ระบำมฤคระเริง
--
5. ฉากและอุปกรณ์ประกอบการแสดงระบำมฤคระเริง
ระบำมฤคระเริง หรือ ระบำกวาง ได้นำมาประกอบการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์อีกครั้ง ปี พ.ศ. 2530 โดยใช้ชื่อชุดการแสดงว่า “รามาวตาร” ในหนังสือบทโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตารนี้ ได้กล่าวถึงฉากในการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามตามกวาง ไว้ดังนี้
“จัดเป็นบรรณศาลาของพระราม ริมฝั่งแม่น้ำโคทา มีศาลาอยู่หน้าหนึ่ง ประตูปิดเปิดเข้าออกได้ หน้าศาลามีท่าที่นั่งและกองไฟบูชากูณฑ์อีกด้านหนึ่งเป็นฝั่งน้ำมีท่าทรงสำหรับพระรามลงสรง กับให้มีพุ่มไม้ทั่วบริเวณ” (ศิลปากร, 2530: 14)
จากบทโขนดังกล่าว จะเห็นได้ว่าฉากที่ใช้ประกอบการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พระรามตามกวาง เป็นฉากบริเวณศาลาหน้าอาศรมของพระรามในป่าริมฝั่งแม่น้ำ มีพืชพรรณพุ่มไม้ประกอบฉากตามความเหมาะสม โดยผู้แสดงจะออกมารำระบำมฤคระเริงบริเวณหน้าอาศรมนั้น
6. รูปแบบและลักษณะการแสดงระบำมฤคระเริง
6.1 รูปแบบการแสดงระบำมฤคระเริง เป็นการแสดงประเภทระบำแบบรำหมู่ ผู้แสดงเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จำนวน 6–8 คน
6.2 ลักษณะการแสดงระบำมฤคระเริง เป็นการรำที่แทรกอยู่ในโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ลักนางสีดา เป็นระบำที่เสริมเนื้อเรื่องของการแสดงโขนให้มีความแปลกใหม่ขึ้น มีความโดดเด่นขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เป็นการขยายเนื้อหาของการแสดงโขนตอนนี้ให้มีชั้นเชิงในทางนาฏยศิลป์มากขึ้น (สมรัตน์ ทองแท้, 2538: 310) โดยโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ลักนางสีดานี้ ขยายเนื้อหาจากตอนที่ทศกัณฐ์ออกอุบายให้มารีศแปลงกายเป็นกวางทองไปล่อนางสีดา โดยให้หมู่ระบำกวางออกมารำก่อน แล้วจึงดำเนินเนื้อเรื่องต่อไป นอกจากนี้ระบำมฤคระเริงยังแทรกอยู่ในละครรำเรื่องศกุนตลา ตอนท้าวทุษยันต์ตามกวาง และละครรำเรื่องสุวรรณสามจากนิทานเรื่องสุวรรณชาดก โดยเป็นการแสดงถึงอากัปกิริยาของหมู่กวางที่อยู่ในป่า การรำแบ่งขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รำออกมาตามทำนองเพลง
ขั้นตอนที่ 2 รำเข้าตามทำนองเพลง
7. ลักษณะท่ารำเฉพาะที่ใช้ในการรำระบำมฤคระเริง
ระบำมฤคระเริงสร้างสรรค์จากแนวคิดอิริยาบถและการเลียนแบบท่าทางของกวาง โดยการแสดงสร้างสัญลักษณ์จากมือแทนกีบเท้าของกวาง โดยลักษณะท่ารำเฉพาะที่ใช้ในการรำ ระบำมฤคระเริง คือ มือ มีลักษณะตั้งข้อมือขึ้น และกำมือหลวม ๆ พร้อมกับชูนิ้วชี้กับนิ้วกลางขึ้น (นิ้วทั้งสองห่างกันเล็กน้อย) ดังภาพ
ภาพประกอบที่ 2 ลักษณะมือของการรำระบำมฤคระเริง
ที่มา : ณัฐภา นาฏยนาวิน
ส่วนอิริยาบถเฉพาะที่ใช้เรียกท่าทางของระบำมฤคระเริง ได้แก่ 1. ท่ากวางกินน้ำ โดยลักษณะท่ารำ คือ ถอนเท้าข้างใดข้างหนึ่งลง แล้วเท้าอีกข้างตั้งเข่า พร้อมกับก้มตัวและก้มหน้าลง มือทั้งสองข้างตกปลายมือลงเกือบจรดพื้น แล้วเงยหน้าขึ้นพร้อมเคลื่อนมือทั้งสองข้างขึ้นโดยหน้ามองตามมือ, 2. ท่าชะเง้อมอง โดยลักษณะท่ารำ คือ ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้าง ๆ แล้วยืดตัวขึ้น โดยที่เท้าอีกข้างหนึ่งอยู่ข้าง ๆ เปิดส้นเท้า แล้วเงยหน้าขึ้นชะเง้อมอง โดยที่มือทั้งสองข้างเลื่อนขึ้น มือหนึ่งตั้งระดับวงบน มือหนึ่งตั้งระดับอก, 3. ท่ากวางเลียขน โดยลักษณะท่ารำ คือ ก้าวเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้าง ๆ เท้าอีกข้างหนึ่งยืนเต็มเท้า ย่อตัวลง แล้วเหลียวหน้าออกไปข้างไหล่ โดยที่มือทั้งสองข้างเลื่อนขึ้นมือหนึ่งตั้งระดับวงบน มือหนึ่งตั้งระดับอก ดังปรากฏตามภาพต่อไปนี้
ภาพประกอบ 3 ลักษณะท่ากวางกินน้ำ
ที่มา : ณัฐภา นาฏยนาวิน
ภาพประกอบ 5 ลักษณะท่าเลียขน
ที่มา : ณัฐภา นาฏยนาวิน
เอกสารอ้างอิง
ณัฐภา นาฏยนาวิน. (2565). คิวอาร์โค้ดวีดิทัศน์ท่ารำระบำมฤคระเริง. จาก https://m.youtube.com/watch?v=8Or5ACAAwqQ สืบค้น 13 มกราคม 2565.
บ้านแห่งการเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรม. (2562). ระบำมฤคระเริง. จาก
http://www.bloggang.com/viewdiary สืบค้น, 7 เมษายน 2562.
รามเกียรติ์. (2562). ทศกัณฐ์ลักนางสีดา. จาก
http://www1.mod.go.th/heritage/nation/ramakian/index6.htm#steal สืบค้น,
25 กันยายน 2562.
ศิลปากร, กรม. (2530). บทโขนเรื่อง รามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์.
สมรัตน์ ทองแท้. (2538). ระบำในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชานาฏยศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.