มุมมองภูมิศาสตร์ว่าด้วยความรัก
เดือนแห่งความรัก… ลองมามองต่างมุมเพื่อเข้าใจความรักอย่างเข้าใจ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ในพื้นที่ความคิดของความเชื่อที่ว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ทำให้สำนึก ความรู้สึก ของการมีอยู่ลืบหดกลืนหายไปจนแทบเทียบไม่ได้กับสิ่งใดๆ และหากเปรียบความรักเข้ากับความเชื่อนี้ (จักรวาล) พื้นที่แห่งความรักกว้างใหญ่ไพศาลเป็นอนันต์ โลกจึงอยู่ในสถานะของการเป็นส่วนหนึ่งของความรัก อาจเป็นเศษเสี้ยวของการเติมเต็มหรือหายไปในจักรวาลของความรัก แต่ถ้าจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด ความรักย่อมไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน ความรักจึงเกิดขึ้นใหม่และสูญสลายไปพร้อมๆ กัน (ความรักที่ถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่ การหมดรัก และการจากไป) แต่เมื่อมองกลับไปอีกมุมหนึ่งผ่านความเชื่อที่ว่าโลกคือศูนย์กลางของจักรวาล ก็กลับทำให้สำนึก ความรู้สึก ของการมีอยู่ของความรักถูกสร้างเป็นพื้นที่ความรักเสมือนมีขอบเขตในสถานะของการให้หรือการรับ ความรักภายใต้ขอบเขต การเป็นศูนย์กลางของความรัก กับความรักที่ไร้ขอบเขต จึงนำไปสู่พื้นที่ของความรักในผลลัพธ์ที่ต่างกัน ดังนั้นจึงเกิดคำถามพรั่งพรูขึ้นมาว่าความรักคืออะไรกันแน่ เราถูกรัก ถูกทำให้รัก หรือเป็นผู้ให้ความรัก การเป็นประธานหรือเป็นกรรมของการสวมสถานะการเป็นคนรัก คนที่ถูกรัก และคนที่ให้ความรัก ก็ได้สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเชิงพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างน่าสนใจ
บทความนี้ไม่ต้องการสร้างขอบเขตให้กับความรักแต่อยากชวนผู้อ่านพินิจความรักในมุมมองที่หลากหลาย แต่การอธิบายสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ยังจำเป็นต้องกำหนดฉากที่สะท้อนให้เห็นภาพเหล่านั้นภายใต้พื้นที่และเวลา (Space & Time) หรือเป็นการหยิบบางส่วนเพื่อมาต่อและอธิบายอีกส่วน ผู้เขียนจึงอยากลองนำศาสตร์เชิงพื้นที่ (ภูมิศาสตร์มนุษย์) เข้ามาวิเคราะห์ความรักในสถานการณ์ต่างๆ (เนื้อหาที่นำเสนอผู้อ่านอาจโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยก็ได้) เมื่อพื้นที่ของการนำเสนอไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพที่มองเห็นสัมผัสจับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ของอะไรก็ได้ที่พยายามจะเข้าไปทำความเข้าใจอาจซ้อนทับพื้นที่กายภาพ หรือเป็นพื้นที่ใหม่ที่แยกออกมาโดยสิ้นเชิง (นราธร สายเส็ง, 2560) ซึ่งอาจซ้อน กลบ กลืน ปะทะ ลื่นไหล เปลี่ยนแปลง แลกเปลี่ยน ปฏิสัมพันธ์ หรือตามหา ฉะนั้นพื้นที่ในความหมายอย่างหลังก็คงสถานะของการมีอยู่และหายไปแต่ก็ไม่ได้แสดงให้ประจักษ์ชัดเจนด้วยผัสสะธรรมดา นี่คือสาระสำคัญของการอธิบาย
ก่อนอื่นต้องถามตัวเองก่อนว่าเราเคยมีความรักหรือไม่? ความรักที่ว่านี้เป็นความรักในแง่มุมไหน เป็นการที่เรารักใครสักคน เป็นการแอบรัก รักเขาข้างเดียว หรือรักแบบโรแมนติก รักแบบเพ้อฝัน รักแบบไม่รู้ว่ารัก หรือรักที่ถูกทำให้ถูกรัก รักแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน (ผู้เขียนคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธและบอกว่าไม่เคยมีความรัก แม้แต่คนที่บอกว่าไม่เคยมีความรักอีกนัยหนึ่งก็กำลังอธิบายถึงความรักในอีกฟากหนึ่งเช่นกัน) ในความหมายหนึ่งนับตั้งแต่ออกมาจากครรภ์มารดา การให้กำเนิดนับเป็นบ่อเกิดของความรักอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นผู้ให้จึงกุมอำนาจของความรักหรือผลประโยชน์ที่ต้องตอบแทน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างวัฒนธรรมที่ลูกต้องตอบแทนบุญคุณเพื่อมอบบางสิ่งกลับคืน (ความรักในความหมายนี้บางคนนิยามว่าเป็นหนี้บุญคุณ เป็นความรักที่ผู้ให้ (แม่) มอบให้แต่ไม่มีวันที่ (ลูก) จะคืนความรักนั้นกลับไปได้หมดไม่ว่าจะเร่งเร้าสร้างมันขึ้นมาสักเพียงใด) ดังนั้นความหมายของความรักในรูปแบบหนึ่งก็คือ การให้ แต่การให้ก็อาจต้องคิดต่อว่าเป็นการให้ที่ตั้งใจ การให้ที่บังเอิญ หรือเป็นการให้ที่หวังผลในเชิงแอบแฝง (การให้ที่ถูกนับว่าเป็นความรักส่วนมากแล้วเป็นการให้ที่บริสุทธิ์ใจ: ยังมีอีกหลายบริบทที่ไม่ได้กล่าวถึง)
ในสถานการณ์ที่ต่อเนื่องข้างต้น ความรัก ถูกให้ความหมายในเชิง การแลกเปลี่ยน ความรัก (Love) มีความหมายที่พร่าเลือน ลื่นไหล ขึ้นอยู่กับสังคม วัฒนธรรม การนิยาม และห้วงของเวลา เพราะช่วงเวลาหนึ่งอาจเรียกว่าความรักแต่อีกเวลาหนึ่งอาจไม่ใช่ก็ได้ ความรักแบบการแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นตลอดเวลา หลายคนอาจประสบกับตนเอง (เราใช้ความรักเพื่อแลกกับอะไรบ้าง หรือเราใช้ความรักในฐานะความชอบธรรมบางอย่างที่อิงแอบอยู่กับอำนาจที่ปฏิเสธไม่ได้) คิดว่าผู้อ่านอีกหลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ความรักที่ดีที่สุดคือความรักที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน” จริงหรือไม่? (ผู้เขียน) ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่การกล่าวเช่นนี้เปรียบเสมือนคำในอุดมคติหรือเปรียบเหมือนพื้นที่พิเศษที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นแบบอย่างของการนำร่อง หรือสร้างผลลัพธ์ในเชิงพื้นที่ปลายทาง แต่ความหมายของคำกล่าวข้างต้นมีนัยยะแอบแฝงว่า การไม่หวังสิ่งตอบแทน… ก็คือสิ่งตอบแทนที่สะท้อนย้อนกลับมาในรูปแบบขององค์สถานะที่สนับสนุนพื้นที่พิเศษอย่างหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ตอบสนองให้พื้นที่พิเศษนี้ยังคงเป็นพื้นที่พิเศษต่อไป สิ่งที่น่าสนใจคือผลลัพธ์ในเชิงพื้นที่ถูกตั้งเป้ารอการสัมผัส แต่กระบวนการการไปถึงของคนแต่ละคนย่อมต่างกัน (เส้นทางที่หลากหลาย เป้าหมายเดียวกัน) เมื่อกระบวนการบางอย่างไม่ทำหน้าที่ให้ไปถึงพื้นที่นั้นได้อย่างที่ควรจะเป็น กระบวนการดังกล่าวจึงฉายภาพของการหวังสิ่งตอบแทน (สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับเวลา) เช่นถ้าพิจารณาปรากฏการณ์ในอดีตคำถามคือทำไมครอบครัวและแม่ที่มีสถานะของการผลิต (การให้) จึงมีลูกหลายคน ไม่ใช่เพราะแม่รักลูกหรืออยากให้ความรักเกิดมาบนโลกสร้างความรักอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นการหวังผลเชิงการผลิตในอนาคตว่าลูกจะเป็นแรงงานและกลับมาเลี้ยงตนเองยามชรา สถานการณ์นี้เป็นความรักหรือไม่? ดังนั้นในอีกแง่มุมหนึ่งความรักถูกหยิบมาสวมความหมายหลังจากเกิดสิ่งนั้นไปแล้วเพื่อสร้างความหมายใหม่/พื้นที่ตัวแทน เพื่อสร้างการอธิบายให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์อื่น การแลกเปลี่ยน เป็นการอธิบายถึงการมีและไม่มี สิ่งที่คนหนึ่งมีจะนำมาแลก/ถูกแลกเปลี่ยน กับสิ่งที่อีกคนไม่มี ความรักแบบพื้นที่พิเศษอาจยังไม่เกิดขึ้นทันทีแต่ค่อยๆ เกิดขึ้นเมื่อเริ่มแลกเปลี่ยนและความรักจะเกิดขึ้นในกระบวนการนี้
ความรัก ในอีกนิยามหนึ่งอาจหมายถึง การค้นหา การตามหา ในสิ่งที่ยังไม่พบ แต่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้อยู่ร่วมกัน ในพื้นที่และเวลาหนึ่งๆ หลายคนอาจเคยอ่านหนังสือ The Symposium[1] ของ Plato ที่มีข้อความว่า “According to Greek mythology, humans were originally created with four arms, four legs and a head with two faces. Fearing their power, Zeus split them into two separate parts, condemning them to spend their lives in search of their other halves.” (ตามตำนานกรีก เริ่มแรกมนุษย์ถูกสร้างให้มีสี่แขน สี่ขา สองหน้า แต่เพราะซุสกลัวว่ามนุษย์จะมีอำนาจมากไป จึงแบ่งมนุษย์เป็นสองส่วนและสาปให้ใช้ชีวิตเพื่อตามหาอีกส่วนหนึ่งที่หายไป) หรือที่ Aristotle[2] ได้เขียนไว้ว่า “Love is composed of a single soul inhabiting two bodies.” (ความรักคือจิตวิญญาณเดียวที่อาศัยอยู่ในสองร่าง) ทั้งที่ Plato และ Aristotle ต่างนำเสนอในส่วนหนึ่งของความหมายเดียวกันคือ การตามหา การประกบหรือเชื่อมเป็นหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าความรักบนกายภาพของสิ่งมีชีวิตที่ต่างแสวงหาเพื่อพบกันจึงนำไปสู่ การปล่อยไปตามสถานการณ์ การตามหาบนการสร้างสถานการณ์ และการตามหาแบบบังคับ รูปแบบของการตามหาความรักจึงเหมือนกันการปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ที่หายไปในชีวิตเพื่อเติมเต็ม อาจย้อนกลับไปถึงสิ่งแรกที่อธิบายว่าโลกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล และโลกที่อยู่ในฐานะดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีกมากมาย โลกนั้นมีความหมายเชื่อมกับคำว่า Wanderer ที่แปลว่า ผู้ท่องเที่ยวที่ไร้จุดหมาย/คนหลงทาง ดังนั้นการตามหาจึงเป็นเงื่อนไขของพื้นที่พิเศษที่เป็นหมุดหมาย หากไร้ซึ่งการตามหาพื้นที่ของความรักก็จะไม่บังเกิดขึ้น นับตั้งแต่เรื่องเพศ ที่สร้างมาเพื่อเกิดการตามหา เพศ (Sex) ที่ยึดโยงกับการผลิตการเชื่อมประสานระหว่างเพศชายกับหญิงเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ด้วยการก่อเกิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปชุดความคิดและวัฒนธรรมเดิมได้ถูกรื้อสร้างเพื่อประกอบความหมายใหม่ที่อาจมีความสัมพันธ์กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม การตามหาในบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาจอยู่ภายใต้เรื่องของเพศสภาวะ (Gender) ที่มองข้ามปัจจัยการผลิตแต่เข้าไปเน้นถึงการแสดงตนตามที่ตนเป็น หรืออยู่ในรูปแบบของการตามหาตนเองเพื่อหาอีกคนหนึ่งที่อาจเป็นเหมือนตนเองหรือต่างจากตนเองในด้านกายภาพของร่างกายหรือจิตใจ ที่ยังผลให้เกิดความรักตามมา ปรากฏการณ์เชิงพื้นที่/สนามของการแสดงสถานะ เรียกว่า กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQ+)[3] ความรักที่เกิดขึ้นอยู่ในสถานะของการตามหาที่มาหลังจากการมอบความหมายหนึ่งๆ ให้กับสิ่งนั้นแล้ว
[1] สามารถศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ The Myth of Soulmates ได้ใน The Symposium และอ้างอิงมาจาก https://elligold.com/the-myth-of-soulmates/ การนำเสนอเป็นเพียงมุมมองของผู้เขียนต่อเรื่องความรักอาจไม่ตรงกับบริบทดั้งเดิมเสียทีเดียว
[2] ข้อความจาก https://www.brainyquote.com/quotes/aristotle_143026
[3] ได้นำเสนอความหมาย LGBTQ+ โดยนำข้อมูลมาจากองค์กรที่สนับสนุน สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม (IFBPRIDES LGBT) คัดลอกมาจาก https://www.ifbprides.org/lgbtq-คืออะไรแล้วมีความหมาย
หากลองพิจารณาความรักผ่านมิติเชิงพื้นที่ในฐานะที่พื้นที่เป็นฉากทัศน์ของผลลัพธ์ที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงกระบวนการในพื้นที่เหล่านั้นย่อมสร้างความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง คำถามที่เกิดขึ้นคือว่า พื้นที่ของความรักปรากฏขึ้นมาก่อนความรัก หรือความรักปรากฏขึ้นมาก่อนที่จะฉายออกมาสู่พื้นที่ ถ้าลึกๆ แล้วเราเชื่อว่าโลกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลหมายความว่า เราเชื่อว่าความรักเกิดขึ้นมาก่อนพื้นที่ เพราะไม่มีพื้นที่บนขอบเขตของความรัก แต่เมื่อใดที่เราเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางในจักรวาลของความรัก พื้นที่/ขอบเขต/พรมแดน ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเอื้ออำนายให้เกิดความรัก เมื่อความรักคือการให้ คือการแลกเปลี่ยน คือการค้นหา/ตามหา ความรักจึงเป็นพื้นที่ที่ค่อยๆ ก่อตัวและเริ่มมีอาณาเขตเกิดขึ้นหรือหายไปก็ได้ ดังนั้นเมื่อพบเจอ/เข้าไปมีส่วนในพื้นที่เหล่านั้นแล้วเกิดคำว่าใช่/เติมเต็ม จึงเหมือนการเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลเดียวกัน แต่ถ้าไม่ใช่ก็อาจเป็นสิ่งที่หายไปของสิ่งหนึ่งที่เป็นการก่อกำเนิดความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง (โรแมนติกในความคิด แต่ชีวิตจริงยากลำบากมาก: เพราะมีปัจจัยแทรก/ภายนอกที่มากดดัน ให้เราไม่สามารถก่อร่างพื้นที่ หรือแทบจะไม่มีเส้นทางที่จะไปถึงได้)
ถ้ามองความรักเป็นองค์ประกอบของพื้นที่ (หน่วยย่อย) ในพื้นที่ใหญ่ ที่ถูกสร้างขึ้นมา การสร้างพื้นที่พิเศษของความรักก็คือการประสานของบทบาทหน้าที่เฉพาะของแต่ละส่วนไปพร้อมกัน การสร้างพื้นที่แห่งความรักก็คือการใช้พื้นที่ร่วมกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการประสานสัมพันธ์เป็นสำนึกร่วมในเชิงพื้นที่ จนผสานผูกพันกันอย่างแนบแน่น พื้นที่ของความรักที่ผนึกรวมความสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่ครบถ้วนสามารถแผ่ขยายความสัมพันธ์หรือก่อร่างสร้างความรักให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน (เครือข่ายของความรักมองผ่านความสัมพันธ์เชิงพื้นที่) มากไปกว่านั้นพื้นที่ของความรักเป็นพื้นที่พิเศษที่ทรงพลังและมีอำนาจ การเข้ามาฉวยใช้เพื่อมาถึงในพื้นที่หรือการพยายามสร้างพื้นที่เพื่ออ้างถึงความรักจึงเป็นเรื่องท้าทาย ทั้งหมดที่กล่าวมาเพียงต้องการมองความรักผ่านแว่นหนึ่งที่ความจริงแล้วก็อาจไม่ต่างไปจากการทำความเข้าใจอื่น เพียงแต่ใช้ชุดการอธิบายอีกชุดหนึ่งในการทำความเข้าใจ ฉะนั้นการทำความเข้าใจความรักก็อาจพบว่า ความรักยิ่งควานหาก็ยิ่งหนีหาย การปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์โดยไม่ต้องพยายามก็อาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า บางครั้งความรักก็เปรียบเสมือนพื้นที่พิเศษที่แปรสภาพจากมุมมองเชิงบวกไปเป็นมุมมองเชิงลบในสถานะที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ๆ ถูกความรักกลืนกลบลบหายไป / ทำให้ผิดหวัง / ชอกซ้ำเจ็บแปลบ ความรักยังถูกสถาปนาหรือกดดันโดยพื้นที่ทางสังคมให้อยู่ในสภาวะของการ ทน การทนอยู่เพื่อให้เกิดความรักตามมาเป็นสิ่งที่หลายคนเผชิญอยู่ (มีสำนวนไทยมากมายที่พร่ำสอนในบริบทนี้ หรือ ถ้าฟังเพลงแนว Alternative ของวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษปรากฏออกมาผ่านชื่อเพลง สมรสและภาระ[4] / ในเนื้อเพลง ปรากฏการณ์[5]) แต่บางครั้งการอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆ ที่เป็นพื้นที่ของการกำเนิด พื้นที่อยู่อาศัย (จังหวัด/ประเทศ) หรือแม้แต่กระทั่งพื้นที่ของความฝัน สถานะของการทนเพื่อพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวนับเป็นการทนบนฐานของความรักหรืออาจเป็นรูปแบบหนึ่งของความท้าทายเชิงพื้นที่ที่ไม่สยบยอม หากทิ้งท้ายของบทความนี้ผู้เขียนคงไม่มีข้อสรุปใดที่ตายตัวเพียงแต่ฝากข้อความสำหรับผู้อ่านมาถึงช่วงท้ายนี้ว่า การไม่ยึดติดกับพื้นที่ของความรักหรือพื้นที่พิเศษและปล่อยให้แต่ละคนเข้ามามีส่วนในพื้นที่นี้ร่วมกัน ย่อมสร้างความรักที่แท้จริงให้เกิดขึ้นกว่าการตรึงความรักและหยิบเอาพื้นที่ของความรักมาเป็นมายาคติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองหรือพวกพ้อง ในท้ายที่สุดเราอาจรู้ที่จะรัก อาจจะรักที่จะรู้ หรือเราอาจไม่รู้อะไรเลยเพราะความรักที่แสวงหาอาจไม่มีอยู่จริงก็เป็นได้
[4] เนื้อเพลง สมรสและภาระ-อพาร์ตเมนต์คุณป้า “โบราณเค้าว่าการสมรสคือความรัก รักคือตัวการให้ชีวิตดูมั่นคง พร้อมด้วยภรรยาคนที่ว่าดวงสมพงษ์ คนที่ตกลงใช้ชีวิตไปด้วยกัน ในความเป็นจริงการสมรสคือภาระ รับชะตากรรมที่ตัวฉันนั้นต้องเจอ ต้องใช้เงินบาทไทยส่งลูกเข้าเรียนอินเตอร์ เพื่อจะได้เจอแต่ฝรั่ง ที่เดิร์นกว่าพ่อมัน…”
[5] บางช่วงบางตอนของเพลงปรากฏการณ์ “รักเหมือนเป็นหนังสือ ที่ต้องอ่าน อนาคตคือจดหมาย จากเมื่อวาน บันทึกทุกถ้อยคำที่ทรมาน และมันก็ทำให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ว่าบางครั้งรักเปรียบเหมือนแสงตะวันที่ทำให้โลกเกิดเงาบนพระจันทร์มันคือปรากฏการณ์ของกันและกัน เจ็บปวดสุขสันต์ก็ต้องจดจำเอาไว้ อย่าลืมความสำคัญของวันก่อน วันที่ร้อนมีเธอผ่อนคลาย ในสุดท้ายต้องจาก และอย่าลืมความสำคัญ ของคนก่อนคนที่สอนให้ได้รู้จัก ว่ารักเป็นเหมือนรอยสัก เจ็บปวดแต่งดงาม”
เอกสารอ้างอิง
นราธร สายเส็ง. (2560). “ความฝันกับมุมมองเชิงพื้นที่ (Dream and Spatial Perspective).” เอกสารสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี 2560 เรื่อง มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 (Humanities and Social Sciences for Sustainable Development in the 21st Century). 2 มิถุนายน 2560, 313–324. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล.