เทคนิคสร้างไอเดียนอกกรอบด้วย SCAMPER

Pichart Intrawoot
2 min readMar 14, 2023

--

“ไอเดียตัน” หลายคนต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ลองใช้เทคนิค “SCAMPER” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยระดมสมองสร้างไอเดียด้วยการคิดนอกกรอบ เพื่อแก้ปัญหา สร้างผลิตภัณฑ์ หรือ บริการจากความคิดสร้างสรรค์กันครับ

https://i.pinimg.com/originals/bb/a3/cd/bba3cddd7c68c70ebe46cdfd2f64c8c4.jpg

ที่มาของ “SCAMPER” คิดค้นโดย Alex Osborn ในปี 1953 และพัฒนาต่อโดยนักจิตวิทยาชื่อว่า Bob Eberle ใช้เพื่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ และ วิธีการแก้ไขปัญหาจากไอเดียทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ได้ถูกนำไปใช้งานในบริษัทชั้นนำดังของโลกเพื่อแก้ไขปัญหา หรือ สร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และ บริการ อาทิ Apple Nike Amazon เป็นต้น

Substitute (ทดแทน) นำองค์ประกอบ หรือ ชิ้นส่วนมาทดแทน/แทนที่ ผลิตภัณฑ์เดิม เช่น การเปลี่ยนวัสดุที่เป็นพลาสติกด้วยวัสดุใหม่จากธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ หรือ เปลี่ยนสีใหม่แทนเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่

Combine (ผสมผสาน) นำสิ่งสองสิ่ง หรือ มากกว่านั้นมารวมกัน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นาฬิกาออกกำลังกายที่รวมฟังก์ชั่นนาฬิกากับ fitness tracker สามารถติดตตามกิจกรรมและสุขภาพของผู้ใส่ได้

Adapt (ปรับใช้) ปรับเปลี่ยนไอเดียหรือกระบวนเพื่อสร้างการบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ปรับส่วนผสมในอาหารให้เหมาะกับลูกค้าที่บริโภค “low-carp” หรือ “คีโต” เป็นต้น

Modify / minify / magnify (ปรับปรุง / ลดขนาด / เพิ่มขนาด) เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติบางอย่าง ได้ทั้งปรับปรุง / เพิ่ม / ลด เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การปรับปรุงเซนเซอร์นาฬิกาให้สามารถทำงานได้หลากหลาย สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดประสิทธิภาพการนอนหลับ

Put to another use (ประยุกต์ใช้) คำนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับการปรับใช้ หรือ Adapt แต่จะเป็นการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์กับสิ่งอื่น หรือ ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้หรือว่างจากการใช้งาน มาให้บริการเช่าแก่ผู้สนใจ

Eliminate (ตัดทิ้งหรือขจัดออก) ตัดหรือลดส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น ตัดปุ่มในโทรศัพท์จากเดิมที่ใช้แสกนนิ้วมือด้วยการสัมผัสออก มาเป็นการแสกนด้วยใบหน้าแทน

Rearrange / Reverse (จัดเรียงใหม่) การเรียงกระบวนการใหม่ หรือ ย้อนกลับกระบวนการ เพื่อแก้ปัญหาหรือได้สิ่งตรงกับความต้องการผู้ใช้งานมากกว่าเดิม เช่น การสร้างแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่มักจะเริ่มจากการทำ User Experience หรือรับฟัง feedback จากผู้ใช้งานจริง ก่อนที่นำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการออกแบบหรือสร้างกระบวนการแก้ปัญหา ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด

แนวทางการใช้งาน SCAMPER ไปใช้มี 3 ข้อหลัก ๆ คือ

  1. ระบุปัญหา หัวข้อ หรือประเด็นที่ต้องการแก้ไขหรือพัฒนา
  2. ตั้งคำถามโดยใช้หลัก SCAMPER จากการระดมสมองให้ได้มากที่สุด เช่น

S: เราสามารถใช้อะไรทดแทนวัสดุนี้ได้บ้าง

C: ถ้าเราเอาของเหล่านี้รวมกันจะเกิดอะไรขึ้น

A: ผลิตภัณฑ์/บริการนี้ของเราจะสามารถใช้กับลูกค้ากลุ่มไหนได้อีกบ้าง

M: เราจะดัดแปลงส่วนไหนของผลิตภัณฑ์/บริการเราได้บ้าง

P: ชาย/หญิงจะใช้ของสิ่งนี้ได้อย่างไร

E: จะมีฟังก์ชั่นไหนมั้ยที่จะสามารถตัดมันออกได้

R: ถ้าเราทำตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น

3. มาช่วยกันดูว่าแต่ละไอเดียว่าอันไหนบ้างที่มีโอกาส หรือ แนวทางเป็นไปได้ แล้วเอาไปต่อยอดเพิ่มเติม

https://miro.com/templates/scamper/

เครื่องมือยอดฮิตในการระดมสมอง (brain strom) หนีไม่พ้นการใช้กระดาษ post-it เขียนไอเดียของแต่ละคนแล้วติดบน template ที่เตรียมไว้ หรือ ปัจจุบันสามารถระดมสมองแบบออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างในรูปจากแพลตฟอร์ม Miro ที่กำลังนิยมอยู่ในตอนนี้

เป็นยังไงบ้างครับการระดมสมองด้วยแนวทางของ “SCAMPER” ไม่ยากเกินไปใช่มั้ยครับ เริ่มจากสิ่งที่เคยเห็นหรือจากประสบการณ์ของผู้ที่ช่วยกันระดมสมองก่อนก็ได้ครับ แล้วช่วยกันลงมือทำจริงเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆ กันครับ

--

--

Pichart Intrawoot

พ่อลูกสองที่ชอบการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ หลงไหลเทคโนโลยี และ นวัตกรรม ชอบแบ่งปันความรู้ อยากมีส่วนช่วยคนอื่นพัฒนาตนเอง และสนุกกับชีวิตไปด้วยกัน