การคิดอย่างมีวิจารณญาณ(critical thinking)

สมองของมนุษย์มีศักยภาพในการคิด และเรียนรู้ การทำงานของเซลล์ในสมองส่วนต่าง ๆ ทำให้สมองพร้อมเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้จากธรรมชาติรอบตัว วิเคราะห์และสร้างความรู้ขึ้นได้จากกระบวนการคิด และหลังจากเกิดความคิด ทำให้มนุษย์คิดค้นหาความหมายของคำตอบ พัฒนาความคิดใหม่ เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ได้อีกมากมาย การพัฒนาสมองให้ดีจะต้องฝึกฝนการใช้สมองให้คิดอยู่เสมอ จัดการเรียนรู้ หรือกระตุ้นให้มากพอที่จะทำให้สมองได้คิด พัฒนาให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ คือ การรู้จักคิด คนที่คิดเป็น คือ คนที่เรียนรู้เป็น”

มนุษย์มีอิสระทางความคิด ทุกคนมีศักยภาพในการคิด รับรู้ คิดคาดคะเน คิดวิเคราะห์ และคิดใช้เหตุผล เพื่อควบคุมพฤติกรรมหรือความต้องการได้ สามารถใช้เหตุผลบอกตัวเองได้ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ และจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดที่เรียกว่า “การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking)” ที่สามารถพัฒนาและฝึกฝนได้ด้วยการเรียนรู้ โดยปัจจุบันเป็นโลกยุคข้อมูลข่าวสารที่ให้ความสำคัญมากกับการคิดโดยเฉพาะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งทุกคนควรมีทักษะนี้เพื่อใช้การเรียนรู้ ใช้คิดวิเคราะห์ พิจารณาแยกแยะและหาเหตุผลอย่างเหมาะสม รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต การคิดอย่างมีวิจารณญาณสามารถพัฒนาและฝึกฝนกันได้ด้วยการเรียนรู้ ถ้ากล่าวถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณกับโรงเรียน จะเห็นได้ว่า โรงเรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรป เป็นต้น ได้จัดให้มีการสอนที่เน้นการคิดในโรงเรียน โดยเน้นการสอนทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหาเป็นหลัก ซึ่งสภาครูคณิตศาสตร์แห่งชาติและสมาคมครูวิทยาศาสตร์แห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่า ในการจัดการศึกษาของชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาความคิด โดยการกำหนดการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนะอีกว่า การจัดการศึกษาของชาติควรกำหนดให้มีการเสริมสร้างและพัฒนาความคิดให้แก่เด็ก และเยาวชน

ความหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณ หมายถึง การคิดใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการ และความสามารถ การมีเจตคติของการสืบค้นที่เกี่ยวข้องกับความสามารถที่จะรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และยอมรับว่าจำเป็นจะต้องมีหลักฐานในการสนับสนุนว่าสิ่งที่พิจารณานั้นเป็นจริงมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการสรุปอ้างอิงอย่าสมเหตุสมผล และสิ่งที่เป็นนามธรรม โดยพิจารณาจากความเที่ยงตรงของหลักฐานชนิดต่าง ๆ ในเชิงตรรกะและมีทักษะในการใช้ความรู้และทัศนคติ นอกจากนี้ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ยังเป็นกิจกรรมที่จำเป็นในการแก้ปัญหาเมื่อต้องการตรวจสอบสมมติฐานต่าง ๆ เป็นศิลปะของการคิดเพื่อที่จะทำให้การคิดดีขึ้นชัดเจนขึ้น มีความแม่นตรงขึ้น หรือป้องกันตนเองมากขึ้น เป็นกระบวนการของการคิดอย่างมีเหตุผลที่คิดด้วยตนเอง เป็นการคิดตามหลักการของการประเมินและมีหลักฐานอ้างอิง อย่างรอบคอบ นำไปสู่การเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นไปได้ ตลอดจนพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการตัดสินใจ ว่าสิ่งใดควรเชื่อ หรือสิ่งใดควรทำ ช่วยให้ตัดสินใจสถานการณ์ได้ถูกต้องเป็นวิธีคิดอย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ ก่อนตัดสินใจว่าจะเชื่ออะไร หรือไม่เชื่ออะไร ไม่รีบด่วนสรุป ตัดสินใจโดยไม่รั้งรอ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นรูปแบบหนึ่งของการคิดในระดับสูงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล มีการศึกษาข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นทักษะการคิดที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน เป็นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ปัญหาโดยยึดหลักการคิดด้วยเหตุผล จากข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่าอารมณ์ และการคาดเดา พิจารณาความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง คิดด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ใช้สติปัญญาและทักษะการคิดไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณมากกว่าการใช้อารมณ์ที่ทำให้เกิดความละเอียง เกิดอคติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อการตัดสินใจ ดังนั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นความคิดที่เปิดกว้าง มีเป้าหมายแน่นอน มีเหตุผล มีความถูกต้องแม่นยำ สามารถตรวจสอบความคิดและประเมินความคิดได้

วัตถุประสงค์ของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

จุดมุ่งหมายสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เพื่อให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การเรียนรู้ต้องเป็นเรื่องของการรู้จักคิด การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องกระตุ้นให้ผู้เรียน “คิดเป็น ทำเป็น” จึงจะถือว่าการเรียนรู้เป็น นั่นคือต้องพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด ซึ่งมีหลายประเภท เช่น การคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ฯลฯ “การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ สามารถคิด รับรู้ คาดคะเน และใช้เหตุผลเป็นตัวควบคุมพฤติกรรมหรือความต้องการของตน หรือ ใช้ตัดสินข้อมูลและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยยึดหลักการคิดด้วยเหตุผล ใช้ข้อมูล พิจารณาความเป็นไปได้ในแง่มุมต่าง ๆ ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง คิดด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ใช้สติปัญญาและทักษะต่าง ๆ ในการคิดไตร่ตรอง มากกว่าการใช้อารมณ์ที่ทำให้เกิดความลำเอียง เกิดอคติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อการตัดสินใจ

ประโยชน์ของการฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ

ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันคงจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียนตามการจัดการเรียนการสอนตามแนวปฏิรูป ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นเป้าหมายที่สำคัญในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ผู้ที่มีคุณลักษณะของผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณมักจะเป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจในโลกของยุคล้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารได้อย่างเหมาะสมว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรควรเชื่อและอะไรไม่ควรเชื่อ นอกจากนี้ยังสามารถวางแผนเพื่อทำงานได้อย่างเหมาะสมและสำเร็จได้ ดังนั้น จึงสามารถพูดได้ว่าการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินชีวิตของคน

ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถซึ่งแสดงให้เห็นว่าทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งสำคัญที่สังคมและตลาดแรงงานต้องการในยุคปัจจุบันเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติและโลก เป้าหมายหลักของการสอนวิทยาศาสตร์นอกจากจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การรู้วิทยาศาสตร์แล้วอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนาทักษะการคิดของนักเรียน และตามการจัดการเรียนตามแนวปฏิรูปที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมทักษะการคิดของนักเรียนซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivist approach) และแนวคิดที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านการสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง (constructionist approach)

ตัวอย่างการพัฒนารูปแบบการสอนอย่างมีวิจารณญาณ

การคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นสมรรถภาพทางสมองอย่างหนึ่งตามแนวคิดกลุ่มจิตมิติที่เชื่อว่าความสามารถทางสมองมีการปฏิบัติงานตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ในลักษณะของความสามารถด้านต่าง ไ ที่เรียกว่าองค์ประกอบซึ่งประเมินความสามารถดังกล่าวในเชิงปริมาณโดยใช้คะแนนจากการวัดเป็นตัวบ่งชี้สิ่งที่เป็นผลผลิต ส่วนกลุ่มที่ใช้วิธีการศึกษาตามแนวทฤษฎีของเพียเจต์และประมวลผลข้อมูลมีแนวคิดว่าความสามารถทางสมองเปลี่ยนแปลงได้โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นตัวป้อนเพื่อให้บุคคลจัดกระทำข้อมูลที่เป็นตัวป้อนเพื่อให้บุคคลจัดกระทำกับข้อมูลตามกระบวนการที่เป็นกระบวนการคิด

รูปแบบพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นรูปแบบโปรแกรมเฉพาะที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เนื้อหาที่เป็นความรู้ทั่วไป เพราะการคิดอย่างคมีวิจารณญาณเปนการคิดไตร่ตรงออย่างรอบคอบเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นปัญหา ข้อโต้แย้ง หรือข้อมูลที่คลุมเครือ เพื่อตัดสินใจและนำไปสู่การสรุปเป็นข้อยุติอย่างสมเหตุสมผล

มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบคลุมกระบวนการคิดทั้ง 6 ขั้นตอน ได้แก่ การนิยามปัญหา การรวบรวมข้อมูล การจัดระบบข้อมูล การตั้งสมมุติฐาน การสรุปอ้างอิงโดยใช้หลักตรรกศาสตร์และการประเมินการสรุปอ้างอิง

เนื้อหาที่ใช้สอนเป็นเนื้อหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน โดยไม่อิงเนื้อหาวิชาใดวิชาหนึ่งแต่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นปัญหา ข้อโต้แย้ง หรือข้อมูลที่คลุมเครือที่ยังไม่สามารถสรุปได้

ขั้นตอนการสอนและการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วยขั้นตอนการสอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเสนอสถานการณ์ ขั้นตอนนี้ผู้สอนอธิบายจุดมุ่งหมายของการสอนจากนั้นผู้สอนจึงเสนอประเด็นปัญหา ข้อโต้แย้งหรือข้อมูลที่คลุมเครือเพื่อเป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาและระบุประเด็นปัญหา

ขั้นตอนที่ 2 ฝึกการคิดเป็นรายบุคคล ให้ผู้เรียนแต่ละคนฝึกการคิดตามกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณคือ นิยามปัญหา รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา จัดระบบข้อมูล ตั้งสมมติฐาน สรุปอ้างอิงโดยใช้หลักตรรกศาสตร์ และประเมินการสรุปอ้างอิง ให้ผู้เรียนคิดอย่างอิสระต่างคนต่างคิด ผู้สอนจะเป็นผู้สนับสนุนการคิดของผู้เรียนโดยการจัดสภาพการณ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการคิด เช่น อธิบายเพิ่มเติม ให้เวลาแก่ผู้เรียนในการคิด บอกแหล่งข้อมูล สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน ใช้คำถามกระตุ้นให้คิด และเสริมแรงผู้เรียน

ขั้นตอนที่ 3 ฝึกการคิดเป็นกลุ่มย่อย ขั้นตอนนี้แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 4–5 คน ให้นักเรียนแลกเปลี่ยนผลการคิดของตนขณะเดียวกันก็ได้ทราบผลของการคิดของคนอื่นด้วย ขณะที่สมาชิกคนหนึ่งกำลังเสนอผลการคิดให้สมาชิกที่เหลือฟังและเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เสนอนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากของตน จากนั้นให้ผู้เรียนช่วยกันอภิปรายภายในกลุ่มเพื่อหาข้อสรุปที่สมเหตุสมผลที่สุดพร้อมทั้งบอกเหตุผลสนับสนุนผลการสรุป

ขั้นตอนที่ 4 อภิปรายผลการคิด ขั้นตอนนี้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เสนอผลสรุปผลการคิดของแต่ละกลุ่มย่อยต่อกลุ่มใหญ่เพื่อให้ผู้เรียนพิจารณาและอภิปรายผลสรุปการคิดของแต่ละกลุ่มร่วมกัน เปรียบเทียบผลการคิดของตนและของกลุ่มย่อยต่อกลุ่มอื่นว่าเหมือนหรือแตกต่างกัน ขั้นตอนนี้ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปของประเด็นปัญหาจากผลการคิดของแต่ละกลุ่มและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกับผู้สอน ผู้สอนเป็นเพียงผู้นำการอภิปรายและเสนอประเด็นที่ควรพิจารณาหรือสรุปปัญหาเพิ่มเติม จากนั้นให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พิจารณากระบวนการคิดของตนอีกครั้งหนึ่งรวมทั้งปรับปรุงข้อสรุปของตนใหม่

ขั้นตอนที่ 5 ประเมินกระบวนการคิด ขั้นตอนนี้ให้ผู้เรียนได้ประเมินกระบวนการคิด ประเมินโดยใช้แบบประเมินกระบวนการคิด ผู้สอนจะประเมินรายงานการคิดของผู้เรียนแต่ละคนว่ามีกระบวนการคิดเป้นไปตามจัดมุ่งหมายหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน

เอกสารอ้างอิง

ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ และ อุษา ชูชาติ. (2544). ฝึกสมองคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2544.

Dressel, P.L., and Mayhew, L.B. (1957). General Education : Explorations in Evaluation. 2nd ed. Washington, D.C. : American Council on Education.

Ennis, R. H. (1985). “A logical basis for measuring critical thinking skill,”Educational Leadership. 43(6) : 45–48

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). (2542). พุทธธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

--

--