“ไบโอพลาสติก” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ?

Kitja Chitpirom
3 min readFeb 27, 2022

--

กิจจา จิตรภิรมย์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Photo by Jon Tyson on Unsplash

ชนิดและที่มาของพลาสติก

โดยทั่วไปแล้วพลาสติกที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเกิดจากการสังเคราะห์หรือดัดแปลงจากโพลี เมอร์ธรรมชาติ (Bio-polymers) ซึ่งสามารถแบ่งชนิดตามที่มาของการผลิตได้ดังนี้

1) โพลีเมอร์ที่มีมาจากเกษตรกรรมและปศุสัตว์ (Agricultural origin) เช่น polysaccharides ที่ได้จากแป้งและน้ำตาล lingo-celluloses ที่ได้จากไม้ หรือโพลีเมอร์อื่น ๆ ที่ได้จาก pectins, chitosan หรือพวกยางไม้ (Gums) ไขมัน โปรตีนจากสัตว์และถั่ว น้ำมัน zein, gluten จากพืช เป็นต้น

2) โพลีเมอร์จากจุลชีพ (Microbial origin) เช่นสารกลุ่ม PHAs ได้แก่ PHB และ PHBV

3) โพลีเมอร์จากการสังเคราะห์โดยอาศัยเทคโนโลยีทางชีวภาพ (bio-technological origin) ได้แก่ nylon 11, PLA, viscose, thermoplastic และกลุ่ม

4) โพลีเมอร์ที่ได้จากสารปิโตรเคมี (Petroleum base) ได้แก่ PCL, polyester, PVOH, PTT และ starch blends

ตัวอย่างของพลาสติกชีวภาพ

ตัวอย่างพลาสติกชีวภาพที่สำคัญได้แก่ กรดโพลีแลคติค (Polylactic Acid) หรือ PLA โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิต PLA ส่วนใหญ่ได้มาจากจากแป้ง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง การผลิตทำโดยบดหรือโม่พืชวัตถุดิบให้ละเอียด จากนั้นย่อยแป้งให้ได้เป็นน้ำตาล และนำไปหมัก (Fermentation) ด้วยจุลินทรีย์ในกลุ่ม Lactic bacteria ได้กรดแลคติค หลังจากนั้นนำ กรดที่ได้มาผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อโครงสร้างให้เป็นสารใหม่ที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็นวงแหวนเรียกว่าแลคไทด์ (Lactide) ต่อจากนั้นนำมากลั่นในระบบสุญญากาศเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างได้เป็นโพลีเมอร์ของ lactide ที่เป็นสายยาวขึ้นจนเป็น Polylactic Acid ซึ่งการกำหนดความยาวของสายโพลีเมอร์ให้ได้ตามความต้องการ จึงสามารถผลิต PLA ไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน นอกจากนี้ PLA สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกได้เช่นเดียวกับเม็ดพลาสติกจากปิโตรเลียม ทั้งยังมีสมบัติพิเศษคือมีความใส ไม่ย่อยสลายในสภาพแวดล้อมทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้เองเมื่อนำไปฝังกลบในดิน ข้อเสียของพลาสติกชนิดนี้คือมีลักษณะแข็งและค่อนข้างเปราะ ไม่ทนความร้อน รวมถึงมีปัญหาในการนำไปผลิตขึ้นรูปในกระบวนการอัดรีดและเป่าขึ้นรูปเป็นฟิล์ม (Extrusion blown film process) เนื่องจากฟิล์มที่เป่าขึ้นต่อจากพอลิเมอร์ที่ไหลออกจากรูทางออกจะไม่เสถียร

โพลีไฮดรอกซีอัลคาโนเอท (Polyhydroxyalkanoates) หรือ PHAs มีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต PHAs คือ แป้งหรือน้ำตาลที่มาจาก พืชที่มีแป้งหรือน้ำตาลเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลังและอ้อย เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการบดหรือโม่พืชวัสถุดิบให้ละเอียดเป็นแป้ง จากนั้นทำการย่อยแป้งให้ได้เป็นน้ำตาล และนำไปหมัก (Fermentation) ด้วยเชื้อ Escherichia coli ซึ่งสามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของน้ำตาลภายในให้เป็น PHAs สะสมภายในเซลล์ของแบคทีเรียนี้ หลังจากนั้นทำการสกัดสารดังกล่าวออกมาจากเซลล์ ข้อดีของ PHAs คือสารตัวนี้มีช่วงอุณหภูมิในการหลอมเหลว (Tm) กว้างคือตั้งแต่ 50–180 °C จึงทำให้มีคุณสมบัติในการนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกได้หลากหลาย สามารถขึ้นรูปเป็นฟิล์ม โดยการฉีดและการเป่าได้

โพรเพนไดออล (Propanediol) หรือ PDO โดยวัตถุดิบมาจากแป้ง โดยเฉพาะมาจาก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง นิยมใช้สำหรับผลิตเป็นเส้นใยชีวภาพในอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Bio-Fiber : SoronaTM) ซึ่งกระบวนการผลิตเริ่มจากการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล และใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ (biocatalyst) เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็น PDO ซึ่งสามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเส้นใยชีวภาพที่เรียกว่า SoronaTM ซึ่งเป็นชื่อทางการค้าของบริษัท ดูปองท์ สหรัฐอเมริกา โดยเส้นใย SoronaTM นี้มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี มีความอ่อนนุ่ม แห้งได้เร็ว และสามารถย้อมติดสีได้ดี แต่เนื่องจากโมเลกุลของโพลีเมอร์ชนิดนี้มีขนาดใหญ่จึงทำให้เส้นใย SoronaTM ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบธรรมชาติจึงมีข้อดีที่สามารถผลิตทดแทนได้อีกชนิดหนึ่ง

ประเภทของพลาสติกที่ย่อยสลายได้

เนื่องจาก พลาสติกที่ได้จากสารปิโตรเคมีมีสมบัติในการคงสภาพอยู่ในธรรมชาติได้นานจุลินทรีย์ในดินไม่สามารถย่อยสลายได้หรือย่อยสลายได้ช้า ทำให้ตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือกลายเป็นขยะได้นานและหากนำมาทำลายโดยการเผาจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เรือนกระจก ดังนั้นกลุ่มพลาสติกที่ย่อยสลายง่ายหรือ พลาสติกชีวภาพจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจที่จะทำมาใช้ทดแทน ชนิดของพลาสติกที่ย่อยสลายได้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทด้วยกันตามปฏิกิริยาในการใช้ย่อยสลาย คือ

1) การย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) เกิดจากการใช้แรงกระทำแก่ชิ้นพลาสติกทำให้ชิ้นส่วนพลาสติกแตกออกเป็นชิ้นซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้โดยทั่วไปในการทำให้พลาสติกแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ทำให้ย่อยสลายโดยวิธีอื่นๆได้สะดวกต่อไป

2) พลาสติกที่สามารถย่อยสลายโดยการใช้แสง (Photodegradation) เกิดจากการเติมสารเติมแต่งที่มีความไวต่อแสงลงในพลาสติกหรือสังเคราะห์โคโพลิเมอร์ให้มีหมู่ฟังก์ชันหรือพันธะเคมีที่ไม่แข็งแรง แตกหักง่ายเมื่อสัมผัสรังสี UV เช่น หมู่คีโตน (Ketone group) อยู่ในโครงสร้าง เมื่อหมู่ฟังก์ชันดังกล่าวสัมผัสกับรังสียูวี จะเกิดการแตกของพันธะกลายเป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) ซึ่งไม่เสถียร ปฏิกิริยาในการย่อยสลายจึงเกิดขึ้นต่อไปอย่างรวดเร็วบริเวณพันธะเคมีบนตำแหน่งคาร์บอน ในสายโพลิเมอร์ ทำให้เกิดการขาดของสายโพลิเมอร์ ข้อเสียคือ การย่อยสลายนี้จะไม่เกิดขึ้นกับพลาสติกที่จะกำจัดโดยวิธีฝังกลบ หรือสภาวะแวดล้อมที่มืดหรือแม้กระทั่งชิ้นพลาสติกที่มีการพิมพ์ด้วยหมึกที่หนามากบนพื้นผิว เนื่องจากพลาสติกจะไม่ได้สัมผัสกับรังสียูวีโดยตรง

3) การย่อยสลายโดยปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative degradation) ปฏิกิริยานี้เป็นปฏิกิริยาที่มีการเติมออกซิเจนลงในโมเลกุลของโพลีเมอร์ซึ่งในธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ โดยมีออกซิเจน และความร้อน แสงยูวี หรือแรงทางกลเป็นปัจจัยเสริม ภายในโครงสร้างของพลาสติกชนิดนี้มีสารประกอบไฮโดรเปอร์ออกไซด์ (Hydroperoxide, ROOH) ที่ปราศจากสารเพิ่มความเสถียร (Stabilizing additive) ทำให้แสงและความร้อนทำลาย ROOH ให้แตกตัวกลายเป็นอนุมูลอิสระ RO และ OH และเข้าทำปฏิกิริยาต่อที่พันธะเคมีบนตำแหน่งคาร์บอนในสายโพลีเมอร์ ทำให้โครงสร้างของพสลาสติกเกิดการแตกหักและสูญเสียสมบัติเชิงกลอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากมีการเติมสารเติมแต่งที่เป็นเกลือของโลหะทรานสิชันซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีการการแตกตัวของสารประกอบไฮโดรเปอร์ออกไซด์เป็นอนุมูลอิสระ (Free radical) จะทำให้สายโพลีเมอร์ของพลาสติกเกิดการแตกหักและสูญเสียสมบัติเชิงกลรวดเร็วยิ่งขึ้น

4) การย่อยสลายโดยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส (Hydrolytic degradation) เป็นการย่อยสลายของโพลีเมอร์ที่มีหมู่ เอสเทอร์ หรือเอไมด์ เช่น แป้ง โพลีเอสเทอร์ โพลีแอนไฮดรายด์ โพลีคาร์บอเนต และโพลียูริเทน ผ่านปฏิกิริยานี้ก่อให้เกิดการแตกหักของสายโพลีเมอร์ดังกล่าว โดย สามารถแบ่งปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสที่เกิดขึ้น ออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทไม่อาศัยตัวเร่งปฏิกิริยา (Non-Catalytic Hydrolysis) และประเภทที่อาศัยตัวสารเร่งปฏิกิริยา(Catalytic hydrolysis)ซึ่งสามารถแบ่งออกไปเป็นอีก 2 แบบ คือ แบบที่ใช้ตัวเร่งภายนอกโมเลกุลของโพลีเมอร์เร่งให้เกิดการย่อยสลาย (External Catalytic Degradation) ได้แก่ กลุ่มของเอนไซม์ (Enzyme) เช่น Depolymerase lipase esterase และ glycohydrolase จึงจัดให้อยู่ในการย่อยสลายทางชีวภาพ (bio-degradation) หรือ กลุ่มของโลหะต่างๆ เช่น โลหะแอลคาไลด์ (alkaline metal) เบส และกรดที่มีอยู่ในธรรมชาติ ในกรณีนี้จึงจัดเป็นการย่อยสลายทางเคมี และแบบที่ใช้ตัวเร่งจากจากภายในโมเลกุลของโพลีมอร์เองในการเร่งให้เกิดการย่อยสลาย (Internal catalytic degradation) สำหรับปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสแบบตัวเร่งภายในโมเลกุลของพอลิเมอร์นั้นคือการใช้หมู่คาร์บอกซิล (Carboxyl Group) ของหมู่เอสเทอร์หรือเอไมด์บริเวณปลายของสายโพลีเมอร์ในการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส

5) การย่อยสลายทางชีวภาพ (Bio-degradation) เป็นการย่อยสลายของสายโพลีเมอร์ของพลาสติก โดยอาศัยการทำงานของจุลชีพ (microbial) ในขั้นตอนแรกเกิดขึ้นภายนอกเซลล์จุลชีพโดยจะมีการสร้างและปล่อยเอ็นไซม์ทั้ง endo-enzyme หรือ เอนไซม์ที่ทำใหเกิดการแตกตัวของพันธะภายในสายโพลีเมอร์อย่างไม่เป็นระเบียบ และแบบ exo-enzyme หรือเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการแตกหักของพันธะทีละหน่วยจากหน่วยซ้ำที่เล็กที่สุดที่อยู่ด้านปลายของสายโพล์เมอร์ เมื่อสิ้นกระบวนการนี้ทำให้สายโพลีเมอร์แตกตัวจนมีขนาดเล็กพอจะแพร่ผ่านผนังเซลล์เข้าไปในเซลล์ของจุลชีพ และเกิดการย่อยสลายภายในเซลล์โดยใช้เอนไซม์หลากหลายชนิดในที่สุดจะได้ พลังงาน และสารประกอบขนาดเล็กที่เสถียรในธรรมชาติ (Mineralization) เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน น้ำ เกลือแร่ธาตุต่างๆ และมวลชีวภาพ (Biomass)

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์พสาสติกชีวภาพ

การที่พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ง่าย จึงช่วยลดปัญหามลพิษ และขยะตกค้างใน สิ่งแวดล้อม ทั้งยังใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเช่น ใช้เป็นแคปซูลบรรจุยา เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและบรรจุภัณฑ์ทั่วไป กระถางต้นไม้ รวมถึงส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ หรือที่คาดไม่ถึงคือสามารถใช้เป็นวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของรถยนต์ได้ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีอัตราการใช้มากในขณะนี้ได้แก่ ถุงขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Compostable waste bags) และถุงหิ้วที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (Carrier bags) พลาสติกคลุมดินแบบย่อยสลายได้ (Biodegradable mulch film) สามารถไถกลบหลังนำไปใช้คลุมดินสำหรับเพาะปลูกได้ พลาสติกที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร (Catering products) ทั้งอาหารสด อาหารกึ่งสำเร็จ และอาหารพร้อมบริโภค บรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดฟิล์ม (Film packaging) และบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดน้ำ (Bottles) ทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งให้พลาสติกดังกล่าวมีสมบัติดียิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและการใช้งานที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

ผลกระทบต่อการผลิตพลาสติกทางชีวภาพ

ในการผลิตพสาสติกชีวภาพแม้เริ่มจากความต้องการในด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแต่ในทางกลับกันย่อมส่งผลกระทบในด้านลบต่อสภาวะแวดล้อมได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้

ก่อให้เกิดมลภาวะทางน้ำจากการเพิ่มของค่าความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (biological oxygen demand, BOD) และค่าความต้องการออกซิเจนทางเคมี (chemical oxygen demand, COD) อันเนื่องมาจากการมีปริมาณสารอินทรีย์ หรือสารอาหารในแหล่งน้ำในปริมาณสูง ทำให้จุลินทรีย์มีความต้องการใช้ออกซิเจนในน้ำสูงขึ้นด้วย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ทางน้ำได้

ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการย่อยสลายของพลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อม เช่น การย่อยสลายของพลาสติกในสภาวะการฝังกลบหรือการคอมโพสท์ อาจทำให้สารเติมแต่งต่าง ๆ รวมถึง สี พลาสติกไซเซอร์ สารคะตะลิสต์ที่ตกค้าง รั่วไหลและปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำใต้ดินและบนดิน ซึ่งสารบางชนิดอาจมีความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์

การเกิดมลภาวะจากขยะอันเนื่องมาจากการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ถูกทิ้งหรือตกลงในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาวะไม่เหมาะสมต่อการย่อยสลาย เช่น ถูกลมพัด และติดค้างอยู่บนกิ่งไม้ ซึ่งมีปริมาณจุลินทรีย์ไม่มากพอจะไม่สามารถย่อยสลายได้ดี นอกจากนี้การใช้พลาสติกย่อยสลายได้อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่า จะสามารถกำจัดได้ง่ายและรวดเร็วทำให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น และพลาสติกย่อยสลายได้บางชนิดอาจใช้เวลานานหลายปีในการย่อยสลายทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ และก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ที่กลืนกินพลาสติกเข้าไป เนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ภายในกระเพาะของสัตว์

เกิดความเป็นพิษของคอมโพสท์ที่ได้จากการหมักพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เนื่องจากการมีสารตกค้าง หรือใช้สารเติมแต่งที่มีความเป็นพิษ และส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น ไส้เดือน ดังนั้นจึงต้องศึกษาความเป็นพิษ (toxicity) ของคอมโพสท์ด้วย ชิ้นส่วนที่เกิดจากการหักเป็นชิ้นเล็กๆ เกิดการสะสมอยู่ในดินที่ใช้ทางการเกษตรในปริมาณเล็กน้อยจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศได้ดี จึงนิยมใช้ในสวนดอกไม้ ไร่องุ่น และใส่ในกระถางเพื่อทำหน้าที่ปรับสมบัติของดิน แต่อย่างไรก็ตามอาจเกิดการสะสมของเศษพลาสติกในดินมากเกินไปอาจส่งผลต่อคุณภาพของดินและปริมาณผลิตผลที่เพาะปลูกได้

ส่งผลให้เกิดสารประกอบที่ไม่ย่อยสลาย เช่น สารประกอบประเภทแอโรแมติกจากการย่อยสลายของพลาสติกบางชนิด เช่น AACs โดยส่วนที่เป็นวงแหวนแอโรแมติกในพอลิเมอร์ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารประกอบขนาดเล็ก เช่น กรดเทเรฟทาลิค (terephthalic acid (TPA) ซึ่งย่อยสลายทางชีวภาพได้ไม่ดีนัก และเกิดการตกค้างของสารเติมแต่งที่เติมลงในพลาสติกย่อยสลายได้ เพื่อปรับสมบัติให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่นเดียวกับพลาสติกทั่วไป เมื่อพลาสติกเกิดการย่อยสลาย สารเติมแต่งเหล่านี้อาจปนเปื้อนอยู่ในสภาวะแวดล้อมได้ เช่น สารช่วยในการผสมพลาสติกต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น methylene diisocyanate (MDI) สารพลาสติกไซเซอร์ที่มักเติมในพลาสติกเพื่อความยืดหยุ่น เช่น glycerol, sorbital, propylene glycol, ethylene glycol, polyethylene glycol, triethyl citrate และ triacetine สารตัวเติมที่นิยมเติมลงในพลาสติกเพื่อทำให้ราคาถูกลง ส่วนใหญ่เป็นสารอนินทรีย์ จึงเกิดการสะสมในดินและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามสารตัวเติมส่วนใหญ่ค่อนข้างเสถียร จึงไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษ เช่น CaCO3 TiO2 SiO2 และ talc เป็นต้น สารคะตะลิสต์ที่ใช้ในการสังเคราะห์พลาสติกย่อยสลายได้ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบของโลหะ ซึ่งในการผลิตโดยทั่วไปจึงมีคะตะลิสต์เหลือค้างอยู่ในเนื้อพลาสติกเสมอ หากเป็นพลาสติกทั่วไปที่ไม่ย่อยสลาย คะตะลิสต์จะติดค้างอยู่ในเนื้อพลาสติก แต่ในกรณีของพลาสติกย่อยสลายได้เมื่อเกิดการย่อยสลายจะมีการปลดปล่อยคะตะลิสต์ที่เหลืออยู่ออกมาสู่สภาพแวดล้อมอันส่งผลต่อระบบนิเวศน์และผู้รับสัมผัสได้

บทสรุป

ข้อดีของพลาสติกธรรมชาติที่ผลิตจากสินค้าการเกษตรนอกจากสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่ไม่มีวันหมดแล้ว เมื่อกลายเป็นขยะหรือหมดความจำเป็นในการใช้งานแล้ว ยังสามารถย่อยสลายได้เองไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเหมือนพลาสติกทั่ว ๆไป ทั้งเมื่อย่อยสลายแล้วยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์อันเป็นประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตอื่นหมุนเวียนในระบบนิเวศน์ ถึงแม้พลาสติกชีวภาพจะมีข้อได้เปรียบพลาสติกที่ใช้อยู่ทั่วไปหลายประการรวมถึงสามารถตอบสนองต่อการใช้งานได้แทบทุกรูปแบบ แต่อาจมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประเภทอยู่บ้าง รวมถึงในกระบวนการผลิตย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจนเกิดผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ๆ จะช่วยให้ความนิยมในการเลือกใช้งานมากขึ้น อันส่งผลต่อการควบคุมปริมาณขยะพลาสติกที่ตกค้างในส่งแวดล้อมในที่สุด ในขณะเดียวกันการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมีความสำคัญยิ่งที่ไม่แพ้กันอันเป็นการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเราอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2564). ไบโอพลาสติก จาก มันสำปะหลัง ทางเลือก ทางรอด สิ่งแวดล้อม. แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950599 (20 ส.ค. 2564).

กรุงเทพธุรกิจ. (2564). “ไบโอพลาสติก” แก้ปัญหาขยะล้นโลก. แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/857361 (20 ส.ค. 2564).

เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. (2560). พลาสติกคืออะไร. แหล่งที่มา : https://www.mtec.or.th/bio-plastic/index.html (1 ส.ค. 2564).

ไทยโพสต์. (2564). พลาสติก’ความจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์โควิด. แหล่งที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/106333 (10 ส.ค. 2564).

สถาบันพลาสติก. (2556). Plastics Foresight: Bioplastics Polymer of The Future. กรุงเทพฯ : Buffet Famous Co.,Ltd..

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม. (2564). พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ: Polylactic acid (PLA). แหล่งที่มา : http://www.ocsb.go.th/upload/ bioindustry/fileupload/9757–9874.pdf (1 ม.ค. 2565).

--

--