การตรวจทางห้องปฏิบัติการของระบบหมู่เลือด ABO และ Rh(D)

Julaluk Noiphung
3 min readAug 24, 2023

--

จุฬาลักษณ์ น้อยพ่วง

ระบบหมู่เลือด ABO และ Rh เป็นระบบหมู่เลือดที่สำคัญในขั้นตอนการให้และรับเลือด ระบบหมู่เลือด ABO มีการแสดงออกของแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงและแอนติบอดีในซีรั่มที่แตกต่างกัน โดยในหมู่ A มีแอนติเจน A บนผิวเม็ดเลือดแดงและมีแอนติบอดีชนิด B ในซีรั่ม หมู่ B มีแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและมีแอนติบอดีชนิด A ในซีรั่ม หมู่ O ไม่มีแอนติเจน A และ B บนผิวเม็ดเลือดแดงแต่มีแอนติบอดีชนิด A และ B ในซีรั่ม หมู่เลือด AB มีแอนติเจน A และ B บนผิวเม็ดเลือดแดงแต่ไม่มีแอนติบอดีชนิด A และ B ในซีรั่ม นอกจากหมู่เลือด ABO แล้ว ยังมีหมู่เลือดอีกระบบที่มีความสำคัญเช่นกัน คือหมู่เลือดในระบบ Rh ในระบบ Rh ประกอบด้วยแอนติเจนทั้งหมด 5 ชนิดคือ D, E, e, C และ c โดยการตรวจหมู่เลือดในระบบ Rh ทั่วไปเป็นการตรวจหา D แอนติเจน ที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง สามารถจัดจำแนกประเภทของ D แอนติเจนที่พบบนผิวเม็ดเลือดแดงได้ดังนี้

  • Rh(D) positive ตรวจพบ D แอนติเจน โดยเมื่อทำปฎิกิริยากับ D แอนติบอดีสามารถอ่านผลการเกาะกลุ่มได้ชัดเจน
  • Rh(D) negative ตรวจไม่พบ D แอนติเจนโดยเมื่อทำปฎิกิริยากับ D แอนติบอดีไม่เห็นการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง
  • Weak D ตรวจพบ D แอนติเจนในปริมาณน้อย โดยเมื่อทำปฎิกิริยากับ D แอนติบอดีเกิดปฏิกิริยาการเกาะกลุ่มที่ไม่ชัดเจน (แบบอ่อน) ต้องทำการทดสอบแอนติโกลบูลินเพิ่มเพื่อให้การอ่านผลงปฏิกิริยาชัดเจนขึ้น
  • Partial D ตรวจพบ D แอนติเจนแต่พบว่า epitope ของ D แอนติเจนบางส่วนขาดหายไป

ลักษณะการแสดงออกของแอนติเจนและแอนติบอดีของหมู่เลือด ABO และ D แอนติเจนของระบบ Rh แสดงดังภาพที่ 1

แอนติเจนและแอนติบอดีของหมู่เลือด ABO และ D แอนติเจนของระบบ Rh(D) (วาดโดยจุฬาลักษณ์ น้อยพ่วง)

การตรวจหมู่เลือดเลือด ABO และ Rh

โดยทั่วไปการตรวจหมู่เลือดในระบบ ABO ใช้หลักการการเกาะกลุ่ม (agglutination) ของแอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดงกับแอนติบอดีที่นำมาทดสอบเรียกการทดสอบดังกล่าวว่า ABO forward grouping และการตรวจหาแอนติบอดีชนิด A และ B ในซีรั่มโดยทำปฏิกิริยากับ A1 cells และ B cells เรียกการทดสอบดังกล่าวว่า ABO reverse grouping ในส่วนการตรวจหา D แอนติเจนทำการทดสอบโดยใช้เม็ดเลือดแดงทำปฏิกิริยากับ D แอนติบอดี (Anti-D) สำหรับวิธีที่ใช้ในการตรวจหมู่เลือด ABO และ Rh(D) ในห้องปฏิบัติการประกอบด้วย

  1. วิธี Slide method ทำการทดสอบโดยเติม Anti-A, Anti-B และ Anti-D อย่างละ 1 หยดลงบนกระจกสไลด์ จากนั้นเติมเลือดครบส่วนลงไปผสมเลือดกับแอนติบอดีให้เข้ากัน อ่านผลปฏิกิริยาการเกาะกลุ่มโดยทั่วไปแล้ววิธี slide method ใช้สำหรับการตรวจกรองเบื้องต้นและใช้สำหรับตรวจ forward grouping เป็นส่วนใหญ่
ภาพที่ 2 แสดงการตรวจวิเคราะห์โดยวิธี Slide method

2. วิธี Conventional test tube technique (CTT) การทดสอบโดยเติม Anti-A, Anti-B และ Anti-D อย่างละ 2 หยดในหลอดที่ระบุ Anti-A, Anti-B และ Anti-D ตามลำดับ จากนั้นเติม 3–5% cells ของตัวอย่างที่ต้องการทดสอบหมู่เลือดลงไปหลอดละ 1 หยด สำหรับการตรวจหาแอนติบอดีในซีรั่มให้เติมซีรั่มหลอดละ 2 หยดในหลอดที่ระบุ A-cells และ B-cells และเติม A-cells และ B-cells ลงไปตามหลอดที่ระบุไว้ตามลำดับ จากนั้นปั่นอ่านปฏิกิริยาดูการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดงในหลอดทดลอง

ภาพที่ 3 แสดงการตรวจวิเคราะห์โดยวิธี Conventional test tube technique (CTT)

3. Column agglutination technique (CAT) เป็นการทดสอบหาหมู่เลือดโดยอาศัยการเกาะกลุ่มของแอนติเจนและแอนติบอดีเหมือนกับการทดสอบในหลอดทดลอง โดยถ้ามีการเกาะกลุ่มเกิดขึ้น กลุ่มของแอนติเจนและแอนติบอดีจะสานเป็นร่างแหทำให้ไม่สามารถผ่านชั้น gel ลงมาได้เกิดเป็นแถบสีแดงของเม็ดเลือดที่ด้านบน ในส่วนของเซลล์ที่ไม่เกิดการเกาะกลุ่มของแอนติเจนและแอนติบอดีจะสามารถผ่านชั้น gel ลงมาได้และอยู่บริเวณส่วนล่างสุดของ column

ภาพที่ 4 แสดงการตรวจวิเคราะห์โดยวิธี Column agglutination technique (CAT) (ดัดแปลงจาก https://diahem.com/products/blood-groups-ab0/)

สำหรับการแปลผลหมู่เลือด ABO แสดงดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 การแปลผลการทดสอบ ABO (Forward and Reverse grouping)

สำหรับการแปลผลหมู่เลือด Rh(D) แสดงดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การแปลผลการทดสอบ Rh(D)

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

เอกสารอ้างอิง

Kathy D. Blaney and Paula R. Howard , (2013) Basic and Applied Concepts of Blood Banking and Transfusion Practices., Elsevier Mosby,(3rd Edition.): 28–121.

Diahem diagnostic products (2023). DiaClon ABO/D + Reverse Grouping สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 แหล่งที่มา: https://diahem.com/products/blood-groups-ab0/

สุภัตตรา​​ มิถุนดี, (2013) บทความฟื้นวิชา RhDel.วารสาร​โลหิต​วิทยา​และ​เวชศาสตร​บริการ​โลหิต, 23 (3): 227–230.

--

--

No responses yet