MOOD HOPPING : สำรวจโลกภายในด้วยการออกไปสำรวจโลกภายนอก

--

บ่อยครั้งที่เมื่อเราเกิดอารมณ์ความรู้สึกในด้านลบ เรามักจะเลือกจัดการกับมันอยู่ไม่กี่วิธี บางคนเลือกที่จะเก็บมันไว้ กลายเป็นความอัดอั้นในใจ บางคนเลือกที่จะระบายมันออกมา และโวยวายกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่น้อยคนที่จะรู้วิธีจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง วันนี้เราจึงพามาพูดคุยกับคุณตุ้ย-ธิดารัตน์ ไทยานนท์ แห่ง Faiyen Design Studio กับโปรเจค MOOD HOPPING ที่พาคุณไปสำรวจคาเฟ่ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ไปพร้อมๆกับการสำรวจอารมณ์และเข้าใจตัวเอง

ทำไมถึงเลือกมาทำโปรเจคที่ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

เริ่มต้นคุณตุ้ยเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์มากว่า 10 ปีแล้ว และเห็นการเปลี่ยนแปลงของย่านนี้มาโดยตลอด ท่ามกลางสภาพเมืองที่เปลี่ยนไป มีการเกิดขึ้นของร้านคาเฟ่รูปแบบใหม่มากมาย มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาในพื้นที่ มานั่งพักผ่อน ถ่ายรูป และใช้เวลานอกบ้าน จนเกิดเป็นกิจกรรม Cafe Hopping ที่หลายๆคนคุ้นเคย สิ่งที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองคือความสับสนทางอารมณ์ของผู้คน

จากโอกาสที่คุณตุ้ยเคยได้ร่วมงานสำรวจปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยเพื่อหาว่าเกิดจากปัจจัยอะไร พบว่ามีอยู่ด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ คือการขาดความรู้ความเข้าใจทางสุขภาพจิต (Mental Health Literacy) และการขาดพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดถึงปัญหา (Community) คุณตุ้ยจึงสนใจในประเด็น Mental Health Literacy เพื่อแก้ไขปัญหาทางอารมณ์ เพราะในเมืองคือผู้คน ในผู้คนคือสุขภาพจิต หนึ่งในเรื่องของสุขภาพจิตคือ อารมณ์ โปรเจคนี้จึงเกิดเพื่อให้ผู้คนเข้าใจกับอารมณ์ของตัวเอง และกล้าเผชิญกับอารมณ์ในด้านลบ ยอมรับและอยู่ร่วมกับมัน

สิ่งที่ MOOD HOPPING ต้องการจะสื่อ

สีที่ใช้สื่ออารมณ์ในโปรเจคนี้มีสองสี คือส้มกับฟ้า ซึ่งเป็นสีที่อยู่คนละโทน คือโทนร้อนและโทนเย็น ความต่างของขั้วสีสื่อถึงพลังด้านบวกและพลังด้านลบ และใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสารของกิจกรรมนี้

“เรากำลังจะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ เพียงแค่เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ และจัดการกับอารมณ์ของเรา คาดหวังให้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ใด้รู้ว่า ในคราวหน้าที่เมื่อเกิดอารมณ์แย่ๆขึ้นมา ไปอิจฉาใครหรือโกรธใคร ตัวเขาสามารถยอมรับมัน และตอบสนองต่ออารมณ์เหล่านั้นได้ดีขึ้นในทุกๆครั้ง หรือเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากการยอมรับอารมณ์และจัดการกับมันได้อย่างถูกวิธี”

นิยามความเป็นอารีย์-ประดิพัทธ์

“เป็นย่านที่มีเรื่องราวของตัวเอง ในแบบที่โตไปเรื่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ”

อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในย่านนี้

“การเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นคือ อยากให้เป็นย่านที่คนสามารถขี่จักรยาน หรือเดินได้สะดวก มีบริเวณที่อำนวยความสะดวกให้จักรยานหรือเดินเท้าได้สะดวกมากขึ้น โดยส่วนตัวเดินทางด้วยจักรยานในย่านนี้บ้างอยู่แล้ว แต่อยากให้เป็นที่เรื่องสามารถทำได้ง่าย ทุกคนเข้าถึงได้”

“MOOD HOPPING” สะท้อนถึงการใช้ชีวิตในย่านนี้อย่างไร

“การที่ย่านนี้มีคาเฟ่หรือธุรกิจใหม่เกิดขึ้นเยอะ เราจะพบเจอคนที่อยากออกจากบ้าน ไปเปลี่ยนอารมณ์ ไปผ่อนคลาย หรือพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่ง Mood Hopping เป็นกิจกรรมที่ชวนคนหันมาสำรวจอารมณ์ของตัวเอง สำรวจโลกภายในด้วยการออกไปข้างนอก อารีย์-ประดิพัทธ์จึงเป็นย่านที่เหมาะให้คนลองทำสิ่งนี้ ลองใช้เวลาจัดการกับสิ่งที่ไม่เคยจัดการมากขึ้น สำรวจตัวเองมากขึ้น”

MOOD HOPPING เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลออกแบบประจำปี BANGKOK DESIGN WEEK 2020 : ARI-PRADIPAT

1–9 กุมภาพันธ์นี้ เตรียมตัวมาสำรวจอารมณ์ ผ่านเครื่องดื่มสุด creative จาก 15 คาเฟ่ชื่อดังในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ แล้วคุณจะพบว่า #FeelingBadisGood

ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/moodhopping

--

--