6 ข้อคิดที่ได้จาก Bill Burnett ในงาน Build a Life You Love

Nimit Attawiriyakula
3 min readSep 1, 2019

--

โตแล้วอยากเป็นอะไร?

หลายคนอาจเคยถูกถามด้วยคำถามนี้นะครับ หรือบางคนก็อาจเคยตั้งคำถามนี้กับตัวเองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

บางครั้งการเติบโตขึ้นมาท่ามกลางคำถามนี้ ก็อาจทำให้เด็กๆหลายต่อหลายคนตั้งเป้าหมายเอาไว้กับตัวเอง ว่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ฉันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฉันจะมีเงินเดือนเท่าไหร่ ฉันจะแต่งงานตอนอายุเท่าไหร่ หรือฉันต้องประสบความสำเร็จอะไรในชีวิตบ้าง ที่สำคัญคือ มีเด็กจำนวนไม่น้อยเลย ที่ถูกคาดหวังเอาไว้ว่า จะต้องวางแผนชีวิตของตัวเองให้ได้แบบนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะเดินตามเส้นทางนั้น ไปเส้นชัยที่สวยงามนั้นให้ได้!

ที่น่าตกใจคือ เมื่อเราเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ เราจะพบว่าชีวิตเราไม่ได้ง่ายเหมือนกับที่เราวาดเอาไว้เลย ไม่มีใครมาคอยบอกทางเราทุกครั้ง ไม่มีคนที่จะคอยพยุงเราเดินได้ตลอด ไม่มีใครที่จะคอยยื่นมือมาดึงเราทุกครั้งที่เราล้ม จนมารู้ตัวอีกที เราก็เดินหลงทางอยู่ในเขาวงกตในใจของเราเอง ไม่รู้ว่าเส้นชัยนั้นอยู่ตรงไหน และไม่รู้เลยว่าจะเดินไปทางไหนต่อ สุดท้ายความรู้สึกเราก็จมลงสู่ความผิดหวัง สับสน และไม่มีความสุข

Bill Burnett ผู้ออกแบบหนึ่งในวิชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในมหาวิทยาลัยระดับโลก Stanford และผู้เขียนหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่งในอเมริกาอย่าง Designing Your Life ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเมืองไทย และได้ให้แนวคิดในการออกแบบชีวิตในแบบของเราไว้ได้อย่างน่าสนใจดีเดียว

จงเปลี่ยนความเชื่อที่ผิดๆเสียใหม่

“ความสำเร็จ คือ ความสุข”

ความเชื่อข้างต้น บางครั้งมันอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป อย่างน้อยเมื่อเราโตขึ้น เราจะพบว่าการมีความสุขในชีวิต ไม่ใช่การที่เรามีความสำเร็จมากมาย แต่เป็นการที่เราพบว่า เราอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาหล่านั้น มีอายุยืนยาว และมีสุขภาพที่ดี สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขารู้สึกว่ามันให้ความสุขในชีวิตได้มากกว่า

“เราต้องรู้เป้าหมายในชีวิตของเราเอง”

คนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการสอน หรือขัดเกลาจากสังคมรอบๆ ทั้งจากครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม ว่าจะต้องบอกได้ว่าตัวเขาในอีก 40 ปี 50 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร กับบางคนแล้วเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียว เพราะหากทำไม่ได้ สังคมรอบๆตัวจะมองว่าคนๆนั้นเป็นคนที่แปลกแยก แตกต่างออกไปจากสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จ

Bill บอกว่า ที่จริงแล้วมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ตัวเราในวันนี้จะมองเห็นอนาคต และบอกว่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไรได้ เพราะในชีวิตจริงนั้นมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวเราเองจะต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเสมอ นั่นต่างหากทำให้ตัวเรานั้นเปลี่ยนไป

Bill ยังเสริมอีกว่า แทนที่จะพยายามรู้ให้ได้ บอกให้ได้ ว่าในอนาคตเราจะเป็นอะไร ลองเปลี่ยนมากำหนดเป้าหมายแทน ว่าเราจะทำอะไรบ้าง ทำแล้วเราได้อะไร วันนี้บอกว่าอยากทำสิ่งนั้น วันนี้เราลองทำสิ่งนั้นให้ได้ แล้วค่อยๆขยับสิ่งที่จะต้องทำเพิ่มไปเรื่อยๆ แบบนี้จะทำให้เราขยับเข้าใกล้สิ่งที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

Photo by JOHN TOWNER on Unsplash

ก่อนจะเริ่มเดินทาง ต้องรู้ก่อนว่าเรายืนอยู่ตรงไหน

มีหลายคนทีเดียว ที่เมื่อเห็นคนอื่นๆทำอะไรแล้วอยากทำแบบนั้น อยากเป็นแบบนั้นบ้าง แล้วคาดหวังไปว่าเมื่อตนเองได้ทำสิ่งนั้นๆแล้ว จะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับที่คนอื่นได้รับ หรือทำแล้วจะมีความสุข หลายคนกระโดดลงไปใช้ชีวิตแบบนั้น แล้วก็พบว่าตนเองนั้นยังไม่พร้อม ไม่เหมาะสม หรือหาความสุขไม่ได้เลยเมื่อได้อยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นจริงๆ นั่นเป็นเพราะมุมมองที่เราเห็นกับชีวิตจริงเป็นละเรื่องกัน

Bill บอกว่า ก่อนจะเริ่มลงมือทำอะไร เราต้องรู้จักตัวเองเสียก่อน รู้จักในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ว่า เราชื่ออะไร ทำงานอะไร หรืออยากทำอะไร แต่หมายถึง รู้ว่าตัวเราคือใคร เรามีความเชื่ออย่างไร และเรากำลังทำอะไรอยู่ เอาเข้าจริงน้อยคนมากๆ ที่จะให้เวลากับการนั่ง Reflect ตัวเองแบบนี้ แต่ Bill บอกว่าสิ่งนี้เอง จะทำให้เรารู้ถึงเหตุผล แรงผลักดันให้เราทำอะไรออกไปอยู่เสมอ และหากเราหาความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสามปัจจัยนี้ได้ เราจะพบว่า ชีวิตของเรานั้นให้คุณค่ากับอะไร

Photo by Randy Tarampi on Unsplash

Mindset ที่ดีจะช่วยให้เราเริ่มต้นได้ดีเช่นกัน

Bill บอกว่า เมื่อเราจะเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่าง ถ้าเรามี Mindset ที่ดี มันจะช่วยสนับสนุนให้เราทำสิ่งนั้นได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในด้านการออกแบบชีวิตนั้น เขายกมาห้าข้อ ที่จะช่วยทำให้เราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่ายขึ้น ได้แก่

  1. Curiosity — หมั่นตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆรอบตัวให้มาก ทำตัวเองให้เป็นคนช่างสงสัย ความช่างสงสัยนี้เอง ที่จะช่วยให้เราค้นพบสิ่งต่างๆที่เราไม่เคยรู้ หรือรู้มากขึ้นไปอีกในสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว
  2. Reframing — รู้จักปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาตรงหน้า แม้ว่าบางครั้งเราก็ต้องยอมรับความจริงว่า ปัญหาข้างหน้านั้นอาจเป็นปัญหาโลกแตกที่เราไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย แต่การปรับมุมมองต่อปัญหาที่ดี จะช่วยให้เรายอมรับในสิ่งที่เป็น และรู้ว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร
  3. Radical Collaboration — ส่วนหนึ่งของการออกแบบชีวิต คือการทดลอง Prototype ชีวิตที่เราออกแบบขึ้น ส่วนนี้เองที่เราจะต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ โดยเฉพาะการได้พูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากเรา การทำแบบนี้คือทางลัดในการเข้าไปสัมผัสความรู้สึกของเราเอง ว่าหากเราได้ยืนอยู่ ณ ที่ตรงนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร
  4. Mindful of Process — การออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking นั้น มีหลายเครื่องมือที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป เราต้องรู้จังหวะในการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม รู้ว่าหากต้องการไอเดียจำนวนมากๆต้องทำอย่างไร รู้ว่าหากต้องการ Prototype ต้องทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝน
  5. Bias into Action — การคิดเพียงอย่างเดียวไม่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เลย ต่อให้เราออกแบบชีวิตไว้ดีเพียงใด แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำ เราก็จะยังคงเป็นคนเดิมกับเมื่อวาน เราต้องฝึกลงมือทำไปเรื่อยๆ บางครั้งเราอาจจะทำผิดพลาดไปบ้าง หลุดออกนอกแผนไปบ้าง ขอให้มองมันเป็นประสบการณ์ให้เราได้เรียนรู้ แล้วลองลุกขึ้นมาลงมือทำอีกครั้ง
Photo by Evan Dennis on Unsplash

ไม่มีคำว่าสายเกินไป

หลายคนคิดว่าเรียนจบด้านนี้มา จะให้ไปทำงานด้านอื่นได้อย่างไร หรือบางคนคิดว่า อายุมากแล้ว จะให้ไปลองทำสิ่งใหม่ๆได้อย่างไร นี่คือความเชื่อของคนที่ที่ไม่รู้วิชา Designing Your Life เลย ที่จริงแล้ว แค่เรากล้าที่จะคิดออกแบบชีวิตของเรา และรู้วิธีการ Prototype ชีวิตของเราแล้ว เรานั้นก็ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายเพื่อสัมผัสประสบการณ์ในการทดลองทำอะไรเลย

การ Prototype ชีวิตตามแนวทางของ Bill นั้นง่ายมาก ตั้งแต่การออกไปพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆโดยตรง การไปร่วม Event ต่างๆ ไปจนถึงการทดลองเข้าไปฝึกทำงานจริงกับคน หรือสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ทำสิ่งนั้นได้ เช่น อยากรู้ว่าการทำร้านอาหารสนุกแค่ไหน ก็ลองไปสมัครเป็นพนักงานแบบพาร์ทไทม์ดู เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว ถ้าเราเชื่อในเรื่องใด เราก็ลงมือได้เลย

Photo by Gia Oris on Unsplash

มีแผนการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น

การวางแผนชีวิตเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะ 5 ปี 5 เดือน 5 สัปดาห์ ต่างก็ช่วยทำให้เราเห็นภาพว่าเราจะต้องทำอะไรในชีวิตให้สำเร็จบ้าง แต่มีคนจำนวนมากทีเดียวที่มักคิดว่าจะมีแผนที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิต และเมื่อใดก็ตามที่เราทำไม่ได้ตามแผนที่ว่านั้น ชีวิตเราจะล้มเหลว

Bill ไม่ได้คิดแบบนั้น เข้าเสนอให้เขียนแผนให้กับตัวเราเองไว้หลายๆแผน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในแบบปัจจุบันของเรา ชีวิตที่ไม่มีงานประจำของเราอีกแล้ว และชีวิตที่เราไร้ซึ่งข้อจำกัดในการเลือกทำอะไรสักอย่าง ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละแผนยังต้องครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต ครอบครัว หรือด้านอื่นๆที่คนๆหนึ่งจะทำได้ เพื่อให้เรามองเห็นความต้องการของตัวเราเองให้ครบทุกมิติ

Bill สรุปในตอนท้ายว่า ทั้ง 3 แผนนั้นสามารถนำมาร่วมกันได้ เราไม่มีความจำเป็นจะต้องเลือกใช้ชีวิตในแบบใดแบบหนึ่ง แต่เราสามารถทดลองใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการได้ทั้งหมด ถ้าทำเรื่องหนึ่งแล้วไม่สำเร็จ ก็ลองดึงอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาทำ วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่ง เราจะพบกับชีวิตที่เรารู้สึกสนุกที่เราออกแบบได้เองในที่สุด

Photo by Tbel Abuseridze on Unsplash

Work-Life Balance ไม่ใช่คำตอบเสมอไป

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า Work-Life Balance กันมาบ้าง ยิ่งคนที่มีผ่านชีวิตการทำงานหนักๆมา น่าจะอินกับคำๆนี้ไม่มากก็น้อย Work-Life Balance เป็นทัศนคติหนึ่งที่มักเกิดกับคนให้ความสำคัญกับสองเรื่อง นั่นคือ การทำงาน และการใช้ชีวิต แต่ในมุมของวิชา Designing Your Life ชีวิตไม่ได้มีเพียงสองเรื่องนี้ ด้วยความซับซ้อนของความเป็น “มนุษย์” แล้ว เราต้องการสิ่งที่มากกว่านั้น

Bill แตกหัวข้อ “Life” ออกเป็นสามหัวข้อ ได้แก่ “Health” หมายถึงปัจจัยทางด้านสุขภาพ ทั้งด้านการกิน หรือออกกำลังกาย, “Love” หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบข้าง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนรัก แต่ยังรวมถึงครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานอีกด้วย, และหัวข้อสุดท้ายคือ “Play” หมายถึงความรู้สึกเมื่อได้ทำอะไรแล้วมีความสุข ซึ่งอาจมากในรูปแบบของสุขที่ได้พักผ่อน หรือสุขที่ได้ทำงานก็ได้

Bill ทิ้งท้ายว่า ปัจจัยทั้ง Work-Health-Love-Play นั้น ให้ความครอบคลุมถึงชีวิตมากกว่าจะมองแค่ Work-Life ซึ่งหากว่าเราสามารถบริหารจัดการทั้งสี่ปัจจัยนี้ให้ดี ก็จะส่งผลให้เรามีชีวิตที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

Photo by Picsea on Unsplash

--

--

Nimit Attawiriyakula

Content Developer at Skooldio | with passion in Design Thinking, Design Sprint, and Education | nimit.a@skooldio.com