ว่าด้วยการวัดผลประเมินผล: ความหนักหน่วงของอาจารย์ในทุกรอบปี

นราธร สายเส็ง: อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

แน่นอนว่าช่วงนี้เป็นช่วงหนักหน่วงของอาจารย์ผู้สอนหลายท่านรวมถึงผมเองที่จะต้องทำคะแนน และต้องหนักใจกับการตัดเกรดนักศึกษา (เป็นทุกปี) เพราะทุกอย่างต้องถูกต้องแม่นยำ และอธิบายได้ เกณฑ์การตรวจก็ต้องชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน คืองี้…

ถ้าเป็นการวัดความจำ จะต้องถูกต้องแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน แม้แต่เพียงนิดเดียวก็ผิดไม่ได้ (ความจำไม่ใช่จำทุกอย่างแต่หมายถึงสิ่งจำเป็นที่ควรรู้ เช่น บอกว่าจังหวัดเชียงใหม่อยู่ภาคอีสานแบบเนี่ยมันไม่ได้)

ถ้าเป็นการวัดความเข้าใจ ต้องอธิบายเป็นภาษาของตนเองได้ เหมือนอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วเล่าให้เพื่อนฟังได้ จริงๆอยากให้นักศึกษาคิดว่าเหมือนอ่านนิยายหรือการ์ตูนมันทั้งสนุกอยากติดตาม (ทั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังความสวยงามทางภาษาแต่ต้องการแก่นของเนื้อหา ความสวยงามมันฝึกกันได้ต้องใช้เวลา) (ฉะนั้นส่วนนี้ต้องการคุณภาพมากๆ ไม่ใช่อ่านเยอะแต่ไม่รู้อะไรจับประเด็นไม่ได้ มันจะมีแบบว่าอ่านหนังสือหลายเล่มแต่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอ่านอะไร คนเขียนสื่อว่าอย่างไร มันมีจริงๆ)

ถ้าเป็นการวิเคราะห์ มันคือการวัดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ต้องนำแนวคิด องค์ความรู้ สิ่งที่เรียนมาๆ อธิบายเชื่อมโยง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพหรือประเด็น และชี้ชัดหรือเน้นสิ่งที่ตกผลึกออกมาให้ได้ มากกว่าความเข้าใจนะ สิ่งนี้มาพร้อมกับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ (ปัญหามันอยู่ที่เวลามีข้อสอบวิเคราะห์ไม่มีมีสิ่งที่ว่ามาก่อนหน้านี้เลยมีแต่ความคิดเห็น ดังนั้นมันปราศจากแกนที่จะต่อยอดได้ เพราะฉะนั้นมันเลยไม่หนักแน่นและเลื่อนลอย)

ถ้าเป็นการวัดทักษะ (อันนี้ต้องอาศัยการเพาะบ่มและทำบ่อยๆ) ต้องตรวจสอบเป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ผลลัพธ์ว่ากันอีกที แต่โดยมากแล้วถ้ากระบวนการถูกต้องผลลัพธ์ย่อมถูกต้องด้วย

ถ้าเป็นการวัดคุณธรรม จริยธรรม ถามว่ายากไหม ตอบว่ายากมากในการที่จะวัดเพราะมันเป็นเหมือนการตัดสิน อีกทั้งเราก็การันตีไม่ได้ว่าเป็นแบบนั้นจริงๆหรือไม่ สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็นไม่เหมือนกัน เวลาและสถานการณ์นำไปสู่การประเมิน พอประเมินก็ไปเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมเฉพาะหน้า การเลือกแสดง และอะไรทีตีค่าออกมาเป็นผลประโยชน์ผลคะแนนย่อมน่ากลัวทั้งนั้น

เคยคิดมาสองสามปีนี้ว่า สิ่งที่ท้าทายมากและคิดว่าตัวเองแน่พอตัวกับการแชร์และบอกแนวทางที่เหมาะสมบนความถูกต้องพื้นฐานหรือการมีเสรีภาพท่ามกลางความหลากหลายคือการให้ผู้เรียนคิดว่าจะเรียนอะไรอยากรู้อะไรเพิ่มเติมจากสิ่งที่ควรรู้ การจะสอบแบบไม่ต้องคุมสอบ การให้อิสระเสรีในการการตอบคำถามแสดงความคิดเห็นต่างๆ โควิดช่วยบอกว่ายังไม่พร้อมสำหรับสิ่งนี้ (แต่ต้องทำให้ได้)

ที่แชร์มาทั้งหมดก็อยากให้รู้ อยากให้เข้าใจ ครูอาจารย์ไม่ได้มีสถานะที่กำหนดหรือชี้ชะตาชีวิตใคร เกรดที่ให้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ตัวของตัวเองย่อมรู้ว่าเราได้พัฒนามากน้อยแค่ไหน การยินดียินร้ายกับเกรดหรือคะแนนก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ใครเต็มที่และทำถูกต้องก็จงทำต่อไป แต่จงรู้ว่าว่าคะแนนที่ได้มาจะภูมิใจได้แค่ไหน..ถ้ามันไม่ถูกต้อง 🌱 มานั่งสังเกตตัวเองพบว่ามีโพสต์แบบนี้ออกมาช่วงเวลานี้ในทุกรอบปี แสดงว่าเราซีเรียสจริงๆ

--

--