักวางกลยุทธ์ที่ดีต้องเป็นเหมือนน้ำ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รูปทรงได้ตามสถานการณ์ที่มันอยู่ อย่ายึดถือกลยุทธ์ใดตายตัว
ดังที่ชาร์ล ดาวินซ์ ได้กล่าวไว้ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แกร่งสุดหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่พร้อมจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างหาก

(It is not the strongest species that survive, nor the most intelligent, but the … but the species that survives is the one that is able best to adapt and adjust to

--

--

Therdpong Changsirivathanathamrong

(Strategic Planning / Marketing Communication / Movie / Music / Game / Online / Tech) + Enthusiast