แนะนำ 9 คอร์สเรื่อง UX จาก Interaction Design Foundation ที่เรียนจบแล้วได้ใช้จริงแน่นอน

Lookchin
4 min readJul 31, 2021

--

ผมคิดว่าหลาย ๆ คนที่ทำงานสาย UX/UI Designer เคยประสบปัญหาว่าจะสามารถศึกษาเพิ่มเติมในสายงานนี้แบบเชิงลึกได้อย่างไร และ Interaction Design Foundation อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณในการก้าวขึ้นอีกระดับในสายงานนี้

สวัสดีครับ ผมชื่อลูกชิ้น เรียนจบวิศวกรรมฯ คอมพิวเตอร์ แต่ dev ไม่เป็น หลังจบปริญญาตรี ผมทำงานสายสื่อกีฬา ก่อนที่จะมาเป็น UX/UI Designer โดยบังเอิญ รู้ตัวอีกทีก็ทำงานสายนี้มาเป็นเวลา 3 ปีครึ่งแล้วครับ

ที่เล่าย่อหน้าข้างบนให้ฟังเพราะว่า ย้อนกลับไปตอนที่ผมเริ่มมาเป็น UX/UI Designer ผมทำงานของผมด้วยเซนส์และความเชื่อตัวเองล้วน ๆ ซึ่งหลายอย่างก็ทำให้งานออกมาดี แต่หลายครั้ง เราก็มองเห็นว่างานของเรามันยังขาดอะไรหลายอย่างไป โดยที่เราไม่รู้ก็จะเรียกมันว่าอะไรดี

วันนึงพี่คนนึงในบริษัทของผม ก็สมัครเรียนออนไลน์บนเว็บไซต์ Interaction Design Foundation ให้ ผมไม่เคยรู้จักเว็บนี้มาก่อน แต่ก็พบว่า เนื้อหาของคอร์สเรียนในเว็บนี้เป็นอะไรที่หาได้ยากมากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นคอร์สออนไลน์ในไทยหรือใน Medium

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผมก็ได้เรียนในคอร์สออนไลน์ของ IDF อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาราว ๆ 2 ปี เนื่องจากตัวเว็บเก็บค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ปีละ 6,216 บาท ระหว่างนั้นเราจะเรียนคอร์สอะไร มากเท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำกัด ผมจึงเรียนจบไปทั้งหมด 20 คอร์ส

ผมคิดว่าผมสามารถสะท้อนองค์ความรู้ที่ได้จากคอร์สเรียนเหล่านี้ลงในเนื้องานได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นสำหรับคนที่กังวลว่าเรียนแล้วจะเปลืองมั้ย จะได้ใช้ในงานจริง ๆ หรือเปล่า ผมให้คำตอบว่า

“สำหรับผม การลงทุนปีละ 6,216 บาทกับการลงเรียน IDF และให้เวลากับมันประมาณวันละ 1 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 2 ปี สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในการลงทุนทั้งเงินและเวลาที่คุ้มที่สุดในชีวิตของผม”

หลังจากอารัมภบทมาเยอะแล้ว ผมจะขอแนะนำคอร์สเรียน 9 คอร์สที่ผมคิดว่า คนที่ทำงานเป็น UX Designer / UX/UI Designer / หรือ UI Designer ก็ตามควรลงเรียนไว้ ได้ใช้จริงแน่นอนครับ

หมายเหตุ:

  • ก่อนอื่นผมต้องบอกว่า Interaction Design Foundation อาจไม่ได้เหมาะสมสำหรับคนที่ยังไม่ได้เริ่ม career ตรงนี้ ซึ่งบทความที่แล้ว ผมแนะนำให้เรียน Google UX ก่อน
  • แต่ถ้าอยากเริ่มเรียนกับ IDF โดยไม่มีประสบการณ์ UX มาก่อน ก็สามารถเรียนได้ โดยมีคอร์สสำหรับ “มือใหม่มาก ๆ” 2 คอร์สได้แก่ “User Experience: The Beginner’s Guide” และ “Design Thinking: The Ultimate Guide” ซึ่งผมจะไม่พูดถึงเพราะไม่ได้ลงเรียนนะครับ
  • คอร์สเรียนที่นำมาลง ไม่ได้มีการเรียงลำดับความยาก ทุกคอร์สเหมาะสำหรับผู้มีประสบการณ์ในด้าน UX/UI ประมาณนึง ไม่เรียงลำดับว่าควรเรียนอะไรก่อนหลัง ต่างคอร์สต่างมีเนื้อหาเฉพาะครับ
  • คอร์สใน IDF มีทั้งคอร์สที่เป็นเนื้อหาแบบอ่าน และแบบวิดีโอมีคนสอน มีซับอังกฤษในคลิป มี Quiz ให้ตอบระหว่างเรียน และต้องทำให้ได้คะแนนเกิน 70% ทาง IDF ถึงจะออก Certificate ให้

1. UI Design Patterns for Successful Software

หลาย ๆ ครั้งที่เราออกแบบ UI ออกมา เรามักจะใช้ประสบการณ์เบื้องหลัง หรือการใช้แบบ pattern จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้ Design System หรือเลียนแบบมาโต้ง ๆ ก็ตาม

คอร์สเรียนนี้จะช่วยให้คุณสามารถ “ตัดสินใจที่จะใช้ Pattern” ได้ดีขึ้น เพราะทำให้คุณเข้าใจเหตุผลว่า component แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน และ User จะสามารถใช้งานแบบไหนบ้าง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ระหว่างการเลือก Radio Button, Checkboxes, Dropdown Menu ไปจนถึงการเลือก Navigation UI ที่เหมาะสม

การเรียนคอร์สนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำความรู้จักกับคำว่า “Usability” หรือ “คุณภาพในการใช้งาน” เพราะเนื้อหาเข้าถึงง่าย เป็นรูปธรรม และเห็นได้ชัดว่า แบบไหน User ถึงจะใช้ได้ดีที่สุด ง่ายที่สุด และสับสนน้อยที่สุด

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: UI Design Certification Course | IxDF (interaction-design.org)

2. User Research — Methods and Best Practices

สำหรับหลายคนอาจประสบพบเจอปัญหาว่า บริษัทที่ทำงานด้วยไม่ได้เอื้อเวลาให้สามารถทำ Research ได้อย่างที่ควรเป็น ทำให้ขาดประสบการณ์หรือขาดความเข้าใจในทฤษฎีของการทำ User Research ไป

หรือบางคนอาจเคยทำ User Research, User Interview, หรือ Usability Test มาแล้ว แต่ทำบน Framework และอาศัยการสังเกตและคิดวิเคราะห์ของตัวเอง (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วนะครับ)

คอร์สนี้จะช่วยเพิ่มให้คุณมีความเข้าใจในทฤษฎี และการลงมือทำ User Research มากกว่าที่เคย รู้ข้อควรพิจารณาระหว่างการทำ Research และวิธีตั้งกรอบการค้นคว้าที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (insight) สำหรับการออกแบบเพื่อ UX ที่ดีจริง ๆ ตั้งแต่ Template ในการทำ Research จนถึงวิธีการตั้งคำถามที่ได้คำตอบที่ดีพร้อมกับรักษาจรรยาบรรณในการทำงาน

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: User Research — Methods and Best Practices | IxDF (interaction-design.org)

3. Web Design for Usability

คอร์สนี้สำหรับผมคือการปูพื้นฐานสู่ความเข้าใจของคำว่า Usability ซึ่งหัวข้อนี้อาจเป็นคอนเซปต์ที่หลาย ๆ บริษัทยังไม่คำนึง แต่หลายครั้งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายเลยทีเดียวว่าการออกแบบของเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะทุกการออกแบบที่ประสบความสำเร็จต้องมาพร้อมกับคำว่า “ใช้ได้” เสมอ

Usability คือสิ่งที่ว่าด้วยคุณภาพในการใช้งานของ User ซึ่งแปลเป็นความหมายส่วนตัวของผมว่า “ใช้ได้ ใช้ง่าย มีประโยชน์”

คอร์สนี้จะทำให้คุณเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ของสิ่งนี้ โดยพาจาก Common Sense ไปสู่การวิเคราะห์เจาะจงว่าทุกสัมผัสการใช้งานของ User จะรับรู้แบบใด เข้าใจแบบไหน จะใช้งานอย่างไร และจะได้ผลลัพธ์อย่างไร ส่งผลไปสู่การเลือกวิธีการออกแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะต้องทำ Usability Test

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: How to Improve the Usability of Web Designs | IxDF (interaction-design.org)

ระหว่างเรียนจะมี Quiz ที่ต้องตอบคำถาม ทั้งแบบตัวเลือก และแบบ Open-Text ต้องทำคะแนนให้ได้เกิน 70% ของโจทย์ทั้งหมด IDF ถึงจะออก Certificate ให้
ระหว่างเรียนจะมี Quiz ที่ต้องตอบคำถาม ทั้งแบบตัวเลือก และแบบ Open-Text ต้องทำคะแนนให้ได้เกิน 70% ของโจทย์ทั้งหมด IDF ถึงจะออก Certificate ให้

4. Interaction Design for Usability

คอร์สนี้ช่วยปูพื้นฐานเรื่อง Interaction Design ในมุมกว้างได้อย่างดี และอธิบายว่ามันส่งผลต่อคุณภาพการใช้งาน (Usability) ของ User ได้อย่างไร ตั้งแต่เรื่องพื้น ๆ อย่างการใช้สี ฟอนต์ เลย์เอาท์ กริด ไปจนถึงการคำนึงเรื่อง Human Error หรือ Effort ที่ User ต้องใช้ในเชิงทฤษฎี

ผมยกให้คอร์สนี้เป็นหนึ่งในคอร์สที่ดีที่สุดของเว็บไซต์ สมชื่อกับเป็น Interaction Design Foundation จริง ๆ เพราะเป็นคอร์สที่มีเนื้อหายาวนาน แต่ครอบคลุมทุกด้าน สำหรับคนที่เป็น UX/UI แบบ Self-Taught จะได้อะไรใหม่เยอะมาก ๆ

หลังจากเรียนคอร์สนี้จบ คุณจะสามารถยกระดับ User-Centered Design ของคุณขึ้นอีกระดับด้วยการใส่การพิจารณาด้าน Usability ทุกมิติอย่างเต็มตัว

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: An Introduction to Interaction Design for Usability | IxDF (interaction-design.org)

5. Conducting Usability Testing

การทำ Usability Test ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการทำงานในสาย UX/UI Designer แต่หลาย ๆ บริษัทก็ยังคงไม่คุ้นเคยกับคอนเซปต์ของการทำ Usability Test อย่างเป็นระบบระเบียบ และยังคำนึงถึงเรื่องการใช้ของ User ไม่ครอบคลุม

คอร์สนี้จะทำให้คุณได้รู้วิธี “ออกแบบการทดสอบ” อย่างถูกต้อง และสามารถทำตาม Best Practices ได้อย่างเป็นมืออาชีพ ไม่พลาดแบบง่าย ๆ หรือเผลอเรอ พร้อมกับพิจารณาส่วนสำคัญในการประเมินระหว่างการทำ Usability Testing ได้อย่างดี ส่งผลให้สามารถได้ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการปรับปรุงการออกแบบของคุณให้ดีขึ้นอย่างตรงจุด

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: An Introduction to Conduct Usability Testing | IxDF (interaction-design.org)

6. Accessibility: How to Design for All

คอนเซปต์ของการออกแบบเพื่อ Accessibility หรือออกแบบเพื่อผู้ใช้งานที่มีภาวะบกพร่องแบบต่าง ๆ นั้นมีมานานแล้ว เช่นการออกแบบทางลาดเอียงสำหรับผู้พิการทางการเดิน การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ จนมาถึงปัจจุบันที่มีการออกแบบ UI เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ได้

หัวข้อนี้ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยนัก แต่ในหลาย ๆ ประเทศนั้นมีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับการออกแบบโดยคำนึงถึง Accessibility เพื่อให้แน่ใจว่าทุก ๆ คนจะสามารถใช้สิ่งใดก็ตามได้อย่างเสมอภาคที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ว่ากันว่าการออกแบบโดยคำนึงเรื่อง Accessibility หลาย ๆ ครั้งก็ช่วยให้การใช้งานของคนธรรมดา ใช้งานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความสำคัญของเรื่องนี้คือการที่เราออกแบบเพื่อทุกคนโดยมองว่า “มันเป็นสิ่งที่ควรทำ” ในแง่มนุษยธรรมโดยไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ใด ๆ

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: UX Accessibility Training: Certification for Designers | IxDF (interaction-design.org)

เมื่อเรียนจบแล้วทาง IDF จะออก Certificate ให้ ไว้ใส่ใน LinkedIn หรือ Portfolio ของเราได้ (แต่เอาจริง ๆ ไม่คิดว่ามีผลกับการสมัครงานมาก ถ้าเรียนรู้แล้วเอามาใช้ในงานเสนอพอร์ตได้ อะไร ๆ ก็ดีเอง)

7. Data-Driven Design: Quantitative Research for UX

ในยุคปัจจุบัน การใช้ Quantitative Result ในรูปแบบของ Data เริ่มกลายเป็นเรื่องพื้นฐานของบริษัทชั้นนำหลาย ๆ ที่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังไม่เคยเก็บ Data อย่างจริงจัง หรือไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างที่ควร

คอร์สนี้จะทำให้คุณมีพื้นฐานของเรื่องการใช้ข้อมูลแบบแน่น ๆ ตั้งแต่การเก็บข้อมูลด้วย Survey ทั้ง Pre-Launch และ Post-Launch ไปจนถึงการเก็บ Event Tracking จากตัว UI ที่ผ่านการ dev แล้ว

นอกจากนี้ยังสอนเรื่องการดูข้อมูล และตีความข้อมูลผ่าน Information Visualization และการใช้กระบวนการทางสถิติเพื่อไปสู่ Data-Driven Decision ที่แท้จริงอีกด้วย

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: Data-Driven Design: Quantitative UX Research Course | IxDF (interaction-design.org)

8. Mobile User Experience (UX) Design

ในวันนี้ UX/UI Designer คงไม่มีทางพ้นมือสำหรับการออกแบบสำหรับมือถือ ซึ่งบางบริษัทมองหา Designer สำหรับมือถือโดยเฉพาะเลยด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ของ User มาเป็น Smartphone ทำให้วงการ UX/UI ส่วนนี้สั่นสะเทือนอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ คอร์สเรียนนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อโฟกัสการออกแบบเพื่อ Smartphone โดยเฉพาะ ซึ่งไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องการคำนึงกับจอภาพที่เล็กลง จัด container จาก 12 ช่องให้เล็กลงเฉย ๆ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการพิจารณาวิธีการใช้โทรศัพท์ด้วยนิ้ว สั่งงานด้วยเสียง ลักษณะการมองเห็น ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้มือถือที่อาจถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: https://www.interaction-design.org/courses/mobile-user-experience-design-deprecated?r=supasinan-pisanuwongrak

9. How to Create a UX Portfolio

เรื่องนี้นับเป็นปัญหาระดับชาติสำหรับทั้งตัว UX/UI Designer หลายคนที่ทำงานมาหลายปีก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองควรทำ Portfolio อย่างไร ต้องใส่ UI เข้าไปเยอะ ๆ ไหม แล้วต้องเขียนคำอธิบายเรื่องอะไรบ้าง

ซึ่งเรื่องนี้สำหรับคนที่กำลังเปิดรับ UX/UI Designer บางครั้งก็ไม่แน่ใจว่าควรจะตัดสินใจได้อย่างไรว่า Portfolio แบบใดถึงจะเรียกว่าดี

คอร์สนี้จะสอนให้คุณรู้ว่าการทำ UX Portfolio ที่สามารถสะท้อนความสามารถในด้าน UX ได้อย่างเต็มตัวต้องทำอย่างไร และสำหรับคนที่ทำ UI ด้วยก็สามารถใช้ Best Practice จากคอร์สนี้ในการสะท้อนความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่

สำหรับผม Portfolio ถือเป็นหน้าด่านสำคัญและตัดสินความเป็นไปได้ในการรับเข้าทำงานไปแล้วครึ่งนึงเลยทีเดียว เพราะงั้นคอร์สนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่พยายามเข้าสู่สายงานนี้ หรือต้องการทำ Portfolio ที่สะท้อนตัวเองได้ดีที่สุดออกมา

ลิงค์สำหรับคอร์สเรียน: How to Create a UX Portfolio Course | IxDF (interaction-design.org)

เรียนไปเรื่อย ๆ วันละ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง รู้ตัวอีกทีคุณก็ได้เรียนรู้อะไรไปเยอะมาก ๆ แล้ว

อยากบอกว่าที่ตัวเลขครึ่ง ๆ กลาง ๆ อยู่ที่ 9 เพราะผมพิจารณาแล้วจริง ๆ ว่า 9 คอร์สนี้คือ A Must และ Practical สำหรับทุก ๆ คน ผมก็เลยไม่หาอะไรมายัดในบทความให้ครบ 10 พอดี

ถ้าคุณตัดสินใจจะ “ลงทุน” ด้วยการ “ลงเงิน” หลายพันบาทเพื่อเรียน ผมขอกระซิบอีกทีว่าอย่าลืมว่าคุณต้อง “ลงแรง” และ “ลงเวลา” ให้กับสิ่งนี้ด้วย ไม่งั้นคุณจ่ายเงินมาดองไว้ ผ่านไปปีนึงแล้วรับรองเสียดายตังน่าดู

พยายามเรียนให้ได้วันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย ปีนึงคุณก็เรียนมากกว่าชาวบ้านไป 180 ชั่วโมงได้ คงทำให้คุณเรียนจบไปหลายคอร์สเลยทีเดียว

ป.ล. เอาจริง ๆ ผมก็เพิ่งมารู้ว่ามัน refer ได้ระหว่างนั่งดูว่าเคยเรียนอะไรมาเพื่อเขียนบทความนี้นี่แหละ สำหรับคนที่ตั้งใจจะลงเรียน IDF และพร้อมจะจ่ายรายปี ถ้าลงเรียนผ่านลิงค์นี้ (หรือคลิกที่ลิงค์ใต้คอร์สเรียนที่สนใจก็ได้) จะได้ลดราคาค่าเรียน 2 เดือน หรือประมาณ 1,000 บาทเลยนะ (ผมก็ได้ลดด้วยไม่กี่ร้อย แต่เหตุผลสำคัญที่ผมเขียนขึ้นมาเพราะอยากเป็นแนวทางให้สำหรับคนที่อยากลงเรียนมากกว่าครับ)

--

--

Lookchin

UX Designer ที่เรียนจบวิศวฯ คอมฯ มาแต่ dev ไม่เป็น เริ่มวัยทำงานด้วยงานสื่อกีฬา แต่กลายมาเป็น UX โดยบังเอิญ มีอีวุยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ