การปกครองศาลเจ้าในประเทศไทย

ศาลเจ้าในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ศาลเจ้าของเอกชน มีอยู่ 1,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ กับศาลเจ้าในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย มีอยู่ 674 แห่งทั่วประเทศ (สมยศ พุ่มน้อย สัมภาษณ์ในรายการวัฒนธรรมสร้างชาติ ตอน ท่องชุมชนยลย่านจีนเก่า ศาลเจ้ากวนอู และศาลเจ้าโรงเกือก, 2565)

ศาลเจ้าในความปกครองของกระทรวงมหาดไทย มีฐานะเป็นองค์การในกำกับหรือความปกครองของทางราชการ เกิดจากการจดทะเบียนตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2463 ออกความตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 123 ซึ่งยังคงใช้ถึงปัจจุบัน

ที่มา: นงนุช ทึ่งในธรรมะ (2565)

ตามกฎเสนาบดีว่าด้วยกุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2463 ระบุ

คำว่า ศาลเจ้า นั้น หมายความว่า สถานที่ก่อสร้างขึ้นเป็นทรวดทรงสำหรับประดิษฐานรูปเคารพและการกระทำตามพิธีกรรมตามลัทธิของคนบางจำพวก เช่น ชนจีน เป็นต้น และให้หมายความรวมตลอดถึงสถานที่ถาวร ซึ่งสร้างขึ้นประกอบกับศาลเจ้า เช่น โรงสำหรับกินเจ เป็นต้น

ศาลเจ้ากวนอู คลองสาน (ที่มา: นงนุช ทึ่งในธรรมะ, 2565)

ว่าด้วยฐานะของศาลเจ้าและเทียนศาลเจ้า ได้กำหนดว่า ศาลเจ้าที่ได้ก่อสร้างขึ้นด้วยวัตถุมีฐานะอันมั่นคงถาวร นอกจากที่ตั้งอยู่ในที่ดินของเอกชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ ให้มีทะเบียนบัญชีศาลเจ้า ให้เป็นหลักฐาน

ทะเบียนบัญชีศาลเจ้าให้มีรายการดังนี้ คือ 1. เลขลำดับจำนวนศาลเจ้า 2. ชื่อศาลเจ้า 3. ตำบล อำเภอ จังหวัด ศาลเจ้าตั้งอยู่ 4. ชื่อและอายุผู้ปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตราสอดส่อง 5. ชื่อแซ่สกุลชาติกำเนิดและบังคับสังกัดมูลนายของผู้ปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตรา 6. อาชีวะและที่สำนักอาศัยของผู้ปกครองศาลเจ้า และผู้ตรวจตราสอดส่อง

ปัจจุบัน กรมการปกครอง จะมีหน่วยงาน สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมสอดส่องกิจการต่าง ๆ ของศาลเจ้า ทำหน้าที่กำกับ ดูแลและควบคุมนโยบายหรือทิศทางและสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ ของศาลเจ้า และมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารงานผ่านคณะกรรมการควบคุมตรวจตราสอดส่องกิจการต่าง ๆ ของศาลเจ้า ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน

--

--