หนังสือ The Lost Skill ตกผลึกทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21 ของ อ.นพดล ร่มโพธิ์

Nantana Rungsawasdisap
2 min readFeb 1, 2022

--

ขึ้นต้นเดือนใหม่ อ่านหนังสือของ อ.นพดล ร่มโพธิ์ จบแล้ว เลยเอาบางส่วนที่ชอบในหนังสือมาสรุปใหม่ ในบางตอนที่อ่านแล้วรู้สึกชอบ

หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับ

  1. ตัวเองที่จะเข้ามาอ่านทวนอย่างย่ออีกครั้ง
  2. คนที่ชอบหนังสือของ อ.นพดล
  3. คนที่อยากลองทำเทคนิกการปรับใช้ที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จบรรลุผล โดยเริ่มจากอะไรที่เล็กๆและง่ายๆ

เป็นหนังสือที่ใช้เวลาอ่านไม่นาน แล้วก็ได้คิดตาม แถมยังเอาไปปฏิบัติตามได้ด้วย

ปกติแล้วจะชอบติดตาม Podcast ของอ.นพดล อยู่แล้ว เลยรู้สึกชอบในหนังสือที่อาจารย์เขียนด้วย

มาเริ่มพูดถึงเนื้อหาเลยดีกว่า

พอได้อ่านแล้วในหนังสือพูดถึงทักษะที่หายไป และจะพูดถึงทักษะสำคัญที่ควรมีใน ศตวรรษนี้ เช่น การอ่าน,การเขียน,การเรียนรู้ และการปรับตัวว่าเราควรจะทำยังไง กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

เราควรเรียนรู้ทักษะอะไร เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต

ทักษะ การเรียนรู้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นทักษะที่ดีที่สุดที่ทุกคนควรจะมี

แต่ปัญหาคือ ความรู้ที่เรียนไป มีช่วงเวลาที่สั้นมาก ไม่นานก็ล้าสมัย

ดังนั้น “Learn how to learn” หรือ “ทักษะการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้” ต่างหากเป็นสิ่งที่จำเป็น

เพราะถ้าเรามีทักษะการเรียนรู้ ต่อให้โลกเปลี่ยนไปรวดเร็วขนาดไหน เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะมาปรับใช้กับปัญหาใหม่ๆได้เสมอ

แล้วเราเรียนรู้จากอะไรบ้างล่ะ

ในหนังสือเขียนไว้ 3 สิ่ง ที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้

  1. การอ่าน เช่น อ่านหนังสือ, อ่านบทความ เพราะการอ่านหนังสือก็เหมือนเป็นการอ่านปัญหาของคนที่เค้าเคยเจอมาแล้วมาเขียนสรุปให้เราฟัง
  2. การเขียน ถือเป็นการสื่อสารที่ทรงพลัง เพราะการเขียนต้องใช้พลังในการกลั่นกรอง และทบทวนมาแล้วอย่างหนัก
  3. การเรียนรู้ สมัยนี้การเรียนรู้เปิดกว้าง เพราะเป็นโลกของ Online อยากเรียนอะไร ตอนไหน ก็สามารถขวนขวายได้ตลอดเวลา

ข้อ 4 ไม่มีในหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่เจอกับตัวเอง คือ การสนทนาหรือได้พูดคุยกับคนมากมายหลายๆแบบ เพราะได้ใช้ทั้งทักษะการฟัง และการพูดโต้ตอบ มันทำให้เราสามารถเรียนรู้จากความแตกต่างได้จริงๆ

6 นิสัยที่ทำให้ เวลาของเราหายไปโดยไม่รู้ตัว

  1. การเชื่อมต่อกับ Technology ตลอดเวลาทั้ง Facebook, Youtube, Twitter, Netflix
  2. การให้ความสำคัญกับงานและเงินมากเกินไป ชอบประโยคที่อ.เขียนไว้ว่า “บางคนสละเวลา เสาร์ อาทิตย์เพื่อทำงาน แต่กลับไม่ยอมสละเวลาให้วันธรรมดามาทำในสิ่งที่รัก
  3. การไม่เห็นคุณค่าของเวลา คิดว่ามันคล้ายกับข้อ 2 หลายคนยอมเดินทางไกลๆหลายชั่วโมงออกจากบ้านไปทำงาน เพราะได้เงินที่มากกว่า … อันนี้ ก็น่าคิด
  4. การทำให้ตัวเองดูยุ่ง คิดว่ายิ่งยุ่งทำให้ดูดี
  5. ไม่ชอบการอยู่ว่างๆ ความคิดที่ว่าอยู่ว่าง=ไม่ Productivity แต่จริงๆแล้วการว่างให้เป็นถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
  6. รับปากคนอื่นง่ายๆ ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น

กฎเลข 3 แห่งการตั้งเป้าหมาย

เป็นบทที่อ่านแล้วได้ลองเอาไปปรับใช้จริงๆ ลองทำมาได้ 3 สัปดาห์แล้ว รู้สึกว่าใช้ได้ผลมากกว่าการตั้งเป้าหมายในแบบที่เคยทำ

อ.นพดลเขียนว่าใช้สูตร 3–3–3–3

  1. เป้าหมาย 3 ปี ในหลายๆด้าน สุขภาพ,ความสัมพันธ์,การเงิน ฯลฯ ไม่ต้องตั้งเป้าให้ยาวมากเพราะเดี๋ยวนี้อะไรก็เปลี่ยนแปลงเร็ว
  2. เป้าหมาย 3 เดือน ก็เอาเป้าหมาย 3 ปี มาย่อย แบ่ง ว่าการที่จะทำให้เป้าหมาย 3 ปีสำเร็จได้ จะต้องทำอะไรบ้างในระยะเวลา 3 เดือน
  3. เป้าหมาย 3 สัปดาห์ ก็ย่อยจาก 3 เดือนมาเป็น 3 อาทิตย์ สำหรับเรามันทำให้เราเห็นภาพ และต้องเกิดการวางแผน เพื่อที่จะให้เป้าหมายใหญ่ของเราสำเร็จ
  4. เป้าหมาย 3 วัน เพื่อกระตุ้นตัวเอง ในทุก 3 วันก็จะมาคอย Review กับตัวเองว่า จะต้องทำอะไร อะไรทำสำเร็จ อะไรทำไม่สำเร็จ คอย Update

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำไป มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นเลย

บางทีตั้งเป้าหมาย เราตั้งเป็นผลลัพธ์ที่อยากให้เกิด แต่ Process ระหว่างทางคือสิ่งสำคัญ พออันไหนที่เขียนแล้วไม่ได้ทำ หรือทำไม่สำเร็จซักที มันทำให้ได้ทบทวนกับตัวเองว่า สิ่งนั้นมันคือสิ่งที่เราอยากทำให้สำเร็จจริงๆหรือเราแค่ตั้งเป้าเพื่อให้มันมีเป้าหมายกันแน่

อย่าฝืนกฎ 3 นาที

อันนี้ก็เป็นอีกบทที่ได้เอามาลองทำจริง

อ.นพดลเขียนไว้ว่า อะไรที่คิดว่าจะทำให้เสร็จได้ภายใน 3 นาที ก็ให้ลงมือทำเลย เพราะมนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะผลัดวันประกันพรุ่ง อะไรที่บอกว่าเดี๋ยวทำ สุดท้ายจะกลายเป็นพอกหางหมู

เราทำเทคนิคอันนี้ไปใช้ทันที อันไหนที่ทำเสร็จได้ไม่นาน เราจะทำทันทีให้มันจบไป

เพราะเมื่อไหร่ที่คิดว่าเดี๋ยวทำ สุดท้ายเราจะชอบลืม กลายเป็นช้าไปอีก

สิ่งที่ต้องทำ vs สิ่งที่อยากทำ

ความสำเร็จเกิดจาก

  1. สิ่งที่ต้องทำ = เป้าหมายชีวิต
  2. สิ่งที่อยากทำ = ความชอบส่วนตัว

เรามักจะมุ่งมั่นทำข้อ 1 จนบางทีอาจจะปล่อยปะละเลยข้อ 2 แต่เราต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเวลามาทำข้อ 2

และควรจะทำข้อ 1 ก่อนค่อยทำข้อ 2 เพราะการทำสิ่งที่ต้องทำแต่ไม่ได้ชอบให้เสร็จ แล้วมีสิ่งที่ชอบรออยู่ จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เรามีกำลังใจทำในข้อ 1 โดยไม่เหนื่อยมากนัก

เรียนรู้จากเกมก่อนลงสนามจริง

บทนี้พูดถึงเรื่องเกมจำลองธุรกิจ แต่ชอบบางส่วนเลยเอาแต่ข้อที่ชอบมาสรุปได้ใจความ 3 ข้อนี้

  1. ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ บางทีชีวิตจริงก็ไม่ได้มีอะไรที่สมเหตุสมผลเสมอไป สิ่งที่เราทำได้คือ การเข้าใจและปรับทัศนคติของเราเอง เหมือนกับคำกล่าวว่า “We cannot direct the wind, but we can adjust the sails.”
  2. เราไม่จำเป็นต้องทำให้ดีที่สุดในทุกเรื่อง แต่เราต้องเลือกทำให้ดีที่สุดในเรื่องสำคัญ อันนี้ชอบมาก สิ่งที่ควรทำคือ Optimization ไม่ใช่ Maximization แปลได้ว่า ทำให้ดีในบางเรื่องเพื่อผลลัพธ์โดยรวม มากกว่าพยายามทำให้ดีที่สุดในทุกเรื่องแต่ผลลัพธ์ไม่ดีซักเรื่อง
  3. การเรียนรู้สำคัญกว่าผลลัพธ์ จุดมุ่งหมายของเกมไม่ใช่ผลลัพธ์ของคะแนน แต่เป็นเป็นการเรียนรู้ เมื่อชนะเราควรหาเหตุผลว่าเคล็ดลับของความสำเร็จคืออะไร เมื่อแพ้ก็ควรหาสาเหตุ และบทเรียนที่ได้รับ

คิดได้ คิดเป็น คิดอย่างไร

  1. Yes I Can คนเรามักจะมีความคิดว่า เราทำ “ไม่ได้ เพราะ..” อย่างงั้นอย่างงี้ มีกำแพงกั้นขึ้นมาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย แต่ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนใหม่เป็น “ทำได้ ถ้า…”
  2. Why Not เวลามีคำถามมักจะถามด้วย What หรือ How ซึ่งสมัยนี้แค่ค้นหาใน Google ก็ได้คำตอบแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ เราต้องตอบให้ได้ว่าเรารู้ไปทำไม
  3. Think big but start small การตั้งเป้าหมายอะไรที่ใหญ่ๆและท้าทายถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าพอมันยากไป สุดท้ายเราก็จะล้มเลิกไปเอง สิ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้คือการซอยย่อยๆเป้าหมายให้เล็กๆที่เราทำได้ง่าย เพราะมนุษย์เราขี้เกียจไม่ชอบทำอะไรยากๆ ถ้าเป็นเรื่องง่าย เราทำได้ก็จะยอมทำ ทำบ่อยเกิดเป็นนิสัยก็จะสามารถสำเร็จได้เอง

หาเมล่อนในชีวิตให้เจอ

บทนี้เป็นบทสุดท้ายที่อ่านแล้วชอบที่สุด เลยคิดว่าจะปิดบทความวันนี้ด้วยบทนี้ของหนังสือ

เพราะมันตรงกับชีวิตเราตอนนี้มากๆเลย ทำหลายสิ่งจน Burn Out

การปลูกเมล่อนของญี่ปุ่น จะทำให้ซักลูกหวานสมบูรณ์แบบ เค้าจะต้องตัดเมล่อนลูกอื่นๆในต้นเดียวกันทั้งหมดทิ้ง เพื่อสารอาหารที่มันเป็นประโยชน์มันจะได้วิ่งเข้าเมล่อนลูกเดียว

เมล่อนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น จงหาเมล่อนของเราให้เจอ

หาสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดและจดจ่อกับสิ่งนั้นให้สำเร็จ

จบแล้วกับการย่อยสรุปของหนังสือ “ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21 The Lost Skill”

ใครที่สนใจก็สามารถไปซื้อหาอ่านกันได้

โดยรวมแล้วสำหรับเราสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับชีวิตตอนนี้ได้ดีเลยค่ะ

แล้วเจอกันใหม่ในบทความถัดไปค่า ;)

--

--

Nantana Rungsawasdisap

Nantana Rungsawasdisap Don’t stop running😊 Don't give up💪🏻