Coronavirus: The Hammer and the Dance

Peeti Jaritskul
8 min readMar 25, 2020

--

อีก 18 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หากผู้นำประเทศเลือกการซื้อเวลา

ต้นฉบับจาก Tomas Pueyo เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563

บทความนี้เขียนต่อจากบทความ ไวรัสโคโรนา: ทำไมคุณต้องดำเนินการเดี๋ยวนี้ (coronavirus: Why you must act now) ซึ่งมียอดดูมากกว่า 40 ล้านครั้ง และแปลมากกว่า 30 ภาษา หากคุณเห็นด้วยกับบทความนี้ ช่วยลงนามเห็นด้วยกับความคิดนี้ส่งไปยังทำเนียบขาว ซึ่งมีการแปลถึง 27 ภาษา ที่ด้านล่าง คุณสามารถลงนามรับรองได้ที่นี่ ซึ่งตอนนี้มีคนดูถึง 5 ล้านครั้ง

บทสรุป : ทุกวันนี้วิธีการจัดการไวรัสโคโรนา (coronavirus) อย่างเข้มงวด ควรใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ หลังจากนั้นการติดเชื้อไม่ควรพุ่งขึ้นสูงมาก และเราดำเนินการได้โดยเสียค่าใช้จ่ายได้อย่างสมเหตุสมผล โดยที่ยังรักษาชีวิตประชาชนหลายล้านคนไปด้วยกัน หากเราไม่ใช้วิธีการนี้ ผู้คน 10 ล้านคน จะติดเชื้อ มีคนตายเป็นจำนวนมาก ร่วมกับมีคนอื่นๆที่จำเป็นต้องเข้าหอผู้ป่วยหนัก (intensive care) อีกมาก เนื่องจากระบบสุขภาพได้ล่มสลายไปแล้ว

ภายในหนึ่งสัปดาห์ ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องเริ่มจากประโยคที่ว่า “เจ้าโคโรนาไวรัสเนี่ย มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนักหรอก” ไปจนถึงต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินออกมา ซึ่งหลายประเทศก็ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะครับ ?

ทุกประเทศได้ตั้งคำถามเดียวกันหมดคือ เราจะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้อย่างไร ? ซึ่งคำตอบก็ยังไม่ชัดเจนนักสำหรับพวกเค้า

บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน หรือฟิลิปปินส์ ได้ประกาศปิดเมือง (lockdown) ขณะที่อเมริกา อังกฤษ หรือสวิสเซอร์แลนด์ ยังคงย่ำอยู่กับที่ ลังเลที่จะเสี่ยงประกาศใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)

ในบทความที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ ประกอบด้วยกราฟเป็นจำนวนมาก ข้อมูล และแบบจำลองจากหลายแหล่งข้อมูลว่า

1. สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร
2. เรามีทางเลือกอะไรบ้าง
3. สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือเวลา
4. ยุทธวิธีจัดการโคโรนาที่ดีคืออะไร
5. เราจะคิดถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร

เมื่อคุณได้อ่านบทความนี้จบแล้ว นี่คือสิ่งที่คุณจะต้องทราบ

ระบบสุขภาพกำลังล่มสลาย

ประเทศเหล่านี้มีสองทางเลือก คือ จะต่อสู้กับมันอย่างจริงจังหรือจะทุกข์ทรมานกับการระบาดครั้งใหญ่
หากประเทศเหล่านี้เลือกให้มีการระบาด ผู้คนเป็นร้อยเป็นพันคนจะตาย ในบางประเทศอาจถึงล้านคน
และนั่นยังไม่สามารถกำจัดคลื่นลูกที่สองของการติดเชื้อได้
หากเราต่อสู้อย่างจริงจังในตอนนี้ เราจะจำกัดการตายได้
เราจะเตรียมการได้ดีขึ้น
เราจะได้เรียนรู้
โลกไม่เคยเรียนรู้อะไรได้เร็ว
และเราจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเรารู้เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้น้อยมาก
ทั้งหมดนี้ จะประสบผลสำเร็จด้วยการซื้อเวลา

หากเราเลือกที่จะสู้อย่างจริงจัง การต่อสู้นี้จะจบอย่างรวดเร็วและค่อยๆคงที่
เราจะขังตัวเองอยู่เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ ไม่ใช่เป็นเดือน
แล้วเราจะได้อิสรภาพกลับคืนมา
มันอาจไม่ได้กลับมาเป็นปกติในทันที
แต่จะใกล้เคียง และสุดท้ายจะกลับมาเป็นปกติ
และเราสามารถทำได้โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจที่เหลืออยู่ได้เช่นกัน

งั้นเรามาเริ่มกันเลยครับ

1. สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมแสดงกราฟนี้

กราฟนี้แสดงถึงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วทั้งโลก ยกเว้นประเทศจีน จากกราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วทั้งโลกยกเว้นจีน ซึ่งเราจะเห็นแค่อิตาลี อิหร่าน และเกาหลีใต้ ดังนั้นผมจึงต้องขยายไปยังมุมขวาล่างของกราฟเพื่อดูประเทศติดเชื้ออื่นๆ ซึ่งประเด็นทั้งหมดของผมคือประเทศเหล่านี้จะมาเชื่อมโยงกับอีก 3 ประเทศ ดังที่จะกล่าวต่อไป

เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

ตามที่คาดการณ์ไว้ จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในหลายประเทศ ในที่นี้ ผมจำเป็นต้องแสดงเฉพาะประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน ซึ่งมันมีข้อสังเกตดังนี้ครับ

  • สเปน เยอรมัน ฝรั่งเศส และอเมริกา มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าอิตาลี หลังมีคำสั่งปิดเมือง (lockdown)
  • อีก 16 ประเทศ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ามณฑลหูเป่ยในจีน หลังมีการปิดเมืองได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย แคนาดา โปรตุเกส ออสเตรเลีย เชโกสโลวาเกีย บราซิล และกาตาร์ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ามณฑลหูเป่ยแต่น้อยกว่า 1,000 คน ขณะที่ สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่ามณฑลหูเป่ย 1,000 คน

คุณสังเกตเห็นความแปลกประหลาดในรายชื่อประเทศที่มีการติดเชื้อหรือไม่ครับ หากไม่นับจีน อิหร่าน มาเลเซีย และบราซิล ประเทศส่วนใหญ่ที่มีการระบาดของเชื้อเป็นจำนวนมาก มักเป็นประเทศที่มีความั่งคั่งทางการเงิน

คุณคิดว่าเป้าหมายของไวรัสคือประเทศที่ร่ำรวยหรือไม่? หรือประเทศที่ร่ำรวยสามารถตรวจพบไวรัสได้ดีกว่าหรือเปล่า?

ไม่ใช่ว่าประเทศที่ยากจนกว่าไม่ค่อยเจอเชื้อ ซึ่งสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นอาจช่วยได้บ้าง แต่มันก็ไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ มิเช่นนั้นสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือบราซิล ก็คงไม่มีการระบาดของโรค

สิ่งที่น่าจะแปลผลได้ดีที่สุดคือไวรัสโคโรนาใช้เวลานานกว่าจะไปถึงประเทศเหล่านี้ เพราะประเทศเหล่านี้มีการเดินทางน้อยกว่า หรือเชื้ออาจไปอยู่ในประเทศเหล่านี้แล้วก็ได้ แต่ไม่มีการทดสอบหาเชื้อมากเพียงพอ

ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม ถ้าสิ่งนี้เป็นจริง มันหมายความว่าประเทศส่วนใหญ่ไม่สามารถหนีจากไวรัสโคโรนาได้ มันขึ้นกับเวลาว่าประเทศเหล่านี้จะพบการระบาดเมื่อไรและดำเนินมาตรการจัดการอย่างไร

แล้ววิธีการอะไรล่ะ ที่แต่ละประเทศเลือกใช้ ?

2. ทางเลือกของเราคืออะไร ?

หลังจากเขียนบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถานการณ์เปลี่ยนไปและหลายประเทศเริ่มมีการใช้มาตรการต่างๆแล้ว ต่อไปนี้นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ตัวอย่างเช่น

วิธีการในสเปนและฝรั่งเศส

หนึ่งในประเทศที่ชัดเจนที่สุดคือสเปนและฝรั่งเศส นี่คือเส้นเวลาของวิธีการในสเปน

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม ประธานาธิบดีไม่สนใจคำแนะนำว่ารัฐบาลสเปนกำลังประเมินภัยคุกคามทางสุขภาพนี้ต่ำเกินไป
วันศุกร์ พวกเค้าประกาศภาวะฉุกเฉิน
วันเสาร์ เริ่มมาตรการ

  • ประชาชนห้ามออกจากบ้านยกเว้นเหตุผลสำคัญ คือ ซื้ออาหาร ไปทำงาน ซื้อยา ไปโรงพยาบาล ไปธนาคาร หรือบริษัทประกัน (เข้มงวดอย่างมาก)
  • ห้ามพาเด็กๆเดินเล่น ไปพบเพื่อนหรือครอบครัว (ยกเว้นกรณีดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ต้องรักษาความสะอาดและเว้นระยะห่างทางกายภาพ)
  • ปิดร้านอาหารและบาร์ทุกที่ ให้มีแค่การซื้อกลับบ้านเท่านั้น
  • ปิดสถานบันเทิง เช่น สนามกีฬา โรงภาพยนต์ พิพิธภัณฑ์ งานเฉลิมฉลองต่างๆ…
  • ห้ามมีแขกเหรื่อในงานแต่งงาน ห้ามมีคนมากเกินความจำเป็นในงานศพ
  • ระบบขนส่งขนาดใหญ่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่

วันจันทร์ ปิดพรมแดน

บางคนคิดว่ามาตรการเหล่านี้มันดีมาก ขณะที่บางคนไม่เห็นด้วย ความแตกต่างเหล่านี้ จะสรุปให้ในตอนท้ายของบทความครับ

เส้นเวลามาตรการของฝรั่งเศสคล้ายคลึงกัน แต่ใช้เวลามากกว่าในการดำเนินการ และตอนนี้พวกเค้าต้องเข้มงวดมากขึ้น เช่น ธุรกิจขนาดเล็กอย่างการปล่อยเช่า เก็บภาษี และอื่นๆจะถูกระงับ

มาตรการในอเมริกาและอังกฤษ

ในประเทศอเมริกา อังกฤษ หรือสวิสเซอร์แลนด์ กำลังย่ำเท้าอยู่กับที่ในการดำเนินมาตรการต่างๆ นี่คือเส้นเวลาอเมริกา

  • วันพุธที่ 11 มีนาคม งดการเดินทาง
  • วันศุกร์ ประเทศประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ยังไม่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)
  • วันจันทร์ รัฐบาลเร่งรัดให้ชุมชนหลีกเลี่ยงการเข้าร้านอาหาร บาร์ และไม่ชุมนุมมากกว่า 10 คน และยังไม่มีมาตรการบังคับให้เว้นระยะห่างทางสังคม นี่ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือ

ในหลายรัฐและเมืองต่างๆเริ่มดำเนินการและบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวดมากขึ้น

ส่วนอังกฤษก็ใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกัน คือส่วนใหญ่เป็นการขอความร่วมมือแต่ไม่ค่อยได้บังคับ

สองกลุ่มประเทศที่กล่าวมานี้มีวิธีการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในการสู้กับโคโรนาไวรัส คือหน่วงโรค (mitigation) และระงับโรค (suppression) เรามาทำความเข้าใจกันครับว่ามันหมายความว่าอะไร

ทางเลือกที่ 1 : ไม่ทำอะไรเลย

ก่อนที่เราจะทำเช่นนั้น เรามาดูว่าการไม่ทำอะไรเลยจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศอเมริกา

หากเราไม่ทำอะไรเลย คือปล่อยให้ทุกคนติดเชื้อ ระบบสุขภาพจะล้น การตายจะพุ่งขึ้น และประชากรประมาณ 10 ล้านคนจะตาย (แถบสีฟ้า) หาก 75% ของประชากรอเมริกาติดเชื้อและ 4% ตาย นั่นคือการตาย 10 ล้านคน หรือประมาณ 25 เท่าของการตายของประชากรอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2

คุณอาจจะคิดว่า “มันก็ฟังดูเยอะ แต่ชั้นเคยได้ยินว่ามันน้อยกว่านี้มากนะ!”

แล้วประเด็นมันคืออะไรล่ะครับ? ด้วยตัวเลขเหล่านี้ มันง่ายที่จะทำให้สับสน แต่มันมีเพียงแค่ 2 ตัวเลขเท่านั้นที่สำคัญ คือผู้คนส่วนนึงจะติดเชื้อไวรัส ล้มป่วย และตายในที่สุด หากคนแค่ 25% ล้มป่วย (เพราะคนอื่นที่มีเชื้อไวรัสแต่ไม่มีอาการจะไม่ได้นับเป็นผู้ติดเชื้อ) และอัตราการตายเท่ากับ 0.6% แทนที่จะเป็น 4% เราก็จะจบที่มีคนในตายในอเมริกา 500,000 คน

หากเราไม่ทำอะไรเลย จำนวนคนตายจากไวรัสโคโรนาจะเกิดขึ้นระหว่างสองตัวเลขนี้ ช่องว่างที่ต่างกันนี้ส่วนใหญ่ขึ้นกับอัตราการตาย ดังนั้นการทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญว่าอะไรเป็นสาเหตุการตายจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ?

เราจะคิดอัตราการตายอย่างไร ?
นี่เป็นกราฟเดิมกับก่อนหน้านี้ แต่เราจะมาดูการนอนเตียงในโรงพยาบาลแทนที่การติดเชื้อและการตาย

พื้นที่แถบสีฟ้าจางคือจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และแถบสีฟ้าเข้มคือคนที่ต้องเข้าหอผู้ป่วยหนัก (ICU) คุณจะพบว่าตัวเลขพุ่งสูงขึ้นถึง 3 ล้านคน

เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเตียงของหอผู้ป่วยหนักที่มีในอเมริกา (50,000 เตียงในปัจจุบัน เราสามารถเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าโดยอาศัยการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางแห่ง) นั่นคือเส้นประสีแดง !!!

ไม่ครับ กราฟไม่ได้ผิดพลาด

เส้นประสีแดงคือขีดความสามารถของเตียงหอผู้ป่วยหนัก ทุกคนที่อยู่เหนือเส้นนี้ อยู่ในภาวะวิกฤตและไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้ และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิต

นอกเหนือจำนวนเตียงหอผู้ป่วยหนักแล้ว คุณสามารถดูที่จำนวนเครื่องช่วยหายใจก็ได้ แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน เนื่องจากมีเครื่องช่วยหายใจน้อยกว่า 100,000 เครื่อง ในอเมริกา

นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้คนในมณฑลหูเป่ยถึงตาย และกำลังตายอย่างที่พบในอิตาลีและอิหร่าน สุดท้ายอัตราการตายในมณฑลหูเป่ยกลับดีกว่าในอดีต เนื่องจากพวกเค้าสร้าง 2 โรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ ในอิตาลีและอิหร่านก็ไม่สามารถทำได้แบบนั้น ซึ่งหากมีก็มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ทำได้ เราจะพบว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเหล่านั้น

ดังนั้น ทำไมอัตราการตายถึงใกล้เคียง 4%

หาก 5% ของผู้ติดเชื้อต้องการเข้าหอผู้ป่วยหนัก และเราไม่สามารถจัดเตรียมให้ได้ ผู้คนเหล่านี้จะตาย ซึ่งมันก็ง่ายดายเช่นนั้นเลย

นอกจากนี้ ข้อมูลเมื่อไม่นานนี้ได้แสดงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในอเมริกาจะเลวร้ายกว่าในจีน

ผมหวังว่านี่คือทั้งหมดแล้ว แต่มันยังไม่ใช่ครับ

ความเสียหายร่วม (Collateral Damage)

จำนวนตัวเลขเหล่านี้แสดงเพียงแค่การตายของประชากรจากไวรัสโคโรนา แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากระบบสุขภาพล่มสลายจากผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา? คนอื่นๆจะตายจากการเจ็บป่วย

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณหัวใจวายแต่รถฉุกเฉินใช้เวลา 50 นาที ในการมา แทนที่จะใช้เวลา 8 นาที (เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามากเกินไป) และเมื่อคุณไปถึงโรงพยาบาล มันไม่มีหอผู้ป่วยหนักและแพทย์ก็ไม่ว่าง คุณก็จะตาย

มีการนอนเตียงหอผู้ป่วยหนักในอเมริกา 4 ล้านคนต่อปี และ 500,000 คน (ประมาณ 13%) จะตาย แต่ถ้าไม่มีเตียงหอผู้ป่วยหนัก ส่วนแบ่งจำนวนจะใกล้เคียง 80% ถึงแม้ว่าจะมีเพียง 50% ตาย ในช่วงที่มีการระบาดระยะยาว แต่ตัวเลขจะเพิ่มจาก 500,000 คนเป็น 2 ล้านคน ซึ่งเพิ่มการตายมากถึง 1.5 ล้านคน เนื่องจากความเสียหายร่วมนี้

หากไวรัสโคโรนายังคงมีการแพร่กระจายออกไป ระบบสุขภาพของอเมริกาจะล่มสลาย และจะมีการตายเป็นล้านคน หรืออาจมากกว่า 10 ล้านคน

ความคิดเดียวกันนี้เป็นจริงสำหรับประเทศส่วนใหญ่เช่นกัน ซึ่งจำนวนเตียงหอผู้ป่วยหนัก เครื่องช่วยหายใจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมักจะคล้ายกับอเมริกา หรือน้อยกว่าในหลายประเทศ

ความล้มเหลวในการควบคุมไวรัสโคโรนา หมายความว่าระบบสุขภาพจะล่มสลาย และนั่นหมายถึงการตายอย่างมหาศาล

จนถึงตอนนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราควรดำเนินการ 2 ทางเลือก ที่เรามีคือการหน่วงโรค (mitigation) และการระงับโรค (suppression) ทั้งสองทางเลือกนี้ทำให้ “กดกราฟลงให้แบนราบ” (flatten the curve) แต่การดำเนินการนั้นต่างกันมาก

ทางเลือก 2: ยุทธวิธีหน่วงโรค (Mitigation strategy)

การหน่วงโรคดำเนินการโดยแนวคิดที่ว่า “มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะป้องกันไวรัสโคโรนาในตอนนี้ เพราะฉะนั้นเราควรปล่อยให้มันดำเนินต่อไป พร้อมกับลดการพุ่งขึ้นของการติดเชื้อ เรามากดกราฟลงกันสักหน่อยเพื่อให้จัดการระบบสุขภาพได้มากขึ้น”

กราฟนี้ปรากฏขึ้นในหลายงานวิจัยที่สำคัญในช่วงหลายสัปดาห์มานี้จากมหาวิทยาอิมพีเรียล ซึ่งชัดเจนว่ากราฟนี้ทำให้รัฐบาลอเมริกาและอังกฤษเปลี่ยนแผน

กราฟนี้คล้ายคลึงอย่างมากกับกราฟก่อนหน้านี้ ไม่เหมือนสักทีเดียวแต่แนวคิดเหมือนกัน ในกราฟนี้ “การไม่ทำอะไรเลย” คือเส้นสีดำ ในแต่ละเส้นกราฟแสดงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากเราดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นและมากขึ้นสำหรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เส้นน้ำเงินแสดงวิธีการที่เด็ดขาดมากที่สุดสำหรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม นั่นคือ แยกผู้ป่วยติดเชื้อ กักตัวคนที่อาจติดเชื้อ และแยกผู้สูงอายุออกมา เส้นสีน้ำเงินนี้เป็นยุทธวิธีหลักของอังกฤษในการรับมือกับไวรัสโคโรนา จนถึงตอนนี้พวกเค้าก็ยังขอความร่วมมือแต่ไม่บังคับ

ส่วนเส้นสีแดงคือขีดความสามารถของหอผู้ป่วยหนักในตอนนี้ของอังกฤษ และเช่นเดียวกันเส้นนี้อยู่เกือบจะล่างสุดของกราฟ ทุกพื้นที่ของกราฟที่อยู่เหนือเส้นแดงแสดงถึงจำนวนผู้ป่วยไวรัสโคโรนาซึ่งอาจจะเสียชีวิต เนื่องจากขาดจำนวนหอผู้ป่วยหนัก

ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างการกดกราฟให้แบนราบ (flatten the curve) จำนวนเตียงหอผู้ป่วยหนักจะล้นเป็นเดือน ทำให้เกิดความเสียหายร่วม (collateral damage)

คุณอาจจะช๊อค เมื่อคุณได้ยินว่า “เรากำลังจะใช้วิธีการหน่วงโรค” ซึ่งสิ่งที่พวกเค้ากำลังจะบอกคือ “เรารู้อยู่แล้วว่าระบบสุขภาพจะล่มสลาย ทำให้อัตราการตายสูงขึ้นด้วยจำนวนอย่างน้อย 10 เท่า”

คุณอาจจะจินตนาการว่านี่มันแย่มากพอแล้ว แต่เรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญของยุทธวิธีนี้เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” (Herd immunity)

Herd immunity และการกลายพันธุ์ของไวรัส

ความคิดนี้คือ ประชากรที่ติดเชื้อสามารถหายเองได้และสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส สิ่งที่เป็นแก่นของยุทธศาสตร์คือ “เอ้าดูนะ ผมรู้ว่ามันจะผ่านไปแบบยากลำบากหน่อย แต่เมื่อมันเสร็จแล้ว และมีคนจำนวนคนไม่กี่ล้านคนที่ตาย แต่คนที่เหลืออยู่ของเราจะมีภูมิคุ้มกัน เพราะฉะนั้นไวรัสจะหยุดแพร่กระจาย แล้วเราจะบอกลากับเจ้าไวรัสโคโรนานี่ เราควรทำเดี๋ยวนี้และทำให้เสร็จสักที เพราะทางเลือกอื่นของเราคือ social distancing ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปี และเสี่ยงที่กราฟจะพุ่งขึ้นอีกในภายหลังนะ”

ความเชื่อนี้คาดการณ์ไว้สิ่งหนึ่งคือ เชื้อไวรัสไม่เปลี่ยนแปลงมากนักหรอก และถ้ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก คนจำนวนมากก็จะมีภูมิคุ้มกัน และถึงตอนนั้นการระบาดก็จะลดลงในที่สุด

แล้วไวรัสมีแนวโน้มจะกลายพันธุ์อย่างไรล่ะ ?
ซึ่งดูเหมือนมันจะกลายพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว

กราฟนี้แสดงถึงการกลายพันธุ์ที่ต่างกันของไวรัส คุณจะพบว่าสายพันธุ์เริ่มต้นเป็นสีม่วงในประเทศจีนแล้วมีการแพร่กระจายออกไป แต่ละครั้งที่พบการแตกสาขาของกราฟ การกลายพันธุ์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทีละน้อยของสายพันธุ์ไวรัส

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากไวรัส RNA อย่างไวรัสโคโรนาหรือไข้หวัดจะมีแนวโน้มกลายพันธุ์เร็วกว่า 100 เท่าเมื่อเทียบไวรัส DNA ถึงแม้ว่าโคโรนาไวรัสจะกลายพันธุ์อย่างช้าๆมากกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดทุกปี เนื่องจากมีสายพันธุ์ไข้หวัดเป็นจำนวนมาก ร่วมกับเชื้อใหม่มีวิวัฒนาการ ทำให้วัคซีนไข้หวัดไม่เคยสามารถป้องกันไวรัสได้ทุกสายพันธุ์

ในอีกทางหนึ่ง การหน่วงโรคไม่เพียงแต่จะทำให้คนตายหลายล้านคนในอเมริกาหรืออังกฤษ แต่ยังหมกมุ่นอยู่กับความเชื่อที่ว่าไวรัสจะไม่กลายพันธุ์มากนัก ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่ามันกลายพันธุ์ และพวกเค้าจะให้โอกาสมันกลายพันธุ์ เมื่อมีคนไม่กี่ล้านคนตาย เราก็ต้องเตรียมตัวสำหรับล้านคนต่อไป ในทุกปี เชื้อไวรัสโคโรนานี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เหมือนไข้หวัด แต่หลายครั้งมันมักจะกลับมาแบบร้ายแรงกว่า

วิธีการกลายพันธุ์ที่ดีที่สุดของไวรัสคือหาโอกาสในล้านครั้งเพื่อกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุทธวิธีหน่วงโรคกำลังทำอยู่

ดังนั้น หากการไม่ทำอะไรเลยและการหน่วงโรคมันไม่ได้ผล ทางเลือกอื่นคืออะไร? ทางเลือกนี้เรียกว่าการระงับโรค (suppression)

ทางเลือก 3: ยุทธวิธีระงับโรค (Suppression strategy)

ยุทธวิธีระงับโรคไม่ได้เป็นการกักการระบาดไว้ แต่เป็นการกดกราฟลงให้แบนราบ (flatten the curve) ขณะที่ยุทธวิธีระงับโรคพยายามใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะ

  • ต้องจริงจัง ณ ตอนนี้ ้โดยออกคำสั่งเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) อย่างเข้มงวด เพื่อให้การระบวดควบคุมได้
  • จากนั้นออกมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้ผู้คนค่อยๆกลับมาดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระ หาวิธีการทำให้ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ

มันมีลักษณะอย่างไร ?

ภายใต้ยุทธวิธีการระงับโรค หลังคลื่นลูกแรกจบแล้ว การตายจะอยู่ที่จำนวนพันคนไม่ใช่ล้านคน

สงสัยมั้ยครับว่าทำไม ? เพราะไม่เพียงแค่เราตัดการพุ่งขึ้นแบบ exponential ของจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่เรายังตัดอัตราการตาย เนื่องจากระบบสุขภาพไม่ล้นจนเกินไป สำหรับวิธีนี้ ผมใช้อัตราการตายที่ 0.9% ใกล้กับที่พบในเกาหลีใต้วันนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเมื่อใช้ยุทธศาสตร์ระงับโรค

พูดได้ว่า มันฟังดูเหมือนไม่ต้องคิดเลยว่าทุกคนควรใช้ยุทธศาสตร์ระงับโรค

แต่ทำไมรัฐบาลหลายประเทศลังเล ?

พวกเค้ากลัวสามอย่าง คือ

1. การปิดเมือง (lockdown) ครั้งแรกจะคงอยู่หลายเดือน ซึ่งหลายคนยอมรับไม่ได้
2. การปิดเมืองเป็นเวลาหลายเดือนจะทำลายระบบเศรษฐกิจ
3. มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะเราเพียงแค่เลื่อนเวลาการระบาดออกไป คือหลังจากนั้น เมื่อเราปล่อยให้มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ผู้คนจะกลับมาติดเชื้อเป็นล้านคนและตาย

นี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียลสร้างแบบจำลองการระงับโรคขึ้นมา โดยเส้นเขียวและเหลืองเป็นคนละรูปแบบของวิธีการระงับโรค คุณจะพบว่ากราฟมันไม่ค่อยดีนัก คือ เราก็ยังกลับมามีกราฟพุ่งขึ้นอีกอยู่ดี แล้วเราจะกังวลไปทำไม?

เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้ในเวลาต่อมา แต่ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่านี้กล่าวถึงก่อน

กราฟนี้พลาดประเด็นสำคัญอย่างชัดเจน

ซึ่งนำเสนอว่า สองทางเลือกระหว่างการหน่วงโรคและระงับโรค แต่ละด้านดูไม่ค่อยน่าเลือกสักเท่าไร ทั้งสองทางเลือกผู้คนจะตายในที่สุด เราทำลายเศรษฐกิจตอนหลังหรือจะทำลายเศรษฐกิจตอนนี้ มันเป็นเพียงแค่เลื่อนการตายออกไป

ซึ่งแนวคิดนี้ละเลยคุณค่าของเวลาครับ

3. คุณค่าของเวลา

ก่อนหน้านี้ เรากล่าวถึงคุณค่าของเวลาในการรักษาชีวิต ทุกวันทุกชั่วโมงที่เรารอดำเนินตามมาตรการ จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นและแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราพบว่าเพียงหนึ่งวันก็สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 40% และการตายมากกว่านี้

แต่เวลาเป็นสิ่งมีค่ามากกว่านั้น

เรากำลังเผชิญกับแรงกดดันจากคลื่นลูกใหญ่ที่สุดลูกหนึ่งต่อระบบสุขภาพในประวัติศาสตร์ เรายังไม่ได้เตรียมตัวเผชิญหน้ากับศัตรูที่เราไม่รู้ ซึ่งมันเป็นสถานะที่ไม่ดีในสงคราม

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเผชิญกับศัตรูที่เลวร้ายที่สุด แต่เรารู้จักมันเพียงเล็กน้อย และเรามีสองทางเลือก คือวิ่งเข้าหามัน หรือหลบไปซื้อเวลาอีกเล็กน้อยเพื่อเตรียมตัว คุณจะเลือกทางไหน ?

นี่คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำวันนี้ โลกตื่นตัวแล้ว ทุกๆวันที่เราลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ เราจะเตรียมตัวได้ดีขึ้น ในย่อหน้าถัดไปจะเป็นรายละเอียดว่าเวลาซื้ออะไรให้เรา

การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

ด้วยยุทธวิธีการระงับโรคที่มีประสิทธิภาพ จำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงจะลดลงเพียงชั่วข้ามคืน อย่างที่เราพบในมณฑลหูเป่ยสัปดาห์ที่แล้ว

ปัจจุบัน ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากจำนวนประชากร 60 ล้านคน ในมณฑลหูเป่ย

การวินิจฉัยผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ และจะค่อยๆเริ่มลดลง เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง อัตราการตายจะลดลงเช่นกัน และความเสียหายร่วม (collateral damage) ก็ลดลงด้วย ทำให้ประชากรจะตายด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ไวรัสโคโรนาน้อยลง เพราะระบบสุขภาพไม่ล้นจนเกินไป

ยุทธวิธีระงับโรคทำให้

  • มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาน้อยลง
  • ลดภาระระบบสุขภาพทันที และลดคนที่จะมาโรงพยาบาลด้วย
  • ลดอัตราการตาย
  • ลดความเสียหายร่วม
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ติดเชื้อ ไม่ต้องแยกตัว และกักตัวทำให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งในอิตาลีมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อ 8%ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด

เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการทดสอบและติดตามหาเชื้อ

ปัจจุบัน อังกฤษและอเมริกายังไม่ทราบเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ซึ่งเราไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไร แต่เรารู้แค่เพียงว่าจำนวนที่เป็นทางการไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะมีจำนวนถึงแสนคนก็ได้ สิ่งนี้เกิดจากเราไม่ทดสอบหาเชื้อและไม่ติดตามหาเชื้อ

  • ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ เราควรออกคำสั่งให้ทดสอบหาเชื้อ และเริ่มทำทุกคน ซึ่งด้วยข้อมูลนี้ เราจะรู้ในท้ายที่สุดว่าปัญหาที่แท้จริงมีมากเพียงใด เราจะรู้ว่าต้องจริงจังมากแค่ไหน และชุมชนไหนปลอดภัยพอที่จะยกเลิกการปิดเมือง (lockdown)
  • วิธีการทดสอบหาเชื้อแบบใหม่จะช่วยเร่งเวลาการทดสอบและลดค่าใช้จ่ายลงมา
  • เราสามารถจัดตั้งหน่วยติดตามผู้ติดเชื้อ คล้ายจีนและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออก ที่พวกเค้าสามารถระบุผู้ป่วยทุกคนที่พบ และกักตัวไว้ได้ ทำให้เราสามารถใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ต่อไปได้ คือถ้าเรารู้ว่าไวรัสอยู่ไหน เราก็สามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะสถานที่นั้นได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ใหม่อะไร แต่เป็นมาตรการพื้นฐานที่ประเทศเอเชียตะวันออกควบคุมโรคระบาดโดยไม่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสัมคมอย่างเข้มงวด ซึ่งกำลังมีการใช้มากขึ้นในประเทศอื่น

วิธีการเหล่านี้ (การทดสอบและติดตามหาเชื้อ) ช่วยลดการเพิ่มขึ้นของไวรัสโคโรนาในเกาหลีใต้ และควบคุมการระบาดได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด

สร้างขีดความสามารถ

อเมริกา (และคาดว่าอังกฤษด้วย) กำลังต่อสู้กับสงครามโดยไม่ใส่ชุดเกราะ

เรามีหน้ากากสำหรับใช้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ มีชุดป้องกัน personal protective equipment (PPE) มีเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ มีเตียงหอผู้ป่วยหนักไม่เพียงพอ มี ECMOs (เครื่องให้ออกซิเจนในกระแสเลือด) ไม่เพียงพอ… นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมอัตราการตายจะสูงขึ้นด้วยยุทธวิธีหน่วงโรค

แต่ถ้าเราซื้อเวลาสักหน่อย เราสามารถเปลี่ยนเป็น

  • เรามีเวลามากขึ้นที่จะซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสำหรับคลื่นลูกที่สอง
  • เราสามารถผลิตหน้ากาก, PPE, เครื่องช่วยหายใจ, ECMOs ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเครื่องมืออื่นๆเพื่อลดอัตราการตาย

ในทางเลือกนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อหาชุดเกราะ เราใช้เวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ เราควรทำทุกสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ ประเทศก็จะเคลื่อนต่อไปได้ คนเรามีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ได้เสมอ เช่น ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติสำหรับผลิตชิ้นส่วนเครื่องช่วยหายใจ เราสามารถทำได้ แต่เราต้องการเวลา แล้วคุณจะรอไม่กี่สัปดาห์ในการหาเกราะป้องกันให้ตัวเองเพื่อสู้กับศัตรูที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตไม่ได้เชียวหรือครับ ?

สิ่งนี้ไม่เพียงแค่เป็นขีดความสามารถที่จำเป็น เรายังต้องการเจ้าหน้าที่ให้มากที่สุดด้วย แล้วเราจะไปหาได้ที่ไหนครับ ? เราจำเป็นต้องฝึกคนให้ช่วยพยาบาล และเราต้องการเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เกษียนงานไปแล้วด้วย หลายประเทศเริ่มไปแล้วแต่มันต้องใช้เวลา เราสามารถทำได้ในไม่กี่สัปดาห์ ถ้าหากทุกอย่างยังไม่ล่มสลาย

ลดการติดต่อโรคในที่สาธารณะ

ประชาชนกำลังตื่นกลัว เพราะไวรัสโคโรนาเป็นสิ่งใหม่ มีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร! คนยังไม่เรียนรู้ที่จะหยุดจับมือทักทาย พวกเค้ายังกอดกัน พวกเค้าไม่เปิดประตูด้วยข้อศอก พวกเค้าไม่ล้างมือหลังจับลูกบิดประตู พวกเค้าไม่เช็ดน้ำยาฆ่าเชื้อบนโต๊ะเก้าอี้ก่อนใช้งาน

เมื่อเรามีหน้ากากมากพอ เราก็จะสามารถนำไปใช้นอกโรงพยาบาลได้ด้วย ในตอนนี้ เราต้องเก็บหน้ากากไว้ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แต่ถ้ามันไม่ขาดแคลน ประชาชนควรใส่หน้ากากในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อได้เวลาป่วย และหากได้รับความรู้อย่างเหมาะสม คนใส่หน้ากากจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง (ตอนนี้ การใส่หน้ากากดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย)

วิธีเหล่านี้เป็นวิธีประหยัดในการลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อ ยิ่งเชื้อไวรัสลุกลามน้อยเราก็ยิ่งใช้มาตรการต่างๆน้อยลงในอนาคต แต่เราต้องการเวลาเพื่อให้ความรู้ผู้ป่วยสำหรับมาตรการต่างๆ

เข้าใจเชื้อไวรัส

เรารู้น้อยมากๆเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้ แต่ทุกสัปดาห์มีบทความใหม่หลายร้อยฉบับเกิดขึ้นตลอด

โลกรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อต่อต้านเชื้อนี้ นักวิจัยทั่วโลกกำลังทำความเข้าใจเชื้อไวรัสนี้ให้มากขึ้น

เชื้อไวรัสแพร่กระจายอย่างไร ?
การติดต่อโรคจะลดลงอย่างไร ?
พาหะในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการส่งผลอย่างไร ?
พวกเค้ายังทำให้เกิดการติดต่อโรคได้หรือไม่ ? เป็นจำนวนเท่าไร ?
การรักษาที่ดีคืออะไร ?
มันจะคงอยู่ได้นานเท่าไร ?
บนพื้นผิวอะไร ?
มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแต่ละวิธีส่งผลกระทบต่ออัตราการแพร่ระบาดอย่างไร ?
มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ?
วิธีการติดตามโรคที่ดีที่สุดคืออะไร ?
การทดสอบเชื่อถือได้แค่ไหน ?

คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามเหล่านี้จะช่วยให้จำกัดเป้าหมาย และลดความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจอื่นตามมา และคำตอบเหล่านี้จะมาภายในไม่กี่สัปดาห์ ไม่ใช่เป็นปี

ค้นหาการรักษา
ไม่เพียงเท่านี้ ถ้าเราพบการรักษาในไม่กี่สัปดาห์ถัดไป วันเวลาที่เราซื้อไปจะช่วยให้เราเข้าใกล้การรักษานั้นมากขึ้น ปัจจุบัน มีตัวเลือกนำเสนอหลายตัว เช่น ยา Favipiravir, Chloroquine หรือ Chloroquine ร่วมกับ Azithromyzin จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรารู้ภายใน 2 เดือน ว่าเราค้นพบการรักษาไวรัสโคโรนานแล้ว แล้วเราจะรู้สึกโง่แค่ไหนเมื่อมองย้อนกลับไปว่าเรามีคนตายเป็นล้านคนด้วยยุทธวิธีหน่วงโรค

เข้าใจต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ (Cost-Benefits)

ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตได้หลายล้านคนซึ่งนั่นควรเพียงพอแล้ว โชคไม่ดีที่นักการเมืองจะคิดถึงแต่ชีวิตของผู้ติดเชื้อไม่ได้ พวกเค้าต้องคำนึงประชากรทุกคน และการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดจะส่งผลกระทบนั้น

ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าแต่ละมาตรการของเว้นระยะห่างทางสังคมแตกต่างกันอย่างไรในการลดการแพร่กระจายเชื้อ เรายังไม่ทราบว่ามาตรการเหล่านี้จะเสียค่าใช้จ่ายทางสังคมและเศรษฐกิจเท่าไร

มันไม่ยากหรือครับ ที่ต้องตัดสินใจว่าวิธีการใดจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว ถ้าเราไม่รู้ค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับ ?

ภายในไม่กี่สัปดาห์ จะช่วยให้เรามีเวลามากพอที่จะเริ่มเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เข้าใจ จัดลำดับความสำคัญ และตัดสินใจว่าเราจะใช้วิธีไหน

ยิ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย เราก็ยิ่งมีเวลาเข้าใจปัญหามากขึ้น จัดตั้งกองทุน เข้าใจไวรัส เข้าใจถึงต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ (cost-benefit) สำหรับแต่ละวิธี ให้ความรู้แก่สาธารณะ… สิ่งนี้เป็นแก่นเครื่องมือที่จะสู้กับไวรัส และเราต้องการไม่กี่สัปดาห์ที่จะพัฒนาองค์ความรู้เหล่านี้ขึ้นมา มันไม่โง่ไปหน่อยหรือที่จะใช้ยุทธวิธีที่เขวี้ยงตัวเราเข้าปากศัตรูโดยที่ไม่เตรียมอะไรเลย

4. The Hammer and the Dance

ตอนนี้เรารู้แล้วว่ายุทธศาสตร์หน่วงโรค (Mitigation strategy) เป็นทางเลือกที่เลวร้าย และยุทธศาสตร์ระงับโรค (Suppression strategy) มีข้อดีอย่างมากในระยะแรก

แต่หลายคนเป็นกังวลกับยุทธศาสตร์นี้ว่า

  • วิธีนี้จะใช้เวลานานเท่าไร
  • วิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเท่าไร
  • วิธีนี้จะมีการติดเชื้อระลอกสองมากเท่ากับการไม่ทำอะไรเลยหรือไม่

ตอนนี้ เราจะมาดูว่าวิธีการการระงับโรค (Suppression strategy) ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเราเรียกว่าการทุบด้วยค้อนและเต้นประคอง (The hammer and the dance)

The Hammer

ข้อแรก เราต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเข้มงวด ตามเหตุผลที่เราได้กล่าวไปเบื้องต้น เพราะเวลามีความสำคัญ เราต้องการที่จะระงับการระบาดของโรคให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หนึ่งในคำถามที่มีความสำคัญมากที่สุดคือ เราจะใช้วิธีนี้นานเท่าไร ?

ความกลัวที่ทุกคนมี คือ เราต้องปิดประตูอยู่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสภาพจิตใจย่ำแย่ในเวลาต่อมา ซึ่งแนวคิดนี้มาจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลที่มีชื่อเสียง

คุณจำกราฟนี้ได้หรือไม่ครับ พื้นที่สีฟ้าซึ่งเริ่มจากเดือนปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนสิงหาคมเป็นเวลาที่วิจัยนี้แนะนำว่าเป็นระยะ Hammer ซึ่งจะเริ่มด้วยวิธีการปิดเมือง เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) อย่างเข้มงวด

ถ้าคุณเป็นนักการเมืองและคุณเห็นว่าทางเลือกหนึ่งคือการปล่อยให้คนเป็นแสนหรือเป็นล้านคนตายด้วยวิธีการหน่วงโรค และอีกวิธีคือการหยุดเศรษฐกิจ 5 เดือน ก่อนที่จะเกิดการพุ่งขึ้นของผู้ติดเชื้อและคนตายเป็นจำนวนเท่ากัน ก็จะทำให้วิธีนี้ดูเหมือนไม่น่าเป็นทางเลือกที่ดีสักเท่าไร

แต่สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไป วิจัยนี้ถูกนำมาใช้เป็นนโยบาย กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักว่ามีจุดบกพร่อง ผู้เขียนวิจัยไม่ได้พิจารณาถึงเรื่อง การติดต่อหาผู้ติดเชื้อ (contact tracing) (เป็นนโยบายหลักของเกาหลีใต้ จีน หรือสิงคโปร์) หรือการจำกัดการเดินทาง (เข้มงวดมากในจีน) ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบจากกลุ่มคนขนาดใหญ่

ระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้ Hammer มีเพียงแค่สัปดาห์ ไม่ใช่เป็นเดือน

กราฟนี้แสดงถึงผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในมณฑลหูเป่ย (60 ล้านคน) ตั้งแต่ 23 ม.ค. 63 ภายใน 2 สัปดาห์ ประเทศจีนเริ่มกลับมาทำงาน ภายใน ประมาณ 5 สัปดาห์ สามารถควบคุมการะระบาดได้สมบูรณ์ และภายใน 7 สัปดาห์ การวินิจฉัยพบการติดเชื้อใหม่มีเพียงเล็กน้อย ซึ่งจำได้หรือไม่ว่าจีนเคยเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์การติดเชื้อเลยร้ายที่สุด

จำไว้ว่านี่คือแถบกราฟสีส้ม ส่วนแถบสีเทาก็ดิ่งลงอย่างมากก่อนหน้านี้ (ดูกราฟที่ 9)

วิธีการที่จีนใช้ค่อนข้างคล้ายกับที่ใช้ในอิตาลี สเปน หรือฝรั่งเศส คือ แยกตัว (isolations) กักตัว (quarantines) ประชาชนต้องอยู่บ้านยกเว้นมีภาวะฉุกเฉินหรือซื้ออาหาร ติดตามผู้ป่วยติดเชื้อ (contact tracing) ทดสอบการติดเชื้อ เพิ่มจำนวนเตียงโรงพยาบาล งดการเดินทาง…

ก็ขึ้นกับรายละเอียดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม

วิธีการของจีนมีความเข้มงวดมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนถูกจำกัดให้ 1 คนต่อบ้านที่จะอนุญาตให้ออกจากบ้านทุก 3 วันเพื่อซื้ออาหาร และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ซึ่งดูเหมือนจะทำให้ความรุนแรงในการติดเชื้อหยุดได้เร็วกว่า

ในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน ไม่ได้ใช้วิธีการนี้อย่างเข้มงวด และการดำเนินมาตรการไม่มีความเข้มแข็ง ซึ่งประชาชนยังมีการเดินบนถนน หลายคนไม่ใส่หน้ากาก สิ่งนี้ทำให้ผลลัพธ์คล้ายกับการทุบด้วยค้อนอย่างช้าๆ ทำให้ใช้เวลาในการควบคุมการระบาดของโรคนานกว่า

บางคนแปลผลว่าเป็นเพราะ “ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้” ซึ่งสิ่งนั้นมันผิด

หลายสัปดาห์ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการระบาดมากที่สุดนอกเหนือจากประเทศจีน แต่ปัจจุบัน กลับสามารถควบคุมโรคได้แล้ว และเกาหลีทำได้โดยไม่ต้องขอร้องให้ประชาชนอยู่ในบ้าน เกาหลีประสบความสำเร็จได้ด้วยการทดสอบการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ติดตามผู้ติดเชื้อ และบังคับกักตัวและแยกตัว

ตารางต่อไปนี้ บอกแนวทางอย่างชัดเจนว่าแต่ละประเทศใช้มาตรการใดบ้าง และส่งผลกระทบอย่างไรตามมา (ตารางกำลังปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ยินดีรับฟังความคิดเห็นครับ)

ตารางนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศที่เตรียมการโดย ใช้อำนาจบังคับการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ให้ความรู้เรื่องการดูแลความสะอาด การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การตรวจหาโรคตั้งแต่เริ่มต้นและการแยกตัว ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก

ในทางกลับกัน ประเทศอย่างอิตาลี สเปน หรือฝรั่งเศส ไม่ได้ดำเนินมาตรการรับมืออย่างดี ทำให้ต้องใช้วิธีเอาค้อนทุบอย่างหนักหน่วงด้วยวิธีการล่างของตารางเพื่อก้าวตามการระบาดของโรค

ขณะที่อเมริกาและอังกฤษยังขาดวิธีการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอเมริกา ซึ่งก็ยังไม่ได้ดำเนินตามวิธีการของสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน เพื่อควบคุมโรค ทั้งที่มีการระบาดพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มันก็ขึ้นกับเวลา ไม่ว่าประเทศเหล่านี้จะมีการระบาดอย่างมหาศาล หรือตระหนักถึงความผิดพลาดของตัวเองเมื่อสายไปแล้วเมื่อไร ในที่สุดก็จำเป็นต้องใช้ค้อนที่หนักมากขึ้นเพื่อชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม มันมีความเป็นไปได้ครับ หากการระบาดในเกาหลีใต้สามารถควบคุมได้ในไม่กี่สัปดาห์และปราศจากการบังคับใช้การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ดังนั้น ประเทศแถบตะวันตกที่เริ่มมีการใช้มาตรการค้อนหนักทุบ ร่วมกับการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวดจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างชัดเจนภายในไม่กี่สัปดาห์เช่นกัน มันขึ้นกับระเบียบวินัย การปฏิบัติตัว และประชาชนปฏิบัติตามกฎระเบียบมากแค่ไหน

เมื่อมีการใช้ค้อนและควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ระยะที่สองคือ การเต้นประคอง (the Dance) ถึงจะเริ่มต้นขึ้น

The Dance

เมื่อคุณใช้ค้อนทุบเจ้าไวรัสโคโรนาไปแล้ว ภายในไม่กี่สัปดาห์คุณจะควบคุมมันได้ แล้วคุณจะจัดการมันได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ดังนั้น ตอนนี้เราต้องใช้ความอดทนระยะยาวในการคุมปริมาณไวรัสจนกว่าจะมีวัคซีนผลิตออกมา

กราฟนี้ทำให้คนเข้าใจผิดอย่างมากเมื่อนึกถึงระยะนี้ คือพวกเค้าคิดว่าจะต้องอยู่บ้านเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป จริงๆแล้วเราก็สามารถกลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติได้

The Dance ในประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

ประเทศอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และญี่ปุ่นสามารถคงจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างยาวนานได้อย่างไร ในกรณีของเกาหลีใต้มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลายพันคน แต่ไม่บังคับให้อยู่บ้านได้อย่างไร

วิดีโอนี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้อธิบายว่าประเทศของเธอทำอย่างไร ซึ่งมันค่อนข้างเรียบง่ายมาก คือ ทดสอบหาเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ งดการเดินทาง แยกตัวและกักตัวอย่างมีประสิทธิภาพ

บทความนี้อธิบายถึงวิธีการของประเทศสิงคโปร์

อยากเดาวิธีการมั้ยครับ? วิธีการก็เหมือนเกาหลีใต้เลย กรณีที่สิงคโปร์ ใช้วิธีให้การช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจกับคนที่ถูกกักตัว งดการเดินทาง และเลื่อนกำหนดการต่างๆออกไป

มันจะสายเกินไปหรือไม่สำหรับประเทศอื่นๆ ? คำตอบคือไม่ครับ เมื่อเราใช้ค้อนทุบ พวกเค้าจะยังมีโอกาสใหม่ โอกาสครั้งใหม่ที่จะทำตอนนี้ แต่หากยิ่งรอ ก็ยิ่งต้องใช้ค้อนที่หนักขึ้น นานขึ้น แต่ก็จะยังควบคุมการแพร่ระบาดได้

The Dance of R

ผมเรียกมันว่าช่วงเวลาหลายเดือน คือช่วงระหว่างการใช้ค้อนทุบกับรอวัคซีนหรือรอการรักษาที่มีประสิทธิภาพในช่วง the Dance เพราะมันเป็นช่วงที่บอกได้ยากว่าต้องใช้วิธีการใดเหมือนกัน บางพื้นที่จะพบการระบาดอีกครั้ง แต่บางพื้นที่อาจจะไม่ระบาดเลย ขึ้นกับจะมีเชื้อวิวัฒนาการขึ้นมากแค่ไหน เราอาจจำเป็นต้องเข้มงวดกับการใช้ social distancing มากขึ้น หรือเราอาจจะผ่อนปรนบ้างก็ได้ และนั่นคือการเต้น (The Dance) ของอัตราการระบาด (R) วิธีการเต้นประคองระหว่างการกลับมาใช้วิถีชีวิตตามปกติและเชื้อกลับมาแพร่กระจายใหม่ หรือการต่อสู้ระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพ

The Dance ทำงานอย่างไร ?

มันจะเกี่ยวข้องกับค่า R หากคุณจำได้ มันคืออัตราการระบาด ก่อนหน้านี้ประเทศที่ไม่ได้เตรียมตัวจะมีอัตราการระบาดอยู่ที่ 2 และ 3 ในระหว่างไม่กี่สัปดาห์หากมีหนึ่งคนติดเชื้อ คนนั้นจะทำให้อีก 2 และ 3 คนติดเชื้อโดยเฉลี่ย

ถ้าค่า R มากกว่า 1 การติดเชื้อจะพุ่งขึ้นแบบ exponential แต่ถ้าน้อยกว่า 1 การติดเชื้อจะน้อยลงแบบนิ่งๆ (die down)

ระหว่างที่ใช้ค้อนทุบ เป้าหมายคือเพื่อให้ R ใกล้เคียงศูนย์ รวดเร็วที่สุด เพื่อหยุดการระบาด ในอู่ฮั่น (Wuhan) มีการคำนวณว่าค่า R เริ่มต้นที่ 3.9 และหลังจากปิดเมือง (lockdown) และกักตัวโดยส่วนกลาง ค่า R เหลือเพียง 0.32

แต่เมื่อคุณเข้าสู่ระยะการเต้นประคอง (the Dance) คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นอีกต่อไป คุณเพียงแค่ทำให้ค่า R น้อยกว่า 1 ซึ่งการทำ social distancing ส่วนใหญ่ส่งผลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของผู้คนอย่างมาก ซึ่งอาจจะมีคนตกงาน สูญเสียทางธุรกิจ ปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพ…

คุณสามารถลด R ให้เท่ากับ 1 ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ครับ

กราฟนี้แสดงการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละแบบต่อเชื้อไวรัส และความสามาถในการติดต่อโรค ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ารูปร่างกราฟที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่เราใช้การรวมข้อมูลจากหลายบทความวิจัยเพื่อคาดการณ์ลักษณะของกราฟ

ในทุกวันที่ผู้คนสัมผัสกับเชื้อไวรัส คนเหล่านั้นจะมีความสามารถในการติดต่อโรค เมื่อรวมทุกๆวันที่มีการติดต่อโรคจะมีค่าเฉลี่ยการแพร่จายโรคที่ 2.5

เราเชื่อว่าการแพร่กระจายโรคได้เกิดขึ้นแล้วในขณะที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในระยะ “ไม่มีอาการ” หลังจากนั้น ขณะที่อาการมีมากขึ้น คนทั่วไปจะไปพบแพทย์ ได้รับการวินิจฉัย และสร้างการติดต่อโรคลดลง

ตัวอย่างเช่น ช่วงแรกคุณมีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ดังนั้นแล้วคุณจะปฏิบัติตัวเหมือนปกติ เมื่อคุณคุยกับผู้คน คุณจะแพร่กระจายเชื้อไวรัสออกไป เมื่อคุณจับจมูก และจับประตู คนถัดมาจะเปิดประตูและสัมผัสกับจมูก ทำให้เกิดการติดเชื้อ

ยิ่งเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกายคุณ คุณก็จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อคุณเริ่มมีอาการ คุณอาจจะค่อยๆหยุดไปทำงาน นอนบนเตียง ใส่หน้ากาก หรือเริ่มไปพบแพทย์ เมื่อมีอาการมากขึ้น คุณจะยิ่งถอยห่างตัวเองออกจากสังคม ลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

เมื่อคุณเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้ว่าคุณจะสร้างการติดต่อโรคได้มาก แต่คุณจะไม่กระจายเชื้อออกไปมากนักเนื่องจากคุณถูกแยกตัวออกมา

คุณจะพบว่านโยบายเหล่านี้ของสิงคโปร์หรือเกาหลีใต้สามารถส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาล

  • ถ้าประชาชนได้รับการทดสอบหาเชื้อเป็นจำนวนมาก ประเทศก็จะสามารถระบุคนติดเชื้อได้ก่อนมีอาการ เมื่อมีการกักตัว คนเหล่านี้จะไม่แพร่กระจายเชื้อออกไป
  • ถ้าประชาชนได้รับการฝึกสอนให้ค้นหาอาการของโรคได้ตั้งแต่ช่วงแรก ประเทศก็จะลดจำนวนวันที่เป็นสีฟ้า และการแพร่กระจายทั้งหมด
  • ถ้าประชาชนถูกแยกตัวออกมาได้เร็วที่สุดขณะที่มีอาการ การแพร่กระจายเชื้อในระยะที่เป็นสีส้มจะหายไป
  • ถ้าประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากาก ล้างมือ หรือฆ่าเชื้อบริเวณต่างๆ ประเทศก็จะลดการแพร่กระจายเชื้อตลอดระยะของการระบาด

ถ้ามาตรการเหล่านี้ล้มเหลว เราถึงจำเป็นต้องใช้วิธีเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่เข้มงวดมากขึ้น

ค่า ROI ของ Social Distancing

ถ้าวิธีการเหล่านี้ ยังทำให้ค่า R มากกว่า 1 เราจำเป็นต้องลดค่าเฉลี่ยจำนวนประชาชนที่พบปะกันในแต่ละคน

ซึ่งมันมีวิธีที่ถูกมากที่จะทำแบบนั้น เช่น งดการชุมนุมจำนวนที่แน่นอน (เช่น 50, 500 คน) หรือขอร้องให้ประชาชนทำงานที่บ้านหากสามารถทำได้

แต่บางวิธีต้องเสียค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรมมากๆขึ้นไปกว่านั้น เช่น ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ให้ทุกคนอยู่ในบ้าน หรือปิดธุรกิจ

กราฟนี้ถูกทำขึ้นเพราะมันยังไม่มีใครทำในตอนนี้ ไม่มีใครที่วิจัยเพียงพอเกี่ยวกับการรวมมาตรการเหล่านี้ในลักษณะการเปรียบเทียบ

โชคไม่ดี ที่กราฟนี้เป็นกราฟเดียวที่สำคัญที่สุดที่นักการเมืองจำเป็นต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งกราฟนี้แสดงว่าเราควรมีมาตรการอะไรในใจบ้าง

ขณะที่อยู่ในระยะ Hammer period นักการเมืองต้องลดค่า R ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ด้วยมาตรการที่ต้องอาศัยความอดทนของประชาชน ในมณฑลหูเป่ย สามารถคงค่า R ที่ 0.32 แต่เราอาจไม่จำเป็นคงค่าเท่านั้นได้ แต่อาจให้ค่า R เท่า 0.5 หรือ 0.6 ก็พอ

แต่ขณะที่ อยู่ในระยะ the Dance of the R เราอาจจะรักษาค่า R ให้ใกล้กับ 1 มากที่สุดก็ได้ โดยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่านานที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการระบาดครั้งใหม่ และลดมาตรการที่เข้มงวดลงได้

สิ่งนี้หมายความว่า ไม่ว่าผู้นำประเทศจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่พวกเค้าต้องทำคือ

  • รวบรวมมาตรการที่จะลดค่า R
  • อาศัยความรู้สึกประเมินถึงประโยชน์ที่ได้รับของมาตรการเหล่านั้น ต่อการลดค่า R
  • อาศัยความรู้สึกประเมินถึงค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ สังคม และจริยธรรม
  • จัดลำดับการใช้มาตรการตามต้นทุนและประโยชน์ที่ได้รับ (cost-benefit)
  • เลือกมาตรการที่ทำให้ค่า R ลดลงจนเข้าใกล้ 1 มากที่สุด โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ช่วงแรกผู้นำอาจจะไม่มั่นใจในค่าเหล่านี้ แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่พวกเค้าคิด และก็ต้องคิดถึงมันจริงๆ

สิ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องทำคือทำให้กระบวนการเป็นรูปร่าง พวกเค้าต้องเข้าใจว่านี่เป็นเกมตัวเลขที่เราต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุดว่าเรามีค่า R เท่าไร, ผลกระทบของทุกมาตรการต่อการลดค่า R และค่าใช้จ่ายทางเศรษฐศาสตร์และสังคม

หลังจากนั้น พวกเค้าถึงจะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลว่าควรเลือกใช้มาตรการใด

บทสรุป: เราต้องซื้อเวลา

ไวรัสโคโรนายังคงมีการแพร่ระบาดเกือบทุกที่ มี 152 ประเทศ ที่พบผู้ติดเชื้อ และเพิ่มขึ้นตามเวลา แต่อาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งมันมีวิธีชัดเจนที่เราจะคิดถึงมันได้

บางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากจากไวรัสโคโรนาอาจสงสัยว่า สิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับชั้นมั้ย ? คำตอบคือ มันอาจจะเกิดขึ้นแล้วเพียงแต่คุณยังไม่ได้สังเกต เมื่อมันเกิดขึ้นระบบสุขภาพของประเทศคุณจะเลวร้ายกว่าประเทศที่ร่ำรวยที่มีระบบสุขภาพที่แข็งแกร่ง เราต้องปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่ามาเสียใจภายหลัง ดังนั้นเราควรเริ่มลงมือทำตอนนี้

สำหรับประเทศที่ไวรัสโคโรนามาแล้ว มันมีทางเลือกที่ชัดเจนแล้ว

ว่าทางหนึ่ง บางประเทศอาจใช้วิธีหน่วงโรค (mitigation) แล้วสร้างการระบาดจำนวนมหาศาล ทำให้ระบบสุขภาพไม่เพียงพอ เกิดการตายของประชาชนเป็นล้านคน และปล่อยให้มีการกลายพันธุ์ของไวรัส แล้วหวังว่ามันจะหายไปในป่าด้วยตัวมันเอง

อีกทางหนึ่ง คือบางประเทศเลือกที่จะสู้กับโรค พวกเค้าจะปิดเมือง (lock down) โดยใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์เพื่อซื้อเวลา แล้วสร้างแผนเชิงปฏิบัติในการให้ความรู้ และควบคุมเชื้อไวรัสจนกระทั่งเรามีวัคซีน

รัฐบาลทั่วโลกตอนนี้ รวมถึงอเมริกา อังกฤษ หรือสวิสเซอร์แลนด์ ยังคงใช้วิธีหน่วงโรค

นั่นหมายความว่า พวกเค้ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้สู้ พวกเค้าเห็นประเทศอื่นประสบผลสำเร็จด้วยวิธีการนี้แต่พวกเค้าจะพูดว่า “เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอก”

จะเกิดอะไรขึ้นหากเชอร์ชิลล์ (Churchill) พูดในสิ่งเดียวกัน ? “พวกนาซีมันมีอยู่ทุกที่ในยุโรปแล้วล่ะ พวกเราสู้มันไม่ได้หรอก เรามายอมแพ้กันเถอะ” นี่เป็นสิ่งที่หลายรัฐบาลทั่วโลกกำลังทำอยู่ทุกวันนี้ พวกเค้าไม่ให้โอกาสคุณที่จะสู้กับโรค ซึ่งคุณต้องแสดงความต้องการนั้นออกมาครับ

--

--