“ชุมชนวิทยาศาสตร์ : ตอนที่ 2 การนำวิธีคิดเรื่องชุมชนวิทยาศาสตร์ไปใช้กับการวิจัย

การวิจัยเรื่องการจัดการความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีในการอนุรักษ์ การเขียน และการสืบทอดจิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณี (2562) เป็นการวิจัยซึ่งนักวิจัยดำเนินการวิจัยอย่างเป็นกระบวนการด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) แบบกรณีศึกษา (case study) และแบบทฤษฎีฐานราก (grounded theory research)

ผู้วิจัยดำเนินการวิจัยโดยยึดถือระบบทัศนคติ ความเชื่อ กฎเกณฑ์ แบบวิทยาศาสตร์ นั่นคือ แสวงหาความรู้ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) กล่าวคือ

  • มีการคัดเลือกพื้นที่วิจัยที่เหมาะสมคือในโบสถ์วัดกก เขตบางขุนเทียน จังหวัดกรุงเทพมหานคร เพราะมีปรากฏการณ์การอนุรักษ์ การเขียน และการสืบทอด คือมีนางสุมนมาลย์ เนินพรหม นักอนุรักษ์ผู้เชี่ยวชาญ นายเชาวลิตร เนินพรหม ครูช่าง และกลุ่มลูกศิษย์ผู้รับการสืบทอด ด้านการอนุรักษ์ 2 คน ด้าน การเขียนแบ่งเป็นช่างทำพื้น 2 คน และช่างเขียน 13 คน มาปฏิบัติงาน
ภาพที่ 1 โบสถ์วัดกกในฐานะพื้นที่วิจัย
  • มีการเลือกหน่วยการวิเคราะห์ (unit of analysis) ที่เป็นกรณีศึกษา (case study) หรือปรากฏการณ์ (phenomena) กำหนดตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิด อาทิ ในวัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อศึกษากระบวนการจัดการความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณีในโบสถ์วัดกก หน่วยวิเคราะห์คือ กระบวนการจัดการความรู้ด้านจัดการเทคโนโลยีในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณีในโบสถ์วัดกกซึ่งเป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวนักอนุรักษ์และครูช่าง
  • มีการเลือกผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informant) ตามหลักการของการวิจัยแบบกรณีศึกษาคือต้องเป็นปัจเจกบุคคลที่มีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดของการศึกษาและเป็นความรู้ที่เชื่อถือได้ (ชาย โพธิสิตา, 2550, น.166–167 ; Yin, 2014, p. 2) อาทิ ในวัตถุประสงค์ที่ 1 ศึกษากระบวนการจัดการความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณี ผู้ให้ข้อมูลหลักคือนางสุมนมาลย์ เนินพรหม นักอนุรักษ์ และนายเชาวลิตร เนินพรหม ครูช่าง ซึ่งท่านเป็น “ช่างหลวง” และ “ครูครอบ”
ภาพที่ 2 นักอนุรักษ์
ภาพที่ 3 ครูช่าง
ภาพที่ 4 ลูกศิษย์และครูช่าง
  • มีการวิจัยเอกสารเพื่อสร้างเครื่องมือสำหรับการสังเกตและการสัมภาษณ์
  • มีการเลือกใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตโดยตรง การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การใช้กล้องส่องทางไกล เครื่องชี้เลเซอร์ การบันทึกเสียง การจดบันทึกภาคสนาม
  • มีการจัดสนทนากลุ่มและการนำเสนอในเวทีสาธารณะ
  • มีการวิเคราะห์ข้อมูล การตีความข้อมูล การสังเคราะห์ การสรุปและการตรวจสอบตามหลักการของระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษาและแบบทฤษฎีฐานรากที่วิเคราะห์ตามหลักอุปนัย (induction)

เมื่อพิจารณาตาม “บรรทัดฐาน” และ “ค่านิยม” ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ Neuman (2014, น.14) เสนอ สิ่งที่ผู้วิจัยได้ดำเนินการ คือ

1. Universalism ผู้วิจัยมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องตามหลักสากลและดำเนินการตามวิธีการวิทยาศาสตร์

2. Organized skepticism ผู้วิจัยขจัดความสงสัยจากการศึกษาความรู้จากหนังสือที่เคยตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ด้วยการสังเกตโดยตรงและสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในพื้นที่วิจัยจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น “ครูช่าง” และ “นักอนุรักษ์” เพื่อให้แน่ใจว่าองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการเขียนและการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังเป็นอย่างไร จากนั้นนำเสนอผลการวิจัยที่ค้นพบ

3. Disinterestedness ผู้วิจัยดำเนินการอย่างเป็นกลาง เปิดกว้าง และเปิดรับข้อสังเกตและแนวคิดใหม่ๆ ที่พบในพื้นที่วิจัยโดยไม่คาดคิด และเป็นการดำเนินการโดยสุจริต

4. Communalism ผู้วิจัยแบ่งปันองค์ความรู้ให้กับช่างเขียนและนักอนุรักษ์ที่เป็นลูกศิษย์ในพื้นที่วิจัย ได้แบ่งปันความรู้ในการจัดสนทนากลุ่ม อาทิ ข้าราชการกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กรมศิลปากร เจ้าอาวาสวัดกก และผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ รวมทั้งเผยแพร่ผลการวิจัยอย่างกว้างขวางในรูปแบบของบทความผ่านระบบ Google Scholar และวารสารในระบบออนไลน์ที่มีชั้นวารสารเท่ากับ TCI ฐาน 2

5. Honesty ผู้วิจัยใช้ความซื่อสัตย์เป็นบรรทัดฐานตลอดกระบวนการวิจัย ทั้งการบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ การตีความ สรุปและแปลผล

จึงสรุปว่า นักวิจัยควรให้ความสำคัญกับการนำวิธีคิดเรื่องชุมชนวิทยาศาสตร์ที่ยึดถือบรรทัดฐานและค่านิยมตามหลักวิทยาศาสตร์ไปใช้กับการวิจัย เพื่อสร้างความถูกต้องและน่าเชื่อถือของผลการวิจัย และก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อการพัฒนาในอนาคต

อ้างอิง

ชาย โพธิสิตา. (2550). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ระพีพรรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์ ตัณรัตน์. (2562). การจัดการความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีในการอนุรักษ์ การเขียน และการสืบทอดจิตรกรรมฝาผนังไทยประเพณี. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. (2555). จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Neuman, William Lawrence. (2014). Social Research Methods Qualitative and Quantitative Approaches. 7th ed. . Boston : Pearson.

Yin, Robert K.. (2014). Study Research : Design and Methods. (5th ed.). U.S.A. : SAGE Publications.

--

--