จักรวาลแห่งผู้กำกับ

Pichet Wongjoi
2 min readFeb 22, 2023

--

พิเชฐ วงษ์จ้อย

จักรวาล คือ เอกภพซึ่งอยู่ในรูปแบบซับซ้อนกว้างใหญ่ไพศาลไม่สิ้นสุด ราวกับจินตนาการของมนุษย์ที่ไร้ขอบเขต และเรื่องราวต่างๆ ได้เกิดขึ้นมากมายทั้งในสภาวะความเป็นจริง ความฝัน ในโลกคู่ขนานที่อาจมีจริง และจินตนาการ ดังนั้น เรื่องราวในภาพยนตร์เป็นดั่งความฝันของผู้กำกับ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่อยู่ในห้วงคำนึง

ภายใต้เรื่องราวนี้คือโจทย์ของผู้กำกับว่าทำอย่างไร ให้เรื่องราวในห้วงคำนึงนี้ได้ถ่ายทอดออกมาในโลกภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์จึงเป็นดั่งศูนย์รวมความคิดและจินตนาการ ไม่ต่างจากจักรวาลย่อมๆ หากมองผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นงานที่ง่ายๆ แค่สั่งคนอื่นให้ทำโน้น ทำนี่ หรือพูด (บางคนชอบตะโกน) “แอ็คชั่น!!” กับ “คัต!?” แต่ทว่าตัวแปรนั้นขึ้นอยู่กับผลลัพท์ที่ออกมาว่าภาพยนตร์จะออกมาเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่” เพราะหลายครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในงานภาพยนตร์นั้นไม่ได้เกิดจากตัวบท แต่เกิดจากขั้นตอนบทสู่กระบวนการถ่ายทำที่ขาดกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าเสียดายที่เรื่องราวดีๆ กลับขาดพลังและไม่เป็นไปตามความตั้งใจของผู้กำกับ

ตัวแปรต้นที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้กำกับจึงกลายเป็น “ความชัดเจนของจินตนาการ” กล่าวคือมีภาพในความคิดที่ชัด ดังนั้นผู้กำกับภาพยนตร์มีหน้าที่ทำความเข้าใจบทภาพยนตร์ให้ลึกในทุกมิติของตัวละคร จากนั้นจึงตีความ เนื้อเรื่อง ตัวละคร และสไตล์ของภาพยนตร์ของตนเองให้เห็นเป็นภาพในหัวหรือจินตนาการ ซึ่งภาพในจิตนาการของคนแต่ละคนต่อเรื่องราวเดียวกันนั้นย่อมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการอ่านนิยาย แต่ละคนจะเห็นตัวละคร สถานที่ บรรยากาศ แตกต่างกันไปตามจินตนาการ เช่นเดียวกับการอ่านบทภาพยนตร์ จินตนาการของผู้กำกับก็จะแตกต่างกันไปตามรสนิยมและความชอบของผู้กำกับเอง สำหรับผู้กำกับที่มีพรสวรรค์หรือมีจินนาการสูง ภาพในหัวของเขาจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนมาก ถึงขั้นที่ mood & tone , ทิศทางของแสง, การลำดับภาพ, การเคลื่อนไหว, เสียงเพลง, รายละเอียดของฉากหลังอยู่ในหัวอย่างชัดเจน ซึ่งความ “ชัดเจน” ทางด้านจินตนาการนี้เองที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้กำกับนั้นเอง ซึ่ง “ความชัดเจน” ของผู้กำกับนี้เอง คือสิ่งที่ทุกคนทั้งทีมงาน กองถ่าย นักแสดง เรียกร้องและต้องการจากผู้กำกับ เป็นสิ่งที่ทีมงานใช้เป็นสิ่งอ้างอิงในการทำงาน เพื่อให้เกิดความเป็น “หนึ่งเดียวกัน” ในที่สุด ผู้กำกับจึงจำเป็นต้องหาวิธีถ่ายทอดจินตนาการ และตีความให้ทีมงานได้รับรู้เป็น “ภาพ” เดียวกัน ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี แต่ที่นิยมใช้ storyboard หรือบทภาพ ก็จะเป็นแนวทางช่วยให้ทีมงานมองเห็นเป็นภาพเดียวกันได้ชัดเจนมากขึ้นแล้วผู้กำกับก็อธิบายเสริมจากบทภาพอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นผู้วาดบทภาพคือผู้ที่รับสารจากผู้กำกับเป็นคนแรก ทั้งขนาดภาพ มุมกล้อง และแอ็คชั่นต่างๆ ทางการแสดง และนำไปถ่ายทอดสู่บทภาพ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ทีมงานในกองถ่ายเห็นงานเป็นภาพเดียวกันอย่างชัดเจน โดยปราศจากการตีความเป็นอย่างอื่น

การตีความบทภาพยนตร์ให้เกิดความ “ชัดเจน” นั้นก่อนอื่นควรทำความเข้าใจบทภาพยนตร์โดยแบ่งออกเป็นส่วนๆ อย่างหยาบๆ คือ Concept (แนวคิดของภาพยนตร์) และ Character (การค้นหาตัวละคร) ด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Concept ของภาพยนตร์ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปถามคนเขียนบทว่าคุณมีแนวคิดในการเขียนบทอย่างไร แต่ถ้าผู้กำกับอยากได้ข้อมูลเพื่อต่อยอดก็สามารถทำได้ แต่ประเด็นสำคัญจริงๆ คือ ความคิดของผู้กำกับเองต่างหาก ว่าหลังจากได้อ่านบทภาพยนตร์แล้วมีความคิดอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือผู้กำกับ “รู้สึก” อะไร กับบทภาพยนตร์ ผู้กำกับจะต้องนำความรู้สึกเกี่ยวกับบทภาพยนตร์นี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ส่วนผู้ชมจะรู้สึกอย่างไรนั้น คำตอบนั้นจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การขับเคลื่อนการทำงานด้วยอารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงาน และจะถ่ายทอดความต้องการของตนเองที่เกิดจากภาพภายในจินตนาการไปยังผู้ออกแบบงานสร้าง ฝ่ายเครื่องแต่งกาย ฝ่ายจัดหาสถานที่ และผู้กำกับภาพต่อไป

ปัญหาด้านตัวละครเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เกิดความคลาดเคลื่อนจากจินตนาการ ต้องรับรู้ก่อนว่าการทำความเข้าใจระหว่างมนุษย์ไม่ทางที่จะทำความเข้าใจกันได้ร้อยเปอร์เซ็น แม้แต่เพื่อนฝูง พ่อแม่ คนรัก หรือแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่อาจทำความเข้าใจได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นหลายครั้งที่คนเราเกิดคำถามและไม่เข้าใจแม้แต่การกระทำของตนเอง ดังนั้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวละครในบทภาพยนตร์นั้นจริงๆ แล้วยากพอๆ กับการทำความเข้าใจคนๆ หนึ่ง แต่หากผู้กำกับไม่สามารถเข้าใจตัวละครในภาพยนตร์อย่างถ่องแท้แล้วจะสามารถไปกำกับนักแสดงให้แสดงไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างไร ดังนั้นผู้กำกับต้องสนใจทุกรายละเอียดของตัวละครซึ่งทุกการกระทำหรือการตอบสนองต่างๆ ของตัวละครจะเป็นการเปิดเผยถึงสภาพจิตใจและความต้องการของตัวละครเอง ซึ่งความต้องการของตัวละครนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้กำกับสามารถกำกับนักแสดงให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ที่กล่าวไปข้างต้นผู้อ่านอาจรู้สึกว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญอย่างกับตัวละครเป็นคนมีตัวตนจริงๆ คำตอบก็คือ หากเราไม่ใส่ชีวิตจิตใจให้กับตัวละครแล้ว ตัวละครก็จะแบนขาดมิติ และไม่สมจริงขาดความเชื่อจากจากผู้ชม ดังนั้นสิ่งที่ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ต้องเชื่อเสมอคือ ตัวละครของเรามี “ชีวิต” ตัวแปรสำคัญก็คือ “ความเป็นมนุษย์” ของตัวละคร อธิบายง่ายๆ ความเป็นมนุษย์นั้นประกอบด้วยด้านบวกและลบ ด้านมืดและด้านสว่าง ความดีและความชั่วหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่ต่างจากสภาวะแวดล้อมตามความเป็นจริงของจักรวาล ที่มีทั้งพลังด้านบวกและลบ

ซึ่งสิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกันนี้เองทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นในจักรวาลนี้ ดังคำกล่าวที่ว่าเรื่องราวใดไม่มีปัญหาและความขัดแย้ง เรื่องราวนั้นไม่คู่ควรที่จะนำมาเล่า ตัวละครก็เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากตัวละครหลักของเราทำอะไรก็ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ทำอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง ตัวละครนั้นก็จะไม่น่าติดตาม และไม่มีอะไรให้ลุ้น

รองศาสตราจารย์ ดร. รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม เคยกล่าวไว้ในหนังสือ เสกฝัน ปั้นหนัง: บทภาพยนตร์ เกี่ยวกับการทำความเข้าใจตัวละครไว้ดังนี้ “การทำความเข้าใจตัวละครในนวนิยายกับบทภาพยนตร์มีความแตกต่างกันเนื่องจากบทภาพยนตร์เป็นการอธิบายพฤติกรรมการกระทำ เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ ตัวละครในภาพยนตร์จะแสดงให้เห็น หรือมีการตอบสนองอย่างไรกับสถานการณ์ ในขณะที่นวนิยายเป็นการอธิบายด้วยคำของภาษาที่ผ่านความรู้สึก อารมณ์ และความคิด ให้สัมผัสที่ชัดเจนมากกว่าดังนั้นในภาพยนตร์ต้องมีวิธีการจัดการอธิบายลักษณะของตัวละครแอ็คชั่น” “สิ่งสำคัญในการเขียนบท คือต้องรู้ลักษณะนิสัยตัวละครหลักๆ ของเราเพื่อให้เราสามารถกำหนดธรรมชาติการกระทำของตัวละครได้ หรือการตอบสนองที่ถูกต้องในสถานการณ์ของเรื่องที่ผู้เขียนบทสร้างขึ้น และถ้าหากเราไม่รู้ลักษณะนิสัยของตัวละคร ก็จะกลายเป็นการบังคับให้แสดง หรือให้นักแสดงตอบสนองสถานการณ์ใดสถานการ์หนึ่งในเรื่อง และเมื่อนั้นผลที่ได้คือการปลอมๆ ไม่เป็นจริง” (รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม, 2547)

ดังนั้นขั้นตอนการทำความเข้าใจเกี่ยวกับก็คือค้นหาตัวละครหลักในขั้นพื้นฐานเพื่อนำเรื่องราวมาถ่ายทอดภาพยนตร์ให้ได้นั้น สามารถแบ่งส่วนประกอบชีวิตของตัวละครออกเป็นส่วนๆ คือ เรื่องราวของตัวละคร, ความต้องการ, การกระทำ, ความขัดแย้ง

เรื่องราวของตัวละครนั้นควรสอบถามหรือปรึกษากับผู้เขียนบทภาพยนตร์ว่าตัวละครหลักของเรามีปูมหลัง (Background) อย่างไรซึ่งปูมหลังของตัวละครนี้อาจจะไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เช่น ชีวิตวัยเด็ก อาชีพ สถานภาพ บ้านเกิด ชีวิตส่วนตัว ปัจจัยทางพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละคร ซึ่งเมื่อผู้กำกับทราบถึงปูมหลังของตัวละครแล้วก็จะเห็นพัฒนาการรวมทั้งกำหนดการตอบสนองของตัวละครต่อเรื่องต่างๆ ได้ชัดเจน และที่สำคัญที่สุดก็คือจะทำให้ทราบปัจจัยทางพฤติกรรมซึ่งจะกลายเป็นการกำกับการแสดงได้แม่นยำยิ่งขึ้น

ความต้องการ (ความต้องการของตัวละคร) หลายครั้งที่ความต้องการของตัวละครกลายเป็น Plot หลักของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นความต้องการของตัวละครที่ให้ได้มา หรืออยากเอาชนะซึ่งในบทภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาแน่นหรือเข้มข้นจะกำหนดความต้องการของตัวละครให้มากพอที่ตัวละครจะยอมเอาชีวิตเข้าแลกเลยทีเดียว ซึ่งความต้องการต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากแรงจูงใจที่สมเหตุสมผล ในทางเดียวกันหากความต้องการของตัวละครยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ความสำคัญและพลังของตัวละครก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

การกระทำ (การกระทำของตัวละคร) สิ่งที่ทำให้ตัวละครเกิดการกระทำต่างๆ คือความต้องการของตัวละครเองและเกิดจากเรื่องราวของตัวละครซึ่งการกำกับนักแสดงจำเป็นจะต้องกำหนดกรอบไว้ในหัวตลอดว่าตัวละครนั้นจะกระทำหรือแสดงได้สอดคล้องและสมจริงหรือไม่ หากตัวละครมีการกระทำที่ขัดแย้งหรือไม่สมเหตุสมผลกับปูมหลังและความต้องการแล้วจะทำให้ตัวละครดูแกว่งไปมากลายเป็นการกระทำที่ไม่สมจริง ดังนั้นผู้กำกับจึงมีหน้าที่กำกับการแสดงให้เป็นไปตามแนวทางของตัวละคร ไม่หลุดออกจากตัวละคร ไม่ไปผิดทางการแสดงที่วางไว้

ความขัดแย้ง (ความขัดแย้งและอุปสรรคของตัวละคร) เป็นสิ่งที่ผู้เขียนบทภาพยนตร์ได้สร้างไว้ให้กับตัวละครให้พบกับความลำบากโดยอุปสรรคในการบรรลุสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเกิดความบันเทิงจากการเอาใจช่วยตัวละครให้บรรลุเป้าหมาย ส่วนใหญ่มักเป็นไปตามสูตรที่ว่ายิ่งปัญหาและความขัดแย้งยิ่งมากเท่าไรภาพยนตร์จะยิ่งน่าติดตามขึ้นเท่านั้น ผู้กำกับควรต่อยอดความคิดเกี่ยวกับ ความขัดแย้งจากบทเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น และทำให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นจนเป็นฝันร้ายของตัวละครได้ยิ่งดี พึงจำไว้ว่าหากปัญหาความขัดแย้งในภาพยนตร์เป็นปัญหาเล็กๆ ภาพยนตร์ก็จะขาดความน่าติดตามไปโดยปริยาย เมื่อเราตีโจทย์เรื่องราวของตัวละครหลักแล้ว การตีความภาพยนตร์แล้วทุกอย่างก็เริ่มมีแนวทาง มีเป้าหมายในการบรรลุผลที่ชัดขึ้น แล้วสิ่งที่ผู้กำกับต้องทำต่อไปคือสื่อสารกับทีมงานให้ชัดเจน

จะเห็นได้ว่าหากเปรียบกองถ่ายภาพยนตร์กับระบบสุริยจักรวาล ผู้กำกับภาพยนตร์ก็เปรียบได้กับศูนย์กลางของจักรวาล เป็นดั่งแสงสว่างที่ก่อให้เกิดชีวิต เมื่อเกิดชีวิตจึงเกิดเรื่องราวในเอกภพ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งความเป็น “หนึ่งเดียวกัน” นี้แหละที่ผู้กำกับจะต้องสร้างขึ้นให้จงได้ราวกับเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดังนั้นโจทย์ข้อแรกของผู้กำกับจึงไม่ใช่การกำกับการแสดงแต่เป็นการตีความ (Interpretation) เพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายซึ่งจะเป็นทิศทางของภาพยนตร์และการกำกับการแสดงต่อไป

— — — — — — — — — — — — — — — — — -

1อาจารย์ประจำ สาขาวิชาภาพยนตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Instructor, Program in Film, Faculty of Management Science,

Bansomdetchaopraya Rajabhat University

อ้างอิง

รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม.เสกฝัน ปั้นหนัง: บทภาพยนตร์. กรุงเทพฯ:บริษัทบ้านฟ้าจำกัด, 2547

นิตยสาร DMA vol.2 ธันวาคม 2558

#BSRU

#สาขาวิชาภาพยนตร์

#มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

#www.bsru.ac.th

--

--