--
รู้จักการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) สำหรับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ใน 2 นาที
การวิจัยเชิงปริมาณเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นข้อมูลในลักษณะตัวเลขหรือกำหนดเป็นปริมาณได้ การวิจัยประเภทนี้ใช้เครื่องมือที่มีความเป็นปรนัยในการเก็บรวบรวมข้อมูลและใช้สถิติเพื่อการวิเคราะห์และแปลความหมายของข้อมูล (พิชิต ฤทธิ์จรูญ, 2554, น.19)
การวิจัยเชิงปริมาณในมุมมองแบบ “ปฏิฐานนิยม” (Positivism) นั้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ดังนี้
1. เป็นการวิจัยที่มี สมมติคติในแง่ของธรรมชาติที่เป็นจริง (ontological) ที่เน้นความจริงแบบวัตถุวิสัย (objective) เป็น “ความเป็นจริงแบบสัจนิยมสามัญ” (naïve realism) คือความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียว มีลักษณะเห็นกฎ (natural laws) เป็นความจริงเชิงเหตุผล (cause — effect laws) คือกฎที่ว่าเหตุมาก่อนผล เป็นกลไก (mechanism) และเป็นความจริงที่แยกออกจากนักวิจัย
2. เป็นการวิจัยที่มี สมมติในแง่ของญานวิทยา (epistemological) แบบแยกความจริงกับผู้ศึกษาโดยเน้นความจริงแบบวัตถุวิสัย (dualist and objectivist) คือการได้องค์ความรู้ที่เป็นอิสระจากนักวิจัย นักวิจัยและเรื่องที่วิจัยไม่มีอิทธิพลต่อกัน เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกัน (independence) เพื่อให้ได้ความรู้ที่เป็น “ความจริง” (true) จึงเป็นการศึกษาอย่างปลอดอคติหรือค่านิยมจากผู้วิจัย (value free)
3. เป็นการวิจัยที่มี สมมติคติในแง่ของระเบียบวิธีการ (methodological) ใช้เทคนิคการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณเป็นตัวเลข มุ่งเก็บข้อมูลด้วย “แบบสอบถาม” จาก “กลุ่มตัวอย่าง” เพื่อสร้างข้อสรุปทั่วไป (generalization) สำหรับการอ้างอิงถึงประชากร (population) เป็นการแสวงหาความจริงตามหลักนิรนัยที่มีการทดสอบสมมติฐาน (สุรพงษ์ โสธนะเสถียร, 2555, น.47 ; Guba & Lincoln as cited in Denzin & Lincoln, 1994, p.105–117) ทั้งนี้ในปัจจุบันยุคหลังสถานการณ์โควิด — 19 ที่ผู้คนคุ้นเคยกับการทำการใด ๆ ทางโทรศัพท์ นักวิจัยจึงสามารถใช้ Google Form หรือ Microsoft Form และเก็บข้อมูลด้วยโทรศัพท์โดยไม่จำเป็นต้องพิมพ์เป็นแบบสอบถามที่เป็นกระดาษเสมอไป
ตัวอย่างการวิเคราะห์การวิจัยเชิงปริมาณกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเรื่อง “การยินยอมให้มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยินยอมให้มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงาน” (ระพีพรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์, 2540) เป็นการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ มุ่งศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่างเพื่ออ้างอิงถึงประชากร ตามหลักนิรนัย โดยมีการทดสอบสมมติฐานทั้งหมด 13 ประเด็น ในลักษณะความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยมีเหตุที่นำมาทดสอบ 13 ตัวแปร และมีผลที่นำมาทดสอบ 1 ตัวแปร ผลการศึกษาพบว่ายอมรับ 10 สมมติฐาน โดยอันดับแรก ได้แก่ การยินยอมให้มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานของเพื่อนสนิท และสมมติฐานอีก 9 สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับ ส่วนสมมติฐานที่ปฏิเสธมี 3 สมมติฐาน การวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาหา “ความจริง” ที่มีหนึ่งเดียวและเป็นวัตถุวิสัย โดยนักวิจัยปราศจากอคติและค่านิยมกับเรื่องราวที่กำลังศึกษา มีการใช้ “แบบสอบถาม” เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากกลุ่มตัวอย่าง 688 คน ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างจากประชากรเพื่อสร้างข้อสรุปทั่วไป ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอเป็นตารางและรายงานสรุปผลการวิจัย
อ้างอิง
พิชิต ฤทธิ์จรูญ, ผศ. ดร. . (2554). ระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : เฮ้าส์ ออฟ เคอร์มิสท์.
ระพีพรรณ ภู่ผกาพันธ์พงษ์. (2540) การยินยอมให้มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงาน (Premarital Sexual Pernissiveness) และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยินยอมให้มีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงาน. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต. สาขาสังคมวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สุรพงษ์ โสธนะเสถียร. (2555). หลักและทฤษฎีการวิจัยทางสังคมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ระเบียงทอง.
Guba, E.G. and Lincoln, Y.S. (1994) Competing Paradigms in Qualitative Research. In: Denzin, N.K. and Lincoln, Y.S., Eds., Handbook of Qualitative Research, Sage Publications, Inc., Thousand Oaks,105–117.