บทเรียนจากกรณีศึกษาบริษัท Theranos สำหรับพนักงานบริษัท

Pakapark Nik Bhumiwat
2 min readMar 25, 2018

--

ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีศึกษาบริษัท Theranos และหลักการ whistleblow (การตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดหรือขัดต่อกฎหมายขององค์กรที่ตนทำงานอยู่) ผมเน้นว่าบทความนี้เป็นการเขียนผ่านมุมมองของผู้เขียน และมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านมีข้อมูลในการตัดสินใจที่เหมาะสมมากขึ้น หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่องค์กรตนที่ทำงานอยู่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจมากกว่าความปลอดภัยของผู้บริโภคและประชาชนโดยส่วนรวม บทความนี้ไม่มีสิ่งที่ถูกหรือผิดอย่างชัดเจน ผมขอความกรุณาโปรดใช้วิจารณญาณ คิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนการวิพากษ์และวิจารณ์ในวงกว้าง

บทความนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ผมจะสรุปกรณีบริษัท Theranos ว่าเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างไร มีประเด็นความขัดแย้งทางด้านจริยธรรมอย่างไรบ้าง ในส่วนที่สอง ผมจะนำเสนอมุมมองว่าถ้าผู้อ่านตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ควรจะเลือกปฎิบัติอย่างไรบ้าง จากคำแนะนำจาก Tyler Shutlz นักวิศวกรที่เคยทำงานอยู่ที่บริษัท Theranos และบุคคลแรกที่ whistleblow บริษัทดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกันได้สำเร็จ

Elizabeth Holmes (CEO ของบริษัท Theranos) ที่มา: The Unz Review

บทสรุปโดยย่อเกี่ยวกับกรณีบริษัท Theranos

Elizabeth Holmes เป็นอดีตนักเรียนมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ เธอเป็นคนที่กลัวการเจาะเลือดและเชื่อว่าเธอสามารถเปลี่ยนวิธีการเจาะเลือดที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ เธอนำเสนอวิธีการเจาะเลือดผ่านการเก็บเลือดที่ปลายนิ้วซึ่งในตอนแรกเธอนำเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ผลลัพธ์คืออาจารย์บางท่านให้คำตอบว่าทำได้ยาก ในขณะที่อาจารย์บางท่านเชื่อว่าเป็นไปได้ (ซึ่งต่อมาเราทราบว่าเทคโนโลยีสามารถใช้ตรวจสารต่างๆ ในเลือดเพียงบางอย่างเท่านั้น) ต่อมาเธอ pitch ความเชื่อของเธอให้นักลงทุนหลายๆ ท่านใน Silicon Valley และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เธอระดมเงินได้มากถึง 5 แสนเหรียญสหรัฐในรอบ seed funding, 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐในการ pitch series A และ ระดมเงินรวมทั้ง 10 รอบได้มากถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เธอชักชวนให้บุคคลที่มีอิทธิพลมากในสหรัฐอเมริกาให้เข้ามาอยู่ใน board บริหารได้สำเร็จ ปัญหาของกรณีนี้อยู่ที่ว่าการพัฒนาการทางด้านการวิจัยเติบโตไม่ทันการพัฒนาทางด้านธุรกิจ บริษัทจึงพยายามรับรองความเชื่อมั่นของนักลงทุนและกลุ่มลูกค้าในอนาคต ด้วยการทำงานแบบผักชีโรยหน้าให้ผลลัพธ์ออกมาดูน่าเชื่อถือ โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่นการเลือกข้อมูล (cherry picking) ให้ผลลัพธ์ออกมาผ่าน 95% confidence interval เป็นต้น

ถึงตอนนี้ ผมอยากให้หยุดคิดว่า ถ้าคุณเป็นพนักงานของบริษัทนี้ ซึ่งมุมมองของคนภายนอกเป็นบริษัทที่จะเข้ามาปฎิวัติวงการแพทย์ ทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงคนหลายๆ กลุ่มมากขึ้น แต่ภายในคุณรู้ว่ากระบวนการที่ทำภายในมีการเลือกข้อมูลและผลลัพธ์ให้ออกมาดูน่าเชื่อถือ โดยที่ผลลัพธ์นั้นสามารถเปลี่ยนความเป็นความตายของผู้บริโภคได้ คุณจะเลือกปฎิบัติอย่างไร ให้เกิดผลประโยชน์โดยรวมมากที่สุดและเกิดผลเสียต่อตัวคุณเองน้อยที่สุด

บทเรียนจากกรณีศึกษา Theranos

คำถามที่ผมกล่าวข้างต้นนี้ เป็นปัญหาที่นักวิศวกรทุกคนที่ทำงานอยู่ที่บริษัท Theranos ในขณะนั้นต้องเผชิญ ผมต้องเน้นย้ำอีกรอบว่าบริษัท Theranos นั้นมีกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลอยู่ในรัฐบาลของอเมริกาสมัยก่อน อย่างเช่น ​Bill First, Henry Kissinger, Sam Nunn, William J. Perry เป็นต้น นอกจากนี้ Theranos ยังมีทีมกฎหมายอันดับต้นของอเมริกาอย่าง David Boies หากคุณนำข้อมูลที่คุณรู้มาเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ตโดยตรง คุณอาจถูกฟ้องร้องว่านำข้อมูลความลับการค้ามาเปิดเผยในที่สาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่คุณจะชนะคดีนี้แทบจะเป็นศูนย์

สิ่งที่ผมนำเสนอต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ผ่านการอ่านบทความต่างๆ ในกรณีที่เกี่ยวข้อง และคำแนะนำที่ผมได้เรียนรู้จาก Tyler Shultz จากการเรียนในห้องเรียนการอภิปรายหลักการทางจริยธรรมที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งผมจะสรุปเป็นหัวข้อดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบข้อมูล

ก่อนที่คุณจะตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับเรื่องใดก็ตาม คุณควรตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่คุณเห็นนั้น ผิดหลักจริยธรรมและหลักกฎหมายอย่างไรบ้าง ในเบื้องต้นคุณควรคุยกับเพื่อนร่วมงาน (คนในระดับเดียวกัน) ก่อนว่าประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันหรือไม่ ค่อยๆ พูดคุยและถามความคิดเห็นจากคนหลายกลุ่ม รวมกลุ่มคนที่มีความคิดเหมือนกัน และไตร่ตรองความคิดเห็นที่แตกต่างว่าเหตุผลแต่ละข้อมีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดในขั้นตอนนี้คือ การถามความคิดเห็นเฉพาะคนใน inner circle เดียวกัน (คนที่ทำงานด้วยกันหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกันตลอด มักจะมีความคิดเห็นที่คล้ายกัน ทำให้ได้ความคิดเห็นที่ไม่หลากหลาย ซึ่งนำไปสู่บทสรุปที่ไม่ถูกต้องได้)

หลังจากที่รวมกลุ่มคนในระดับเดียวกันและตรวจสอบข้อมูลในระดับหนึ่งแล้ว ให้ลองคุยกับคนที่อยู่ระดับที่สูงกว่าด้วย เพื่อดูว่าคนเหล่านี้มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีความคิดเห็นเหมือนกัน คุณอาจรวมกลุ่มคนได้มากขึ้น ในขณะที่ถ้ามีความเห็นต่าง คุณจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมในอีกมุมมองหนึ่ง ผมเน้นย้ำว่าเป้าหมายหลักของขั้นตอนนี้คือ การตรวจสอบข้อมูลและการรวมกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน เพราะการ whistleblow นั้น ทำได้ยากในทางปฏิบัติหากคุณต้องต่อสู้กับอำนาจมืดเพียงลำพัง

ขั้นตอนที่ 2 รวบรวมหลักฐาน

ก่อนที่คุณจะตีแผ่ความจริงนั้น คุณต้องพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเสมอ เช่นการต่อสู้ในชั้นศาล สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งจะทำให้สามารถต่อสู้ชนะได้คือหลักฐานที่หนักแน่นพอเกี่ยวกับการกระทำผิดของบริษัทที่ตนทำงานอยู่ ในกรณีของบริษัท Theranos นักวิศวกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลเลือด จะสามารถเก็บหลักฐานการดัดแปลงข้อมูลได้ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 จ้างทนายความ

จากที่ผมได้เกริ่นไปแล้วว่าคุณไม่ควรนำข้อมูลหรือหลักฐานที่รวบรวมมาได้มาตีแผ่สู่สาธารณะในทันที เนื่องจากคุณอาจถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการนำข้อมูลลับทางการค้ามาเปิดเผยต่อที่สาธารณะได้ คุณควรจ้างทนายความหรือนักกฎหมายที่มีประสบการณ์ด้านการว่าความเกี่ยวกับ whistleblowing เพื่อให้ทราบว่าถึงสิทธิในขณะนั้น คุณสามารถทำอะไรด้านบ้าง สิ่งไหนบ้างที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นต้น คุณต้องอย่าลืมว่า เมื่อถึงชั้นศาล การตัดสินใจของผู้ตัดสินคดีความจะเป็นไปตามการตีความของกฎหมาย (หรือกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต ขึ้นกับระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ) ไม่ใช่ตามหลักจริยธรรมที่คนในกลุ่มของคุณเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือสมควรแก้ไข

ขั้นตอนที่ 4 ติดต่อสื่อ

หลังจากที่คุณรวมกลุ่มกัน มีหลักฐานที่หนักแน่น และเข้าใจสิทธิของตนเองแล้ว คุณจำเป็นต้องติดต่อสื่อซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตีแผ่ความจริงให้ทราบกันในวงกว้าง การติดต่อสื่อนั่นคุณควรเลือกคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับการ whistleblow มาก่อน ดังเช่นในกรณีของบริษัท Theranos Tyler เลือกติดต่อ The Wall Street Journal เป็นต้น

หลังจากที่คุณติดต่อสื่อ และเริ่มตีแผ่ความจริงให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ในวงกว้างนั้น คุณจะต้องค่อยๆ ต่อสู้ซึ่งผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นกับกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนข้างต้นว่าคุณทำได้ดีขนาดไหน แน่นอนว่าการตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยความหนักแน่นเป็นอย่างมาก

ถ้าหากเราต้องการเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้น ผมอยากให้ทุกคนมองเห็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวม กล้าที่จะออกมาพูดแก้ไขสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ตามหลักเหตุผลและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

คำขอบคุณ

ผมขอขอบคุณพี่ Shakrit Chanrungsakul (พี่ White) ที่ช่วยแก้ไขข้อมูลและ proofread ทำให้บทความนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ภคภาค ภูมิวัฒน์ (นิกข์) เป็นนักเรียนปริญญาโท ในสาขา Computer Science มหาวิทยาลัย Stanford มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

--

--