ใคร ๆ ก็บอกว่า Programmer พูดไม่รู้เรื่อง จริงหรือ?

Smith Krengkrud
1 min readOct 2, 2017

--

มีคนเคยพูดกับคุณหรือเปล่าว่าคุณพูดไม่รู้เรื่อง? ผมกล้าพนันเลยว่าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต คุณต้องเคยได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้จากคนรอบข้างสักครั้งแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เพื่อนบางคนก็อาจจะพูดตรง ๆ ว่าเราคุยไม่รู้เรื่อง หรือบางทีก็แสดงความมึนออกทางสายตาว่า เพื่อนพูดอะไรว้า ไม่เห็นเข้าใจ ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ลองไปดูหนังเรื่อง แฟนเดย์ ก็ได้ครับ พี่เด่นชัยนี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก (ออกจะเกินไปนิด แต่ในโลกของเรามีคนแบบนั้นจริง ๆ)

มันเลยกลายเป็นว่า โปรแกรมเมอร์บางคนเลือกที่จะอยู่กับคอมพิวเตอร์มากกว่าอยู่กับคน และว่ากันไป ว่ากันมา คนทั่วไป ก็บอกว่า คนไอทีคุยไม่รู้เรื่อง ส่วนคนไอทีก็ไปว่าเค้าว่า แค่นี้ก็ไม่รู้เรื่อง เห็นไหมครับ… มันเป็นซะอย่างนี้ จะคุยกันรู้เรื่องไหมละครับท่าน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องขำ ๆ นะครับ ระดับวาระแห่งชาติชาวโปรแกรมเมอร์เลย ถ้าวันนี้คุณเลือกหันหลังให้คนแล้วไปคุยกับคอมแล้วละก็.. คุณอาจจะไม่ได้พบความสวยงามของโลกใบนี้เลยครับ (ว่าไปนั่น)

ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า สาเหตุมันเกิดขึ้นจากอะไร และเราต้องแก้ไขมันอย่างไร อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้กลายเป็นปัญหาเลยครับ

สาเหตุหลัก ๆ ที่เราคุยกับใคร ๆ ไม่รู้เรื่องมันง่ายนิดเดียวครับ มันเกิดจากแค่ พวกเราใช้ศัพท์เทคนิคจนเคยชิน

เวลาเราคุยกับคนพวกเดียวกัน แน่นอนครับ มันเข้าใจแน่ ๆ เพราะเราใช้ศัพท์เหล่านี้มาตลอดชีวิต เช่น

ช่วงนี้ชีวิตทำไมติด Loopแบบนี้ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น เมื่อไรจะหายป่วยละเนี่ย

ความหมายก็คือ ทำไมชีวิตถึงวนเวียนกับการป่วย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น เมื่อไรจะหายสักที

หรือ

ช่วงนี้ Performance ไม่ดีเลย รู้สึกทำงานช้า ๆ Ram ต่ำอยู่ตลอดเวลา ต้อง Shutdown หน่อยละ ไม่ไหว ๆ

ความหมายคือ ช่วงนี้ทำงานได้ไม่ดี สมองไม่ค่อยแล่นต้องพักผ่อน นอนหลับสักหน่อย

หรือ

เวลาใครพูดอะไรมา ถ้าไม่อยากสนใจ ก็ปล่อยมันเข้า /dev/null ไปซะ จะได้ไม่ต้องเปลือง CPU

ความหมายคือ ถ้าใครพูดอะไรมาแล้วไม่อยากสนใจก็ทำหูทวนลมไว้จะได้ไม่รกสมอง (อันนี้จะ Geek หน่อย /dev/null เป็นเหมือนหลุมดำในระบบ Linux นะครับ)

หรือ

กู Allocate โต๊ะนี้แล้ว ห้ามใครนั่ง ต้องให้กู Free ก่อน

ความหมายคือ โต๊ะนี้ฉันจองแล้วห้ามใครนั่งจนกว่าฉันจะลุกออกไป

เห็นไหมครับ มันก็คล้าย ๆ เราฟังคำอธิบายจากหมอเรื่องโรคต่าง ๆ นั่นแหละครับ ถ้าเรารู้คำศัพท์ที่หมอพูดเกินกว่า 60% เราก็จะพอเข้าใจ แต่ถ้าเราไม่รู้เลยว่าคำศัพท์นั้นมันคืออะไร เราก็จะไม่เข้าใจเลย

มีครั้งหนึ่ง ผมได้ไปกินข้าวกับเพื่อนที่เคยบอกว่าผมคุยไม่รู้เรื่อง (คนนี้เป็นเภสัชครับ) วันนั้นเค้ามากับเพื่อนของเค้าอีกคนซึ่งเป็นหมอ เค้าคุยกันเรื่อง วาฟาริน ครับ ผมอาจจะเขียนไม่ถูก วันนั้นผมนี่นั่งงงมาก เลยถามว่ามันคืออะไร เค้าบอกว่ามันคือ ยาละลายลิ่มเลือด ฮ่า ๆ ลองคิดดูครับ ว่าถ้าวันนั้นเป็นผมมากับเพื่อน ไปกินข้าวกับเค้าคนเดียว แล้วในวงสนทนา ผมคุยเรื่องการส่งข้อมูลของ LTEสิครับ มันคงงง กันไปใหญ่

ผมแค่อยากจะบอกว่าปัญหานี้เกิดกันทุกวงการครับ เพียงแต่ว่าวงการไอทีอย่างเราเนี่ย มันเปลี่ยนเร็วครับ มันเลยทำให้คนที่เค้าไม่ได้คลุกคลีกับพวกเรา เค้าคุยกับเราไม่รู้เรื่อง

ผมสรุปวิธีการแก้ปัญหาง่าย ๆ ไว้แบบนี้ บอกเลยว่าไม่ยากแต่อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย

  1. เราจะต้องเปลี่ยน Mind Set ของเราก่อน เวลาที่คู่สนทนาเราทำหน้างงกับสิ่งที่เราพูด ห้ามคิดว่า “แค่นี้ก็ไม่รู้” หรือ “แค่นี้ก็ไม่เข้าใจ” สองอย่างนี้มันคืออีโก้ของเรา ให้เอามันออกไป
  2. คิดไว้เสมอว่า เราเปลี่ยนความเข้าใจผู้อื่นไม่ได้ ดังนั้นให้เริ่มต้นที่ตัวเราเองจะง่ายที่สุด คุณต้องพยายามอธิบายในสิ่งที่คุณกำลังพูดในบริบทอื่น ๆ ให้เขาเข้าใจ และปรับกระบวนการคิดของเราให้เป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น ฝึกที่จะพูดและคิดแบบมนุษย์ให้ได้
  3. ต้องแยกให้ออกก่อนว่า ตอนนี้เราคุยอยู่กับใคร เราสามารถใช้คำศัพท์ได้ลึกแค่ไหน จากนั้นใช้คำศัพท์ที่เหมาะสมกับระดับกับคู่สนทนา หรือถ้าเป็นไปได้ให้ใช้ศัพท์ที่คนทั่วไปใช้ หลีกเลี่ยงคำทับศัพท์ ให้คิดไว้เลยว่าคนที่เราคุยด้วยเค้าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกของพวกเราเลย
  4. ฝึก ฝึก แล้วก็ฝึก.. คุยกับคนให้มากขึ้น ทำไงก็ได้ให้กลายเป็นชีวิตประจำวัน (ข้อนี้สำคัญมาก)

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า ทุกวันนี้อาการเรื่องพูดไม่รู้เรื่องของผมเองก็มีอยู่บ้าง แต่ที่แน่ ๆ ผมกลับไปพูดแบบคุณเด่นชัย เรื่องแฟนเดย์ไม่ได้อีกแล้ว และก็ตัวอย่างแต่ละอันที่ผมยกขึ้นมาข้างบนนี่ถือว่าผมคิดอยู่นานเลย ถ้าเทียบกับ สิบปีที่แล้ว คำพูดพวกนี้คงไม่ใช่เรื่องยากของผม ฮ่าๆ

ต้องขอขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ทำให้ผมปรับตัวมาได้ทุกวันนี้ครับ ขอให้ใครก็ตามที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ รู้ตัว และนำไปปรับใช้ครับผม ขอบคุณที่ทนอ่านครับ อิอิ :D

--

--

Smith Krengkrud

เพราะว่าผมขี้เกียจ เลยต้องฝึกเขียนโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ทำงานแทนตามคำสั่ง