“ชุมชนวิทยาศาสตร์ : ตอนที่ 1 หลักการสำคัญในชุมชนวิทยาศาสตร์สำหรับนักวิจัย”
นักวิจัยมือใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้และหัดทำวิจัย รวมถึงนักวิจัยมืออาชีพ มีสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือการวิจัยไม่ว่าจะเป็นการวิจัยวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ล้วนแต่ต้องดำเนินการในลักษณะเป็นกระบวนการที่มีลำดับขั้นตอน ระบบ ระเบียบ แบบแผนและวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของศาสตร์นั้น (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2555, น. 3) ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) เพื่อให้ได้ผลการศึกษาวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือและถูกต้อง
ดังนั้นนักวิจัยจึงควรยึดถือแนวปฏิบัติและวิธีคิดตามหลักการใน “ชุมชนวิทยาศาสตร์” (the scientific community) ที่มีระบบทัศนคติ ความเชื่อ กฎเกณฑ์ แบบวิทยาศาสตร์ที่แบ่งปันและยึดถือร่วมกัน เพื่อมาตรฐานของการศึกษาความรู้ทั้งในระดับพื้นฐานและก้าวหน้าตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ในชุมชนวิทยาศาสตร์จะประกอบไปด้วยสถานการณ์ทางสังคมของผู้คน บทบาท การจัดระเบียบ บรรทัดฐาน พฤติกรรม และทัศนคติแบบวิทยาศาสตร์สำหรับการศึกษาองค์ความรู้
ผู้คนที่อยู่ในชุมชนนี้ถือเป็นประชาคมนักวิจัยที่พึงมีแนวทางในการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในฐานะมุมมองทางวิทยาศาสตร์ มีการกำหนดสมมติฐาน ทัศนคติ และเทคนิคสำหรับการศึกษาวิจัยตามหลักการวิทยาศาสตร์ เพื่อความถูกต้องและความน่าเชื่อขององค์ความรู้ที่ศึกษา
ตัวอย่างคนในชุมชนวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิจัย ผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งอาจเป็นนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย หรืออาจอยู่ในบริบทอื่นนอกเหนือมหาวิทยาลัย เช่น นักวิจัยจาก NGOs องค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น (Neuman, William Lawrence, 2014, p.12–13)
Neuman (2014, น.14) อธิบายว่า “บรรทัดฐาน” และ “ค่านิยม” ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่คนในชุมชนวิทยาศาสตร์พึงมี ประมวลได้ 5 ประการ ได้แก่
1. Universalism
หลักสากลนิยม ไม่ว่าใคร หรือหน่วยงานใดทำวิจัยก็ตาม การวิจัยจะต้องได้รับการตัดสินบนพื้นฐานของคุณธรรมทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
2. Organized skepticism
การจัดการความสงสัยควรทำโดยกระบวนการวิจัยที่มีการจัดระเบียบเพื่อคลายความสงสัยตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ นักวิทยาศาสตร์รวมถึงนักวิจัย ไม่ควรยอมรับความคิดหรือหลักฐานใหม่ๆ ในลักษณะที่ไร้กังวลและไร้วิพากษ์วิจารณ์ แต่ควรท้าทายและตั้งคำถามกับหลักฐานทั้งหมดและให้การศึกษาแต่ละครั้งได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยย้ำว่าจุดประสงค์ของการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เพื่อโจมตีบุคคลแต่เป็นความถูกต้องของผลการศึกษาหรือวิจัย
3. Disinterestedness
ความเป็นอิสระจากอคติ นักวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นกลาง เป็นกลาง เปิดกว้าง และเปิดรับข้อสังเกตและแนวคิดใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิด โดยไม่ควรเคร่งครัดเชื่อมโยงกับความคิดหรือมุมมองเฉพาะตามแนวทางเดิม หากมีข้อค้นพบใหม่จากการศึกษาหรือวิจัย เมื่อผ่านกระบวนการวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วสมควรยอมรับสิ่งที่พบใหม่นั้น แม้ว่าจะขัดต่อจุดยืนของตน แต่ต้องเป็นผลที่มาจากกระบวนการที่กระทำโดยสุจริต
4. Communalism
ความรู้ที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ “ต้อง” แบ่งปันให้กับผู้อื่น เพราะองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นนั้นถือเป็นการกระทำสาธารณะ (public act) ความรู้ที่ค้นพบจึงทรัพย์สินสาธารณะที่ควรให้ผู้อื่นได้ใช้ความรู้ร่วมกัน และขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยก็ควรเผยแพร่รายละเอียดให้ผู้อื่นทราบ ความรู้ใหม่ที่พบจึงจะไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจนกว่าจะเผยแพร่ให้นักวิจัยอื่นศึกษาทบทวน (review) และความรู้นั้นจึงจะเป็นองค์ความรู้สำหรับสาธารณะที่รูปแบบและลักษณะเฉพาะที่ทรงคุณค่า
5. Honesty
ความซื่อสัตย์เป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่พึงมาโดยทั่วไป แต่ในการวิจัยที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ความซื่อสัตย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยต้องยึดถือความซื่อสัตย์ตลอดกระบวนการวิจัย ถ้ามีการโกงหรือการไม่ซื่อสัตย์ในการวิจัยที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ไม่ควรทำโดยเด็ดขาด
จึงสรุปได้ว่าในกระบวนการวิจัยนั้น นักวิจัยควรปฏิบัติตามบรรทัดฐานและค่านิยมของชุมชนวิทยาศาสตร์ เพื่อความถูกต้องและน่าเชื่อถือของผลการวิจัย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำวิจัยไปใช้ในอนาคตนั่นเอง
อ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. (2555). จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Neuman, William Lawrence. (2014). Social Research Methods Qualitative and Quantitative Approaches. 7th ed. . Boston : Pearson.