สำนวนโวหารอย่างมีชั้นเชิง
--
บทนำ
การใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารอย่างมีชั้นเชิงนับเป็นการแสดงข้อความออกมาในทำนองต่าง ๆ เพื่อให้ข้อความได้เนื้อความดี มีความหมายแจ่มแจ้ง เหมาะสมน่าฟัง ในการเขียนเรื่องราวอาจใช้โวหารต่าง ๆ กัน แล้วแต่ชนิดของข้อความ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
การใช้โวหารและสำนวนโวหาร
การใช้โวหารคือ การพลิกแพลงภาษาให้แปลกออกไปจากที่ใช้อยู่อย่างปกติก่อให้เกิด จินตภาพ ความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งเรียกกันว่า ภาพพจน์ โวหารที่ใช้ในการประพันธ์ถ้าใช้ในร้อยแก้ว เรียกว่า สำนวนโวหาร ถ้าใช้ในร้อยกรอง เรียกว่า กวีโวหาร หรือ โวหารภาพพจน์ เป็นการกล่าวอย่างไม่ตรงไปตรงมาซึ่งอาศัยกลวิธีต่าง ๆ ดังนี้
อุปมาอุปไมย เป็นการเปรียบเทียบว่า สิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่ง มักใช้คำว่า เหมือน เสมือน ดุจ ประดุจ ราว ราวกับ เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน กล เฉก คล้าย อย่าง ดังตัวอย่าง
คุณแม่หนาหนักเพี้ยง พสุธา
คุณบิดรดุจอา- กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร
(โคลงโลกนิติ)
อุปลักษณ์ คือ การเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบโดยไม่ใช้คำในความหมายว่า “เหมือน” แต่เป็นที่เข้าใจว่า อะไรเปรียบว่า “คือ” อะไรเปรียบว่า “เป็น” ซึ่งอาจมีคำว่า คือ หรือ เป็น หรืออาจจะไม่ต้องมีคำใดมาแสดงการเปรียบเทียบ ดังเช่น
พ่อตายคือฉัตรกั้ง หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร จากด้วย
ลูกต่ายบ่วายรัก แรงร่ำ
เมียมิ่งตายวายม้วย มืดคลุ้มแดนไตร
(โคลงโลกนิติ)[1]
หรือจากเนื้อความร้อยแก้วต่อไปนี้
“อนิจจา! แสงเดือนเพ็ญผ่องกระจ่างจับพระพักตร์อยู่เมื่อกี้ก็จางซีดขมุกขมัวลงท้องฟ้าสลัวมัวพยับครึ้ม อากาศเย็นเฉียบจับหัวใจน้ำค้างหยดเผาะๆ เป็นหยาดน้ำตาแห่งสวรรค์เกสรดอกรังร่วงพรูเป็นสายสหัสธาราสรงพระพุทธสรีระ จักจั่นเรไรสงัดเงียบดูไม่มีแก่ใจจะทำเสียง ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง”
(กามนิต — วาสิฏฐี)
บุคคลวัต หรือ บุคคลสมมุติ คำนี้เดิมใช้ว่า บุคลาธิษฐาน คือ การสมมติให้สิ่งต่าง ๆ แสดง
กิริยาอาการเหมือนมนุษย์และแสดงความรู้สึกเหมือนมนุษย์ ดังตัวอย่าง
นาฬิกาละเมอร่ำไห้ หฤโหด
เช้าตรู่จองเวรโกรธ ค่ำไว้
เฆี่ยนฆ่าค่ำเฉาโฉด สาปแช่ง
เวรนั่นใครทำไซร้ ทุกข์โพล้เพล้มหันต์
(อังคาร กัลยาณพงศ์, 2522 : 167)
หรือตัวอย่างจากงานเขียนร้อยแก้วต่อไปนี้
“ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง”
“น้ำเซาะหินรินรินหลากไหล ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินสลาย”
อธิพจน์ อติพจน์ และอวพจน์ “อติพจน์” คือ การพรรณนาเกินขอบเขตความเป็นจริง
ส่วน “อวพจน์” คือ การกล่าวน้อยกว่าจริง ดังตัวอย่าง
“มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” (เกินจริง)
“คอยไม่ถึงอึดใจเดียว ก็จะกลับมา” (น้อยกว่าจริง)
หรือตัวอย่างอติพจน์จากร้อยกรองต่อไปนี้
เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรเอย
เมรุชุบสมุทรดินลง เลขแต้ม
อากาศจักจารผจง จารึก พอ
โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม อยู่ร้อนเห็น
(นิราศนรินทร์)
นามนัย คือ การใช้คุณสมบัติเด่น ๆ หรือเอกลักษณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่อง
นั้นแทนความหมายทั้งหมด เช่น ฉัตร สำคัญที่สุดในประเภทเครื่องสูง จึงใช้ฉัตรแทนราชบัลลังก์ หรือ ราชสมบัติ ดังตัวอย่าง “ครั้นสวรรคาลัยไซร้ พระมหินทรได้สมบัติ เสียเศวตฉัตรหงษา
ศรีอยุธยาพินาศ จึ่งพระบรมราชปิตุรงค ทรงสืบเสวยสวรรเยศ ฝ่ายประเทศกุรุรัษฐ”
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)
หรือตัวอย่างจากงานเขียนร้อยแก้ว
“งานนี้ต้องระดมสมองกันหนักสักหน่อย” สมอง หมายถึง ความคิด
“ไม่มีข่าวจากทำเนียบขาว เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย”
หมายถึง ไม่มีข่าวจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
“นายกรัฐมนตรียืนยันว่า หลังการประชุมสภาครั้งนี้จะไม่มีการเปลี่ยนเก้าอี้”
“เก้าอี้” หมายถึง ตำแหน่งหน้าที่การงาน
สัญลักษณ์ คือ สิ่งที่กำหนดขึ้นให้เป็นที่ยอมรับสำหรับแทนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยถือว่าคำที่
นำมาใช้แทนกันได้นั้นต้องเป็นที่เข้าใจกันทั่วไป ดังตัวอย่าง
สีดำ แทน ความตาย ความเศร้าโศก
สีขาว แทน ความบริสุทธิ์ ความไร้เดียงสา
รวงข้าว แทน ความอ่อนน้อมถ่อมตน
สิงห์, สิงโต แทน ผู้มีอำนาจ
เมฆ หมอก แทน อุปสรรค ความเศร้า
นกขมิ้น แทน คนร่อนแร่พเนจร
สมอ แทน ทหารเรือ กองทัพเรือ
ปฏิพากย์ เป็นโวหารที่ใช้ข้อความขัดแย้งกัน หรือกล่าวตรงกันข้าม ดังตัวอย่าง
“หน้าชื่น อกตรม” หรือตัวอย่างจากคำประพันธ์ร้อยกรอง
“แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึง เสียงน้ำซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง
จักรวาลวุ่นวายไร้สำเนียง โลกนี้เพียงแผ่นภพสงบเย็น”
(วารีดุริยางค์)
สัทพจน์ หมายถึง การเลียนเสียงธรรมชาติ ดังตัวอย่าง
ยูงทองร้องกะโต้งโห่งดัง เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง
กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
ค้อนทองเสียงร้องป๋องแป๋ง เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
(กาพย์พระไชยสุริยา)
กวีสำคัญของไทย เช่น สุนทรภู่จะใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตามศัพท์ ถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาแต่จะเลือกสรรคำมาใช้ทำให้เกิดลีลาและจังหวะ ซึ่งช่วยเสริมความหมาย ให้ผู้อ่านเข้าใจได้ชัดเจนขึ้นเพราะทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในจิต อีกทั้งทำให้เสียงของคำประพันธ์ไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้นด้วยเพราะบทกวีที่มีจังหวะดีย่อมอ่านได้ราบรื่น
ภาษาภาพพจน์กับจินตภาพ
โวหารภาพพจน์ คือ การเรียบเรียงถ้อยคำโดยไม่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา
จินตภาพ หรือภาพในจิต หมายถึงภาพที่ปรากฏในจินตนาการ หรือความรู้สึกของบุคคลตามที่บุคคล นั้น ๆ เคยมีประสบการณ์มา ประสบการณ์ในเรื่องเดียวกันแต่ละคนอาจเกิดภาพในจิตไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน เพราะต่างประสบการณ์กัน
การสร้างจินตภาพผู้แต่งอาจกล่าวเป็นโวหารภาพพจน์หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็ได้ ดังตัวอย่างที่กล่าวเป็นโวหารภาพพจน์
- พื้นนภางค์เผือดดาว แสงเงินขาวจับฟ้า แสงทองจ้าจับเมฆ
- ดาวเดือนจะเลื่อนลับ แสงทองพยับโพยมหน
- พอสุริยงเธอเยื้องรถบทจร
- แสงทองระรองรุ่ง รวิปรุงชโลมสรรพ์
ตัวอย่างการกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
ภาพวาดสีน้ำมันนั้น แสดงถึงภาพลำธารที่ไหลผ่านเชิงเขาแห่งหนึ่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่หนาทึบตามลาดเขา อีกด้านหนึ่งของลำธารเป็นทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปบนชะง่อนหิน บางตอนก็สูง บางตอนก็ต่ำตะปุ่มตะป่ำไปด้วยก้อนหินใหญ่น้อย พรรณไม้เลื้อยและดอกไม้ป่าสีต่าง ๆ บนต้นไม้เล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายอยู่ตามหินผานั้น ไกลออกไปบนก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งอยู่ต่ำลงไปเกือบติดลำธาร แสดงภาพของคนสองคนนั่งอยู่ ภาพนั้นเป็นภาพวาดให้เห็นระยะไกล และไม่แสดงให้เห็นชัดว่า เป็นบุรุษคนหนึ่งกับสตรีคนหนึ่ง หรือว่าเป็นบุรุษทั้งสองคน แต่ว่าเป็นบุรุษ คนหนึ่งนั้นแน่นอน บนภาพมีตัวหนังสือเขียนไว้ว่า “ริมลำธาร”
(ข้างหลังภาพ)
จินตภาพหรือจินตนาการของกวี
ดวงมน จิตร์จำนง (2536: 41) กล่าวถึง จินตภาพหรือจินตนาการไว้ว่าเป็นภาพที่เกิดขึ้นตามแต่ความรู้สึกนึกคิดจะพาไป ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งเร้า และสิ่งเร้าสำคัญก็ได้แก่แรงกระทบอารมณ์ ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่แรงกระทบอารมณ์เพียงอย่างเดียวหรือไม่กี่อย่างจนถึงแรงกระทบอารมณ์หลายอย่างต่าง ๆ กัน ที่โหมประดังเข้ามาอาจกล่าวได้ว่าจินตนาการคือ ภาพที่ผู้ประพันธ์สร้างขึ้นอย่างชัดเจนในใจ การถอดภาพในใจนั้นออกมาเป็นถ้อยคำก็ต้องกระทำด้วยการเลือกสรรถ้อยคำด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างภาพในจิตนาการนั้นให้ปรากฏซ้ำอย่างใกล้เคียงที่สุด ในจินตนาการของผู้อ่าน
นักวิจารณ์ในกลุ่ม New Criticism มีความเห็นว่าจินตนาการมี 2 ประเภท คือจินตนาการประเภทแคบตายตัว (Faney) และประเภทลึกซึ้งกว้างขวาง (Imagination) ประเภทแรกนั้นเป็นจินตนาการง่ายๆ และสำเร็จรูป ประกอบด้วย ประสบการณ์อันจำกัดเฉพาะเจาะจงและอารมณ์สะเทือนใจที่ตายตัว เกิดจากแรงกระทบอารมณ์ที่คล้อยตามกัน ส่วนจินตนาการประเภทหลังนั้น ประกอบด้วยแรงกระทบอารมณ์ที่มีความต่างกันอย่างตรงข้ามเป็นพิเศษแต่สมดุลและผสมผสานกลมกลืนกัน
จินตนาการประเภทแคบตายตัวนี้ มักแสดงโดยการอุปมาอุปไมยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเข้าใจง่ายสะดุดตาเห็นได้ทันทีให้ความหมายแน่นอน และไม่ลุ่มลึกหลายซับหลายซ้อนดังจะยกตัวอย่างจินตนาการประเภทนี้ที่พบเห็นในวรรณคดีไทย
เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า ผิบ่ได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ดูเดือน ดุจแล
ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช
ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา
(ลิลิตพระลอ)
บทพรรณนาชมโฉมนางในวรรณคดีเช่นนี้ เราจะพบได้ซ้ำ ๆ กัน ในวรรณคดีหลายเรื่อง และดูเหมือนกวีต่างยึดถือเป็นแบบฉบับ จนกลายเป็นประเพณีของการแต่งวรรณคดีดังที่เรียกว่าปรัมปราคติทางวรรณคดี (Literary Tradition) การชมโฉมว่าหน้างามเหมือนเดือนเพ็ญ ฟันงานเหมือนนิลเจียระไนตามแนวปรัมปราคติ หรือจะชมอย่างค่านิยมปัจจุบันว่าฟันขาวเหมือนไข่มุกก็ตาม ล้วนเป็นจินตนาการลักษณะแคบตายตัว เพราะเป็นการแสดงแรงกระทบอารมณ์ที่คล้อยตามกัน ผู้รับสารจะไม่ตอบสนองอะไรมากไปกว่าการนึกเห็นความงามผ่องนวลของใบหน้า ความดำขลับแวววาวหรือขาวเป็นประกายของฟันที่เรียงกันเป็นระเบียบ
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2544 : 29–34) กล่าวไว้ว่า การสร้างพลังอารมณ์เพื่อให้กระทบใจผู้อ่านเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในวรรณคดีเช่นเดียวกับงานศิลปะอื่น ๆ การสร้างความกระทบอารมณ์จะทำให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มเลื่อนไหลจากโลกแห่งความเป็นจริง โดยอาศัยความจัดเจนทางวรรณศิลป์ทั้งในแง่ศิลปะการแต่งและพลังทางภาษา ความเกินจริงจึงเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ในการสร้างภาพพจน์ประเภทหนึ่ง (Hypobole) ภาพพจน์ประเภทนี้มิได้มุ่งให้เห็นภาพที่เป็นจริงตามตัวหนังสือ แต่ต้องการให้ผู้อ่านได้ความรู้สึก ฉะนั้น การเกินจริงหรือผิดความเป็นจริงเป็นเอกสิทธิ์ของกวี เพราะมิได้มีจุดประสงค์เพื่อบิดเบือนความจริง แต่ต้องการสร้างพลังทางอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล เช่น การกล่าวว่า “ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือด” เราไม่ได้หมายความตามนั้นจริง
ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทชมรถพระที่นั่งของทศกัณฐ์ส่วนหนึ่ง แล้วทรงรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อ ภาพของรถพระที่นั่งจากจินตนาการของศิลปินทั้งสองจึงเป็นศิลปวัตถุที่ใหญ่โต น่าสะพรึงกลัวเพราะ “กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล” และ “ดุมดงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน” เวลาที่ทศกัณฐ์ทรงรถนี้ทำให้ “พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ นทีตีฟองนองระลอก คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อานนทท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน” ส่วนกองทัพที่ตามมาส่ง “ก้องกัมปนาท” และมากมายจน “บดบังสุริยันตะวันเดือน” จึงไม่ต้องสงสัยว่ารถพระที่นั่งองค์นี้เหมาะสมกับพระอิสริยยศของทศกัณฐ์ผู้ยิ่งใหญ่เพียงไร
สรุป
การใช้สำนวนโวหารอย่างมีชั้นเชิงนับว่าเป็นความงามที่เกิดจากความสามารถอีกประการหนึ่งของกวี ในการเลือกสรรคำอย่างมีศิลปะด้วยความประณีตบรรจง ลีลาความงามของร้อยกรองมีความสอดคล้องกับกวีโวหาร หรือ โวหารภาพพจน์ ความงามของร้อยแก้วสอดคล้องกับการใช้สำนวนโวหาร หากผู้ประพันธ์ไม่พิถีพิถัน ในการใช้ถ้อยคำภาษาจะทำให้สื่อความได้ไม่ตรงตามความหมายหรือเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนใจในรสคำ เกิดภาพพจน์สร้างอารมณ์ความเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าผู้ประพันธ์จะเลือกรูปแบบเนื้อหา เลือกฉันทลักษณ์หรือเลือกใช้ถ้อยคำใดที่จะนำเสนอความคิด หรือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่ต้องการสื่อสารไปยังผู้อ่านทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้วรรณกรรมมีความงดงามในความรู้สึกของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
ดวงมน จิตร์จำนงค์. (2536). สุนทรียภาพในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ธรรมสาร.
ประทีป วาทิกทินกร. (2538). ร้อยกรอง. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2544). วรรณคดีศึกษา. กรุงเทพฯ : ธารปัญญา.
_____________. (2526). ความรู้ทั่วไปทางภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันตกคณะมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อังคาร กัลยาณพงศ์. (2522). กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ :เจริญวิทย์การพิมพ์.
ข้อมูลผู้เขียน
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา