Book Review: Happy Money

Punpreeda.f
1 min readOct 22, 2019

--

หนังสือเล่มใหม่ของฮอนดะ เคน ผู้เขียนคิดแบบยิวทำแบบญี่ปุ่น “Happy Money”
.
เราอ่านหนังสือเล่มนี้แบบไม่คาดหวังอะไรเท่าไร เพราะเราเป็นคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเงินหรือการลงทุน นานๆ ทีถึงจะคิดว่าควรสนใจบ้าง นิดหน่อยก็ยังดี แต่พอเราอ่านเราได้พบตัวเองมากกว่าเรื่องการเงินเสียอีก ความคิดว่า — เออมันก็คงเป็นเหมือนเล่มอื่นๆ ที่พูดเรื่องการเงินจากมุมมองของอีลีทเหมือนเดิมแหละ — ก็คือผิด
.
มุมมองที่น่าสนใจทำให้เรากลับมาคิดเรื่องเงินในชีวิตเราอีกครั้ง ไม่มีใครเป็นอิสระจากเงิน ไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่ใช้เงิน จะพยายามพอเพียงแค่ไหนก็ไม่ไหวหรอก สู้ความอยากได้อยากมี ความอยากเติบโตอยากรวย อยากเจริญ สู้โฆษณาก็ไม่ไหว ในหนังสือมีวรรคนึงที่เขียนไว้แล้วชอบมาก คิดเกี่ยวกับวรรคนี้อยู่นานเลย คือ “เราเข้าสู่ช่วงที่น่าสนใจ เมื่อทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจโลกเชื่อมต่อกันมากว่าครั้งไหน แต่ระบบกำลังล่มสลาย และมีระบบใหม่เกิดขึ้นทุกวัน”
.
เรื่องที่เราคิดว่าน่าสนใจ และทุกคนอาจอยากลองถามตัวเองดูคือ “เงินของคุณกำลังยิ้มอยู่หรือเปล่า?” อ.ฮอนดะบอกว่าถ้ากระแสของเงินที่มีอยู่มาจากเงินที่มีความสุข เช่น เราทำขนม ชงกาแฟขาย แล้วลูกค้าชอบมาก ยินดีที่จะจ่ายทิปให้เราด้วยซ้ำ อันนี้คือกระแสเงินที่มีความสุข แต่ถ้าเราไปร้านอาหาร พนักงานบริการแย่มากแต่ก็ต้องจ่ายค่าบริการสิบเปอร์เซ็นต์ อันนี้จะเป็นกระแสเงินที่ไม่มีความสุข…การเงินเป็นมากกว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้สึกด้วยเหมือนกัน — เออไม่เคยคิดแบบนี้เลย ว่าเงินเป็นพลังงานที่มีทั้งบวกและลบ
.
แน่นอนว่าในหลายๆ กรณี การมีเงินมาก = การมีโอกาสมาก เราไม่ได้รู้สึกด้อยทางไหนเลยเมื่อไม่มีเงิน แต่เรารู้สึกด้อยเมื่อไม่มีโอกาสมากกว่า (จะโทษแค่ทุนนิยมไม่ได้ ถึงจะจริง แต่ด่วนสรุปเกินไป มีโครงสร้างทางสังคมมากมายที่กระทบต่อการมีอยู่และความสัมพันธ์ของคนกับเงิน ทุนนิยมแค่ตอบโจทย์ที่สุด) ในเล่มนี้เขียนเหตุผลว่าทำไมคนจึงต้องการเงินไว้ได้ดี เรื่องค่าใช้จ่ายพื้นฐานเราจะข้ามก็ได้ แต่พออ่านเราก็คิดว่า มีคนมากมาย เป็น majority ของประชากรโลกด้วยซ้ำที่ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายเพียงเพื่อจะมีชีวิตอยู่ อีกเหตุผลคือเพื่อสร้างอำนาจ เพื่อความรักความสนใจ เพิ่ออิสรภาพ และเพื่อแสดงความรักและความชื่นชม…เราเอาเงินมาผูกกับ Identity และการมีอยู่ของเราจนแยกกันไม่ออก แล้วเราจะอยู่กับมันยังไงให้เงินไม่มาเป็นเจ้าเป็นนายเรา? เคยได้ยินคนพูดว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ปะ แล้วมันก็จะมีคนบอกว่าถ้าซื้อไม่ได้ก็โอนมาเลยจ้าาาา พร้อมแนบบัญชี (เราคือคนประเภทหลัง 5555) …ทำไมมันถึงไม่เหมือนกันล่ะ เงินเหมือนกันแท้ๆ เพราะว่าเราผูกเงินไว้กับตัวเราเองในรูปแบบและวิธีการที่ต่างกันยังไงล่ะ
.
คนที่บอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ เพราะรู้ว่าตัวเองมีความสุขจากอะไรบ้าง โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเงิน หรืออาจเป็นความอ่อนต่อโลกที่คิดว่าการอ่านหนังสือ การกินชาบูไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่คนแบบเราที่บอกว่าให้โอนมาเลยเนี่ย มันมีทั้งความอยากได้อยากมีในสิ่งที่คนอื่นมี และยังผูกเอาความสุขของตัวเองเอาไว้กับเงิน…knowingly เราถึงไม่เคยมีสันติกับเงินเลย
.
แต่เราไม่เคยรู้สึกแย่ในการถวายทรัพย์หรือบริจาคเงินช่วยหมาแมว ถึงบางเดือนจะชักหน้าไม่ถึงหลังบ้าง แต่เรามีความสุขกับการให้ เพราะเรารู้ว่ากระแสเงินที่มีความสุขนั้นจะทำให้ผู้รับมีความสุข เราผูกความสุขของเราเอาไว้ที่การช่วยให้แมวหมามีบ้าน และการช่วยพันธกิจของคริสตจักร แต่บางครั้งเรารู้สึกแย่กับเงินที่เราได้รับจากการจ้างงานฟรีแลนซ์ ที่ขณะทำเราไม่มีความสุขเลย ในกระเป๋าของเรามีทั้งเงินที่ยิ้มและร้องไห้ และเราก็มองว่ามันปกติ
.
แปลกใจมากที่เราอ่านแล้วนึกถึงพระคัมภีร์มัทธิวที่เขียนเอาไว้ว่า “For where your treasure is, there your heart will be also” (เพราะว่าทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่น) และ “God loves a cheerful giver” (พระเจ้ารักผู้ที่ให้ด้วยใจชื่นชมยินดี) ในสองโครินธ์
.
หนังสือเล่มนี้อ่านเผินๆ เหมือนแค่กำลังบอกให้เรารู้ตัวว่าเรามีมุมมองต่อเงินอย่างไร แต่เราสามารถคิดย้อนไปในชีวิตได้มากมาย มีความคิด มีมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ มองเรื่องเงินในอดีต มองเรื่องตัวตนของเราในมุมมองใหม่ได้ ก็อยากหนุนใจให้ลองหามาอ่านดู
.
ถ้าอ่านแล้วได้คิดย้อนไปถึงประสบการณ์ที่มี เงินที่ซื้อหนังสือเล่มนี้ ก็คงเป็นเงินที่มีความสุข (หรือเศร้า…ก็ไม่รู้นะ)
.

#ปันปันอ่าน #รีวิวหนังสือ

--

--

Punpreeda.f

Editor, Writer, Proofreader, Translator-Interpreter, Worship Team members and God knows what else. Based in BKK, Thailand