การออกแบบสื่อเรือมหาสมบัติ จังหวัดสมุทรสาคร
--
บทคัดย่อ
ผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่นมักจะมีประวัติเรื่องราวความเป็นมา มีคุณค่าที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนพื้นที่หรือจังหวัดนั้น ๆ มีภูมิปัญญาในการผลิตและพัฒนาที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การนำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างความดึงดูดใจในมุมผู้บริโภคให้เกิดแก่ผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่น อันจะนำมาสู่ผลประกอบการที่เป็นรายได้ลงสู่กลุ่มผู้ผลิตท้องถิ่นรายต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ดี มิติของการถ่ายทอดสารผ่านชิ้นงานออกแบบสื่ออาจถูกละเลยหรือไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร หากแต่การได้ลงพื้นที่ทำงานบริการวิชาการของคณะวิทยาการจัดการ จะสามารถช่วยเพิ่มเสริมมิติด้านการออกแบบสื่อเพื่อนำเสนอเรื่องราวคุณค่าของแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ในชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น บทความเรื่อง “การออกแบบสื่อเรือมหาสมบัติ จังหวัดสมุทรสาคร” จึงมีการศึกษาใน 3 ประเด็น อันได้แก่ (1) การพัฒนาตัวตนของแบรนด์ (2) การสร้างเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ และ (3) การออกแบบสื่อเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
คำสำคัญ: การออกแบบสื่อ แบรนด์ การสร้างเนื้อหาทางการตลาด
บทนำ
จุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกเริ่มจากการคลุกคลีอยู่กับวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาคร จึงเกิดเป็นแนวคิดของการรังสรรค์ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เรือประมงจำลองที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์แห่งชุมชน บางหญ้าแพรก ซึ่งการเริ่มทำเรือจำลองลำแรกนั้นยังมีรูปลักษณ์ที่ไม่สวยงาม แต่ก็มีผู้สนใจติดต่อขอซื้อเรือจำลอง จึงทำให้ขายเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกได้เป็นลำแรก โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น การตั้งราคาก็ไม่ได้เป็นในลักษณะของธุรกิจ ราคาขายขึ้นอยู่กับผู้ซื้อจะให้ราคา หลังจากขายเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกได้ลำแรก ทางผู้ประกอบการก็มีกำลังใจที่จะสร้างเรือจำลองต่อไป จนได้มีการพัฒนาคุณภาพของเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกและเข้ารับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ได้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับสี่ดาว เมื่อปี พ.ศ. 2562 หลังจากนั้นกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกก็ได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกเป็นเรือสำเภาบางหญ้าแพรก และเรือมหาสมบัติ
ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์เรือมหาสมบัตินั้น ผู้ประกอบการมีแนวคิดแรกเริ่มว่า เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกควรเป็นอะไรได้มากกว่าการที่จะเป็นเรือตั้งไว้เพื่อประดับเพียงอย่างเดียว จึงพัฒนาและต่อยอดเพิ่มเติมมิติด้านประโยชน์ใช้สอยให้ตัวเรือสามารถนำไปใช้งานได้ นั่นคือ สามารถใส่ของต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อประดับตกแต่ง นำมาใส่ดอกไม้ ไม้ประดับ เครื่องหอม เทียนหอม หรือเป็นภาชนะใส่ของคาวหวานเสิร์ฟเป็นของว่าง เป็นต้น
ภาพที่ 1 ตัวอย่างการนำเรือมหาสมบัติไปใช้งาน
เมื่อตัวผลิตภัณฑ์เรือมหาสมบัติที่มีเป้าประสงค์ด้านประโยชน์ใช้สอยชัดเจน ผนวกกับได้รับการพัฒนารูปลักษณ์ผ่านช่างฝีมือผู้ชำนาญการด้วยภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เรือจำลอง ทางกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกจึงมีความต้องการที่จะส่ง “เรือมหาสมบัติ” เข้าคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ในปี พ.ศ. 2565 ด้วยเช่นกัน ดังนั้น บทความเรื่อง “การออกแบบสื่อเรือมหาสมบัติ จังหวัดสมุทรสาคร” จึงมีการศึกษาใน 3 ประเด็น อันได้แก่ (1) การพัฒนาตัวตนของแบรนด์ (2) การสร้างเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ และ (3) การออกแบบสื่อเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
การพัฒนาตัวตนของแบรนด์
Kotler (1984) ได้ให้ความหมายของแบรนด์ไว้ว่าคือ ชื่อ ลักษณะ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือ สิ่งใด ๆ ก็ตามที่สามารถใช้ในการบ่งบอกว่าสินค้านั้นเป็นของใคร และมีความแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ อย่างไร ต่อมาในปี ค.ศ. 1991 ได้เพิ่มคำนิยามของแบรนด์ว่า ความเป็นแบรนด์จะประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้ ได้แก่ รูปร่างหน้าตาภายนอก (Attribute) คุณประโยชน์ทางกายภาพและทางอารมณ์ (Benefit) คุณค่า (Value) บุคลิกภาพ (Personality) วัฒนธรรม (Culture) ผู้ใช้ (User)
ส่วน เดวิด โอกิลวี (อ้างถึงใน วิทวัส ชัยปาณี, 2549) ได้ให้นิยามของแบรนด์ว่าคือ สัญลักษณ์ที่ซับซ้อน เป็นผลรวมที่จับต้องไม่ได้จากการที่ได้เห็นรูปร่างหน้าตาภายนอกของสินค้า การได้ยินชื่อ การได้สัมผัส บรรจุภัณฑ์ ราคา รวมถึงการได้รับรู้ประวัติความเป็นมาและชื่อเสียงที่แบรนด์นั้นได้สั่งสมเรื่อยมา เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นจากความรู้สึกโดยรวมและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ใช้ที่ได้สัมผัสกับแบรนด์นั้นมา
แบรนด์เป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ เพราะแบรนด์หมายรวมถึงคุณค่าทางกายภาพ (Physical Value) ที่จับต้องสัมผัสได้ คุณค่าทางหน้าที่ (Functional Value) และคุณค่าทางจิตวิทยาหรือจิตใจ (Psychological Value) ที่แบรนด์นั้นสามารถมอบให้กับผู้ใช้ หรืออีกนัยหนึ่งแบรนด์เป็นการรวบรวมสะสมความรู้สึกและการรับรู้ อีกทั้งในขณะเดียวกันแบรนด์ก็สามารถเปรียบได้กับ ดีเอ็นเอ (DNA) ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ และสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน
การสร้างและสื่อสารแบรนด์มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างแบรนด์จะส่งผลในทางการขายที่เกิดประสิทธิผลตามมา การสร้างแบรนด์เป็นการสร้างความหมายบางอย่างขึ้นโดยความหมายนั้นจะเชื่อมโยงกับลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ การสร้างและสื่อสารแบรนด์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าทางการเงินให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทำให้แบรนด์ได้รับผลตอบแทนที่มากกว่ากลับมาได้อีกด้วย กอปรกับในยุคปัจจุบันนี้สภาพการแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น การทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำและอยู่ในความทรงจำของลูกค้าเป้าหมายถือเป็นความได้เปรียบในระดับหนึ่ง
จากสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสร้างตัวตนของแบรนด์มีความสำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องให้ความใส่ใจในการวางกลยุทธ์และแนวทางในการบริหารจัดการแบรนด์อย่างมีขั้นตอน โดยเริ่มจากการกำหนดทิศทางและภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สินค้า ลูกค้า และแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด หลังจากนั้นจึงจะสามารถวางแนวทางการถ่ายโอนภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่ต้องการของแบรนด์นั้นให้ไปอยู่ในความนึกคิดของผู้บริโภคผ่านการสื่อสารแบรนด์ในรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ การพัฒนาตัวตนของแบรนด์ในยุคของการสร้างแบรนด์ 4.0 นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคมีมากกว่าแค่สินค้าและบริการ การมีชีวิตของแบรนด์เกี่ยวโยงตั้งแต่สิ่งที่แบรนด์คิด เรื่องราวการเดินทางของแบรนด์ ไปจนถึงสิ่งที่แบรนด์ทำทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของแบรนด์ ทำให้ขอบเขตการรับรู้และประสบการณ์ที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์เพิ่มสูงยิ่งขึ้น คำว่าภาพลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Image) ที่ผู้บริโภครับรู้ในยุคนี้จึงแตกต่างจากในอดีต ดังนั้น คำว่าภาพลักษณ์ของ แบรนด์ในยุคการสร้างแบรนด์ 4.0 จึงครอบคลุมคำว่า “ตัวตน” ของแบรนด์อย่างแท้จริง หรือสามารถเรียกได้ว่าเป็น “บุคลิกภาพของแบรนด์” (Brand Personality) นั่นเอง
ทุกแบรนด์จะต้องมีบุคลิกภาพของตัวเอง การที่แบรนด์จะสามารถสานสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริโภคได้นั้น จำเป็นต้องมีบุคลิกที่ชัดเจนเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง จนเป็นที่จดจำและเป็นที่ชื่นชมของคนอื่น ๆ เพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถทำความรู้จัก เข้าถึงตัวตนของแบรนด์ และตัดสินใจได้ว่าจะเลือกคบหาสมาคมกับแบรนด์เหมือนที่เลือกคบหาสมาคมกับเพื่อนหรือไม่และอย่างไร ในยุคการสร้างแบรนด์ 4.0 เป็นยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลอะไรก็ได้ที่ต้องการ นั่นทำให้พวกเขามีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น และในฝั่งของแบรนด์เองก็สามารถเรียนรู้จากผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นกัน ทำให้คำว่า “บุคลิกภาพของแบรนด์” กลายเป็นสิ่งที่นิยาม “ความเป็นแบรนด์” นั้น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงระหว่างการรับรู้จากมุมของผู้บริโภคต่อสิ่งที่แบรนด์เป็น กับสิ่งที่แบรนด์เป็นในส่วนที่เป็นความจริงที่สะท้อนออกมาจากสิ่งที่แบรนด์พูด ทำ และดำเนินชีวิตเอง เสมือนคนหนึ่งคนที่มีชีวิต
บุคลิกภาพของแบรนด์จึงเป็นเสมือนบทสรุปสิ่งที่ผู้บริโภคมองเห็นแบรนด์ในภาพรวม โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่พวกเขามีต่อแบรนด์ นับเป็นการก้าวข้ามจากเดิมที่แบรนด์ถูกอ้างอิงเพียงตำแหน่งทางการตลาด (Position) ที่เชื่อมโยงกับสินค้าหรือบริการเป็นหลัก ไปสู่การที่ผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์ในลักษณะเทียบเคียงกับบุคลิกภาพของคน (Personality) (ปิยะชาติ อิศรภักดี, 2559)
ดังนั้น ในส่วนการพัฒนาตัวตนแบรนด์ของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก จึงเริ่มจากการวางตัวตนของแบรนด์ร่มใหญ่ นั่นคือ เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก ผ่านการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจนตกผลึกได้ตัวตนของแบรนด์เป็น “แบรนด์นักสำรวจ (Explorer)” ที่มีความมุ่งมั่น มีความหวัง ผจญภัย ไปให้ถึงเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นได้จากตัวตนและผลงานของผู้ประกอบการที่มีการใช้ภูมิปัญญาพัฒนาเรือจำลองรูปแบบต่าง ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีการนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระลึกอันทรงคุณค่า
เมื่อแบรนด์เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกมีบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality) ที่ชัดเจน ผลิตภัณฑ์ย่อยตัวอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ “เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก” ก็สามารถนำตัวตนดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการสร้างเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้เช่นกัน
การสร้างเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์
การสร้างเนื้อหาทางการตลาด (Content Marketing) คือการสร้าง (Creation) และแพร่กระจาย (Distribution) เนื้อหาหรือประเด็นที่มีคุณค่ากับผู้รับสาร โดยอาจเป็นการให้ข้อมูลความรู้ (Educational) และ/หรือเนื้อหาที่เป็นการกระตุ้นความสนใจผ่านทางรูปแบบที่หลากหลาย (Multiple Formats) เพื่อดึงดูด (Attract) ลูกค้า (Customers) และสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปสู่การกระทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจ (Pulizzi, 2012) สอดคล้องกับที่ Ahmed, Musa and Harun (2016) ได้อธิบายไว้ว่า การสร้างเนื้อหาทางการตลาด คือ การแบ่งปัน (Sharing) ข้อมูลของสินค้าและแบรนด์เพื่อที่จะดึงดูด (Attract) และให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม (Participate) ในกิจกรรมการซื้อต่าง ๆ (Purchasing Activities) ซึ่งจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ (Relationship) ระหว่างผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ
ดังนั้น วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการสร้างเนื้อหาทางการตลาด (Content Marketing) ก็คือ การทำให้เนื้อหาสาร (Content) มีคุณค่า (Valuable) ต่อผู้รับสารเป้าหมาย (Target Audience) เพื่อที่จะนำไปสู่ผลกำไรขององค์กรธุรกิจที่ได้มาจากการตอบสนองของผู้รับสารนั้น ๆ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า แนวคิดของการสร้างเนื้อหาทางการตลาด (Content Marketing) นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐาน (Assumption) ที่ว่า องค์กรธุรกิจ (Enterprises) จะต้องนำเสนอข้อมูลที่มีคุณค่า (Valuable Information) ต่อลูกค้าและคาดหวังถึงผลตอบรับจากลูกค้าที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร (Repoviene, 2017) โดยการสร้างเรื่องราวของแบรนด์นั้นหากมีการร้อยเรียงมาอย่างสมบูรณ์และถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร้ข้อบกพร่องก็สามารถทำให้ผู้บริโภคก้าวข้ามสถานะของคำว่า “ความสนอกสนใจ” ก้าวผ่านคำว่า “ความใส่ใจ” ไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “ความหลงใหล” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถละสายตาได้ (Hall, 2019)
ในการนี้ เมื่อพิจารณาแบรนด์ “เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก” จะพบว่า เป็นแบรนด์ที่มีประวัติความเป็นมา มีเรื่องราวของวิถีชีวิตคนพื้นที่ชุมชนบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร ที่สะท้อนผ่านการเดินทางของผลิตภัณฑ์เรือจำลองรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนถึงผลิตภัณฑ์ล่าสุดอย่าง “เรือมหาสมบัติ” ดังนั้น การสร้างเนื้อหาถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์เพื่อสื่อสารคุณค่าให้เกิดแก่ผู้บริโภคจึงมีใจความหลักที่พูดถึงความเป็นมาของแบรนด์ที่มีการคลุกคลีอยู่กับวิถีชาวประมงในพื้นที่ชุมชนบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร เรื่องราวความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือผู้ชำนาญการที่สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาในการประดิษฐ์เรือประมงจำลอง อันสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนพื้นที่และจังหวัดได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนควรค่าแก่ การสืบสานและสนับสนุน เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
เมื่อตัวผลิตภัณฑ์ “เรือมหาสมบัติ” ที่มีทั้งคุณค่าในเชิงประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าในแง่ความประณีตสวยงามจากฝีมือของช่างผู้ชำนาญการ ได้แรงเสริมเกี่ยวกับเรื่องราวของแบรนด์ที่คัดสรรถ่ายทอดมาเป็นอย่างดี ก็จะช่วยดึงดูดความสนใจและ ความหลงใหลของผู้ที่ชื่นชอบในงานคราฟต์ (Craft) ได้ อันจะนำไปสู่พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค และกลายเป็นรายได้สู่ กลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรกต่อไปนั่นเอง
การออกแบบสื่อเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
การออกแบบ (Design) เป็นเหมือนศิลปะอย่างหนึ่ง ที่มีหลายนิยาม เพราะการออกแบบสามารถเป็นได้ทั้งศิลปะ สุนทรียศาสตร์ หรือแม้แต่ความเรียบง่าย โดยสิ่งที่เกิดจากการออกแบบควรเข้าใจได้ไม่ยากจนเกินไป ดังนั้น การออกแบบจึงเป็นศาสตร์แห่งความคิด เป็นการสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เพื่อสนองต่อจุดมุ่งหมาย และนำกลับมาใช้งานได้อย่าง พึงพอใจ โดยความพึงพอใจนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่
1. ความสวยงาม (Aesthetic) เป็นสิ่งแรกที่สามารถสังเกตเห็นได้ก่อน เป็นสิ่งที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ เป็นตัวกำหนดที่ แน่ชัด แต่เชื่อว่างานที่มีการจัดวางองค์ประกอบที่ดีและเหมาะสม ผู้ชมก็มักจะมองว่ามีความสวยงามได้เหมือน ๆ กัน
2. มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี (Function) ประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบทุกประเภท เช่น การออกแบบเก้าอี้ เก้าอี้นั้นจะต้องนั่งสบาย ถ้าเป็นบ้าน บ้านนั้นก็จะต้องอยู่แล้วไม่อึดอัด หรือถ้าเป็นงานกราฟิกสื่อสิ่งพิมพ์ ตัวหนังสือจะต้องอ่านง่าย ไม่ถึงขั้นต้องเพ่งสายตา
3. การมีแนวคิดในการออกแบบที่ดี (Concept) งานออกแบบจะมีคุณค่า (Value) มากขึ้น ถ้าได้ออกแบบงานจากแนวคิดที่ดี
สำหรับการออกแบบสื่อของเรือมหาสมบัตินั้นมีหลักในการออกแบบที่มีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ตัวตนของแบรนด์ “เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก” โดยการออกแบบจะเริ่มต้นจากการตีความตัวตนของแบรนด์ออกมาเป็นสีหลัก (Brand Core Color) ที่ใช้ในการออกแบบสื่อก่อน ซึ่งจากตัวตนของแบรนด์ที่มีความเป็น “แบรนด์นักสำรวจ (Explorer)” มีความมุ่งมั่น มีความหวัง ผจญภัย ไปให้ถึงเป้าหมายนั้น จึงได้กำหนดสีหลักของแบรนด์เป็น 3 สี ได้แก่ (1) สีน้ำเงินเข้ม (0C124F) สื่อความหมายถึงความมุ่งมั่น ความอิสระเสรี การผจญภัย รวมถึงเป็นสีธรรมชาติที่แทนท้องฟ้าและผืนน้ำ (2) สีน้ำตาลอ่อน (BD9072) แทนความน่าเชื่อถือ ความอบอุ่น ความเรียบง่าย และ (3) สีเบจ (E4E2DB) เป็นสีที่เป็นกลางทำหน้าที่ส่งผ่านความสงบและสง่างาม จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 สีหลักนั้นมีความเป็นสีที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เสมือนตัวผลิตภัณฑ์เรือมหาสมบัติที่ไม่ได้ปรุงแต่งสี แต่กลับใช้สีจริงของไม้เพื่อแสดงให้ความเป็นธรรมชาติของวัสดุ
การออกแบบสื่อเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เรือมหาสมบัตินั้น มีการออกแบบทั้งหมด 3 ชิ้นงาน ได้แก่ ลวดลายที่หัวเรือ สื่อโฆษณาที่ฝากล่องบรรจุภัณฑ์ และสื่อแผ่นพับ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การออกแบบลวดลายที่หัวเรือ มีแนวคิดในการออกแบบที่ต้องการสื่อความหมายใน 3 สิ่ง ได้แก่ (1) “ป.ปลา” มาจากคำว่า “ประมง” ซึ่งคือรูปทรงเรือประมงของจังหวัดสมุทรสาคร (2) “ดอกพญาสัตบรรณ” เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และ (3) “ดอกหญ้าแพรก” สื่อถึงชุมชนบางหญ้าแพรก โดยการออกแบบตัวป.ปลา จะใช้ลักษณะของตัวอักษรลายมือที่มีความวิจิตร เพื่อสะท้อนถึงความเป็นงานคราฟต์ของเรือมหาสมบัติ พร้อมทั้งเรียงร้อยด้วยเส้นสายกราฟิกของดอกพญาสัตบรรณและ ดอกหญ้าแพรก
สื่อโฆษณาที่ฝากล่องบรรจุภัณฑ์ เนื้อหาข้อมูลมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเรื่องราวความเป็นมาและคุณค่าของแบรนด์ที่เป็นงานคราฟต์อันรังสรรค์ขึ้นมาด้วยภูมิปัญญาที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับช่องทางการติดต่อและโลโก้ของผู้สนับสนุนต่าง ๆ ในส่วนของแนวคิดการออกแบบยึดตามตัวตนแบรนด์ที่มีความสุขุม มุ่งมั่น การใช้สีที่เป็นเอิร์ธโทน เพื่อสะท้อนถึงความเป็นธรรมชาติของตัวผลิตภัณฑ์ มีการใส่รูปภาพกราฟิกสัญลักษณ์ (Symbol) ของความเป็น “มหาสมบัติ” สื่อความหมายถึงการประยุกต์ใช้งานในเชิงประโยชน์ใช้สอยด้านต่าง ๆ ตามที่ผู้ใช้ต้องการ
สื่อแผ่นพับขนาด A6 ที่ใส่ไว้ในซองจดหมายสีน้ำตาลอ่อน ปิดประทับด้วยครั่งสีน้ำเงินเข้มพิมพ์คำว่า “Thank you” สื่อถึงความขอบคุณลูกค้าที่ซื้อเรือมหาสมบัติ
สำหรับเนื้อหาข้อมูลของสื่อแผ่นพับมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงตัวอย่างการใช้งาน “เรือมหาสมบัติ” อันจะช่วยให้เห็นประโยชน์เชิงใช้สอยของผลิตภัณฑ์ สำหรับการออกแบบเป็นแนวคิดของการตามล่าสมบัติ สอดคล้องกับ “เรือมหาสมบัติ” ปกหน้า แสดงโลโก้แบรนด์ และรูปภาพกราฟิกของคุณชัชวาล หัวหน้ากลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก ปกหลัง แสดงช่องทางการติดต่อของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย รวมถึงโลโก้ของผู้สนับสนุนต่าง ๆ ส่วนหน้าคู่ซ้าย-ขวา เมื่อเปิดออกจะมีขนาด A5 แสดงให้เห็นถึงรูปทรงแผนที่จังหวัดสมุทรสาคร และพิกัดตามล่าสมบัติ ซึ่งก็คือพิกัดที่ตั้งของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก จากนั้นเมื่อกางเต็มที่และพลิกกลับอีกด้านจะพบกับ “ลายแทงเรือมหาสมบัติ” ขนาด A4 ที่ออกแบบการเปิดอ่านให้เหมือนกับอารมณ์ของการเปิดลายแทงขุมทรัพย์ที่จะมีลักษณะกางออก โดยแสดงถึงตัวอย่างรูปภาพการนำเรือมหาสมบัติไปใช้งาน แนวคิดการออกแบบกราฟิกของหน้านี้ คือ ลายแทงตามล่าสมบัติ มีภาพกราฟิกขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่เสริมแนวคิดของลายแทงตามล่าสมบัติ อันได้แก่ เข็มทิศ กล่องสมบัติ เรือมหาสมบัติ ภาพพื้นหลังเป็นสายน้ำ และรูปทรงแผนที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั้งพิกัดละติจูดลองติจูดของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนเรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก
บทสรุป
การออกแบบสื่อของผลิตภัณฑ์ “เรือมหาสมบัติ” จังหวัดสมุทรสาคร มีพื้นฐานมาจากตัวตนของแบรนด์ “เรือประมงจำลองบางหญ้าแพรก” ซึ่งการกำหนดตัวตนของแบรนด์ที่ชัดเจนจะสามารถสะท้อนสิ่งที่แบรนด์เป็นและเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการออกมาได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ การสื่อสารเนื้อหาเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะในมุมของการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค หรือในมุมของการที่เป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ในปี พ.ศ. 2565 ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับการออกแบบสื่อที่ดีนั้น จำเป็นจะต้องสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของแบรนด์ เนื้อหาเรื่องราวที่แบรนด์เป็นและมีคุณค่าในสายตาผู้บริโภค รวมถึงจะต้องเป็นการออกแบบสื่อที่มีความสวยงาม ตอบวัตถุประสงค์ที่ต้องการ มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี พร้อมทั้งมีแนวคิดในการออกแบบที่ดีด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
ปิยะชาติ อิศรภักดี. (2559). Branding 4.0. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ฮาวทู อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
วิทวัส ชัยปาณี. (2549). Creative Brand สร้างแบรนด์อย่างสร้างสรรค์ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: มติชน.
Ahmed, N. S., Musa, R., & Harun, M. H. M. (2016). The impact of social media content marketing (SMCM) towards brand health. Procedia Economics and Finance, 37, 331–336.
Kindra Hall. (2019). Stories that stick [อยากขายดี สตอรี่ต้องโดน] (ปฏิภาณ กุลวพันธ์, ผู้แปล). สำนักพิมพ์ บิงโก.
Kotler, P. (1984). Marketing Essentials. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.
Pulizzi, J. (2012). The rise of storytelling as the new marketing. Pub Res Q, 28, 116–123.
Repoviene, R. (2017). Role of content marketing in a value creation for customer context: theoretical analysis. International Journal of Global Business Management and Research, 6(2), 37–48.