Welcome to the HollyWOKE

Niwat Prasitworawitt
2 min readFeb 24, 2023

ในยุคสมัยของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นำพาให้วงการภาพยนตร์ก้าวเข้าสู่ยุคของการถ่ายทำในระบบดิจิทัลอย่างเต็มตัวในทศวรรษ 1990–2010 ตามมาด้วยการพัฒนาความละเอียดของเซนเซอร์รับภาพ และความละเอียดของจอแสดงผล ที่ทำให้มาตรฐานของงานภาพวีดีโอในปัจจุบัน ยกระดับจาก 576p มาเป็น 2160p หรือ 4k หรือเกือบ 16 เท่าตัว และในช่วงเวลาหนึ่งก็ยังมีความพยายามในการสร้างนวัตกรรมการฉายภาพยนตร์ในระบบสามมิติ ซึ่งก็ถือว่า ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง หลังความสำเร็จของ Avatar

แต่ในทางเนื้อหานั้นเล่า มีสิ่งใดปรับเปลี่ยน แปรผัน และกลายเป็นหลักไมล์สำคัญแห่งยุคสมัย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

นอกเหนือไปจากความตื่นตัวในประเด็นการก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11 และการเติบโตของวงการคนทำหนังสารคดี หลังกระแส The Inconvenient Truth แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก ก็คือ การที่สตูดิโอต่างๆในฮอลลีวู้ด เริ่มปรับกลยุทธในการคัดเลือกนักแสดง และปรับบทบาทของตัวละคร ให้มีความหลากหลาย ตัวละครหลักในหนังแอ็คชั่นฟอร์มยักษ์กลายเป็นผู้หญิง เอลฟ์สูงศักดิ์มาในคราบของคนผิวดำ นางเงือกน้อยผิวสี ข่าวลือของเจมส์ บอนด์คนใหม่ที่อาจเป็นคนผิวดำ สาวละตินในหนังแข่งรถ ฯลฯ เหล่านี้ กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระแสการคัดเลือกนักแสดงที่ดูแหวกขนบเดิมๆของฮอลลีวู้ดไปอย่างสิ้นเชิง

กระแสการตื่นตัว เพื่อการยอมรับกลุ่มคน เชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ เพศวิถีที่หลากหลายนี้ ถูกเรียกขานสั้นๆ ว่า “”Woke

Woke ความหมายโดยทั่วไป หมายถึง ลักษณะอาการตื่นตัว ภายหลังจากการนอนหลับ แต่ในปัจจุบัน ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ ที่หมายถึง การตื่นรู้ การตื่นตัว

มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นสถาบันชื่อดังในด้านพจนานุกรมและการบัญญัติศัพท์ ก็ได้คัดเลือกคำว่า “Woke” ให้เป็นศัพท์ใหม่ของพวกเขา โดยทางออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา Woke เป็นคำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสังคมกระเเสหลัก โดยเฉพาะในบริบทที่ใกล้เคียงกับความหมายที่ว่า การรับรู้หรือตื่นตัวต่อการเลือกปฏิบัติ สังคมที่ไม่เป็นธรรม หรือการเหยียดเชื้อชาติอื่นๆในสังคม

ศัพท์คำนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากการเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง Master Teacher ของเอรีกาห์ บาดู (Erykah Badu) ที่มียอดผู้ชมรวมกันหลายล้านวิวในยูทูบ นอกจากนั้นคำนี้ยังถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวสี (Black Lives Matter Movement) ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์อีกด้วย (The Matter: ออกซ์ฟอร์ด บัญญัติคำว่า ‘Woke’ ‘Hygge’ และ ‘Post-truth’ ลงในพจนานุกรมฉบับล่าสุด — THE STANDARD)

ส่วนเหตุผลว่า เพราะเหตุใด สตูดิโอต่างๆจึงสนใจที่จะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวละคร ให้ทันต่อกระแส Woke นี้ ก็คงหนีไม่พ้นปัจจัยทาง “การตลาด” ซึ่งเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลักสองส่วน

ประการแรก คือ สัดส่วนประชากรผิวดำ/เชื้อสายละติน/เชื้อสายเอเชีย ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับสัดส่วนประชากรผิวขาว กล่าวคือ สัดส่วนประชากรคนขาว ลดลงจาก 63.8 เป็น 59.3 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลา 11 ปี(2010–2021) ในขณะที่ประชากรผิวดำ เพิ่มขึ้นจาก 16.4 เป็น 18.9 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับประชากรเชื้อสายเอเชีย เพิ่มจาก 4.8 เป็น 5.9 เปอร์เซ็นต์(USAFACT.ORG) และที่สำคัญ ประชากรถึง 1 ใน 4 ของกลุ่มนี้ คือกลุ่มวัยรุ่น (สูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุในเชื้อสายเดียวกัน)ซึ่งนั่นหมายความว่า ประชากรผู้อพยพและเลือดผสมมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แถมคนเหล่านี้ ก็ชอบชมภาพยนตร์ ฟังเพลง และจับจ่ายใช้สอยกับสินค้าเพื่อความบันเทิงมากเสียด้วย

ประการต่อมา คือ การที่ตัวละครผิวสี ละติน และเอเชีย ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทนำ หรือบทตัวประกอบ ยกตัวอย่างเช่น วิล สมิธ ในบทยักษ์จินนี่ ที่ช่วยสร้างสีสันและทำให้หนัง Aladdin ฉบับคนแสดงทำรายได้พุ่งกระฉูด ซามูเอล แอล แจ็คสัน ในบทตัวประกอบนิค ฟิวรี่ แห่งจักรวาลหนังมาร์เวล ที่สุดท้าย ดิสนีย์ก็ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว ต้องสร้างซีรี่ส์ภาคแยกให้กับตัวละครนี้ตามมา ความสำเร็จแบบเกินคาดของ Black Panther ภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส ในไตรภาคล่าสุด มีทั้งคนผิวสี คนเอเชีย คนละติน ผู้หญิง นักรบสูงอายุ ฯลฯ มารวมทีมในฝั่งธรรมะ และก็ทำรายได้น่าพอใจ และล่าสุด หนังนอกกระแสอย่าง Everything, Everywhere, Aa at Once ที่มีตัวละครหลักเป็นครอบครัวเชื้อสายเอเชีย ก็สร้างปรากฏการณ์กวาดทั้งรายได้และเสียงวิจารณ์ระดับดีเยี่ยม นี่จึงเป็นเหตุผลว่า กระแส Woke ในวงการภาพยนตร์ มีผลต่อการทำตลาด ไม่มากก็น้อย

หากแต่ความสำเร็จทางด้านรายได้ จากฐานผู้ชมที่กว้างขวางขึ้น อาจไม่ได้การันตีเสียงชื่นชม หรือคำวิจารณ์ในแง่ดีเสมอไป เพราะบ่อยครั้งที่ผู้ชมจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ชมฝั่งคนขาว (white people) มองว่า การคัดเลือกนักแสดงผิวดำ นักแสดงละติน ไปสวมบทบาทตัวละครคนขาว ที่มีการบรรยายภาพลักษณ์อย่างชัดเจนในนิยาย หรือภาพยนตร์ต้นฉบับ ก็ทำให้พวกเขารู้สึกกระอักกระอ่วนใจ และมองว่า นั่นเป็นการล้ำเส้นและเป็นการไม่ให้เกียรติบทประพันธ์ดั้งเดิมเช่นกัน ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่ต่างอะไรกับที่ครั้งหนึ่ง ฮอลลีวู้ดเคยสร้างปรากฏการณ์ whitewashing หรือการใช้นักแสดงคนขาวไปรับบทตัวละครชาวเอเชีย และเชื้อสายอื่นๆ ตัวอย่างเด่นๆ เช่น การเลือกนักแสดงวัยรุ่นผิวสีอย่าง Halle Bailey มารับบทเจ้าหญิงแอเรียลใน The Little Mermaid ฉบับคนแสดง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา บทตัวละครนำอย่าง ก็เป็นภาพจำของสาวน้อยผิวขาวสะอ้าน ผมแดง มีครีบหางเป็นปลา แหวกว่ายไปกับฝูงปลา หรือภาพของกลุ่มชน ดาร์ก เอลฟ ์หรือเอลฟ์ผิวดำใน The Ring of Power ก็สร้างความเจ็บปวดให้กับแฟนเดนตายของ J.R.R.Tolkien ผู้ประพันธ์มหากาพย์ Lord of the Ring จนสร้างกระแสเรียกร้อง ให้สตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์เลิกทำหนังเอาใจชาว Woke เสียที เพราะมันทำลายภาพในจินตนาการของคนดูผู้เฝ้ารอมหากาพย์ชุดนี้ลงอย่างสิ้นเชิง

ถึงกระนั้น ก็ดูเหมือนว่า กระแส HollyWOKE Awekening นี้คงจะดำเนินต่อไปอีกเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพราะแผนการปั้นนักแสดงผิวสี/เอเชีย ก็เป็นแนวทางระยะยาวที่น่าจะทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัทผู้สร้างไปได้อีกหลายปี สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคนดูจะยินดีหรือไม่ สตูดิโอใหญ่เหล่านั้นก็เป็นผู้เบิกบานใจในท้ายที่สุดอยู่ดี

#BSRU #Film #ภาพยนตร์ #Management Science

#Woke #มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

--

--