Hidden messages behind Thai children’s day motto

Poon Lee
5 min readJan 12, 2022

--

อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำขวัญวันเด็กของประเทศไทย

For English translation

Hidden messages behind Thai children’s day (Original Version.)

สวัสดีครับ ปุณณ์ครับ :-)

ไม่ได้กลับมาเขียนบทความแบบจริงจังนานมาก หนึ่งใน new year resolution ปีนี้คือ “การกลับมาเขียนบทความเกี่ยวกับงาน data visualization รวมถึงงาน design ของตัวเองแบบจริงจังอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งนะครับ”

งานนี้เป็นงานเปิดปี 2022 เป็นงานชิ้นแรกของเราเป็นงานที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย อยากท้าทายความสามารถในการออกแบบของตัวเองเลยเอาเรื่องที่เป็นนามธรรมมาก อย่าง “ภาษา” มาทำงาน จริงๆ หัวข้อนี้เล่าได้หลายแบบมาก พอคิดถึงเด็ก เลยเล่าผ่านกระดาษคำตอบ ที่ทุกคนต้องเคยผ่านมาแล้วดีกว่า งานชิ้นนี้ประยุกต์ชาร์ตที่ตัวเองถนัดที่สุดอันดับ 1 อย่าง Dot plot chart โดยจะแสดงให้เห็นว่าตลอด 66 ปีของวันเด็ก หัวข้ออะไรเป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในคำขวัญ ,วิธีการคิดข้อความที่จะส่งไปถึงเด็กๆ และเด็กในอุดมคติของผู้ใหญ่แต่ละยุคสมัยคืออะไร

วิธีการตั้งคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี

วิธีการตั้งคำขวัญวันเด็กเนี่ย ไม่ยากเลย สามารถเข้าใจง่ายมาก ทุกปีคำขวัญจะถูกปล่อยออกมาเดือนธันวาคม ทางรัฐบาลก็จะเริ่มคิดกันตั้งแต่ช่วงปลายปี โดยจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มาเป็นสาสน์ที่จะส่งถึงเด็กๆ ในปีถัดไป เช่น ปี พ.ศ. 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา คำขวัญปี 2517 คือ “สามัคคีคือพลัง” ยกตัวอย่างใกล้ตัวมากขึ้น ปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 หรือต้มยำกุ้ง คำขวัญวันเด็ก ปี 2541 คือ “ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย” Keyword คำว่าประหยัดก็จะถูกนำมาใช้ และใช้ถึง 2 ปีด้วยกัน

คำแนะนำในการสอบ

เมื่อรู้วิธีการตั้งคำขวัญ ก็ถึงเวลาที่เราจะมา Visualize ให้เห็นภาพกัน สิ่งที่ยากที่สุดของงานนี้คือ การเอาเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่าง “ภาษา” มาออกแบบให้เห็นเป็นภาพ ด้วยสีในการแบ่งประเภทของหัวข้อนั้นๆ ออกมาเป็นปีต่างๆ ทั้งหมด 10 สี / หัวข้อ ด้วยกัน

สีแดง แสดงความเป็นชาติ เช่นคำว่า รักชาติ, ความเป็นไทย, วัฒนธรรมไทย, ชาติเจริญ

สีเหลือง แสดงคุณธรรมความดี เช่นคำว่า มีวินัย, คุณธรรม, ซื่อสัตย์, ทำความดี, เด็กดี, อดทน

สีฟ้า แสดงความรู้และการศึกษา เช่นคำว่า ตั้งใจศึกษา, รักเรียน, ขยันเรียน, มุ่งหาความรู้

สีส้ม แสดงความสามัคคี เช่นคำว่า ความสามัคคี, ส่วนรวม, จิตสาธารณะ, มุ่งหาความรู้

สีม่วง แสดงความเป็นอนาคต เช่นคำว่า อนาคต, เทคโนโลยี, เด็กไทยวิถีใหม่, ความเจริญ

ภาพรวมทั้งหมดตลอด 66 ปีของคำขวัญวันเด็ก

พอแบ่งลักษณะของคำขวัญตามยุคและเหตุการณ์สำคัญของประเทศ จะแบ่งได้ 8 ยุค

ยุคที่ 1 เผด็จการทหารและสงครามเย็น (พ.ศ. 2499 — พ.ศ. 2516)
ยุคที่ 2 14ตุลา — 6ตุลา (พ.ศ. 2517 — พ.ศ. 2523)
ยุคที่ 3 ป๋าเปรม (พ.ศ. 2524 — พ.ศ. 2531)
ยุคที่ 4 ประชาธิปไตย 101 (พ.ศ. 2532 — พ.ศ. 2540)
ยุคที่ 5 วิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2499 — พ.ศ. 2516)
ยุคที่ 6 ยุคทักษิณ (พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2549)
ยุคที่ 7 ความวุ่นวายของเสื้อหลากสี (พ.ศ. 2550 – พ.ศ.2557)
ยุคที่ 8 ยุครัฐบาลทหารของประยุทธ์ (พ.ศ. 2558 — ปัจจุบัน)

ยุคที่ 1 และ ยุคที่ 2

ยุคที่ 1 : เผด็จการทหารและสงครามเย็น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พูดถึงอนาคตเยอะมากในยุคของถนอม (ทำเองก็ตกใจเหมือนกัน) เพราะว่า ปี 2508–2513 เป็นช่วงเข้มข้นของการเดินทางไปอวกาศระหว่างโซเวียต และ อเมริกา มีการใช้คำว่า “อนาคตของชาติจะสุกใส” “ความเจริญ …… ในอนาคต” “อนาคตแจ่มใส”

ซึ่งก็ดันไปเกี่ยวโยงกับช่วงที่ นีล อาร์มสตรองเดินทางไปถึงดวงจันทร์ และช่วงนั้นความสัมพันธ์กับอเมริกายังคงเหนียวแน่นก็อดคิดไม่ได้ ที่คำขวัญวันเด็กในยุคนั้น มีความเป็นได้จะได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์นั้น นอกจากนี้ก็พูดเรื่อง วินัย เด็กประพฤติดี ระเบียบวินัย เยอะมากตามสไตล์ทหาร

ยุคที่ 2 : 14 ตุลา — 6 ตุลา คำที่เกี่ยวข้องในเชิงของความสามัคคี ความเป็นชาติ ปรากฏให้เห็นมาก เช่น “สามัคคีคือพลัง” “เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี” และยังมีคำว่า “กษัตริย์” ปรากฏครั้งแรกในคำขวัญ ในปี 2520 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น

ยุคที่ 3 ยุคที่ 4 และยุคที่ 5

ยุคที่ 3 ป๋าเปรม : เป็นคำขวัญวันเด็กที่ classic มาก วนอยู่ 3 หัวข้อหลัก คุณธรรม, ความดี, ความรักชาติและสไตล์ป๋าคำขวัญต้องมี 5 คำ คำที่เกี่ยวกับความประหยัดจะอยู่ตรงกลางเสมอ เช่น เด็กไทยมีวินัยใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม, นิยมไทยมีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม

ยุคที่ 4 ประชาธิปไตย 101 เหตุการณ์บ้านเมืองดีขึ้น แต่ก็เปลี่ยนตัวผู้นำบ่อยมาก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่สุดของยุคนี้คือ มีการนำคำว่า “ประชาธิปไตย” มาใส่ไว้ในคำขวัญวันเด็กด้วย เขาคนนั้นก็คือ “ชวน หลีกภัย” นั้นเอง !! ซึ่งใส่ไว้ทั้งหมด 2 ปีติด ปี 2536–2537 เป็นคนแรก และคนเดียวในประวัติศาสตร์ไทยตอนนี้

จริงๆ แล้วพอเอาคำขวัญมาวิเคราะห์ ชวน หลีกภัย ใช้หัวข้อใหม่ที่ไม่เคยมีนายกคนไหนกล่าวถึงมาก่อนในวันเด็กถึง 2 หัวข้อ ได้แก่ ประชาธิปไตย (สีน้ำเงิน) และ สิ่งแวดล้อม (สีเขียวขี้ม้า) ซึ่งเป็นปีถัดมาจากพฤษภาทมิฬ คำขวัญปี 2536 – 2537 คือยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม

ยุคที่ 4

ปี 2539 – 2540 มีการใช้ pattern ที่คล้ายกัน จาก 2 นายกรัฐมนตรี คือ บรรหาร และ ชวลิต ฟ้า แดง เทา แดง ฟ้า เทา พูดถึงการศึกษา ความเป็นชาติ และ ยาเสพติด ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วประเทศ เป็นสาสน์ถึงเด็กรุ่นใหม่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรไปยุ่ง

ยุคที่ 5

ยุคที่ 5 วิกฤตต้มยำกุ้ง : เป็น pattern ที่ชัดเจนมากว่านายกต้องการส่งข้อความอะไรไปให้เด็กที่เป็นเยาวชนของชาติ เหลือง คุณธรรม เขียว ความประหยัด น้ำเงิน ประชาธิปไตย ใช้คำขวัญเดียวกันถึง 2 รอบ เน้นคำว่าประหยัด และประชาธิปไตย เป็นยุคคำขวัญที่ classic มากโดยชวน หลีกภัย (อีกครั้ง)

ยุคที่ 6 และยุคที่ 8
ยุคที่ 6 ยุคทักษิณ

ยุคที่ 6 ยุคทักษิณ : คำขวัญสไตล์ทักษิณเนี่ย จะกล่าวถึงหัวข้อที่เกี่ยวกับ “อนาคต” (สีม่วง) อยู่เสมอ เช่น “เรียนให้สนุก เล่นให้ความรู้ สู่อนาคตที่สดใส” “เรียนรู้ตลอดตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี” เป็นยุคที่พูดถึง ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ อนาคตอยู่ตลอด

(ความคิดเห็นของผู้ออกแบบ) ยุคทักษิณ : เอามา Visualize ยากมาก เพราะ คำพูดที่อยู่ในคำขวัญต้องมาตีความอีกรอบว่าความหมายจริงๆ แล้วมันคือหัวข้ออะไร ไม่มีสัมผัสสระ สัมผัสอะไรทั้งนั้นด้วย เน้นใจความอย่างเดียว เป็นช่วงเวลาที่แตกต่างกับนายกคนอื่นที่พูดออกมาตรงๆ ว่าจะสื่ออะไร “เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส” เรียนให้สนุก แปลเป็นภาษาตอนนี้คือ เรียนแบบจอยๆ ก็เป็นได้ทั้งสีฟ้าและสีชมพู เล่นให้มีความรู้ก็เป็นได้ทั้งสีชมพูและสีฟ้า ต้องใช้เวลาตีความนิดนึงว่ามันคืออะไรนะ สุดท้ายเลยทำให้ pattern ที่ใช้คือ ฟ้า ชมพู ม่วง

สิ่งที่ชอบอีกอย่างคือเป็นนายกที่ให้ความสำคัญกับ “ความคิดสร้างสรรค์ — การเล่นของเด็ก” พูดถึง 2 รอบด้วยกัน นอกจากนี้ก็ยังมีคำว่า ขยันอ่าน ถึง 2 ปี คำขวัญที่ classic ที่สุดคือ “อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด” ซึ่งมันแทบจะไม่ใช้คำขวัญแต่เป็น fact พอโตขึ้น มันเป็นแบบนั้นจริงๆ

ยุคที่ 7

ยุคที่ 7 ความวุ่นวายของเสื้อหลากสี : ทุกอย่างกำลังเดินไปได้สวย พูดถึง ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และ อนาคต สุดท้ายรัฐประหารก็กลับมา “ความสามัคคี” “ความพอเพียง” “คุณธรรม” อีกครั้ง ! เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับอนาคตของชาติ คำขวัญแบบ “มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข”

ช่วงการเมืองวุ่นวายในยุคอภิสิทธิ์พูดถึงความสามัคคีตลอด ! ปี 52 ลงท้ายด้วย “ผูกพันรักสามัคคี” ปี 56 สมัยของยิ่งลักษณ์ก็มีการนำคำว่า “นำพาไทยสู่อาเซียน” ปรากฏในคำขวัญด้วย เป็นเรื่องดีที่ตลอด 56 ปีที่ผ่านมา เราจะมาสนใจเรื่องประเทศอื่นสักที มีความเป็น Global citizen ขึ้นมานิดนึง

เปรียบเทียบคำขวัญในสมัยเผด็จการทหารและสงครามเย็น และ สมัยรัฐบาลทหารของประยุทธ์

ยุคที่ 8 : ยุครัฐบาลทหารของประยุทธ์ ยุคปัจจุบันของพวกเรา พอทำปุ๊ป pattern สี ม่วง สีแดง สีเหลือง เหมือนตอนสงครมเย็น เหมือนยุครุ่นพี่รัฐประหารอย่างถนอม กิตติขจร เป๊ะ !!! เหมือนย้อนกลับไป 50 ปีที่แล้ว ตัวอย่างเช่น ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต, เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากที่สุด ช่วง 2 ปีมานี้ ในช่วงที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตย นายกที่ไม่ได้เลือกเข้ามาอย่างประยุทธ์ ยังให้คำขวัญโบราณๆ อย่าง “เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี ร่วมพัฒนาชาติ” “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม” อยู่เลย คำถามคือ ภักดีใครเบ๋อ ?

คำถามหลังจากอ่านจบ อยากให้เอาไปคิดต่อว่า “อนาคตของคำขวัญวันเด็กจะเป็นยังไงกันนะ ?” ในปีที่ทั้งโลกปลุกกระแสความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ความรักและมีเมตตาต่อตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์สู่อนาคต ผู้นำที่ไม่ได้เลือกมาของพวกเรายังอยู่กับความภักดีมีคุณธรรมอยู่เลย ..

Sketchbook

Design process

เราทำงานเกี่ยวกับ Data viz ซึ่งพื้นฐานของเราเป็น designer เพราะฉนั้นเลยให้ความสำคัญกับเรื่อง process ที่สุด งานเป็น digital แต่เรายังออกแบบทุกอย่างใน sketchbook อยู่

สิ่งสำคัญคือ “คนที่เข้ามาอ่านงาน จะได้ข้อมูลแบบไหนกลับไป หรือ รู้สึกยังไงหลังจากดูงานชิ้นนี้จบ” เราให้ความสำคัญกับส่วนนี้มากๆ ควรจะตอบให้ได้ในใจว่า เวลาทำ data viz ออกมา 1 ชิ้น คนที่ดูจะได้อะไร พอตอบได้ก็จะรู้ว่าควรเอาข้อมูลแบบไหนมาเปรียบเทียบกัน > จากนั้นก็เริ่ม research

Research

พอ research ปุ๊ป ให้ตั้งคำถามกับข้อมูลตัวเองเยอะๆ ครับ ว่าพบอะไรจากข้อมูลที่เก็บมาได้บ้าง อย่างงานนี้ไปหาคำขวัญมา แล้วก็เริ่ม ขีดเส้นใต้กลุ่มคำที่มีลักษณะคล้ายกัน พอเสร็จแล้วก็เริ่มกลับไปที่ sketchbook อีกรอบ เรา grouping กลุ่มคำเหล่านั้นว่ามีสีอะไรบ้าง

พอ grouping ในสมุดเสร็จก็กลับไปดู ข้อมูลที่ research มาอีกรอบ ก็จะพบลักษณะที่เหมือนกันบางอย่าง ที่นี่ก็เริ่ม research ต่อ ว่า timeline การปกครองในแต่ละช่วงเป็นยังไงบ้าง รวมถึงมีเหตุการณ์อะไร เขียนทดๆ ไว้ในเปเปอร์ที่ research มา

Sketchbook Detail

ที่นี่ก็มาถึง highlight ของงาน วิธีดึงข้อมูลเป็น visual ด้วยความที่พื้นฐานของเราเป็น designer เพราะฉนั้น เรื่องการออกแบบและความสวยเลยเป็นจุดแข็งของตัวเอง สิ่งที่คนเข้าใจผิดก็คือ เราไม่ได้วางรูปแบบนี้มาก่อนว่าจะออกแบบเป็นเหมือนข้อสอบนะ ทั้งหมดเกิดจาก research และตั้งคำถาม

คำแนะนำของเราคือ อย่าเป็น designer ที่ยึดติดที่รูปแบบ แต่ให้ใส่ input, สิ่งที่ตัวเอง research มา, ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป งานก็จะโดดเด่นขึ้นและก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับ sketchbook ครับ

Social impact after released this work on Thai children’s day.

Data Visualization : ปุณณ์ พจนาเกษม
Story telling : ปุณณ์ พจนาเกษม

Twitter

Instagram

--

--

Poon Lee

𓅿 An amateur information designer and serene visual writer who love cookies and cream ice cream . 𓅾 ✺ Bangkok based ✺