ประสบการณ์ 2 เดือน กับโครงการ Founder Apprentice

Jutinat Trichalasin
4 min readAug 23, 2018

--

สมัยนี้ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากมี Startup เป็นของตนเอง เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่มีอิสระสูง และรวยเร็ว แต่บางคนก็อยากเป็นผู้ประกอบการเพราะจะได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ถ้าอยากรู้ว่าความจริงเราก็ต้องลงมือพิสูจน์ ซึ่งโครงการ Founder Apprentice คือหนทางนึงในการพิสูจน์ความเชื่อนี้

โครงการ Founder Apprentice คืออะไร?

โครงการ Founder Apprentice คือโครงการที่เปิดรับสมัครเด็กในระดับมหาวิทยาลัย จนถึงเด็กที่เพิ่งจบและมีประสบการณ์ทำงานไม่เกิน 0–3 ปี มาฝึกงานกับ Tech Startup หรือ SME ที่มี Innovation ทุกรูปแบบ จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) คู่กับ CareerVisa

ก่อนสมัคร

ผมเจอโครงการนี้โปรโมทในเฟสบุ๊ก ในช่วงที่ผมกำลังประกวดโครงการ startup ในระดับมหาวิทยาลัยทางด้าน Edtech ตอนนั้นผมคิดว่ายังไงก็คงจะทำธุรกิจของตัวเองหลังจบโครงการแน่ๆ

หลังสมัคร และสัมภาษณ์

วันสัมภาษณ์รอบแรกผมอยู่ในช่วงระหว่างไปแข่ง startup league จึงได้สัมภาษณ์ผ่าน VDO Call คนสัมภาษณ์ตอนนั้นมี 2 คนคือ พี่จาก NIA 1 คน และ พี่จาก CareerVisa อีก 1 คน ตอนสัมภาษณ์ผมร้องเพลงให้พี่ที่สัมภาษณ์ฟัง เค้าเลยจับให้ไปอยู่กับสตาร์ทอัพที่ทำด้านธุรกิจเพลง แต่แล้วก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น คือ สตาร์ทอัพที่ตอนแรกจะได้ไปทำเค้าถอนตัว แล้วก็บังเอิญมีธุรกิจ SME ด้าน Foods&Beverage ที่อยากทำ Education course และ Media ทางด้าน Foods&Beverage มารับเข้าไปฝึกงานแทน

ช่วง Training 5 วัน

ก่อนจะไปฝึกงาน ทางโครงการมีสอน Workshop Design Thinking ให้ เพื่อสอนให้เด็กในโครงการรู้จักกับการตั้งสมมติฐานและการทดสอบสมมติฐานพร้อมรับ feedback เพื่อพร้อมรับมือกับความล้มเหลว และรู้จักวิธีการแก้ปัญหา ซึ่ง 5 วันนั้น ผมได้เจอเพื่อนใหม่ ที่แตกต่างทั้งอายุ สถาบัน ประสบการณ์ แต่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว

ช่วง 5 วันนั้น เป็นช่วงที่ผมสนุกมาก เพื่อนในทีม เพื่อนในโครงการทุกคนเก่ง และเป็นตัวเอง ทุกคนพร้อมรับฟัง และช่วยเหลือกัน พี่ๆ ที่มาสอน พี่พิน Co-founder CareerVisa พี่เต้ Little Builder และพี่พีท Thought work ก็เปิดโลกมากๆ ผมรู้สึกว่าเข้าใจเรื่อง Business Model มากขึ้นและพร้อมที่จะวิเคราะห์อะไรก็ได้แล้ว ถึงแม้จะเป็นช่วงที่กดดัน และเวลาแทบไม่มี แต่ผมก็อยากตื่นขึ้นมาให้ทัน 9 โมงทุกวัน

ถ้าจะเปรียบเทียบความรู้สึกของช่วงเวลา 5 วันนั้นที่สอนให้ผมรู้จักกับความล้มเหลว การตั้งสมมติฐาน และวิธีการแก้ปัญหา ก็คงเปรียบได้เหมือนกับความฝัน เพราะถึงแม้เราจะล้มเหลวกันแต่ก็เป็นแค่ในห้องเรียน แต่ช่วงฝึกงานจริง นี่แหละคือความจริงของชีวิต

หลังจบการ Workshop 5 วัน

ช่วง ฝึกงาน 2 อาทิตย์แรก

หลังจากผมโดนจุดประกายความรู้มา จนรู้สึกว่าไฟมา พร้อมแล้วที่จะลองไปใช้จริงทำจริง แต่พอมาถึงทุกอย่างกลับไม่เป็นเช่นนั้น

Internship experience (Week 1)

ผมได้ทำแต่งานเสิร์ฟ เพิ่มเติมคือการเก็บของ และเตรียมของ

ผมเริ่ม สับสนว่าเราเรียนกันมาตั้งเยอะเพื่อทำแค่นี้ ?

แต่สิ่งที่เรียนมา 5 วันนั้น เอามาใช้ในงานนี้ไม่ได้ …

เพราะว่ากลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มใหม่ที่เราไม่เคยเจอ เราไม่เข้าใจลูกค้า ไม่เข้าใจธุรกิจที่ทำ ทั้งตัว product และธรรมชาติของธุรกิจนี้ หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงานของ founder ก็เป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจและความคาดหวัง

ผมได้คุยกับเพื่อนที่มาฝึกงานด้วยกันว่าสิ่งที่เราได้ทำกันดูห่างไกลจากสิ่งที่เราคาดหวังจะมาเรียนรู้ในโครงการนี้กัน

เราเริ่มคุยกันว่า เราควรออกจากโครงการนี้กันดีมั้ย?

ที่คำถามนี้เกิดขึ้น เพราะเราคุยกันว่า

‘เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ถ้าเรารู้ว่าอยากทำอะไร แล้วตอนนี้ไม่ได้ทำ เราก็ควรเอาเวลาไปทำสิ่งที่มีคุณค่ากับเราดีกว่า ‘

สุดท้าย เพื่อนก็ออก แต่ผมยังคงอยู่ต่อไป …..

ตอนนั้นเป็นช่วงที่รู้สึกเคว้งมาก เพราะผมคาดหวังว่าจะมีทีมที่เป็นคนรุ่นใกล้เคียงกันในการฝึกงานครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถได้อย่างที่คาดหวังได้ตลอดเวลา

หลังจากที่เหลือผมเป็นเด็กฝึกงานคนเดียว กับ Founder อีก 1 คน

ผมได้รับมอบหมายให้ทำงาน Research and development คอร์สเรียนไวน์

พอต้องทำงานด้าน research เพื่อทำคอร์สต่อก็พบว่าเครียดและจมกับข้อมูลมาก ทุกอย่างไม่ productive เลย

ความคิดที่อยากจะออกจากโครงการเริ่มกลับมาอีกครั้ง จึงปรึกษากับทางทีมงาน Founder Apprentice ว่าออกหรือย้ายได้มั้ย ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้คำตอบ

ในที่สุด ผมจึงตัดสินใจคุยทุกความรู้สึกกับพี่ Founder ที่ฝึกงานด้วย เลยมาสู่การเปลี่ยนงาน (Rotation)

ชีวิตหลังได้ Rotation

หลังจากนั้นผมได้เขียน Content และช่วยคิดรูปแบบ Event เพื่อเพิ่มยอดขาย ผมได้ออกไปเจอคนมากขึ้น จากการไปเลือก Product ที่น่าจะเอามาเพิ่มใน Portfolio ของบริษัท และการไปอบรมเรื่องการลงทุนในอิตาลี โดยสมาคมหอการค้าไทย-อิตาเลียน และ ผมได้ networking กับคนอื่นๆ ในฐานะตัวแทนของบริษัท

Networking session at Thai-Italian Chamber

แต่ผมก็ยังเครียดอยู่….

ผมมารู้ตอนหลังว่าความเครียดที่เกิดขึ้น สาเหตุมาจากการที่ผมชอบคิดทุกอย่างในหัวแล้วก็นึกภาพตามมันไป ทำให้คิดไม่จบ และคิดวน ซึ่งทางแก้ของปัญหานี้คือ เขียนทุกอย่างที่คิดออกมาให้หมด แล้วก็จัดลำดับความสำคัญ มีกำหนดเวลาให้มันทีละนิด ไม่เร่งรีบ และไม่เน้นกดดันตัวเองจากการคาดหวังว่างานชิ้นใหญ่จะต้องเสร็จให้ทัน แต่สร้างความสุขให้ตัวเองจากการทำงานทีละนิด ให้เสร็จ

ส่วนในเรื่องเวลา….

‘ถึงแม้ว่าผมจะรู้แล้วว่าผมอยากทำอะไร แต่การใช้เวลากับประสบการณ์บางอย่างที่ตัวผมเองอาจจะไม่ชอบ หรือไม่ถนัด สุดท้ายแล้วมันก็คือการลงทุนในประสบการณ์’

วันนึงผมอาจจะเอามันไปใช้อะไรต่อได้ หรือถ้าไม่ได้ มันก็ทำให้ผมรู้ว่ามันไม่เวิร์คยังไง แล้วผมจะเอาประสบการณ์นี้ไปใช้ในการเลือกครั้งต่อไปได้ยังไง

Organic Modica Chocolate ที่ได้หั่นเอง

ถึงตอนแรกจะรู้สึกว่ามาผิดที่ สับสน กังวล ทุกอย่างปะปนกันไปหมด แต่พอจบโครงการแล้วก็รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองที่ได้ออกมาเจอโลกความจริงมากขึ้น เห็นภาพสิ่งที่เรียนมา และสิ่งที่ตัวเองคิดชัดขึ้น ที่สำคัญสุดก็คงเป็นการรับมือกับการแก้ปัญหาทางอารมณ์และความคิดของตัวเองที่หาทางแก้ไม่ได้สักทีมาเป็นเวลานาน

ความคิดเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ก่อนเข้าโครงการคิดว่าหลังจากออกจากโครงการยังไงก็คงพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองได้แน่ แต่พอจบโครงการแล้วกลับพบว่าไม่เป็นอย่างนั้น

self-realized

ผมได้เห็นตัวเองชัดขึ้นว่าจริงๆ แล้วสนใจงานการสื่อสาร ซึ่งอาจจะเป็นการสื่อสารในอุตสาหกรรมสื่อ หรืออุตสาหกรรมบันเทิง

ผมได้เข้าใจชีวิตของการทำธุรกิจที่มันจริงมากกว่าแค่การนั่งฟังคนอื่นเล่าหรืออ่านหนังสือมากขึ้นด้วย

ผมยังได้เข้าใจอีกว่าทุกอย่างไม่สามารถสร้างมาได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่ต้องใช้ระยะเวลานานกว่านั้น และแน่นอนมันอาศัยความเชื่อ ความทุ่มเท เป้าหมาย

new pop-up ideas

การเปลี่ยนสังคมทำให้ผมเห็นกรุงเทพฯ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และผมยังพบว่าตัวเองทำเรื่องการเขียนและการเล่าเรื่องได้

ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

จากงานที่ทำ

จากเดิมผมเป็นคนที่ไม่ชอบระบบ และไร้ระเบียบมากเพราะรู้สึกว่ามันทำให้เราทำงานได้ช้าลง แต่ตอนนี้ก็เข้าใจแล้วว่าระบบ และระเบียบบางอย่างมันเป็นตัวช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น พอชีวิตง่ายขึ้น เราก็มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น ทำให้วิธีคิดและการทำงานเราเป็นระบบมากขึ้นด้วย

เมื่อก่อนเข้าใจว่าการสร้างความสัมพันธ์คือเรารู้จักกัน และเคยคุยกัน เคยทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าการสร้างความสัมพันธ์จริงๆ คือการทำงานด้วยกัน เน้นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ และอีกส่วนนึงคือ เราอินอะไรชอบอะไร ให้สื่อสารออกไป และออกไปหาคนแบบนั้น

จากคนที่เจอ

  • วิธีคิด

จากพี่วิเชษฐ์ รุ่นพี่ ECON CU ที่ได้เจอระหว่างฝึกงาน สอนให้มองชีวิตเป็นการทดลอง ตั้งสมมติฐาน แล้วออกไปทำ ไม่ใช่ก็เปลี่ยน หาใหม่ แต่ต้องกล้าออกไปทำถึงจะได้ข้อมูลมาปรับสมมติฐาน

  • การทำสิ่งที่ตนเองเชื่อ และ passion กับมัน

จาก Founder ที่จบจาก Cambridge และ Oxford ตรี-โท และ เพื่อนรุ่นพี่ของ Founder ที่ได้ทุนคิงไปเรียนต่อที่ Boston ทางด้าน Film Producer แล้วกลับมาทำงานอยู่ PwC แต่ปัจจุบันทำธุรกิจของตัวเองมาแล้ว 16 ปี แม้จะไม่ได้โด่งดังหรือได้กำไรเยอะมาก แต่ก็ยังคงสู้ต่อไป

  • Life crisis always happens when you don’t know yourself

จาก CEO ของบริษัทที่เป็น Partnership อายุเกือบ 50 แล้วอยู่ดีๆ มีบริษัทที่ขยายไปทั่วเอเชีย แต่แล้วอยู่ดีๆ วันนึงก็เจอกับความไม่แน่ใจในชีวิตของตัวเอง จนต้องไปค้นหาความหมายของชีวิตในวัยนี้ แล้วก็เชื่อเรื่องรูปปั้น เครื่องลางมาก

  • ความมุ่งมั่นถึงแม้จะไม่มีเงิน

จากเพื่อนของ Founder ที่เป็นคนเอเชีย และสนใจด้าน Food เป็นคนที่ไม่ได้มีเงินมาก แต่สามารถหาหนทางไปเรียนต่อใน New York ที่ค่าครองชีพสูงติดอันดับโลก และไปฝึกงานในร้านอาหารชื่อดังใน New York ได้ ซึ่งช่วงที่อยู่ New York ต้องนอนบนโซฟาของบ้านคนที่รู้จักกันที่นั่น

  • Culture ในองค์กร

จาก Founder ที่ฝึกงานด้วย เนื่องจากสามารถคุยทุกอย่างได้กับ Founder เพราะมีกันอยู่ 2 คน อันไหนทำไม่ได้ เค้าก็จะช่วยหาว่าทำไม่ได้เพราะไม่ตรงกับลักษณะนิสัย หรือทำไม่ได้เพราะทักษะยังไม่ถึงแล้วต้องพัฒนา หลังจากนั้น Founder ก็จะปรับตัวเปลี่ยนไปตามความต้องการที่เราคุยกันไว้ เพื่อให้งานราบรื่นแล้วทั้งคู่ทำงานอย่างมีความสุข

สถานที่สุดยอด

  • Private club ย่านนานา
  • Co-working space บนตึกเกสร
  • ร้านอาหารอิตาลีชื่อดังในย่านอโศก
  • ร้านอาหารกรีกย่านเอกมัย
  • ร้านอาหารสเปนจากเชฟที่เคยทำงานในร้าน มิชลินในประเทศสเปน
  • บริษัทของพาร์ทเนอร์
  • หลังกูเมร์ในพารากอน
  • ร้านอาหารอิตาเลียนที่ตึก All season place
  • ห้องประชุมสมาคมหอการค้าไทย-อิตาเลียน

สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้

  • ประสบการณ์เป็นตัวเปลี่ยนมุมมอง เพิ่มทักษะ ช่วยเพิ่มความเข้าใจคนอื่น มากขึ้น
  • งานที่ทำมันพัฒนาทักษะกันได้ สำคัญที่ว่าอยู่กับใคร และคนนั้นทำให้เราเชื่อใจและพัฒนาขึ้นได้หรือเปล่า
  • กาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้เครียด แอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้เราพูด แต่ทั้ง 2 อย่างดื่มมากๆ จะทำให้เราเจอกับสิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ
  • หลักการเรียนรู้มันคือ มีเป้าหมายว่าจะทำอะไร ลองทำ แล้วกลับไป reflect มาว่าทำอะไรไป แล้วมันเป็นยังไง และในอนาคตจะทำมันต่อไปยังไงให้มันดีขึ้น

พอจบโครงการผมพบว่าตัวเองยังไม่พร้อมจะเป็นผู้ประกอบการในตอนนี้ แต่อยากออกไปหาประสบการณ์การก่อน

หลังจากนี้อยากทำอะไรต่อ

โครงการ Founder Apprentice ถือว่าได้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของทั้งสำนักงานนวัตกรรม (NIA) และ CareerVisa เพราะผมก็ได้เรียนรู้ว่าชีวิต Entrepreneur จริงๆ ต้องทำอะไรบ้าง และควรมีวิธีจัดการงานและตัวเองยังไง แล้วรวยเร็วจริงหรือไม่ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ reflect ตัวเอง ถึงสิ่งที่ตัวเองสนใจและสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้วันนี้จากการ Coach ของพี่ๆ ในโครงการ

ซึ่งหลังจากนี้ก็มีตัวเลือก 3 ทางที่คิดออกด้วยกัน คือ

1)ไปทำงานวงการ Media / PR

2)ไปทำงานในวงการ E-Commerce / Digital marketing

3)เขียน Content ต่อไป

สำหรับคนที่สนใจโครงการ Founder Apprentice คาดว่าจะเปิดรุ่นที่ 2 ในปีหน้า สามารถติดตามรายละเอียดได้ในเพจ CareerVisa

--

--