วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เรียนอะไร?

Danupat Kns
5 min readSep 30, 2017

--

ภาพจาก tacoma.uw.edu

“วิศวะ คอมฯ เรียนอะไร?”
“เรียนจบแล้ว ได้ทักษะ อะไรติดตัวบ้าง?”

… บทความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามสองคำถามข้างต้นครับ

โดยข้อมูลทั้งหมดในบทความนี้ อ้างอิงจากหลักสูตรของ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 2014)

“ปี 1 — การปลูกต้นกล้าความรู้” ภาพจาก avpn.asia

ปี 1 “Freshy”

วิชาที่เรียนในปีนี้ ส่วนมากเป็นวิชาพื้นฐาน เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในวิชาปีที่สูงขึ้นไปครับ โดยส่วนมากอาจจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์เลย แต่ก็จะมีวิชาที่เน้นพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ รวมทั้ง ภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

  • ENG DRAWING
    ทักษะที่ได้: การเขียนแบบด้วยมือ และ ด้วยโปรแกรม AutoCAD
    การเขียนแบบ หรือ การแสดงรายละเอียดของวัตถุ 3 มิติ ให้ลงไปอยู่ในกระดาษ 2 มิติ เป็นเนื้อหาหลักของวิชานี้ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการ ใช้ดินสอ เขียนลงบนกระดาษจริงๆ ก่อน จากนั้นจะเป็นการใช้ โปรแกรม AutoCAD ในการเขียนแบบครับ
  • CALCULUS I + II
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการคำนวณแบบแคลคูลัส
    วิชานี้เรียนเกี่ยวกับ การคำนวณทางแคลคูลัสต่างๆ เช่น การหา differentiate intigral ฯลฯ โดยกลุ่มของรายวิชานี้ จะประกอบไปด้วย CALCULUS 1 2 3 ซึ่งจะได้เรียนกันเพียง 2 ตัวเท่านั้นสำหรับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  • GEN CHEM
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเคมี
    วิชานี้คือทุกอย่างเกี่ยวกับเคมีที่เคยเรียนมาในสมัยมัธยมปลาย ตั้งแต่เรื่องของ อะตอม ไปจนถึง ไฟฟ้าเคมี และ อื่นๆ อีกมากมาย
  • GEN CHEM LAB
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปฏิบัติการทางเคมี
    เป็นการปฏิบัติการทางเคมี ข้อปฏิบัติเมื่อเข้าห้องปฏิบัติการ วิธีการไทเทรต การทดสอบหาธาตุต่างๆ ฯลฯ โดยเรียนที่ห้องปฏิบัติการทางเคมี ซึ่งเป็นวิชาที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ทุกสัปดาห์
  • GEN PHY I + II
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฏทางฟิสิกส์
    วิชานี้เรียนเกี่ยวกับ พื้นฐานของฟิสิกส์คล้ายกับที่เคยเรียนมาในสมัยมัธยมปลายอีกเช่นเคย แต่คราวนี้จะมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ การอธิบายสิ่งต่างๆบนพื้นฐานของแคลคูลัส ซึ่งตรงนี้อาจจะทำให้ผู้ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจในช่วงแรกพอสมควร ครับ
  • GEN PHY LAB I + II
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฏทางฟิสิกส์ (ปฏิบัติ)
    เป็นการปฏิบัติการทางฟิสิกส์ ตามเนื้อหาที่ได้เรียนในภาคทฤษฎี (GEN PHY I + II) เพื่อเป็นการทดสอบว่าที่ได้เรียนมานั้นเป็นจริงหรือไม่ โดยการเรียนวิชานี้เป็นการปฏิบัติจริงที่ห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์ ครับ
  • EXP ENG I + II
    ทักษะที่ได้: ทักษะพื้นฐานของภาษาอังกฤษ
    วิชานี้ประกอบไปด้วย พื้นฐานของภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ ระดับโครงสร้างของภาษา หลักไวยากรณ์ของภาษา (Grammar) การเขียนแสดงความคิดเห็น การเขียนจดหมาย ฯลฯ โดยความรู้ที่ได้รับจากวิชานี้จะถูกใช้ในชีวิตประจำวันรวมถึง การเรียนในปีต่อๆไป เช่น การเขียนจดหมาย หรือ การอ่านเอกสารวิชาเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ ครับ
  • EXPL ENG WORLD
    ทักษะที่ได้: ความรู้รอบตัวทางด้านวิศวกรรม การคิดเชิงนวัตกรรม
    วิชานี้ในช่วงแรก จะเป็นการฟังบรรยายเกี่ยวกับ เหตุการณ์ต่างๆ ทางด้านวิศวกรรมในปัจจุบัน ทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม การขนส่ง คอมพิวเตอร์ ฯลฯ และ ในช่วงหลัง จะเป็นการจับกลุ่มพัฒนาความคิดเชิงนวัตกรรม (การแข่งขันในวิชา) โดยทุกๆ กลุ่มจะได้รับโอกาสในการนำเสนอความคิดเชิงนวัตกรรมให้กับอาจารย์แต่ละกลุ่ม (cluster) โดยจะมีกลุ่มที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายในแต่ละ cluster และมีรางวัลให้กับกลุ่มที่ชนะอีกด้วย
  • COMP PROG
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานทางด้านการเขียนโปรแกรม ความคิดเชิงตรรกะ
    เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมตั้งแต่ระดับพื้นฐาน โดยวิชานี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีพื้นฐานทางด้านการเขียนโปรแกรมมาก่อน สามารถเรียนได้ การเรียนอยู่ในรูปแบบการสอนในห้องปฏบัติการคอมพิวเตอร์ โดยจะมีการเขียนโปรแกรมไปด้วย ฟังบรรยายไปด้วย ในคาบเรียน
“ปี 2 — การปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดแบบคอมพิวเตอร์“ ภาพจาก amazonaws.com

ปี 2 “Sophomore”

วิชาที่เรียนในปีนี้ จะเป็นการ “ปรับพื้นฐานทางด้านคอมพิวเตอร์” ครับ หลังจากที่วิชาในปีที่ 1 นั้น “ปรับพื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนวิศวกรรม” มาแล้วก็ต้องเจอกับการปรับพื้นฐานอีกรอบครับแต่คราวนี้จะแตกต่างไปจากเดิมพอสมควรครับ

  • DISCRETE STRUC
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการคำนวณแบบดิสครีต
    วิชานี้จะเป็นการเรียน พื้นฐานการคำนวณทางด้านดิสครีต ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของคณิตศาสตร์นอกจากด้านแคลคูลัส โดยพื้นฐานการคำนวณแบบนี้จะถูกใช้บ่อยในทฤษฎี หรือ วิธีการต่างๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ ครับ
  • PROG METH I
    ทักษะที่ได้: ความรู้ทางด้านการเขียนโปรแกรม (แบบ Object-oriented)
    เป็นวิชาการเขียนโปรแกรมต่อยอดจากวิชา COM PROG ครับเป็นวิชาที่ทำให้เราสามารถเขียนโปรแกรมขึ้นมาใช้งานจริงๆได้ ซึ่งจุดประสงค์ของรายวิชานี้จะมีความแตกต่างจากของ COM PROG ที่เน้นในด้านการวิเคราะห์อัลกอรึทึมพื้นฐาน มากกว่าการลงมือพัฒนาโปรแกรมครับ
  • COMP ENG ESS
    ทักษะที่ได้: ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ
    วิชานี้จะเป็นการเรียนในห้องสำหรับทำกิจกรรม เรียกว่า i-scale ครับ โดยแต่ละคาบที่เรียนจะมีการจับกลุ่มกัน 3–4 คนเปลี่ยนสมาชิกไปเรื่อยๆ ในคาบจะมีอาจารย์แต่ละท่านที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี หลายๆด้าน มาบรรยาย และ ให้ทดลองทำกิจกรรมสนุกๆ บางอย่าง เช่น ทดสอบการทำงานของ sensor ในโทรศัพท์มือถือ การหา WiFi map เป็นต้น ครับ
  • DIG COMP LOGIC
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพื้นฐานของคอมพิวเตอร์
    พื้นฐานของคอมพิวเตอร์ การคำนวณเกิดขึ้นได้อย่างไร ประกอบอยู่ในวิชานี้ครับโดยเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐาน คือ gate AND OR etc. ไปจนถึงการประกอบ gate ขึ้นมาเป็น Memory โดยวิชานี้ถือเป็นศาสตร์ที่แปลกใหม่สำหรับผู้ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจในช่วงแรก นานพอสมควร ครับ
  • DIG LOGIC LAB I
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ (ปฏิบัติ)
    วิชานี้จะเป็นการปฏิบัติ การออกแบบ หรือ ต่อวงจร ให้ได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ ที่นำไปใช้งานจริงเช่น memory เป็นต้น โดยจะเป็นการใช้โปรแกรมจำลองการต่อวงจร เป็นแบบ การลากสัญลักษณ์ gate ต่างๆ มาต่อกันบนหน้าจอ สามารถจำลองการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในวงจรได้ด้วย โดยเรียนที่ห้องปฏิบัติการครับ
  • COMP ELEC INTF
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ ภาษาเครื่อง และ สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์
    วิชานี้จะเป็นการเรียนรู้ สถาปัตยกรรมภายในของคอมพิวเตอร์ว่า มีการจัดการการทำงานเบื้องหลังในระดับ hardware กันอย่างไรบ้าง โดยจะเรียนในระดับที่สูงขึ้นมาจากระดับของ gate จากวิชา DIG LOGIC มาเป็นระดับของ transistor ขึ้นไปครับ นอกจากนี้ยังได้เรียน ภาษา Assembly (ภาษาเครื่อง) ด้วยครับ
  • COMP ENG MATH
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการคำนวณแบบพีชคณิตเชิงเส้น (Linear algebra)
    พื้นฐานการคำนวณแบบพีชคณิตเชิงเส้น คือเนื้อหาหลักของวิชานี้ โดยจะมีการพูดถึง การแปลง matrix การคำนวณในมิติสูงๆ และ การคำนวณที่เกี่ยวของกับ matrix อื่นๆ ครับ โดยวิชานี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจ หลักการทำงานในงานด้าน Machine Learning และ ด้านอื่นๆ ครับ
  • INTRO DATA STRUCT
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเรื่องโครงสร้างข้อมูล และ การประยุกต์ใช้
    วิชานี้จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับ โครงสร้างข้อมูลแบบต่างๆ เช่น Stack Queue เป็นต้นครับ ซึ่งโครงสร้างข้อมูลแต่ละแบบ จะมีคุณสมบัติ และ จุดเด่น แตกต่างกันไปครับ การทำความเข้าใจเนื้อหาในรายวิชานี้จะช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกใช้โครงสร้างข้อมูล กับ ปัญหา/งาน ที่พบ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพครับ
  • DIG DESIGN VER
    ทักษะที่ได้: การออกแบบฮาร์ดแวร์ด้วยวิธีการบรรยายแบบโปรแกรม (Verilog)
    หลังจากที่ได้เรียนการออกแบบฮาร์ดแวร์ในวิชา DIG LOGIC มาแล้วด้วยวิธีการบรรยายแบบแผนภาพ ในวิชานี้จะเป็นการเรียนการบรรยายดีไซน์เดียวกัน ด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไปครับ นั่นคือการใช้ภาษาที่ชื่อว่า Verilog ในการบรรยาย โดยเป็นภาษาที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการออกแบบฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันครับ
  • DIG DESIGN LAB I
    ทักษะที่ได้: การออกแบบฮาร์ดแวร์ด้วยวิธีการบรรยายแบบโปรแกรม (ปฏิบัติ)
    เป็นการปฏิบัติการเขียนโปรแกรมเพื่อบรรยาย ดีไซน์ของฮาร์ดแวร์ หรือ อุปกรณ์ที่เราออกแบบ โดยอยู่ในรูปแบบของภาษา Verilog ซึ่งทำในห้องปฏิบัติการทางคอมพิวเตอร์ครับ
  • STAT PHYS SCIENCE
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณทางสถิติ
    เป็นวิชาการคำนวณ โดยมีเนื้อหาหลักคือ การคำนวณทางสถิติ ตั้งแต่เรื่องของ ความน่าจะเป็น ไปจนถึงการคำนวณหาค่าต่างๆ ทาง สถิติ รูปแบบการกระจายของค่าสถิติ เป็นต้น โดยเป็นการพัฒนาทักษะการคำนวณที่สำคัญอีกด้านหนึ่งครับ
  • COM PRES SKIL
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการสื่อสาร และ นำเสนอ ในภาษาอังกฤษ
    วิชานี้จะเป็นการเรียนภาษาอังกฤษครับ โดยเน้นเรื่องของทักษะในการพูด การสื่อสาร การนำเสนอ และ การฟัง โดยเป็นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษต่อจากวิชา EXP ENG ที่พบมาในปี 1 ครับ
“ปี 3 — การเรียนรู้โลกของคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ” ภาพจาก assets4.bigthink.com

ปี 3 “Junior”

ในปีนี้จะเป็นปีที่เรียนค่อนข้างกว้างมากในมุมของความเกี่ยวเนื่องกันของวิชา เรียกได้ว่า ได้เรียน ได้ความรู้ ในทุกสาขาวิชาของคอมพิวเตอร์เลยครับ และที่สำคัญคือ ไม่ใช่การเรียนปรับพื้นฐานแล้ว (เย้!?)

  • OS SYS PROG
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานของระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
    ครับ ไมโครซอฟต์วินโดว์ แมคโอเอส ทำงานอย่างไร ต่างกันอย่างไร อันไหนดีกว่า วิชานี้จะช่วยตอบคำถามทั้งหลายเหล่านี้ครับ เป็นการเรียนเกี่ยวกับหลักการทำงานของระบบปฏิบัติการในแต่ละรูปแบบ โดยเรียนที่ห้อง i-scale ครับ เมื่อได้ยินชื่อนี้ก็หมายความว่า มีกิจกรรมสนุกๆ ให้ได้ลองทำในทุกๆคาบนั่นเอง
  • PROG LANG PRIN
    ทักษะที่ได้: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ ภาษาของคอมพิวเตอร์
    วิชานี้จะเป็นการเรียน หลักการทำงานของภาษาคอมพิวเตอร์ เช่น Python Java C ว่าทำงานอย่างไร แต่ละภาษามีหลักการทำงานแตกต่างกันหรือไม่ เป็นต้น ครับ
  • ALGORITHM DESIGN
    ทักษะที่ได้: การออกแบบอัลกอริทึม และ การประยุกต์ใช้
    การออกแบบ หรือ เลือกใช้ อัลกอริทึมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่พบเจอ คือหัวข้อหลักของรายวิชานี้ครับ ยกตัวอย่างเช่น การคำนวณหาเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่าง สยาม และ ราชเทวี มีวิธีการคำนวณอย่างไร การจัดเรียงข้อมูลแบบรวดเร็วนั้นทำอย่างไร โดยจะได้เรียนเทคนิคการออกแบบอัลกอริทึมในรูปแบบต่างๆ เช่น การแบ่งแยกและเอาชนะ กำหนดการพลวัต อัลกอริทึมแบบละโมบ เป็นต้นครับ
  • COMP SYS ARCH
    ทักษะที่ได้: ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์
    วิชานี้จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน โดยเกิดจากการทำงานประสานงานกันของส่วนต่างๆ จนได้เป็นคอมพิวเตอร์ที่สามารถรับคำสั่งพื้นฐานเช่น การบวก ได้ ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานในปัจจุบันได้ ครับ
  • HW SYN LAB I
    ทักษะที่ได้: วิธีการโปรแกรมไมโครคอนโทรลเลอร์ (STM34f4)
    เป็นการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ครับ ซึ่งเจ้าไมโครคอนโทรลเลอร์ก็คือ ตัวควบคุมสิ่งต่างๆ เช่น ลิฟต์ ประตูอัติโนมัติ เป็นต้น โดยเป็นการเขียนโปรแกรมลงไปบนเจ้าไมโครคอนโทรลเลอร์ให้ทำตามสิ่งที่เราต้องการ ด้วยภาษา C ครับ
  • DIS SYS ESSEN
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานการทำงานของระบบแบบกระจาย
    ระบบจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต หรือ แอปพลิเคชันไลน์ ทำงานอย่างไร วิชานี้จะช่วยตอบคำถามอย่างคร่าวๆ ได้ครับ โดยเป็นการเรียนเกี่ยวกับวิธีการทำงานของระบบต่างๆ ที่อยู่แยกกัน เช่น แบบ client-server หรือ แบบ peer to peer เป็นต้น
  • SYS ANALYSIS DSGN
    ทักษะที่ได้: การวิเคราะห์ และ ออกแบบระบบ (โปรแกรม)
    วิชานี้จะเป็นการเรียนขั้นตอนการออกแบบระบบ (โปรแกรม) แบบละเอียดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การร่างข้อเสนอโครงการ การจัดทำเอกสารระบุรายละเอียดการออกแบบต่างๆ ไปจนถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบ ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาที่เรียนการเขียนเอกสาร และ การวิเคราะห์ปัญหาเป็นหลัก ครับ
  • DB MGT SYS DESIGN
    ทักษะที่ได้: การออกแบบระบบฐานข้อมูล
    วิชานี้เกี่ยวข้องกับ พื้นฐานการออกแบบฐานข้อมูลแบบ SQL ครับ ตั้งแต่การร่าง ER Diagram ไปจนถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจริงๆ ขึ้นมาทดลองใช้ รวมถึงการจัดการฐานข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพ และ ปลอดภัย ด้วยครับ
  • COMP NETWORK I
    ทักษะที่ได้: พื้นฐานเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
    อินเทอร์เน็ตทำงานอย่างไร เร้าเตอร์ คืออะไร ทำไมเน็ตกาก?! วิชานี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ครับ ถือว่าเป็นวิชาที่มีประโยชน์อย่างมากในยุคปัจจุบัน
  • TECH WRIT ENG
    ทักษะที่ได้: การเขียนเอกสารวิชาการ ด้วยภาษาอังกฤษ
    วิชานี้ถือเป็นวิชาสุดท้ายในด้านภาษาอังกฤษครับ เป็นวิชานี้เน้นการเขียนเอกสารวิชาการเป็นภาษาอังกฤษ โดยประกอบไปด้วย เทคนิคการเขียน รูปแบบของเอกสารวิชาการ และ อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ครับ
“ปี 4 — ช่วงของการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ผ่านมา” ภาพจาก cdn.techopedia.com

ปี 4 “Senior”

ในปีนี้จะเป็นปีที่เรียนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ครับ เพราะว่ามีการเผื่อเวลาให้เรียนวิชาเลือกของภาควิชา (Approved Elective) ครับ

  • SOFTWARE ENG
    ทักษะที่ได้: หลักการพัฒนาโปรแกรมอย่างเป็นระบบ
    ชื่อเต็มของวิชานี้คือ “Software Engineering” ครับ คือเป็นการเรียนวิธีและขั้นตอนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบ โดยเป็นวิชาต่อยอดจากวิชา SYS ANALYSIS DSGN ซึ่งสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ การได้พัฒนาซอฟต์แวร์จริงขึ้นมาด้วยระหว่างการเรียนครับ
  • FORM LANG/AUTO
    ทักษะที่ได้: ทฤษฎีการแก้ปัญหาของคอมพิวเตอร์ และ Regular Expression
    วิชานี้โดยรวมจะเกี่ยวข้องกับ พื้นฐานวิธีการแก้ปัญหาของคอมพิวเตอร์ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ปัญหาไหนที่คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขได้ และ ปัญหาไหนที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถแก้ไขได้ สามารถหาคำตอบได้ในวิชานี้ครับ
  • COMP ENG (PRE) PROJ
    ทักษะที่ได้: การประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนมาทั้งหมดตลอด 4 ปี
    วิชานี้เป็นการพัฒนาโครงการอะไรก็ได้ ตามความสนใจของผู้เรียนเองครับ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีหัวข้อต่างๆ มากมาย ทั้งในด้านของ AI Machine Learning หุ่นยนต์ การประมวลผลรูปภาพ แอปพลิเคชันอำนวยความสะดวกต่างๆ เทคนิคใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้ารหัส เป็นต้น ซึ่งรายวิชานี้ได้ให้ระยะเวลาในการพัฒนาทั้งสิ้น 1 ปี โดยผลสุดท้ายนิสิตแต่ละคนจะได้พัฒนาโครงการออกมาสำเร็จจนเป็นผลงานของตนเองก่อนที่จะจบการศึกษาครับ
ภาพจาก channeltechnology.website

“แล้วการซ่อมคอมหล่ะได้เรียนไหม?”

“ไม่ได้เรียนนะครับ” การซ่อมคอมไม่มีสอนในหลักสูตร แต่ผู้เรียนส่วนมากมักเจอกับปัญหาของคอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำทำให้การซ่อมคอมกลายเป็นทักษะที่ได้ทางอ้อมจากการเรียนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ครับ

“แล้ววิชาพวก AI, Hacking, Data Science, เขียนเว็บ, เขียนแอพ , เขียนเกมส์ หล่ะ ไม่เห็นมีในนี้เลย?”

วิชาเหล่านั้นเป็นวิชาที่อยู่ในกลุ่มวิชาเลือก หรือเรียกว่า “Approved Elective” ครับ โดยนิสิตทุกคนจะต้องเลือกรายวิชาเหล่านี้จำนวนอย่างน้อย 6 รายวิชา จึงจะสามารถจบหลักสูตรได้ครับ ซึ่งกลุ่มวิชาเลือกจะมีให้เลือกหลากหลายทุกสาขา แตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่รับรองว่าสาขาหลักๆ หรือ สาขาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจะมีให้เลือกเรียนอย่างแน่นอนครับ

“แล้วสรุปจบมาทำงานอะไรได้บ้าง?”

หลากหลายมากครับ การเรียนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั้นทำให้ได้ทักษะมากมายหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ โดยหากพิจารณาจากหลักสูตรเพียงอย่างเดียว (ไม่ค้นหาความรู้ระหว่างเรียนเลย) จะสามารถทำงานเหล่านี้ได้อย่างแน่นอนครับ

  • Programmer
  • System Analyst
  • Project Manager
  • Software Engineer
  • Network Engineer
  • Software Q/A (Tester)
  • งานเกี่ยวกับ Database (mySQL)
  • การโปรแกรม Microcontroller

และหากรวมวิชาเลือก หรือ (Approved Elective) เข้าไปด้วยก็จะทำให้สายงานกว้างขึ้นครับ ตัวอย่างเช่นสายงานเหล่านี้ครับ

  • Data Scientist (วิชาเลือก)
  • งานด้าน Artificial Intelligence (วิชาเลือก)
  • งานด้าน System Security (วิชาเลือก)
  • Web Developer (วิชาเลือก)
  • Application Developer (วิชาเลือก)
  • Game Developer (วิชาเลือก)
  • งานด้าน Computer Graphic (AR, VR) (วิชาเลือก)
  • งานเกี่ยวกับ Data Center (วิชาเลือก)
  • งานด้าน Robotics (วิชาเลือก)
  • อื่นๆ

นอกจากนี้หากผู้เรียนมีการค้นหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาที่ศึกษาจะสามารถทำงานในสายงานที่กว้างขึ้นได้ เช่น ทางด้าน Financial เป็นต้น ครับ

ภาพจาก fthmb.tqn.com

สุดท้ายนี้ ผู้เขียน หวังว่าบทความนี้คงให้ประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ หากมีข้อสงสัยสามารถแสดงความคิดเห็นด้านล่างได้ครับ

“ขอบคุณครับ”

--

--