เขาเรียนกันอย่างไรที่ Stanford ๓
ว่าด้วยเรื่องหลักสูตรกันดีกว่าครับ
ตอนที่แล้วผมได้พูดถึงภาพรวมเรื่องบรรยากาศ วัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการ และความใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมของสแตนฟอร์ด วันนี้ผมขออนุญาติเล่าเป็นตอนสั้นๆเกี่ยวกับหลักสูตร ก่อนที่ตอนถัดไปผมจะเล่าถึงบรรยากาศและรูปแบบการเรียนนะครับ
เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเราที่จะค่อนข้างมีข้อบังคับเยอะพอสมควร หลักสูตรในหลายๆภาควิชาของที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่นและยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางมากกว่า กล่าวคือสาขาวิชาในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก นักเรียนแต่ละคนมีความถนัดและความสนใจที่แตกต่างกัน ดังนั้นหลักสูตรควรจะเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกเรียนสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด และบังคับให้เรียนความรู้พื้นฐานเท่าที่จำเป็นต่อวิชาชีพจริงๆ นอกจากนี้ หลักสูตรส่วนใหญ่ยังถูกออกแบบตามปรัชญาที่ว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการงานมักจะมีทักษะในลักษณะ T-Shape คือมีความรู้ลึก (depth) ในความถนัดของตนเอง และมีความรู้กว้าง (breadth) ในด้านอื่นๆ
สำหรับปริญญาตรี ในช่วงปีหนึ่งและสอง หลักสูตรเพียงแค่บังคับให้นักเรียนลงวิชาที่ฝึกพัฒนาความคิดในหลากหลายรูปแบบ, เรียนภาษาต่างประเทศ และเรียนวิชาการเขียนและโวหาร (Rhetoric) ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่สำคัญทั้งต่อการสื่อสารและการพัฒนาความคิด นอกเหนือไปจากข้อบังคับนี้ อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว นักเรียนนั้นมีสิทธิที่จะเลือกเรียนในวิชาอะไรก็ได้ในมหาวิทยาลัย เมื่อลองแล้วมีความสนใจจึงค่อยประกาศเลือกสาขาวิชาเอก (Major) ของตนเอง และสามารถเลือกทำสาขาโท (Minor) ข้ามคณะได้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคณะของตนเอง หรือแม้กระทั่งออกแบบหลักสูตรให้กับตนเองโดยผ่านการอนุมัติจากมหาวิทยาลัย (individually designed major) ด้วยอิสระในการให้นักเรียนเลือกเรียนเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเห็นนักเรียนเรียน Computer Science เป็นสาขาเอก แต่เรียนสาขาโท (Minor) ส่ิงที่แตกต่างกันสิ้นเชิงเช่นการแสดง (Drama)
เมื่อเลือกสาขาเอก/ภาควิชาแล้ว หลักสูตรในภาควิชาก็ยังคงมีแนวคิดเรื่องความอิสระ และให้นักเรียนเรียนรู้ทั้งด้านลึกและด้านกว้าง ตัวอย่างเช่นปริญญาตรีและโททางด้าน Computer Science มีวิชาบังคับเพียงแค่ 6 วิชา และนักเรียนสามารถเลือกสาขาเอก (Major) ได้ถึง 9 ด้าน โดยแต่ละสาขาก็จะมีข้อบังคับเพิ่มเติมที่แตกต่างกัน สำหรับนักเรียนที่มีความสนใจกว้าง ก็อาจจะเลือกทำสาขาโทไปด้วย หรือ เลือกจะทำสาขาเอกคู่ (Dual Major) ไปด้วยได้เช่นกัน 2
ปริญญาโทด้าน Management Science & Engineering (MS&E) ที่ผมเรียนมานั้น ยิ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้นไปอีกเนื่องจากเป็นการศึกษาแบบสหศาสตร์ (Interdisciplinary) ทำให้ไม่มีวิชาบังคับเลย แต่มีข้อบังคับง่ายๆสามข้อ 1. แค่บังคับให้นักเรียนเลือกวิชาบังคับเลือก 5 วิชา จาก 11 ทางเลือก 2. เรียนวิชาในภาควิชา MS&E ครบ 27 units และ วิชา Project 1 วิชา 3. เรียนอีกอย่างน้อย 3 วิชาในเฉพาะด้านเพื่อเป็นความรู้แนวลึกโดย 3 วิิชานี้อาจจะเป็นวิชาใน MS&E หรือวิชาอื่นๆ ในสาขาวิศวกรรม หรือ สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้ ซึ่งนักเรียนหลายๆ คนก็เลือกที่จะเรียนด้านลึกในสาขาของภาควิชาอื่น เช่น หลายๆ คนก็เลือกที่จะศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการในภาควิชา MS&E ควบคู่ไปกับความรู้เชิงเทคนิคอย่างวิศวกรรมไฟฟ้าหรือคอมพิวเตอร์ ผมเองก็เลือกที่จะศึกษาด้าน Human-Computer Interaction ในภาควิชา Computer Science หรือเพื่อนของผมอีกคนก็เลือกที่จะศึกษาเอกด้านสังคมวิทยา (Sociology) ซึ่งก็ทำให้เพื่อนผมมีความรู้ที่ผสมผสานหลายด้านที่น่าสนใจ
ฝึกการตัดสินใจ
การที่มหาวิทยาลัยให้นักเรียนเลือกเอก และวิชาเลือกของตัวเอง ทำให้นักเรียนแต่ละคนต้องคิดทบทวน และปรึกษารุ่นพี่ อาจารย์ และคนรู้จัก เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุด เมื่อเลือกแล้ว นักเรียนน่าจะมีความตั้งใจเรียนมากกว่า เพราะว่าสิ่งที่เรียนนั้นเป็นสิ่งที่ตนเองอยากเรียนจริงๆ มากกว่าจะเรียนเพราะต้องเรียนเพื่อให้จบ การให้นักเรียนตัดสินใจด้วยตนเองนี้ยังเป็นการให้นักเรียนฝึกการตัดสินใจซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญไม่แพ้ความรู้ทางวิชาการอีกด้วย นอกจากนี้ การที่นักเรียนแต่ละคนมีความถนัดแต่แตกต่างกัน ยังเสริมสร้างให้นักเรียนมีความมั่นใจในทักษะความสามารถของตนเอง และให้บริษัทที่จะจ้างงาน ประเมินนักเรียนจากความถนัดได้มากขึ้น และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยมากเกินไป
การให้อิสระนักเรียนเลือกวิชายังเกิดน่าจะผลต่อ Mindset ของผู้สอนอีกด้วย เนื่องจากวิชาส่วนใหญ่เป็นวิชาเลือก อาจารย์ผู้สอนเองก็ได้เลือกสอนในวิชาที่ตนเองมีความสนใจและรักที่จะสอน และด้วยความที่เป็นวิชาเลือก อาจารย์ผู้สอนจึงอาจจะมีแรงกระตุ้นที่ต้องตั้งใจสอนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้นักเรียนเลือกเรียนวิชาของตัวเองอีกด้วย
ข้อแตกต่างในประเด็นเล็กน้อย
ความจริงแล้ว จากประสบการณ์ของผม โครงสร้างหลักสูตรที่ผมเห็นในบ้านเราอย่างเช่นที่ิวิศวฯจุฬาฯ นั้นก็มีช่วงเวลาปีหนึ่งให้นักเรียนได้เรียนวิชาจากทุกภาควิชา (คือได้ความรู้แนวกว้าง)เช่นกัน ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นประโยชน์สำหรับการเลือกภาควิชา แต่ว่าเนื่องจากหลักสูตรให้ลงวิชาจากเกือบทุกภาควิชา จึงทำให้ได้ลงเพียงภาคละหนึ่งวิชาซึ่งค่อนข้างกระจัดกระจาย และมักถูกบังคับตายตัวให้เป็นวิชาทฤษฏี ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้นักเรียนเลือกภาควิชาได้ดีขึ้นมากนัก ในความเป็นจริงนักเรียนคนหนึ่งอาจจะมีภาควิชาตัวเลือกในใจเพียงสองสามภาค หากนักเรียนได้เลือกเรียน 2-3 วิชาจากภาคที่ตนเองสนใจ อาจจะทำให้นักเรียนสามารถทำการตัดสินใจเลือกภาควิชาได้ดีขึ้น และแม้จะไม่ได้เลือกเรียนวิชานั้นๆ การที่นักเรียนได้เรียน 2-3 วิชาที่เกี่ยวข้องกัน อาจจะได้ทักษะที่สามารถนำไปประยุกต์เสริมสาขาวิชาหลักของตนเองได้มากกว่า
นอกจากนี้ สำหรับโครงการปริญญาโท ข้อแตกต่างเล็กๆอีกหนึ่งข้อคือหลายๆโครงการที่นี่ไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องทำปริญญานิพนธ์ หาว่าโครงการนั้นเน้นพัฒนาให้นักเรียนออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม (มักเรียกกันว่า Professional Master) ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถมุ่งมั่นกับการเรียนวิชาชีพที่ตัวเองสามารถนำไปใช้ได้โดยตรงมากกว่า หากนักเรียนมุ่งหวังที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากกว่าสายวิจัย โดยเฉพาะการที่นักเรียนได้มีวิชาทำ Project ส่วนตัว ซึ่งจะได้เรียนรู้จริงจากภาคปฏิบัติ หรือถ้าโชคดีไปกว่านั้น อาจจะได้ผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การก่อตั้งบริษัทก็เป็นได้
ท้ายที่สุด ถ้าให้สรุปสั้นๆ ว่าหลักสูตรที่นี่ดูแล้วต่างกับที่เห็นส่วนใหญ่ในบ้านเรา คือให้อิสระแก่นักเรียนในการเลือกเรียนมากกว่า และขณะเดียวกันนักเรียนก็มีโอกาสพัฒนาทักษะความสามารถของตนเองทั้งในด้านลึกและด้านกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าอาจจะยากกว่าสำหรับทางมหาวิทยาลัยในด้านการจัดการ แต่ว่าอาจจะเกิดประโยชน์กับนักเรียนในการศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆมากกว่าเช่นเดียวกัน สำหรับนักเรียนที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ผมคิดว่า แม้ว่าหลักสูตรในมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้ชี้นำให้เราพยายามเลือกเรียนหลายหลายที่นี่ เพื่อนๆของผมหลายคนก็เลือกที่จะลงเกินหน่วยกิต เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น อยู่คณะวิศวฯ แต่ไปลงวิชาถ่ายภาพ, วิชาทางด้านการจัดการธุรกิจ, การตลาด หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งผมคิดว่า การที่ได้เรียนรู้อะไรแปลกใหม่นอกจากสาขาหลักของตนเอง อาจจะทำให้เราได้ใช้ประโยชน์ในอนาคตอย่างไม่คาดคิด ดังเช่นที่ สตีฟ จ๊อบส์ นำความรู้ที่ได้จากการไปลงเรียนวิชาการออกแบบอักษร (Calligraphy) เล่นๆมาทำให้คอมพิวเตอร์เริ่มมีอักษร (Font) สวยงามอย่างที่เราได้ใช้กันทุกวันนี้นะครับ
อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนถัดไปผมจะพูดถึงว่า บรรยากาศการเรียนทั่วไปที่ผมสัมผัส แตกต่างกับบ้านเราอย่างไรบ้างนะครับ หากผู้อ่านมีคำถาม ข้อเสนอแนะ หรือข้อติชมใดๆ ก็เขียนถามไว้ใน comment ได้เลยนะครับ ถ้าอ่านแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์ก็อย่าลืมแบ่งปันให้คนอื่นอ่านด้วยนะครับผม ขอบคุณที่อ่านครับ