หลักการ 3 E ในการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจรบนถนน

Chanaphorn Poldongnok
2 min readMar 7, 2022

--

ชนพร พลดงนอก สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

Photo by Photoholgic on Unsplash

การเกิดอุบัติเหตุบนถนนนั้น อาจเกิดจากปัจจัยหลากหลายประการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความประมาทหรือความไม่พร้อมของผู้ขับขี่ สภาพความไม่พร้อมของยานพาหนะ และสภาพแวดล้อมในการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น สภาพถนนที่เกิดการชำรุด หรือมีสิ่งก่อสร้าง สิ่งกีดขวาง หรือไฟส่องสว่างไม่เพียง เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งสิ้น

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนน พบว่า มีรายงานสถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนถนนที่เกิดขึ้นหลายรูปแบบ ทั้งบนถนนทางหลวง ทางหลวงชนบท และทางด่วน ของปี 2563 (ตลอดทั้งปี) และปี 2564 (ช่วง ม.ค. — มิ.ย. 64) ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงคมนาคม มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. จำนวนอุบัติเหตุบนถนน ปี 2563–2564

จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ในระบบ MOT DATA CATALOG ปี 2563–2564 มีการบันทึก “อุบัติเหตุบนถนน” ที่เกิดขึ้นเป็นทั้งหมด 32,190 ครั้ง (แบ่งเป็นปี 2563 จำนวน 21,052 ครั้ง และปี 2564 จำนวน 11,138 ครั้ง)

2. ประเภทรถ-ลักษณะเส้นทางที่พบอุบัติเหตุบ่อย

พบว่า รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุด โดยคิดเป็น 37% และพบว่าลักษณะทางที่มักเกิดเหตุมากที่สุด เป็นถนนทางตรง (ไม่ลาดชัน) คิดเป็น 70%

3. ลักษณะอุบัติเหตุบนถนน-สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

รูปแบบหรือลักษณะอุบัติเหตุที่เกิดมากที่สุด คือ การพลิกคว่ำ หรือตกถนนในทางตรง คิดเป็น 43% โดยสาเหตุที่พบมากที่สุดเกิดขึ้นจากการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด โดยคิดเป็น 78%

แนวทางเพื่อป้องอุบัติเหตุจากการจราจรบนถนน สามารถนำหลักการ 3 E มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้ถนนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพภาพได้ โดยหลักการ 3 E นั้นประกอบไปด้วย Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) Education (การศึกษา) และ Enforcement (การออกกฎข้อบังคับ)

E ตัวแรก Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) คือ การใช้ความรู้วิชาการด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการ คำนวณและออกแบบสภาพการจราจรให้เกิดความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพัฒนา ปรับปรุงสภาพถนนให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งาน เช่น การออกแบบความกว้างของถนน ทางโค้งของถนน ทางลาดชัน การเลือกใช้วัสดุบนผิวถนนที่ช่วยลดอุบัติเหตุ ระบบส่องสว่างบนถนน สัญลักษณ์ไฟ และป้ายแจ้งเตือนความปลอดภัย และการออกแบบพัฒนา ยานพาหนะ ให้ใช้งานบนท้องถนนได้อย่างมีความปลอดภัย

E ตัวที่สอง Education (การศึกษา) คือ การฝึกอบรมมุ่งเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจ และทำให้เกิดจิตสำนึก สำหรับผู้ใช้รถ ใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย การเข้าใจถึงสัญลักษณ์ รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น เช่น ผู้ขับขี่ที่จะขอใบอนุญาตขับขี่บนถนนนั้น ต้องผ่านการเข้ารับการอบรมและสอบทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติให้ผ่านถึงจะได้รับใบอนุญาตขับขี่ และอีกอย่างที่สำคัญ คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ วิธีการสร้างเสริมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เป็นต้น

E ตัวสุดท้าย Enforcement (การออกกฎข้อบังคับ) คือ การกำหนดให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจร รวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจราจร เช่น การตรวจสภาพรถตามกำหนด การสอบต่อใบขับขี่ การสวมหมวกนิรภัยและการคาดเข็มขัดนิรภัย การขับขี่ในขณะมึนเมา เป็นต้น โดยจะต้องมีบทลงโทษที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในกรณีที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรดังกล่าว

สรุป

หลัก 3E เพื่อป้องกันอุบัติเหตุนั้น ถือเป็นหลักการการเสริมสร้างความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ หากถูกนำไปประยุกต์ใช้งานในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรบนถนนอย่างถูกต้องและได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถที่จะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ป้องกันการบาดเจ็บ ป้องกันการตาย และพิการจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องงถนนได้

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2565). เปิดสถิติ “อุบัติเหตุบนถนน” ประเทศไทยเกิดเหตุอะไรบ่อยสุด?. แหล่งที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/social/984601. (28 ก.พ. 2565)

เกียรติศักดิ์ บัตรสูงเนิน. เอกสารประมวลสาระรายวิชา 618101 อาชีวอนามัยและความปลอดภัยพื้นฐาน Basic occupational health and safety. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ ฯ. การป้องกันอุบัติเหตุ. สืบค้นจาก http://www.shawpat.or.th/index.php?option=com_content&view=

article&id=213:accident-preventive&catid=51:-m — -m-s&Itemid=202, 28 ก.พ. 2565.

--

--