รู้ไว้….ใช่ว่า การดำเนินชีวิตในยุคการระบาดของไวรัส COVID-19

Patsarawadee Paojinda
2 min readAug 18, 2022

--

อาจารย์ ดร.ภัสราวดี เผ่าจินดา สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา #BSRU

การระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มีจุดเริ่มต้นจากตลาดค้าส่งอาหารทะเลหูนาน เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีนในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2019 และมีการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ถึงแม้ประเทศจีนจะมีมาตราการ การสั่งปิดตลาดแล้ว แต่ส่งผลให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 นี้ว่าได้เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น

การระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย เสมือนเป็นการต้อนรับเทศกาลปีใหม่ในปี 2020 ด้วยความหายนะจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ความเสียหายจากการระบาดในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกสูญเสียทรัพยากรต่างๆ ไปอย่างมากมาย และลดความมั่นคงเกือบในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆของโลก

การระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มระบาดมาตั้งแต่ 13 มกราคม 2020
กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยได้รายงานว่าพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายแรกนอกประเทศจีน ซึ่งเป็นคนจีนที่เดินทางมาจาก เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จนกระทั่งวันที่ 31 มกราคม 2020 ได้มีการรายงานว่าพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากการแพร่เชื้อในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

Novel Coronavirus 2019 หรือ nCoV-2019 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Severe acute respiratory syndrome coronavirus2 (SARS-CoV-2) ทั่วไปจะรู้จักในนามของ “COVID-19” ซึ่ง
COVID-19 เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับ โรค SARS ที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วเคยมีการระบาดทั่วโลก และยังจัดว่าเป็นไวรัสที่อยู่ในวงศ์ใหญ่ที่สุดในบรรดาไวรัสที่พบทั้งในสัตว์และในคน

Coronavirus เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาที่มีอาการแสดงไม่รุนแรงมากจนถึงโรคที่มีอาการความเจ็บป่วยที่แสดงออกมารุนแรงจนทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีอาการเหมือนหรือคล้ายกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสอื่นในระบบทางเดินหายใจ แสดงอาการได้ตั้งแต่ในระดับที่รุนแรงน้อย อาการโดยทั่วไปที่พบคือ มีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย ส่วนอาการที่พบไม่ค่อยบ่อย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 คืออาการปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บคอ ท้องเสีย ตาแดง ปวดศีรษะ สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส มีผื่นขึ้นบริเวณบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าจะมีการเปลี่ยนสี และถ้าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 มีอาการที่รุนแรงมากจะมีลักษณะการหายใจที่ลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอก
แน่นหน้าอก และสูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นและรับรู้รส สุดท้ายอาจรุนแรงถึงการเสียชีวิตได้

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยรอบแรกเป็นเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์อุ่ฮั่น ส่วนการระบาดในระลอก 2 และการระบาดปัจจุบันระลอก 3 เป็นสายพันธุ์จีเอช และสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ตามลำดับ ปัจจุบันยังพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่มาจากประเทศอินเดียเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยพบว่าการติดต่อของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) นั้นมีการแพร่ได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆที่ระบาดมาก่อนหน้านี้ ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เบตาที่มาจากแอฟริกาใต้ เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง แต่ยังคงมีการแพร่กระจายช้ากว่าสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันยังพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นในทุกวัน

แนวทางการดำเนินชีวิตในยุคของการระบาดไวรัส COVID-19

เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจ ให้ประชาชนทุกคนตระหนักแต่ไม่ตระหนก ผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม ครอบครัว สถานที่ทำงานต้องมีการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีต (New Normal) เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างน้อย 1–2 เมตร

สมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงานควรแยกกันรับประทานอาหาร ไม่นั่งรวมกัน มีการใช้ช้อนกลาง ช้อนส่วนตัวของตัวเอง สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะที่มีการพูดคุยกัน หรือขณะโดยสารในยานพาหนะเดียวกัน

ปัจจุบันอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามีการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้มีการแพร่ระบาดที่มีอัตราที่เร็วมาก การสวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น (Double masking) เป็นอีกหนึ่งวิธีของการป้องกันตนเองให้ห่างจากเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการใส่หน้ากาก 2 ชั้นจะสามารถจะป้องกันไวรัส COVID-19 ได้มากขึ้น
แต่การใส่หน้ากาก 2 ชั้นต้องปฏิบัติให้ถูกวิธี นั่นคือหน้ากากด้านในต้องเป็นหน้ากากอนามัย (Surgical mask) และหน้ากากด้านนอกต้องเป็นหน้ากากผ้า (Cloth mask) เท่านั้น (รูปที่ 2) การใส่หน้ากากในลักษณะนี้จะช่วยในการป้องกันการรั่วของอากาศจากข้างในออกด้านนอก และทำให้หน้ากากแนบชิดกับใบหน้าได้มากขึ้น จากการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคของอเมริกา (US Center of Disease Control หรือ CDC) พบว่า การปฏิบัติตามแนว Double masking สามารถลดการสัมผัสของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ถึงร้อยละ 95 อีกทั้งยังควรล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส COVID-19 และควรได้รับวัคซีนเพื่อลดอาการของโรคลงเมื่อติดเชื้อไวรัส COVID-19

รูปที่ 1 การสวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น (Double masking)

หมายเหตุ. จาก https://www.tisco.co.th/th/advisory/how-to-double-mask.html

เอกสารอ้างอิง

การสวมใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น (Double masking). (2021). Retrieved from

https://www.tisco.co.th/th/advisory/how-to-double-mask.html

ฉัตรชัย เครือเสนา. (2563). เราจะใช้ชีวิตอย่างไรในยุค COVID-19. วารสารวิทยาศาสตร์, 74(1), 48.

พักต์เพ็ญ สิริคุตต์. (2563). สถานการณ์ของโรค และแนวทางปฏิบัติของโรค 2019 Novel Coronavirus

Disease (COVID-19). สืบค้น 6 สิงหาคม 2021, จาก https://pidst.or.th/A858.html

สถานการณ์การระบาดไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน — 5 สิงหาคม 2021.

(2021). Retrieved from https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-

no580–050864.pdf

World Health Organization. (2021). Weekly operational update on COVID-19–4 August 2021.

สืบค้น 6 สิงหาคม 2021, Retrieved from https://www.who.int/publications/m/item/weekly-

operational-update-on-covid-19 — -4-august-2021

--

--