Blockchain ไม่ใช่ทุกอย่าง

Methus Kaewsaikao
3 min readDec 25, 2017

--

ปี 2017 เป็นปีที่คำว่า Blockchain ถูกพูดถึงอย่างมากไม่แพ้ AI และ Big Data หลังจากที่ราคาของ Bitcoin ขึ้นมาหลายเท่าในเวลาเพียง 1 ปี หลาย ๆ คนที่ได้ศึกษา Bitcoin ก็คงเข้าใจแล้วว่าเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Bitcoin ที่เรียกว่า Blockchain และ Smart Contract ต่างหากที่เป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไว้ใจ และช่วยในการกำจัดตัวกลางออกไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สิ่งที่ได้รับความนิยมถัดมานั่นก็คือ ICO ซึ่งเป็นรูปแบบของการระดมทุนจากสาธารณะชนรูปแบบใหม่บน Cryptocurrency โดยผู้ที่ลงทุนจะต้องมอบเงินของตัวเองเช่น Bitcoin หรือ Ethereum ให้กับทีมงาน แลกกับเหรียญที่จะใช้งานในระบบ Blockchain ที่ทีมงานกำลังจะสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง หลาย ๆ เหรียญนั้นมีมูลค่าจริง แต่ก็มีอีกหลายเหรียญที่ถูกสร้างมาโดยไม่จำเป็นหรือบางครั้งไม่มีมูลค่าอะไร

บริษัทหลายบริษัทก็เริ่มให้ความสนใจในการใช้ Blockchain เพื่อทำให้ระบบของตัวเองดีขึ้น แต่ก็ควรจะวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่า Blockchain นั้นเป็นเพียงกระแสหรือมันสามารถแก้ปัญหาให้กับธุรกิจของเราได้จริง

ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าอะไรบ้างที่ Blockchain ช่วยแก้ปัญหาได้และอะไรบ้างที่ไม่ควร ซึ่งเราอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการดูว่าการลงทุนของเรานั้นมีความเสี่ยงหรือเปล่า และเอาไปช่วยตัดสินใจว่าธุรกิจของเราควรจะใช้ Blockchain หรือเปล่า

การมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ตัวกลางและความไม่ไว้ใจกันคือหัวใจของ Blockchain

Blockchain มักถูกใช้ในระบบที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่า 1 กลุ่ม และมีแกนกลางเป็นความไว้ใจ เช่น ไว้ใจว่าผู้ผลิตได้นำสินค้ามาจากแหล่งที่เราต้องการจริง ไว้ใจว่าผู้ขายเป็นเจ้าของสินค้าที่กำลังจะขายจริง ผู้ซื้อมีเงินจ่ายจริง หรือเป็นระบบที่ต้องมีตัวกลางมาช่วยยืนยัน แต่การใช้ตัวกลางก็แปลว่าเราต้องไว้ใจผู้ที่เป็นตัวกลางอยู่ดี

Blockchain คือระบบที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความไว้ใจนี้เอง โดยเราสามารถที่จะไม่ต้องมีตัวกลางใด ๆ และไม่ต้องเชื่อถือใครเป็นพิเศษ เพราะ Blockchain จะช่วยเป็นตัวกลางที่จัดการข้อมูลให้โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และมีข้อตกลงที่โปร่งใสอยู่ในรูปแบบของ Smart Contract ตัวข้อมูลมีความโปร่งใสและไม่สามารถถูกแก้ไขได้ ยกตัวอย่างแวดวงที่นำ Blockchain มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

ระบบติดตาม Supply Chain และป้องกันของลอกเลียนแบบ

ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญว่าสินค้าที่ตัวเองได้รับนั้นมาจากแหล่งที่ต้องการจริงหรือเปล่า เช่น ปลาที่เรากำลังจะรับประทานนั้นถูกจับจากแหล่งที่ควรจับหรือเปล่า? ผ่านกระบวนการจากโรงงานที่ได้มาตรฐานหรือเปล่า? หรือกระเป๋าแบรนด์เนมที่เราซื้อนั้นเป็นของแท้หรือเปล่า?

ระบบติดตามความเป็นเจ้าของ

วงการกฏหมายเริ่มใช้ Blockchain ในการลดข้อผิดพลาดเช่นเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สิทธิในการเปลี่ยนเจ้าของหรือสิทธิในการหากำไรจากสินทรัพย์ รวมไปถึงเรื่องภาษี การบำรุงรักษา การระบุความเสียหายของสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในธุรกิจรถมือสอง

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ก็สามารถใช้ Blockchain เพื่อระบบความเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้

ธุรกิจการเงิน

Blockchain สามารถลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้ เช่น การถ่ายโอนเงินที่มักต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร เมื่อเปลี่ยนมาใช้ Blockchain ก็สามารถโอนเงินหากันได้โดยตรง หรือสถาบันการเงินก็สามารถนำธุรกรรมขึ้น Blockchain เพื่อลดข้อผิดพลาดระหว่างสถาบันและเพิ่มความเร็วในการเคลียร์เงินกันระหว่างธนาคาร

สาธารณสุข

ระบบ Blockchain สามารถถูกประยุกต์ใช้เช่นการบันทึกประวัติการรักษาและการใช้ยาของคนไข้ คนไข้ก็ได้ประโยชน์จากการที่โรงพยาบาลสามารถแชร์ข้อมูลของคนไข้ให้กันได้อย่างปลอดภัย ประกันภัยก็ได้รับประโยชน์จากการติดตามการใช้งานยา เช่น ประกันภัยจะจ่ายเงินให้ยาบางประเภทก็ต่อเมื่อได้รับยาตัวอื่นมาก่อนเท่านั้น โรงพยาบาลและคนไข้ก็ลดความเสี่ยงที่จะเบิกประกันไม่ได้ บริษัทประกันเองก็ลดค่าใช้จ่ายที่ผิดพลาดลงได้

แต่…

ระบบ Blockchain ไม่ใช่ยาวิเศษ เหมือนกับเราใช้ธนูล่าสัตว์ได้ แต่ใช้ตัดต้นไม้ไม่ได้ ไม่มีอะไรดีกว่าอย่างอื่นในทุก ๆ ด้าน แต่ประสิทธิภาพของมันขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังแก้ไขปัญหาอะไรอยู่ต่างหาก Blockchain ก็เป็นเหมือนเครื่องมือใหม่ที่มนุษย์พึ่งค้นพบ มีปัญหามากมายรอให้มันแก้ไขอยู่ และอีกหลายปัญหาที่มันเองก็ไม่ค่อยมีประโยชน์

คำถามที่เราควรจะถามตัวเองก่อนเสมอก่อนที่เราจะลงทุนเงินหรือเวลาในการพัฒนา Blockchain คือ

ข้อมูลมีขนาดใหญ่ไหมแล้วเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือเปล่า?

ข้อมูลใน Blockchain จำเป็นต้องถูกเก็บซ้ำ ๆ ในคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ข้อมูลที่คุ้มค่าที่จะเก็บแบบนี้คือข้อมูลที่ถูกเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ถ้าหากเป็นข้อมูลที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมันมากนักก็อาจจะนับได้ว่าเป็นความสิ้นเปลืองที่จะเก็บข้อมูลนิ่ง ๆ ไว้หลาย ๆ ที่

และข้อมูลที่ถูกเก็บบน Blockchain ก็มักเก็บเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นถ้าข้อมูลที่ต้องการเก็บใหญ่มากเกินไป การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นอาจจะเหมาะกว่า

ข้อมูลรั่วไหลได้ขนาดไหน?

ข้อได้เปรียบหลัก ๆ ของ Blockchain คือความโปร่งใสของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมักเป็นปัญหาในระบบ Blockchain แต่ก็มี Blockchain แบบปิดที่ออกแบบให้เข้าถึงข้อมูลได้เฉพาะผู้ที่มีสิทธิ แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนในระบบก็สามารถมองเห็นข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสไว้ได้ ถ้าข้อมูลของเราไม่สามารถให้สาธารณะชนเห็นได้เราอาจต้องเลือก Blockchain แบบปิด แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถให้ใครเห็นได้แม้จะถูกเข้ารหัสไว้ Blockchain อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง

ความต้องการข้อมูลจากภายนอกหรือเปล่า?

ระบบ Smart Contract ของ Blockchain ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดึงข้อมูลจากภายนอกได้ (อย่างน้อยก็ตอนนี้) ถ้าเราต้องการดึงข้อมูลจากภายนอกจริงจำเป็นต้องตั้งตัวกลางที่เรียกว่า Oracle ขึ้นมา (ไม่ใช่ชื่อบริษัท) ซึ่งต้องเป็นตัวกลางที่ทุกคนไว้ใจได้ เพื่อให้ส่งข้อมูลเข้าไปใน Blockchain (Blockchain มักจะไม่ดึงข้อมูลเอง) แต่การที่มี Oracle นั่นเองที่ขัดกับความเป็น Decentralize หรือการกระจายศูนย์ของ Blockchain ที่ไม่ควรจะมีศูนย์กลางหรือไม่ควรจะเชื่อถือใครเป็นพิเศษทำให้ประสิทธิภาพของ Blockchain นั้นอาจแสดงออกได้ไม่มากเท่ากับการใช้ในวงการอื่น

ทำวิธีอื่นดีกว่าหรือเปล่า?

ในหลาย ๆ ปัญหา การแก้ปัญหาด้วยวิธีทั่วไปอาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่ามาก และประโยชน์จากการใช้ Blockchain นั้นค่อนข้างน้อย เช่นการทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับใครเลยนอกจากผู้ใช้งาน End-User ซึ่งถ้าใช้ฐานข้อมูลแบบปกติก็จะทำให้ระบบนั้นเร็วกว่ามาก และง่ายต่อการแก้ไขเพื่อให้ตรงตามความต้องการของธุรกิจ

ถึงแม้ผู้ให้บริการจะอ้างว่าใช้ระบบ Blockchain เพื่อป้องกันการแก้ไข แต่ก็มีวิธีอื่นที่ได้ผลลัทธ์เดียวกันเช่นการใช้ลายเซ็นดิจิตอลและแฮชในการยืนยันซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ Blockchain และเมื่อมันเป็นการใช้ Blockchain ที่มีผู้เข้าถึงเพียงฝ่ายเดียวคือผู้ให้บริการ ก็จะไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายอื่นช่วยตรวจสอบ นอกเสียจากว่า End-User จะดาวน์โหลดข้อมูลทั้ง Blockchain มาเก็บไว้ ซึ่งก็ไม่ใกล้เคียงกับการใช้งานทั่วไป

ข้างล่างนี้เป็น Decision Path จาก edx.org ซึ่งเป็นคำถามอีกหลายข้อนอกเหนือจากด้านบนเพื่อให้เราตัดสินใจได้ว่า Blockchain มีประโยชน์ในสิ่งที่เรากำลังทำหรือเปล่า

มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย และจำเป็นต้องใช้ฐานข้อมูลร่วมกันหรือเปล่า?

การทำงานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลระหว่าง 2 ฝ่ายขึ้นไป ถึงแม้ทุกฝ่ายจะมีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียเท่ากัน แต่ในระบบทั่วไปก็จะต้องมีเจ้าภาพเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ดี แปลว่าทุกฝ่ายที่เหลือจะต้องเชื่อใจเจ้าภาพว่าจะไม่แอบทำอะไรไม่ดี และไม่ทำอะไรผิดพลาด ถึงแม้ฝ่ายเจ้าภาพอาจจะเป็นคนดี เราก็ต้องเชื่อใจผู้ดูแลฐานข้อมูลซึ่งมีสิทธิทุกอย่างในระบบ (มากกว่าเจ้าของบริษัทด้วยซ้ำ)

Blockchain คือ เทคโนโลยีที่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นอย่างดีเพราะมันสามารถเป็นฐานข้อมูลที่ไม่มีศูนย์กลางได้ (และจำกัดให้เข้าถึงได้เฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ทำให้ไม่ต้องมีตัวกลางที่เราต้องไว้ใจ

ถ้าระบบไม่ได้มีผู้ได้ส่วนเสียหลายฝ่าย หรือไม่จำเป็นต้องแชร์ข้อมูลใด ๆ ร่วมกัน Blockchain ก็อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับระบบ

มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีเหตุให้ไม่ไว้ใจกันหรือเปล่า?

Blockchain ช่วยกำจัดความไม่ไว้ใจกันในระบบได้ มันไม่ได้แปลว่าไม่มีใครสามารถทำไม่ดีต่อระบบได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้นมันจะถูกตรวจสอบหาที่มาที่ไปได้ง่ายมากเพราะข้อมูลที่ถูกเก็บบน Blockchain นั้นเมื่อถูกแก้ไขจะทำให้เอกลักษณ์หรือ Hash ของ Block ทั้งหมดที่ตามมาเปลี่ยนไป เมื่อคนอื่นในระบบพบว่าข้อมูลนั้นไม่ตรงกับของตัวเองก็จะปฏิเสธข้อมูลไป และเมื่อมันยืนยันว่าข้อมูลแต่ละอย่างมาจากใครก็จะสามารถทำให้ระบุผู้กระทำผิดได้ทันทีและสามารถตัดคนนั้นออกจากกลุ่มได้โดยที่ทุกอย่างยังสามมารถทำงานได้เป็นปกติ

แต่ถ้าความไม่ไว้ใจไม่ใช่ปัญหา Blockchain อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับระบบ

กฎเกณฑ์แตกต่างกันหรือเปล่า?

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบ Blockchain ต้องตกลงที่จะใช้รูปแบบข้อมูลและข้อตกลงเดียวกันทั้งหมด หากไม่สามารถตกลงหากฎเกณฑ์ร่วมกันได้หรือแต่ละฝ่ายแตกต่างกันมากจนเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกฎเกณฑ์ร่วมกัน ระบบ Blockchain ก็ไม่สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้

จำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่ถูกต้องและแก้ไขไม่ได้หรือเปล่า?

ข้อมูลบน Blockchain ทุกอย่างจะถูกเก็บโดยถาวรต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ข้อมูลที่ถูกบันทึกแล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไรหรือลบออกไม่ได้เลย การแก้ไขก็ทำได้เพียงบอกการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเก่า แปลว่าประวัติของข้อมูลทุกอย่างก็จะยังอยู่ตามเดิม และการเก็บข้อมูล การแก้ไขข้อมูล (หรือแม้แต่การอ่านข้อมูล) แต่ละครั้งก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย

แต่ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไรที่ฝ่ายอื่นจะแก้ไขข้อมูลโดยที่ตนเองไม่รู้ หรือผู้ใช้บริการเองก็อาจไม่ได้อยากรับรู้ มันก็มีไม่มีประโยชน์อะไรที่จะได้รับจากการทำ Blockchain

กฎเกณฑ์เปลี่ยนบ่อยหรือเปล่า?

เมื่อเราทำ Blockchain แล้วเราต้องตั้งกฏไว้ก่อนว่าธุรกรรมต่าง ๆ จะทำงานได้อย่างไรบ้าง (โดยการปล่อย Smart Contract และการเลือก Consensus) อีกทั้ง Blockchain ยังเป็นฐานข้อมูลที่เขียนเพิ่มได้อย่างเดียว แก้ไขไม่ได้ ถ้าธุรกิจนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกระบวนการบ่อย ๆ หรือต้องแก้ไขไปในทิศทางใหม่บ่อย ๆ ฐานข้อมูลแบบทั่วไปที่ไม่ใช่ Blockchain มักจะทำงานได้ดีกว่า

ถ้าตอบคำถามผ่านทั้งหมดมาได้ Blockchain น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่การแก้ปัญหาในระบบ

และคำถามสุดท้ายคือการเลือกว่า Blockchain ควรจะเป็นแบบสาธารณะหรือเป็นแบบปิด ถ้าข้อมูลธุรกรรมนั้นเป็นสาธารณะไม่จำเป็นต้องปกปิดอะไร Blockchain นั้นก็สามารถเป็นสาธารณะได้ แต่ถ้าไม่ Blockchain นั้นก็ควรเป็นระบบปิด

ผมเชื่อว่า Blockchain เป็นนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในอีกหลายสิบปีข้างหน้าแต่ด้วยความซับซ้อนของมันก็อาจทำให้เราตกหลุมพรางจากกระแสได้ง่าย ๆ การศึกษาหาข้อมูลและหมั่นตั้งคำถามจะทำให้เราไม่เดินหลงทางระหว่างที่เทคโนโลยีนี้กำลังเติบโตครับ

เรียบเรียงข้อมูลจาก : edx.org : Blockchain for Business — An Introduction to Hyperledger Technologies
รูปภาพ :
https://labourlist.org/wp-content/uploads/2011/11/broken-chain.jpg
https://courses.edx.org

--

--